xs
xsm
sm
md
lg

พ่อแม่เลี้ยงบวก : ฝึกลูกให้เก่งด้วยงานบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม่ : ฮัลโหล แม่จ๋า (เสียงหวาน)

ยาย : แม่จ๋าเสียงหวานทีไร ฉันต้องไปเลี้ยงลูกให้แกทุกที

แม่ : แฮ่ๆๆ หนูโทรไปที่บริษัทจัดหาแม่บ้าน เขาจะส่งคนมาให้มะรืนนี้ค่ะ

ยาย : แกก็ฝึกให้ลูกๆ ช่วยทำงานบ้านสิ มัวแต่ออกไปทำงานนอกบ้านเหนื่อยงกๆ หาเงินมาจ้างคนใช้เลี้ยงลูก ลูกก็เลยทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง หน้าที่รับผิดชอบในบ้านก็ไม่มี คนใช้ลาออกทีชีวิตก็ปั่นป่วนกันทั้งบ้าน สมัยแม่เลี้ยงพวกแกมาหกคน ไม่เห็นต้องจ้างแม่บ้าน

แม่ : โธ่แม่! ชีวิตเดี๋ยวนี้น่ะแข่งกันจะตาย ลูกหนูไม่มีเวลามาฝึกงานบ้านหรอกค่ะ แค่ไปเรียนพิเศษคณิต วิทย์ อังกฤษ ทุกเย็นก็เหนื่อยจะแย่แล้ว ไม่งั้นก็สู้คนอื่นไม่ได้ เก่งงานบ้านไม่ช่วยอะไรหรอกค่ะ ส่วนหนูเองก็ทำงาน ไม่มีเวลาฝึกหรอกค่ะ เรามีปัญญาจ้างคนใช้ก็จ้างไปเถอะค่ะแม่

ยาย : แต่ฉันก็เห็นแกจนปัญญาเวลาคนใช้ลาออกทุกที ลูกจะดีมันต้องเลี้ยงด้วยมือพ่อแม่ ไม่ใช่เลี้ยงด้วยมือคนใช้

แม่ : หลานจะดีต้องมีมือตายายเลี้ยงด้วยค่ะ งั้นหนูยืมมือแม่เลี้ยงหลานสักสองสามวันนะคะ

ยาย : เฮ้อ! เวรกรรม!!!

แม่ : ไม่ต้องดีใจขนาดนั้นก็ได้ค่ะ (น้ำเสียงล้อเลียน)

ยาย : ฉันถอนหายใจพวกแม่สมัยใหม่อย่างแกหากล่ะ!

พ่อแม่มักดูถูกงานบ้านว่าเหนื่อยและน่าเบื่อ แต่มักไม่ทราบว่างานบ้านทำให้ลูกของเราเก่งขึ้น ขณะที่เด็กเก็บห้องของตนเองให้เรียบร้อย เด็กกำลังฝึกเรื่องการจัดระบบ การจัดเรียงตามขนาด ความคิดสร้างสรรค์ เรื่องศิลปะในการตกแต่งห้อง และที่สำคัญงานบ้านทุกอย่างเป็นช่องทางให้เด็กทำดี คือ รับผิดชอบตัวเอง ไม่เป็นภาระผู้อื่นและได้ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ด้วยค่ะ

ถอดรหัสลับงานบ้าน

วิถีชีวิตในยุคที่ทุกอย่างเร่งด่วน ชีวิตของเด็กเต็มไปด้วยสิ่งเร้าที่มีความเข้มข้นสูง เช่น ทีวี คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เกมออนไลน์ที่เด็กๆนั่งดูนั่งเล่นครั้งละหลายๆชั่วโมง อยู่แต่ในห้องแอร์ ไม่ได้สัมผัสกับธรรมชาติ เล่นดิน เล่นน้ำ คลุกโคลน ปีนต้นไม้ เดินบนพื้นหญ้า หรือไม่ค่อยได้วิ่งเล่นไล่จับ กระต่ายขาเดียว กระโดดหนังยาง ตี่จับ หมากเก็บ ตีลังกา ไม่ต้องทำงานบ้านช่วยเหลือพ่อแม่ ขอให้เรียนหนังสือให้เก่งๆก็พอ เมื่ออยู่ในสิ่งเร้าสูงและขาดการเล่นหรือการทำงานที่ต้องใช้กล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวมาก มีผลทำให้ระบบรับความรู้สึกในร่างกายเด็กทั้ง 3 ด้าน ทำงานไม่เต็มที่และไม่ผสมผสานกัน จึงส่งข้อมูลที่บกพร่องไปยังสมอง ซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก เช่น อยู่ไม่นิ่ง ทรงตัวไม่ดี ไม่มีสมาธิ ก้าวร้าว เล่นแรงควบคุมอารมณ์ของตัวเองลำบาก หุนหันพลันแล่นฯลฯ

