เสียงจานตกกระทบพื้นแตกดังเพล้ง!
แม่ : แม่บอกแล้วใช่ไหมให้ถือระวัง ๆ
ลูก : หนูถือระวังแล้ว (น้ำเสียงจะร้องไห้)
แม่ : อย่าเดินไปทั่วสิ เดี๋ยวกระเบื้องบาดเท้า บอกให้ถือดีๆระวังตกแตก (พูดเสร็จทำให้ดูเลย)
ดูซิจานชามใหม่ๆ เปลืองเงินมั๊ยฮึ นี่แม่ยังต้องมาลำบากเก็บกวาดอีก
ลูก : (สะอื้น)
แม่ : อย่าร้องนะ! เงียบเดี๋ยวนี้!!
เสียงบรรยาย ดีกว่าไหมถ้าคุณจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาส แทนที่จะพลิกโอกาสการเรียนรู้เป็นวิกฤตในใจลูก
เสียงจานตกกระทบพื้นแตกดังเพล้ง!
ลูก : หนูถือระวังแล้ว (น้ำเสียงจะร้องไห้)
แม่ : ไม่ต้องร้องไห้ลูก แม่รู้ว่าหนูระวังแล้ว เอ้านี่ ใส่รองเท้าก่อน กระเบื้องจะได้ไม่บาดเท้า
ลูก : แม่ไม่โกรธเหรอ ที่หนูทำจานใหม่ของแม่แตกหมดเลย
แม่ : ถึงโกรธแม่ก็เอาคืนมาไม่ได้ จานแตกก็เสียดายนะลูก แต่แม่จะเสียดายมากกว่าที่ไม่ได้สอนหนูว่าจะทำความสะอาดเศษกระเบื้องยังไงไม่ให้บาดมือบาดเท้า จานแตกก็เป็นโอกาสดีนะลูก แม่จะได้สอนวิธีเก็บและกวาดเศษกระเบื้องให้หนูไง ถ้าเกิดแบบนี้อีก หนูจะได้รู้ว่าต้องทำยังไง
ลูก : งั้นเสร็จจากเก็บเศษจานแตก หนูอยากทดลองดูว่า แก้วน้ำตกแตกจะเหมือนกับจานตกแตกมั้ย? แม่ลองกับหนูะ แล้วไข่ตกแตก จะเป็นยังไงน้า? (ซาวนด์เสียงหัวเราะ)
ปัญหาในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสดีในการฝึกลูกให้แก้ไขปัญหาจากเรื่องง่ายๆไปเรื่องยากๆ พ่อแม่ควรชี้แนะด้วยความรัก และชื่นชมเมื่อลูกแก้ปัญหาได้ จะทำให้เด็กมั่นใจ และสุดท้ายภาคภูมิใจในตัวพ่อแม่ที่สอนเขาให้รับมือกับปัญหาได้ค่ะ
ลูกเรียนรู้อะไรเมื่อทำจานตกแตก?
