xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : “ทัวร์พักวัด” สุดฮิต เกาหลีใต้เตรียมปรับโฉมดึงดูดนักท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปีก่อนประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพร่วมกันในการจัดงานมหกรรมฟุตบอลโลก 2002 ผู้คนจากทั่วโลกได้หลั่งไหลไปร่วมงานที่ประเทศเกาหลีใต้ จนกระทั่งโรงแรมที่พักต่างๆเต็มหมด ดังนั้น คณะสงฆ์วัดโชเกจึงได้เสนอโครงการ “พำนักวัด” ขึ้นมา โดยมีวัดทั้งหมด 33 แห่งเข้าร่วมโครงการ เปิดให้ชาวต่างชาติเข้าพัก เพียงบริจาคเงิน 1,000 บาทเท่านั้น

แม้มหกรรมฟุตบอลโลกที่เกาหลีใต้จะผ่านมา 10 ปีแล้ว แต่ความนิยมในการพำนักวัด ไม่ได้จบไปพร้อมเกมลูกหนัง ยังคงมีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศให้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมโปรแกรมทัวร์พักวัดเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ย 30% ทุกปี นับถึงสิ้นปี 2011 รวมทั้งสิ้น 1.9 ล้านคน และมีวัดเข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 109 แห่งในปี 2012

และเนื่องในปี 2012 โปรแกรมทัวร์พักวัด เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมพุทธของชาวเกาหลีใต้ ได้ดำเนินงานมาจนครบ 10 ปี จึงมีการวางแผนที่จะปรับปรุงโปรแกรมในปัจจุบันให้มีความหลากหลาย เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกระดับ ตามจุดประสงค์ที่ต้องการเผยแพร่สิ่งดีๆสู่สาธารณชน นอกเหนือไปจากปัจจุบันที่เน้นเรื่องพุทธศาสนา

พระบ๊อพ จิน ผู้อำนวยการกองวัฒนธรรมพุทธศาสนาแบบเกาหลี ซึ่งอยู่ในเครือวัดโชเก กล่าวว่า โปรแกรมทัวร์พักวัดเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นการเตรียมการให้พร้อม ต่อจากนี้ไปจะเน้นเรื่องการเติบโตและเป็นสากลมากยิ่งขึ้น

“เมื่ออาตมาเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ คนส่วนใหญ่ที่อาตมาได้พบนั้น เมื่อพูดถึงประเทศเกาหลี มักนึกถึงโปรแกรมทัวร์พักวัด ซึ่งทำให้อาตมารู้สึกประหลาดใจอย่างยิ่ง ปัจจุบัน โปรแกรมนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมประจำชาติไปแล้ว” พระบ๊อพจิน กล่าวในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนที่กรุงโซล

ขณะที่ ปาร์ก ยอง กู เลขาธิการกองวัฒนธรรมพุทธฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมาโปรแกรมนี้ประสบความสำเร็จมาก เพราะคนทั่วไปอยากสัมผัสประสบการณ์ภายในวัด เพื่อเยียวยาจิตใจที่ว้าวุ่นและสับสนในการใช้ชีวิตในสังคมเมือง ดังนั้น จึงควรจัดโปรแกรมให้หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เข้าร่วม และควรมีเนื้อหาครอบคลุมด้านการท่องเที่ยวสำหรับผู้เข้าร่วมที่เป็นชาวต่างชาติด้วย

“ในจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม ชาวเกาหลีจะพักที่วัดนานกว่าชาวต่างชาติ เราจะออกแบบโปรแกรมให้ตอบโจทย์ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ที่มีทั้งนักศึกษา และคนทำงาน เพื่อปลูกฝังทัศนคติการอยู่ร่วมกันในสังคม และเราจะพัฒนาโปรแกรมให้มีความหลากหลาย เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้าร่วมในโปรแกรมทัวร์พักวัดเพิ่มมากขึ้น”

ทั้งนี้ สิ่งที่ดึงดูดผู้เข้าร่วมโปรแกรมทัวร์พักวัด มีแตกต่างกันไป เพราะจากการสำรวจเมื่อเร็วๆนี้ชี้ให้เห็นว่า หากเป็นชาวเกาหลี จะเข้าร่วมเพื่อต้องการผ่อนคลาย ขณะที่ชาวต่างชาติเข้าร่วมเพราะสนใจวัฒนธรรมพุทธแบบเกาหลี

“ผู้เข้าร่วมโปรแกรมที่เป็นชาวต่างประเทศจำนวนมาก อยากให้มีธรรมเนียมปฏิบัติโบราณเพิ่มมากขึ้น เช่น พิธีชงชาและทำวิปัสสนา ดังนั้น เราจะนำสิ่งเหล่านี้บรรจุในโปรแกรมสำหรับผู้เข้าร่วมชาวต่างชาติ” ปาร์ก กล่าว

ที่ผ่านมา กองวัฒนธรรมพุทธฯได้จัดงานเฉลิมฉลองโปรแกรมทัวร์พักวัดทั้งในและต่างประเทศมาหลายครั้ง เช่น เดือนมีนาคม 2012 ได้เข้าร่วมงาน Intourmarket ครั้งที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นในรัสเซีย และงาน Jata Travel Fair 2012 ซึ่งจัดขึ้นที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนกันยายน 2012 และการจัดงานส่งเสริมโปรแกรมทัวร์พักวัดที่สหรัฐอเมริกาในเดือนกรกฎาคม 2012

สำหรับงานเฉลิมฉลองซึ่งจัดที่เกาหลีใต้เมื่อเดือนสิงหาคม 2012 ได้เชิญสื่อมวลชนต่างประเทศให้เดินทางมาพักที่วัดเซียวนัน เมืองโกชาง จังหวัดจอลลา และวัดจอนเดือง เกาะกังวา ที่อยู่ทางตะวันตกของกรุงโซล รวมทั้งจัดนิทรรศการตามที่ต่างๆ ตั้งแต่บัดนี้จนถึงสิ้นปี 2012 เช่น นิทรรศการอาหารวัด จัดแสดงพัฒนาการของอาหารวัดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมภาพถ่ายอาหารวัดชนิดต่างๆ และกิจกรรมการดื่มชาและสนทนากับพระสงฆ์ การรณรงค์ถนอมรักษาอาหาร เพื่อลดการทิ้งโดยไม่จำเป็น ฯลฯ

• กิจกรรมทัวร์พักวัด

โปรแกรมทัวร์พักวัดจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สัมผัสประสบการณ์การใช้ชีวิตของพระสงฆ์ภายในวัดโบราณ ซึ่งยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมพุทธแบบเกาหลีที่มีมายาวนานกว่า 1,700 ปีเอาไว้ อาทิ วิธีการรับประทานอาหารแบบพระสงฆ์ ซึ่งเน้นการพิจารณาอาหาร และความสำรวม การรับประทานอาหารมังสวิรัติเช่นเดียวกับพระสงฆ์ ซึ่งดีต่อสุขภาพ พิธีชงชา การทำโคมกระดาษตามประเพณี การสวดมนต์เช้าเย็น และการทำสมาธิแบบเซน เพื่อฝึกสติและลดความเครียด

ปัจจุบัน คณะสงฆ์โชเกดูแลวัดในเครือ 15 แห่งที่อยู่ในโปรแกรมทัวร์พักวัด ที่เหมาะสำหรับชาวต่างชาติ เพราะมีบริการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ อาทิ วัดเกียมซอน วัดเมียวกัค และวัดบอนเกียน เป็นต้น


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 143 พฤศจิกายน 2555 โดย บุญสิตา)








กำลังโหลดความคิดเห็น