xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : อยู่อย่างมีสติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หลวงตาครับ ผมพาเจ้าต้นมาอาบน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์หน่อยครับ แม่เขารบเร้าให้มาน่ะครับ”

“คุณนี่.. ชอบอ้างฉันเรื่อย กลัวหลวงตาจะว่างมงายหรือไง เมื่อเช้าใครกันล่ะที่กุลีกุจอเร่งให้พาลูกมาหาหลวงตา บอกว่าให้หลวงตาอาบน้ำมนต์แล้วจะได้ไม่เคราะห์ร้าย

คืองี้ค่ะหลวงตา เจ้าต้นนี่เรียนสายอาชีวะ แล้วก็ชอบตามเพื่อนไปโน่นไปนี่บ่อยๆ ทำให้กลับบ้านไม่ตรงเวลา คุณพี่กังวลใจเครียดเรื่องนี้มาหลายวันแล้ว เพราะช่วงนี้มีข่าวเด็กอาชีวะยกพวกตีกัน ดิฉันจึงชวนให้ทั้งพ่อและลูกมากราบหลวงตา แล้วจะขอให้หลวงตาอาบน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ให้ลูกด้วย คุณพี่จะได้สบายใจขึ้นค่ะ”

“กลัวกรรมตามทัน จนสติสตังไม่อยู่กับเนื้อกับตัวหรือโยม ตอนเรียนโยมก็เฮี้ยวไม่เบาเลยนะ เรื่องชกต่อยทะเลาะวิวาทนี่ พอมารุ่นลูก ก็กลัวผลกรรมของตน เลยพานคิดไปเองต่างๆ นานา วิตกจริตไม่รู้ตัว ก็เป็นธรรมดาของคนเป็นพ่อเป็นแม่ที่รักห่วงใยลูก แล้วนี่คุยกับลูกหรือยังล่ะ”

“เรื่องเก่าๆลืมบ้างก็ได้นะครับหลวงตา ตอนนี้ผมเข้าใจความรู้สึกของพ่อแม่ผมแล้วครับ ว่าท่านกังวลใจและเป็นห่วงลูกมากแค่ไหน”

“โยม..มีหลายเรื่องราวบนโลกนี้ ที่อาจไม่เป็นอย่างที่เราคิดก็ได้ เรากังวลใจกลุ้มใจมากๆกับเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นแบบนี้ แล้วเกิดเส้นเลือดในสมองแตกเพราะเครียดมาก มันจะคุ้มไหม หรือทำอะไรแบบคนสติแตกขึ้น ครอบครัวก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย มันจะดีหรือ ทำไมไม่คุยกับลูกล่ะ จะได้ไม่ต้องมากังวลใจแบบนี้”

“ผมยอมรับว่า ช่วงนี้งานยุ่งมาก ไม่ได้คุยกับลูกเลย พอเจอข่าวแบบนี้ก็ทำให้คิดเองเออเอง จนกังวลใจไปอย่างที่หลวงตากล่าวมา”

“เมื่อวันขึ้นปีใหม่ ในหลวงท่านทรงให้พรปีใหม่ว่า “...ขอให้ประชาชนชาวไทยได้ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท โดยมีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิดอยู่ตลอดเวลา ผู้ใดมีภาระหน้าที่อันใด ก็เร่งกระทำให้สำเร็จลุล่วงไปให้ทันการทันเวลา ผลงานทั้งนั้นก็จะได้ส่งเสริมให้แต่ละคนประสบความสุขความเจริญ และทำให้ชาติบ้านเมืองดำรงมั่นคงและก้าวหน้าต่อไปด้วยความผาสุกสวัสดี..”