ในบทความเรื่อง “มองมุมใหม่” ที่เขียนโดยพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ในนิตยสารสารคดี เดือนเมษายน 2549 ปีที่ 22 ฉบับ 254 เล่าว่า คนเรามีแนวโน้มที่จะจดจำเหตุการณ์ในทางลบมากกว่าทางบวก ระหว่างการตำหนิติเตียน และการกล่าวชื่นชม สิ่งที่เป็นความคิดหรือความรู้สึกเชิงลบจะประทับฝังแน่นในใจมากกว่า ที่น่าสนใจคือตัวอย่างที่ท่านนำมาเล่าว่า มีครูคนหนึ่งยกกระดาษสีขาวแผ่นใหญ่ซึ่งบนกระดาษนั้นมีจุดสีดำเล็กๆอยู่จุดหนึ่งอยู่ตรงมุมด้านขวา เมื่อครูถามนักเรียนว่าใครเห็นอะไรบนกระดาษบ้าง ทุกคนตอบว่า “เห็นจุดสีดำ” แต่ไม่มีใครตอบว่า “ เห็นสีขาว” ของกระดาษที่เห็นได้ชัดและมีพื้นที่มากกว่า
เมื่อลูกทำจานตกแตก ถ้าพ่อแม่เห็น “สีขาว” ที่มีพื้นที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัดมากกว่าจุดดำเล็กๆ เพียงจุดเดียว ลูกจะเรียนรู้อะไร
• ลูกเรียนรู้ว่า เมื่อเกิดปัญหา เรามีทางแก้ไข และมีวิธีแก้ไขอย่างไร
• ลูกเรียนรู้ว่า ปัญหาและอุปสรรคไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แม้ว่ามันดูเหมือนจะยากสักหน่อย แต่เราสามารถรับมือกับมันได้ และจะจัดการอย่างไรถ้ามันเกิดขึ้นอีก
• ลูกเรียนรู้ว่า มีวิธีใหม่ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดการกับปัญหาที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน
• ลูกเรียนรู้ว่า ความผิดพลาดเกิดได้ ก็แก้ไขได้ ถึงแม้เขาจะทำผิดพลาด พ่อแม่ก็ยังรัก ทำให้เขารู้สึกอบอุ่นมั่นคง
• ลูกเรียนรู้ว่า เมื่อเกิดปัญหา พ่อแม่จะอยู่เคียงข้าง และสอนการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องให้
• ลูกเรียนรู้ว่า พ่อแม่เป็นคนเก่งที่เขาภูมิใจ และเขาจะเป็นอย่างที่พ่อแม่เป็น
อยากให้ลูกเก่งและพึ่งตนเองได้ พ่อแม่ต้องมองเห็น “จุดดำ” ให้เป็นโอกาสในการเห็น “สีขาว” ซึ่งเป็นพื้นที่เกือบทั้งหมดบนหน้ากระดาษแผ่นนั้น
ควรทำ
• ปัญหาในชีวิตประจำวันเป็นแบบฝึกหัดชั้นดีที่ใช้สอนลูกให้หัดแก้ปัญหา เช่น สบู่ในห้องน้ำหมด เสื้อนักเรียนไม่แห้ง หมวกลูกเสือหาย ข้าวสารหมด ไข่เจียวไหม้ น้ำหกรดสมุดการบ้าน ไฟดับ เป็นต้น
• ฝึกสอนเทคนิคในการแก้ปัญหา ดังนี้
- ให้เด็กเผชิญปัญหาโดยตรง คือคิดเองและแก้ปัญหาเองก่อน
- คุยถามความคิดและวิธีการที่ใช้แก้ปัญหา
- ชมเมื่อเด็กคิดวิธีการแก้ปัญหาได้หลายวิธี
- ช่วยเด็กคิดหาวิธีแก้ปัญหาและผลที่จะเกิดตามมาหลายๆ ทางเพื่อเป็นทางเลือก
- ให้เลือกวิธีการที่ดีที่สุดและรองลงมา
- ชมการตัดสินใจ
- ให้โอกาสเผชิญปัญหาอีก
- เมื่อเด็กแก้ปัญหารอบตัวได้ จะทำให้เกิดความมั่นใจในตัวเองขึ้น และจะยิ่งมั่นใจมากขึ้นเมื่อสามารถช่วยแก้ปัญหาให้คนอื่นได้ จึงมีใจอยากเรียนรู้มากขึ้นเพื่อทำให้ดีกว่าเดิม
ไม่ควรทำ
• การไม่ฝึกสอนแถมยังทำทุกอย่างและแก้ปัญหาแทนเด็กไปหมด เป็นวิธีการที่เด็กจะเรียนรู้ต่ำมาก ทำให้เด็กอ่อนแอ ไม่อดทน จิตใจเปราะบาง
* หัวใจการเลี้ยงดู
ปัญหาในชีวิตประจำวันคือโอกาสสำคัญในการฝึกฝนลูก
จัดทำข้อมูลโดย : แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย
สนับสนุนโดย : สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 142 ตุลาคม 2555 โดย แผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย)