xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : เสน่ห์แห่งชีวิตอันน้อยนิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สวัสดีครับพี่แผน กำลังทำอะไรอยู่หรือพี่?”

“กำลังอ่านบทพระนิพนธ์ “ชีวิตนี้น้อยนัก” ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

“คงเป็นเรื่องน่าสนใจมากนะครับ เห็นพี่ใจจดจ่ออ่านโดยไม่สนใจใครเลย”

“อ่านพระนิพนธ์เล่มนี้แล้ว เพลินแบบนี้ทุกที ชอบตอนที่ทรงขยายความ พุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า อปฺปกญฺจิทํ ชีวิตมาหุธีรา – ปราชญ์กล่าวว่าชีวิตนี้น้อยนัก ทรงนิพนธ์ว่า ทุกชีวิต ไม่ว่าคนไม่ว่าสัตว์ มิได้มีเพียงเฉพาะชีวิตนี้ คือมิได้มีเพียงชีวิตในชาตินี้ชาติเดียว แต่ทุกชีวิตมีทั้งชีวิตในชาติอดีต ชีวิตในชาติปัจจุบัน และชีวิตในชาติอนาคต

“ชีวิตนี้น้อยนัก” หมายถึงชีวิตในชาติปัจจุบันน้อยนัก สั้นนัก ชีวิตคืออายุ ชีวิตในปัจจุบันชาติของแต่ละคนอย่างยืนนานก็เกินร้อยปีได้ไม่เท่าไหร่ ซึ่งก็ดูราวเป็นอายุที่ไม่ยืนมากนัก แม้ไม่นำไปเปรียบเทียบกับชีวิตที่ต้องผ่านมาแล้วในอดีตที่นับชาติไม่ถ้วนนับปีไม่ได้ และชีวิตที่จะต้องเวียนวนเกิดตายต่อไปอีกในอนาคตที่จะนับชาติไม่ถ้วน นับปีไม่ได้อีกเช่นกัน

ที่ปราชญ์ท่านว่า “ชีวิตนี้น้อยนัก” นั้น ท่านมุ่งให้เปรียบเทียบกับชีวิตนี้กับชีวิตในอดีตที่นับชาติไม่ถ้วน และชีวิตในอนาคตที่จะนับชาติไม่ถ้วนอีกเช่นกัน สำหรับผู้ไม่ยิ่งด้วยปัญญา ไม่สามารถพาตนพ้นทุกข์สิ้นเชิงได้....

....เมื่อมีเหตุย่อมมีผล เมื่อทำเหตุย่อมได้รับผล และผลย่อมตรงตามเหตุเสมอ ผู้ใดทำผู้นั้นจักเป็นผู้รับผลเที่ยงแท้แน่นอน เมื่อใดกำลังมีความสุข ไม่ว่าผู้กำลังมีความสุขนั้นจะเป็นเราหรือเขา เมื่อนั้นพึงรู้ความจริง ว่าเหตุดีที่ได้ทำไว้แน่กำลังให้ผล ผู้ทำเหตุดีนั้นกำลังเสวยผลแห่งเหตุนั้นอยู่ แม้ปุถุชนจะไม่สามารถหยั่งรู้ให้เห็นแจ้งได้ ว่าทำเหตุดีหรือกรรมดีใดไว้ แต่ก็พึงรู้พึงมั่นใจ ว่าเหตุแห่งความสุขที่กำลังได้เสวยอยู่ เป็นเหตุดีแน่ เห็นกรรมดีแน่ ผลดีเกิดแต่เหตุดีเท่านั้น ผลดีไม่มีเกิดแต่เหตุไม่ดีได้เลย

เมื่อใดที่กำลังมีความทุกข์ความเดือดร้อน ไม่ว่าผู้กำลังมีความทุกข์ความเดือดร้อนนั้นจะเป็นเราหรือเป็นเขา เมื่อนั้นพึงรู้ความจริง ว่าเหตุไม่ดีที่ได้ทำไว้แน่กำลังให้ผล ผู้ทำเหตุไม่ดีนั้นกำลังเสวยผลแห่งเหตุนั้นอยู่ แม้ปุถุชนจะไม่สามารถหยั่งรู้ให้เห็นแจ้งได้ ว่าทำเหตุไม่ดีหรือกรรมไม่ดีใดไว้ แต่ก็พึงรู้พึงมั่นใจว่าเหตุแห่งความทุกข์ความเดือดร้อนที่กำลังได้เสวยอยู่ เป็นเหตุไม่ดีแน่ เป็นกรรมไม่ดีแน่ ผลไม่ดีเกิดแต่เหตุไม่ดีเท่านั้น ผลไม่ดีไม่มีเกิดแต่เหตุดีได้เลย