โยมลองพิจารณาดูสิ ที่เราขาดสติไปเป็นเพราะอะไร ก็เพราะเราปล่อยให้ความคิดของเราตกไปในอำนาจของกิเลส ที่มันพาให้เราคิดวกวนสับสนอย่างนี้ ทำไมไม่ฝึกให้มีความคิดอยู่ในอำนาจของสติ ตามพรปีใหม่บ้างล่ะ

สติจะเป็นตัวระมัดระวังป้องกันจิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน ทำให้เกิดปัญญาเห็นคุณและโทษของความคิดนั้น แล้วก็จะได้รู้ว่าควรทำอย่างไรในแต่ละปัญหาที่ประสบอยู่ สุขประโยชน์ก็จะเกิดมีอยู่ตลอดเวลาที่โยมอยู่อย่างมีสติ โยมก็จะทำตนสมกับเป็นผู้รับพรปีใหม่จากในหลวงท่าน ลองนั่งคิดทบทวนดูนะ”

“ครับ”

“เจ้าต้นล่ะ ว่าไง มีอะไรอยากจะพูดมั้ย”

“ผมก็บอกคุณพ่อคุณแม่ว่า ผมไม่ได้ไปทะเลาะวิวาทกับใคร แต่ท่านก็ไม่เชื่อครับ เมื่อเช้านี้คุณพ่ออ่านข่าวเจอนักเรียนอาชีวะยิงปืนใส่คู่อริที่อยู่บนรถเมล์ แล้วกระสุนพลาดไปโดนคนโดยสารอื่นๆเข้า ก็เลยพานคิดว่าผมอาจจะไปทำอย่างนั้นบ้าง ผมก็ไม่รู้จะอย่างไรครับหลวงตา”

“แล้วเราคิดว่าพ่อแม่ทำถูกไหมล่ะ?”

“ผมก็รู้ครับ ว่าพ่อแม่รักและเป็นห่วง แต่ผมก็ดูแลตนเองได้ครับหลวงตา อีกอย่างกลุ่มผมถึงจะเรียนอาชีวะ แต่พวกเราไม่ใช่กลุ่มนักเรียนนักเลง ไม่คิดจะทะเลาะวิวาทกับใครให้เจ็บตัวหรอกครับ กลัวตายเหมือนกัน พวกผมก็แค่จับกลุ่มกันทำงานตามบ้านเพื่อน”

“ต้น..รู้ไม่ใช่หรือว่า ถ้าประมาทอยู่อย่างนี้ ก็อาจจะถูกเข้าใจผิดและถูกลอบทำร้ายได้โดยไม่รู้ตัว ที่ตีกันโครมครามเป็นข่าวนั่นน่ะ มีไหมที่สู้กันอย่างลูกผู้ชาย หมาหมู่ทั้งนั้น และก็ลอบกัดด้วย แล้วลูกชอบไปกับเพื่อนใส่เสื้อสถาบันไปด้วย เกิดอะไรขึ้นมา จะให้พ่อแม่ทำไง นั่งเสียใจไปตลอดชีวิตเลยหรือ”

“แม่ก็คิดอย่างพ่อนะต้น”

“ต้นเอ๊ย.. เราก็รู้ว่าพ่อแม่รักและห่วงใย ตั้งแต่เล็กจนโตถึงวันนี้ หลวงตาก็ไม่เห็นพ่อแม่เขาจะบังคับต้นให้ทำอย่างที่เขาปรารถนาเลย รู้ไหมตอนเด็กๆ พอต้นร้องไห้ไม่ยอมไปโรงเรียน พ่อแม่ก็ตามใจ ให้อยู่บ้าน ปู่ย่าตายายพูดอย่างไรก็ไม่ฟัง เราก็เลยได้ใจ ไม่ตั้งใจเรียน

ตอนที่ต้นตามเพื่อนไปเรียนสายอาชีวะนี่ พ่อแม่เขากินไม่ได้นอนไม่หลับเลยนะ แต่เมื่อเราต้องการอย่างนี้ พ่อแม่ก็ต้องทำใจยอมรับ วันนี้คงจะกังวลมาก จนทำใจไม่ได้ ก็เลยพามาหาหลวงตานี่ล่ะ.. เราจะว่าอย่างไรล่ะ”

“คุณพ่อคุณแม่ครับ ผมขอโทษครับ ต่อไปนี้ผมจะไม่ทำตัวให้คุณพ่อคุณแม่เป็นห่วงมากอีกแล้วครับ”

“ไม่เป็นไรหรอกลูก พ่อแม่ก็ผิดเหมือนกัน ที่ตามใจลูกตลอดมา ต้นเป็นลูกคนโต ต่อไปก็ต้องทำตัวให้น้องตาล น้องตุ้ย ได้ดูเป็นตัวอย่าง น้องๆ จะได้ภูมิใจในตัวต้น”

“ครับแม่ ผมจะปรับปรุงตัวใหม่ ผมให้สัญญาว่า จะไม่กลับบ้านผิดเวลาอีกแล้วครับ และจะไม่ไปกับเพื่อนหลังเลิกเรียนด้วย”

“ต้นรู้ไหมว่า สาเหตุที่ทำให้นักเรียนอาชีวะตีกันคืออะไร?”

