• งดอาหารเช้า
เสี่ยงโรคสมองเสื่อม
ปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมกว่า 600,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์ แพทย์สาขาอายุรกรรมสมอง แผนกผู้สูงอายุ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท บอกว่า
เนื่องจากขณะที่นอนหลับในเวลากลางคืน ร่างกายก็ใช้พลังงานตามปกติ และกลูโคสที่สะสมไว้ก็ถูกใช้ไปกว่าครึ่งขณะที่นอนหลับ เมื่อตื่นขึ้นมาจึงไม่ค่อยไม่รู้สึกหิวในตอนเช้า เพราะร่างกายยังสามารถดึงพลังงานสำรองมาใช้ได้ แต่เมื่อพลังงานหมด และสมองยังไม่ได้รับสารอาหารที่ต้องการ ก็จะทำให้หิว หงุดหงิด เครียด ฯลฯ
ดังนั้น อาหารเช้าจึงเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด การงดมื้อเช้าจะส่งผลต่อสมอง เนื่องจากสมองต้องการสารอาหารต่างๆ และกลูโคสไปใช้ในการคิดประมวลผล และถ้างดอาหารมื้อเช้าเป็นประจำ อาจเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม
• กินปลาประจำ
ลดเสี่ยงมะเร็ง 2 ชนิด
นอกจากโปรตีนจากปลาจะมีประโยชน์มากต่อร่างกายแล้ว ล่าสุดยังมีผลวิจัยออกมาว่า การกินปลาเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้
ทง จี เหลียง ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหารประเทศจีน เผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลจาก 41 ประเทศทั่วโลก อาทิ อเมริกา นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น เกี่ยวกับการวัดปริมาณการกินปลาและการติดตามโรคมะเร็ง พบว่า การกินปลาเป็นประจำ ช่วยลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งทวารหนัก ได้ร้อยละ 12 แต่คนที่เน้นกินปลาเยอะกว่าเนื้อสัตว์อื่น พบว่า มีส่วนช่วยลดการเกิดมะเร็งทวารหนักได้ร้อยละ 21 ส่วนมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดได้ร้อยละ 4
ทั้งนี้ จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น อายุ พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาณการกินเนื้อสัตว์เนื้อแดง และประวัติการเป็นมะเร็งของคนในครอบครัว
• “ผักชี”สุดอันตราย
พบสารเคมีตกค้างเพียบ
นายพชร แก้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผักในตลาดสดทั่วไปและรถเร่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน 38.1% ใกล้เคียงกับผลการสุ่มตรวจผักที่มีตรามาตรฐาน Q ของกรมวิชาการเกษตรและผักที่ขายในห้าง ซึ่งพบว่ามีผักที่พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน 43% ทั้งๆ ที่ผักดังกล่าวมีราคาแพงมากกว่าผักที่ขายในตลาดสดตั้งแต่ 2-10 เท่า และผักที่พบสารพิษตกค้างมากที่สุดและอันตรายที่สุด คือ ผักชี
• กินผักและผลไม้สดน้อย
เสี่ยงป่วย 5 โรคร้าย
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทย ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทวีความรุนแรงมากขึ้น ที่พบมาก 5 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง
สาเหตุส่วนใหญ่ของโรค เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในการดำรงชีวิต เช่น ขาดการออกกำลังกาย กินอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน มัน เค็ม มากเกินไป กินผักและผลไม้สดน้อย ไม่ถึงครึ่งกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดว่ามีผลในการป้องกันโรคได้
• วิจัยพบกินแป้งมาก
ทำให้สมองสงบ
การศึกษาวิจัยของ ดร.จูดิธ เวิร์ตแมน แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสสาชูเซ็ต สหรัฐอเมริกา พบว่า การกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตหรือแป้ง จะทำให้สมองสงบลงได้ เพราะเมื่อแป้งหรือน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด จะส่งผลให้กรดอะมิโนทริปโตฟานผ่านเข้าสู่สมองมากขึ้น โดยทริปโตฟานเนั้นป็นสารต้นกำเนิดของสารเซโรโทนิน เมื่อระดับเซโรโทนินสูงขึ้นในสมอง ก็จะออกฤทธิ์ทำให้สมองสงบลง
ดังนั้น คนที่กินอาหารประเภทแป้งมาก จึงค่อนข้างจะสงบเสงี่ยม แต่ถ้าหากกินมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดอาการง่วงนอน หรือไม่กระฉับกระเฉง
• ระวัง!!! “นั่งนานๆ”
โรคมะเร็งถามหา
ไม่ว่าเก้าอี้ที่บ้านหรือที่ทำงานจะนั่งสบายแค่ไหน แต่ถ้านั่งนานๆ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่
ทั้งนี้มีการศึกษาใหม่ซึ่งนำเสนอในที่ประชุมประจำปีของสถาบันวิจัยมะเร็งแห่งอเมริกา (AICR) ในวอชิงตันดีซี พบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็ง 92,000 คน ในแต่ละปีในสหรัฐอเมริกา ขาดการออกกำลังกาย และใช้เวลานั่งมากเกินไป
โดยผู้ป่วยทั้งหมดนี้ที่ใช้เวลานั่งมากเกินไปนั้น พบว่าเป็นมะเร็งเต้านม 49,000 คน และเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ 43,000 คน นอกจากนี้ผลการศึกษายังได้แนะนำว่า การออกกำลังกายเป็นประจำยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอด 37,200 คน โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 30,600 คน โรคมะเร็งเยื่อบุมดลูก 12,000 คน และโรคมะเร็งรังไข่ 1,800 คน
และผลการศึกษาวิเคราะห์โรคมะเร็งจากทั่วโลก กว่า 200 กรณี พบว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านมและลำไส้ใหญ่ ได้ 25 -30 เปอร์เซ็นต์
ผลการศึกษานี้ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความสำคัญของการออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
เพราะการออกกำลังกายมากขึ้น มีความเสี่ยงต่ำในการเป็นโรคมะเร็งเหล่านี้
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 141 กันยายน 2555 โดย ธาราทิพย์)