เมื่อใดมีความคิดว่า เราทำดีไม่ได้ดี หรือเขาทำดีไม่ได้ดี ก็พึงรู้ว่าเมื่อนั้นกำลังหลงคิดผิดไปจากความจริง กำลังเข้าใจผิดจากความจริง ทำดีต้องได้ดีเสมอ ไม่มียกเว้นด้วยเหตุผลใดทั้งสิ้น เมื่อใดมีความคิดว่า เราทำไม่ดีแต่กลับได้ดี หรือเขาทำไม่ดีแต่กลับได้ดี ก็พึงรู้ว่าเมื่อนั้นกำลังหลงคิดผิดจากความจริง กำลังเข้าใจผิดจากความจริง ทำไม่ดีต้องได้ไม่ดีเสมอ ไม่มียกเว้นด้วยเหตุผลใดทั้งสิ้น....

พี่อ่านบทพระนิพนธ์ตอนนี้แล้ว ก็ไม่เครียดกับงานอีกเลย พยายามทำงานที่รับผิดชอบให้เต็มกำลังความสามารถ ทำด้วยความสุขความสบายใจ ทำชีวิตให้เกิดคุณประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นอยู่เสมอ อ้อ..แล้ววันนี้มาถึงนี่ มีอะไรรึเปล่าล่ะ”

“ผมกลุ้มใจน่ะครับ คือคนที่ทำงานไม่ค่อยชอบผมเยอะ เจ้านายก็ไม่ค่อยเรียกใช้ เงินเดือน ตำแหน่งก็ไม่ขึ้น ไม่รู้ว่าเป็นอะไร พี่พอจะมีวัตถุมงคลที่ทำให้เกิดเสน่ห์มีคนรักมีคนชอบบ้างมั้ยครับ เห็นมีคนบอกว่าพี่มีเยอะ มิน่า..ใครๆก็ชอบพี่”

“อยากได้จริงหรือ?”

“จริงซิครับ”

“คิดว่าจะรักษาได้หรือ?”

“แน่นอนครับ”

“พี่ถามหน่อยนะ รู้มั้ยว่าเสน่ห์คืออะไร?”

“ผมรู้แค่ว่าคนมีเสน่ห์ ใครๆก็รักใครๆก็ชอบ”

“แล้วคิดว่าวัตถุมงคลจะช่วยให้มีเสน่ห์ได้หรือ?”

“คิดว่าได้นะ เพราะเคยได้ยินคนพูดกันว่าวัตถุมงคลของอาจารย์ที่ขลังๆ จะทำให้มีเสน่ห์ มีคนรักคนหลง ผมเห็นมาหลายคนแล้วล่ะ ที่ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปด้วยวัตถุมงคลที่ว่านี่แหละ”

“แล้วถ้าวัตถุมงคลนั้นหายไป เสน่ห์จะมีอยู่ไหมล่ะ”

“ก็หมดเลยสิพี่ ไม่น่าถาม”

“เรานี่คงนับถือพระพุทธศาสนาตามทะเบียนบ้านเท่านั้นนะ ไม่รู้จักสมบัติอุบาสกบ้างเลย”

“ผมก็ไหว้พระ สวดมนต์ นับถือพุทธศาสนาเหมือนคนอื่นๆ น่ะแหละ”

