xs
xsm
sm
md
lg

อาหารเป็นยา : เต้าหู้ พลังแห่งโปรตีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เทศกาลกินเจปีนี้ อยู่ระหว่างวันที่ 13-25 ตุลาคม 2555 และอาหารชนิดหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในเทศกาลแห่งการถือศีลกินผักก็คือ “เต้าหู้” ซึ่งจะเป็นส่วนประกอบเกือบทุกเมนูของอาหารเจ

เต้าหู้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศจีนเมื่อ 2,000 กว่าปีมาแล้ว ศ.นพ. วิโรจน์ ไววานิชกิจ ผู้เขียนหนังสือ "น้ำดื่มสมุนไพร ใกล้ตัว แต่ไกลโรค" อธิบายว่า เต้าหู้ ในภาษาจีนแปลว่า “ทำจากถั่ว”

เต้าหู้ซึ่งทำมาจากถั่วเหลืองนั้น ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง มีโปรตีนมากกว่าเนื้อสัตว์บางชนิดถึงสองเท่า

ในยุคนาระ (710-794) พระเคนโตะ พระสงฆ์ชาวญี่ปุ่นซึ่งเดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาในจีน ได้นำเต้าหู้กลับไปเผยแพร่ที่ญี่ปุ่น โดยรับประทานเป็นส่วนหนึ่งของอาหารมังสวิรัติ เพื่อทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์

ศ.ดร.ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์ ได้เขียนถึง เหตุผลที่ควรกินเต้าหู้ ไว้ในหนังสือ “กินดีสุขภาพดี : โภชนาการทางเลือกและซูเปอร์อาหารสุขภาพ” ว่า

1. มีโปรตีน เต้าหู้มีโปรตีนประมาณ 11 % ใกล้เคียงกับไข่ (13 %) คุณภาพของโปรตีนในเต้าหู้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเนื้อไก่และเนื้อวัว เต้าหู้ก้อน (227 กรัม) มีโปรตีน 11.5 กรัม คิดเป็นร้อยละ 27 ของโปรตีนที่ผู้ใหญ่ต้องการใน 1 วัน ถ้ากินร่วมกับข้าวกล้องจะได้โปรตีนที่ดียิ่งขึ้น เต้าหู้ที่มีโปรตีนสูงจะเป็นเต้าหู้ที่ค่อนข้างแข็งได้แก่ เต้าหู้ขาวแข็ง และเต้าหู้แข็งเหลือง(มีน้ำขมิ้นผสม)

2. มีแคลเซียมและโปแทสเซียม เต้าหู้มีแคลเซียมสูงกว่าพืชผักอื่นๆ ทั้งหมด ช่วยป้องกันโรคกระดูกบางหรือกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ เต้าหู้มีโปแทสเซียมซึ่งมีส่วนช่วยลดความดันเลือด และรักษาสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย เต้าหู้หลอดมีแคลเซียมต่ำกว่าเต้าหู้แข็งและเต้าฮวย เนื่องจากไม่ได้ใช้เกลือแคลเซียมในกระบวนการผลิต(ทำให้ตกตะกอน)

3. มีสารพลังพืชผัก เต้าหู้มีสารพลังพืชผัก (Phytochemicals) เช่น ไอโซฟลาโวน ฯลฯ สารเหล่านี้ช่วยป้องกันมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม ฯลฯ ต้านอนุมูลอิสระ ฮอร์โมนธรรมชาติในถั่วเหลืองและเต้าหู้ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนในผู้หญิงวัยทอง

4. ไม่มีรสชาติในตัวเอง เต้าหู้ไม่มีรสชาติในตัวเอง จึงนำไปปรุงกับอาหารอื่นๆ ได้อย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ ผลการวิจัยโปรตีนในถั่วเหลือง ยังพบว่าเป็นโปรตีนที่ดี ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด และช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป ทั้งมีเส้นใยสูง ช่วยบรรเทาอาการท้องผูกด้วย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 142 ตุลาคม 2555 โดย ปุยฝ้าย)

กำลังโหลดความคิดเห็น