“เรื่องศักดิ์ศรีของสถาบันครับหลวงตา ตั้งแต่วันรับน้อง รุ่นพี่ก็จะคอยปลูกฝังเรื่องนี้ให้พวกผมตลอดเวลา พร้อมกับเล่าเรื่องรุ่นพี่ที่ไปมีเรื่องกับสถาบันอื่นด้วยครับ รุ่นพี่บอกทุกครั้งว่า พวกผมจะต้องทำทุกอย่างที่ให้ทำ เพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของสถาบันเรา รุ่นพี่บอกว่าถ้าพวกผมสามารถทำร้ายโรงเรียนคู่อริได้ ก็จะได้รับการยอมรับจากเพื่อนในสถาบัน”

“แล้วเพื่อนๆ ต้น มีลักษณะครอบครัวแบบไหนล่ะ”

“เท่าที่ทราบนะครับ ส่วนมากก็มักจะมีปัญหาเรื่องครอบครัวแตกแยก หรือไม่ได้ใกล้ชิดกับครอบครัว หลายคนที่ขาดความรักความอบอุ่น ซึ่งอาจจะเป็นเหตุทำให้เขาเลือกทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่เหมาะสมก็ได้ครับ”

“แล้วครอบครัวเรามีปัญหาแบบนั้นหรือเปล่า”

“เปล่าครับ.. กลุ่มผมเป็นกลุ่มที่ครอบครัวปกติ เพื่อนในกลุ่มชอบสนุกสนานกัน ทำกิจกรรมกัน เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้านครับ”

“ต้น.. วัยของเรานี่กำลังเป็นวัยที่มักหุนหันพลันแล่น และขาดความยับยั้งชั่งใจ ทำให้ชอบสร้างปัญหาสังคมได้มากมาย การทะเลาะวิวาทก็เป็นผลประการหนึ่ง ทางสถาบันก็ติดต่อมาให้คณะสงฆ์จัดพระเข้าไปสอนธรรมศึกษา เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนที่เป็นวิถีชีวิตของคนไทย และก็ขอให้กรมการรักษาดินแดนจัดหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหาร ที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเราให้มีความเป็นสุภาพบุรุษมากขึ้น

ในส่วนครูอาจารย์ก็เพิ่มภาระความเอาใจใส่ในด้านวิชาการมากขึ้น ด้วยหวังจะส่งพวกเราไปแข่งขันงานอาชีวะศึกษาระดับชาติกับระดับโลก สิ่งเหล่านี้ล่ะที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องทะเลาะวิวาทได้ส่วนหนึ่ง การที่เราได้ร่วมกิจกรรมแล้วรู้สึกว่าเป็นไงบ้างล่ะ”

“ผมว่าดีนะครับ ตอนนี้กลุ่มผมก็กำลังทำโครงการส่งประกวดในระดับสถาบันอยู่ เลยทำให้กลับบ้านผิดเวลาไปบ้าง”

“คิดว่าเราเคราะห์ดีหรือเคราะห์ร้ายล่ะตอนนี้”

“เคราะห์ดีครับ”

“เอ้า..ว่าไงล่ะโยม ลูกว่าเคราะห์ดีแล้ว ยังจะให้สะเดาะเคราะห์อีกไหม?”