“ถ้านับถือพระพุทธศาสนาจริง ตรงตามพุทธธรรม ก็ต้องมีคุณสมบัติของอุบาสก ๕ ประการ คือ ๑. ประกอบด้วยศรัทธา คือ เชื่อในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ที่เป็นพระธรรมคำสั่งสอนที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม และเชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของของตน ซึ่งนี่ก็จะเป็นเหตุทำให้ดำรงตนเป็นผู้มีเหตุมีผลในการดำเนินชีวิตอยู่เสมอ ๒.มีศีลบริสุทธิ์ รักษาศีล ๕ จนเป็นนิสัย ทำตนให้ห่างไกลจากความชั่วบาปทุกชนิด ๓.ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ใครพูดอะไร หรือได้ยินข่าวลืออะไร ก็ไม่ปักใจเชื่อ ใช้วิจารณญาณพิจารณาให้เห็นเหตุผลของสิ่งที่ได้ยินอยู่เสมอ ๔. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพุทธศาสนา ๕. บำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา คุณธรรม ๕ ประการนี่มีไหมล่ะในตัวเอง”

“มีอยู่นะพี่ แต่ไม่ครบ”

“ ก็เพราะขาดคุณสมบัติของอุบาสกนี่ไง ชีวิตจึงมีความเจริญก้าวหน้าน้อย ขาดเสน่ห์ในการทำงาน วัตถุมงคลอะไรก็ไม่สามารถช่วยสร้างเสน่ห์ให้ได้หรอก นอกจากตัวเราเองจะต้องสร้างเสน่ห์ให้เกิดขึ้นกับตนเอง”

“ทำอย่างไรล่ะครับ วิธีสร้างเสน่ห์ให้ตัวเอง”

“เราเคยให้วัตถุสิ่งของกับเพื่อนๆ ในที่ทำงานบ้างไหม?”

“ก็นานๆ ครั้ง อย่างถ้าเขาจัดงานวันเกิด ผมก็ซื้อของขวัญให้เขา”

“อ้อ.. ปีหนึ่งให้ครั้งเดียว แถมยังไปร่วมงานกินฟรีอีก ถ้าคนอื่นทำกับเราแบบนี้ เราจะคิดอย่างไรกับเขาล่ะ”

“ก็เฉยๆ นะ”

“แล้วถ้าเขานำของว่าง ขนมนมเนยมาให้เราทุกวันล่ะ จะรู้สึกอย่างไร?”

“ก็ดีสิพี่ แบบนี้ก็รักตายเลย แต่จะมีใครโง่ทำได้ทุกวันล่ะ เงินเดือนก็ไม่มาก หมดตัวกันพอดี”

“พี่นี่ไง ที่โง่ทำแบบนี้ทุกวัน”

“ผมไม่เห็นพี่ให้ของอะไรผมทุกวันเลย นานๆ ก็พาไปกินข้าวสักมื้อ พี่พูดผิดไปหรือเปล่า”

“แล้วทำไมเรายังคบพี่อยู่ล่ะ”

“ผมชอบที่พี่เป็นผู้ใหญ่คอยให้คำปรึกษาคำแนะนำผมอยู่เสมอ พี่ใช้คำพูดที่น่าฟัง และทำได้ตามที่พูดด้วย ผมรู้จักพี่มาตั้งแต่เด็กๆ พี่ก็เสมอต้นเสมอปลายไม่เปลี่ยนแปลง คุยกับพี่แล้วสบายใจ”

“ที่เราพูดมาน่ะ เป็นเพราะพี่ปฏิบัติตนตามหลักสังคหวัตถุธรรม ตามในหลวงท่าน กอปรกับตระหนักถึงเวลาของชีวิตที่น้อยลง ตามพระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ก็เลยทำให้สามารถปฏิบัติธรรมนี้ได้อยู่เสมอ”

“ผมไม่เข้าใจที่พี่พูดเลยครับ เกี่ยวอะไรกับในหลวงท่านด้วย พี่ขยายความหน่อยสิครับ”

“ทุกครั้งที่ดูข่าวในพระราชสำนัก พี่สังเกตว่าในหลวงทรงปฏิบัติพระองค์ตามสังคหวัตถุธรรมเสมอ นี่เป็นเหตุนำให้พระองค์ทรงสถิตอยู่ในดวงใจของพสกนิกรเสมอมา พี่ก็นำสังคหวัตถุธรรมมาปฏิบัติตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ก็เห็นผลดังที่เราได้สัมผัสนี่ละ”

“สังคหวัตถุธรรม มีอะไรบ้างล่ะครับ”

“สังคหวัตถุธรรม เป็นธรรมเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล หรือเป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน มีอยู่ ๔ ข้อ คือ