ระบบรับความรู้สึก ( Sensory System) แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ดังนี้

• ระบบรับความรู้สึกจากผิวสัมผัส (Tactile System)
เกี่ยวข้องกับการสัมผัสชนิดต่างๆ เช่น หยาบ นุ่มนวล แหลม เย็น ร้อน ระคายเคือง ฯลฯ ระบบรับความรู้สึกส่วนนี้จะทำงานเมื่อผิวของเราสัมผัสพื้นผิวชนิดต่างๆ

• ระบบรับความรู้สึกเวสติบูลาร์ (Vestibular System) เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ เคลื่อนไหว หมุน แกว่ง การทรงตัว ระบบนี้จะทำงานอย่างดี เมื่อเด็กนั่งชิงช้า ม้าหมุน เดินทรงตัวบนไม้กระดาน

• ระบบรับความรู้สึกจากกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ (Proprioceptive System) ระบบนี้ทำงานเมื่อเด็กกระโดด เขย่ง ดึง ดัน ยกของ โหนบาร์

ตัวอย่างเช่น เมื่อเรามอบหมายงานให้ลูกวัยประถมได้รับผิดชอบในการซักถุงเท้า ชุดชั้นในของตัวเอง ขณะที่เด็กขยี้ผ้า บิดให้แห้ง ระบบรับความรู้สึกของกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อจะทำงาน ระบบรับความรู้สึกของผิวสัมผัสก็ทำงานขณะที่ช่วยแม่นวดแป้งทำขนม และระบบรับความรู้สึกเวสติบูลาร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทรงตัวก็จะทำงานเมื่อลูกกำลังโก้งโค้งถูพื้น

เมื่อลูกได้เล่นสนุก ได้เล่นกีฬาอย่างเพียงพอ ถูกฝึกฝนให้ทำงานบ้านหลายๆด้านและสม่ำเสมอ ระบบรับความรู้สึกทั้งสามชนิดจะทำงานผสานกันและทำให้สมองพัฒนาเกิดผลเป็นความสามารถในเด็กคือ รวบรวมสมาธิได้ดี มีความสามารถในการจัดระบบระเบียบ การแก้ไขปัญหา ควบคุมอารมณ์ได้ดี คิดเชิงนามธรรมและมีเหตุผล มีทักษะในการใช้ร่างกาย ซึ่งความสามารถเหล่านี้จะไปส่งเสริมความสามารถทางด้านการเรียนของเด็กให้ดีขึ้น นี่คือรหัสลับของงานบ้านที่นอกจากได้งานแล้ว ยังได้พัฒนาสมองของลูก ช่วยเสริมสร้างจิตใจคือได้ทำดี เกิดความภาคภูมิใจในตนเองเพราะสามารถเป็นที่พึ่งให้ครอบครัวได้

ควรทำ

• คุณค่าของงานบ้านมีหลายอย่าง
เป็นแบบฝึกหัดเพิ่มความสามารถให้กับลูกได้ในหลายๆด้าน เป็นเครื่องมือใกล้ตัว ยิ่งฝึกลูกให้ทำงานบ้านเป็นหลายอย่างก็จะเก่งหลายด้าน เช่น เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการคิดวางแผน จัดสรรเวลา มีความอดทน คิดสร้างสรรค์ งานบ้านจึงช่วยพัฒนาสมองและส่งเสริมการเรียนในโรงเรียนของเด็ก

• ให้ทำงานบ้าน เท่ากับฝึกให้ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เป็นการแสดงความมีน้ำใจต่อครอบครัว ยิ่งรู้สึกเหนื่อยยากขณะทำงาน จะได้เข้าใจความลำบากของคนอื่น และเป็นเส้นทางของการทำความดีที่ทำได้ง่ายๆในบ้าน

ไม่ควรทำ

ถ้าพ่อแม่ดูถูกงานที่มอบให้เด็ก เด็กเองก็จะดูถูกงานนั้นๆไปด้วย
เมื่อไม่ฝึกลงมือทำเด็กจะพึ่งตนเองได้ต่ำ

* หัวใจการเลี้ยงดู

งานบ้านช่วยลูกพัฒนาศักยภาพ และสมองของลูก

จัดทำข้อมูลโดย : แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)
กำลังโหลดความคิดเห็น