“ฟังที่ลูกบอกหลวงตาแล้ว ผมก็เข้าใจลูกมากขึ้น ค่อยหายห่วงหน่อย แต่ก็ยังอยากให้หลวงตาอาบน้ำมนต์ให้เจ้าต้นอยู่ดีล่ะครับ”

“ต้นว่าไง.. พ่อเขาอยากให้อาบน้ำมนต์น่ะ”

“แล้วแต่หลวงตาจะกรุณาครับ”

“ก่อนจะอาบน้ำมนต์ หลวงตาจะบอกอะไรให้ ฟังและจำไว้นะ น้ำมนต์ของหลวงตาชื่อว่า น้ำมนต์ ๗ วัฒน์ คนที่อาบแล้วจะต้องหมั่นทำตนให้เจริญด้วยหลักธรรม ๗ ประการคือ

๑. อายุวัฒน์ = ทำตนให้เป็นผู้เจริญอายุ ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพกายใจให้สมบูรณ์

๒. ธนวัฒน์ = ทำตนให้เป็นผู้เจริญทรัพย์ ด้วยการรู้จักหา รู้จักใช้ รู้จักทำทรัพย์ให้มีเพิ่มขึ้น รู้จักอดออม ทำตัวตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง

๓. สิริวัฒน์ = ทำตนให้เป็นผู้เจริญสิริ ด้วยการรู้จักปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรม

๔. ยสวัฒน์ = ทำตนให้เป็นผู้เจริญยศ ด้วยการรู้จักทำหน้าที่ตามหลักอิทธิบาท ๔ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน สมฐานะ มีความรับผิดชอบงานในหน้าที่ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๕. พลวัฒน์ = ทำตนให้เป็นผู้เจริญกำลัง ด้วยการปฏิบัติตามพลธรรม ๕ คือ มีศรัทธา มีความเพียร มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา

๖. วรรณวัฒน์ = ทำตนให้เป็นผู้เจริญวรรณ ด้วยการรักษาร่างกายให้สะอาด มีผิวพรรณงามสง่าสมฐานะ สมสังคม แต่งตัวได้เหมาะสมกับวัย

๗. สุขวัฒน์ = ทำตนให้เป็นผู้เจริญสุข ด้วยการปฏิบัติตนตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา และหลักนิยมที่ถูกต้องของสังคม จนสามารถบรรลุถึงสุขตามที่แสดงไว้


ที่สำคัญคือ จะต้องท่องหลักธรรมทั้ง ๗ นี้ ทุกครั้งที่อาบน้ำ หมั่นทำให้เป็นกิจวัตรเสมอตลอดชีวิต ทำได้ไหมล่ะ”

“ทำได้ครับหลวงตา”

“เอ้า...งั้นก็รับศีล แล้วไปรอหลวงตาตรงที่อาบน้ำมนต์นะ”

“ครับ”

“ตอนนี้โยมทั้งสอง เป็นพ่อแม่แล้ว คงรู้ถึงผลกรรมที่เคยทำไว้กับพ่อแม่แล้วนะ ลูกน่ะเป็นผลกรรมที่ชัดเจน ให้ผลเพิ่มไปตามขนาดที่โยมทำไว้กับพ่อแม่ พยายามเลี้ยงลูกให้เหมาะสมกับวัย ใช้พระเดชพระคุณให้พอดี

เจ้าต้นตอนนี้เป็นวัยคะนอง วัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ต้องช่วยกันประคับประคอง โยมให้เวลากับลูกได้ดี อาตมาขอชมเชย ความรักความห่วงใยก็ควรจะเหมาะสมกับเขาด้วย อย่าไปทำให้เขารู้สึกว่าอ่อนแอ จนเพื่อนนำมาล้อเลียนได้ ดังนั้น ก็ต้องระมัดระวังด้วย จำไว้ว่า ตึงไปก็ขาด หย่อนไปก็เสียคน

ต้นเป็นเด็กดี ปู่ย่าตายายอบรมดีแล้วตั้งแต่เล็ก เราต้องเชื่อมั่นในเชื้อความดีของตระกูลเราที่สืบทอดไปถึงเขาด้วย อย่าไปเครียดกับเขามาก จะทำให้ลูกห่างเหิน เอ้า..เตือนแค่นี้ล่ะ หลวงตาจะไปอาบน้ำมนต์ให้เจ้าต้น แล้วโยมจะได้พาลูกกลับบ้าน”

“กราบขอบพระเดชพระคุณหลวงตาครับ/ค่ะ”

“เจริญพร”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 141 กันยายน 2555 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)



กำลังโหลดความคิดเห็น