๑. ทาน คือ การให้
การเอื้อเฟื้อแบ่งปันของของตน เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เป็นคนเห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้ไม่เป็นคนละโมบ ไม่เห็นแก่ตัว เพราะมาคำนึงอยู่เสมอว่า ทรัพย์สิ่งของที่เราหามาได้ มิใช่สิ่งจีรังยั่งยืน เมื่อเราสิ้นชีวิตไปแล้วก็ไม่สามารถจะนำติดตัวเอาไปได้

ในสมัยที่เราไม่สามารถให้วัตถุสิ่งของได้ ก็ตั้งใจปรารถนาให้เขามีความสุขก่อน ที่เรียกว่าเมตตา ในยามที่เขาปรารถนาความช่วยเหลือ เราก็ให้ความช่วยเหลือ ที่เรียกว่ากรุณา ในสมัยที่เราสามารถให้วัตถุสิ่งของที่ควรแก่เขาได้ เราก็ให้วัตถุสิ่งของนั้นแก่เขา ผู้รู้จักให้ย่อมเป็นที่รักแก่ผู้รับเสมอ

๒. ปิยวาจา คือ การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะกับกาลเทศะ การพูดด้วยปิยวาจาจะสร้างมนุษยสัมพันธ์ให้เกิดขึ้น คนเราอยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกัน ต้องรู้จักมีสติยั้งคิดเสมอ ว่าคำพูดแบบไหนที่เราชอบ เพราะกอปรด้วยประโยชน์เช่นไร คนอื่นก็ย่อมชอบเช่นนั้นเหมือนกัน

เราหมั่นกล่าวปิยวาจาอยู่เสมอ ผู้ที่ได้ยินได้ฟังก็เปรมปรีดิ์ในการฟัง ที่สุดเขาก็จะตรึงใจในตัวเราโดยไม่รู้ตัว นี่คือเสน่ห์ที่สำคัญของคนเรา

๓. อัตถจริยา คือ การสงเคราะห์ทุกชนิด หรือการประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เวลาที่ทำงานมีงานที่ต้องทำร่วมกัน ก็ต้องทำอย่างเต็มกำลังความสามารถ สิ่งใดที่จะเป็นผลประโยชน์ทำให้งานของส่วนรวมมีประสิทธิภาพ ก็ต้องเร่งรีบช่วยทำอย่างเต็มใจ นี่ก็จะนำให้เกิดความสามัคคีในที่ทำงาน ที่สุดเพื่อนร่วมงานก็จะคิดถึงเราอยู่เสมอ ว่าเป็นผู้มีน้ำใจดี

๔. สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ หรือมีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย คุณธรรมข้อนี้จะช่วยให้เป็นคนมีจิตใจหนักแน่นไม่โลเล และนำให้เกิดความนิยม และไว้วางใจให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย

พี่ก็ปฏิบัติตนตามสังคหวัตถุธรรมนี่ทุกวัน จนเธอรู้สึกได้ดังที่กล่าวมา”

“มิน่าล่ะ พี่ถึงบอกว่าไม่มีวัตถุมงคลใดที่สามารถเสริมเสน่ห์ได้ ผมเข้าใจแล้วครับ และคงจะต้องเริ่มปฏิบัติตนตามหลักสังคหวัตถุธรรมแบบพี่ จะได้เป็นคนมีเสน่ห์ตรึงใจกับเขาบ้าง ขอบคุณมากนะครับ”

“จำไว้นะ การปฏิบัติธรรมที่แท้จริง ก็คือการน้อมนำหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ มาปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวัน แล้วเราก็จะสัมผัสถึงผลของการปฏิบัติด้วยตนเอง

สังคหวัตถุธรรมนี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งแห่งการมีเสน่ห์ที่ตรึงใจให้เกิดขึ้นในตนเอง ชีวิตคนเรานี่น้อยนัก หมั่นทำความดีเป็นบุญกุศล ทำชีวิตให้มีความสุขในปัจจุบันเสมอ จะได้ไม่เสียชาติเกิด”

“ผมจะจำให้ขึ้นใจเลยครับ”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 142 ตุลาคม 2555 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)


กำลังโหลดความคิดเห็น