xs
xsm
sm
md
lg

ศน.หนุนคลินิกคุณธรรมในสถานศึกษา แก้นักเรียนนักเลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศน.หนุนเทคนิคดอนเมือง ผุด “คลินิคคุณธรรม” แก้ปัญหานักเรียนนักเลง เริ่มกิจกรรมแรกจัดค่าย “คนดีศรีดอนเมือง” ส.ค.นี้ จับเด็กกลุ่มเสี่ยงอบรมคุณธรรมก่อน

วันนี้ (6 ส.ค.) ที่กรมการศาสนา มีการประชุมหารือแนวทางการจัดกิจกรรมสนับสนุนนักเรียน นักศึกษา จัดค่ายปฏิบัติธรรม สร้างนักศึกษาแกนนำในการดูแลรุ่นน้อง โดยนายคำรณ โพยมรัตน์ รองผอ.วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่า เกิดปัญหาความก้าวร้าวของเด็กอาชีวะ ส่วนหนึ่งเกิดจากค่านิยมของผู้ปกครองที่อยากให้ลูกเรียนจบปริญญา เลยส่งเสียให้ลูกเรียนในสายสามัญ ส่วนเด็กที่เหลือ ก็ถูกโยนมาที่วิทยาลัยอาชีวะ ทำให้เด็กเกิดปมด้อย และพยายามหาปมเด่นจากการรวมกลุ่มกับรุ่นพี่และรุ่นน้องไปกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำตัวเป็นนักเลง ให้ความเคารพรุ่นพี่มากกว่าอาจารย์ เช่น ยกมือไหว้รุ่นพี่ก่อนไหว้อาจารย์ ทางวิทยาลัย ยอมรับว่า ดูแลไม่ทั่วถึง ส่วนหนึ่งเพราะยังไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทางกระทรวงศึกษาธิการอย่างเต็มที่ อีกทั้งงบประมาณส่วนหนึ่งต้องไปใช้ซ่อมวิทยาลัยหลังน้ำท่วมใหญ่ จึงขอความสนับสนุนจากทาง ศน.ให้ช่วยหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน

นายคำรณ กล่าวว่า ขณะนี้วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง มีนักศึกษาประมาณ 2,000 คน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเสี่ยง คือ นักเรียนที่มีประวัติทำความผิดประมาณ 200 คน 2.กลุ่มเฝ้าระวัง คือ นักเรียนที่พร้อมจะคล้อยตามกลุ่มเพื่อนและรุ่นพี่ที่อยู่กลุ่มเสี่ยง เริ่มจะมีพฤติกรรมจะกระทำความผิด ออกนอกลู่นอกทาง คิดเป็นร้อยละ 70% กลุ่มที่ 3 คือ นักเรียนปกติ จะเห็นว่าเด็กที่ทำความดีมีอยู่จำนวนมากกว่าเด็กที่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม หากมีการจัดทำค่ายอบรมก็จะคัดเลือกเอาเด็กกลุ่มเสี่ยงประมาณ 200 คน เข้ารับการอบรมก่อน ส่วนกลุ่มเด็กที่ต้องเฝ้าระวังจะเน้นพาออกไปทำกิจกรรมให้บริการชุมชน เช่น โครงการ 108 อาชีพ โครงการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน fix it center เป็นต้น

นายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวว่า ทางวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง ได้ประสานมายัง ศน.เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาเด็กนักทะเลาะวิวาทกัน ตนเห็นว่า การนำมิติทางศาสนามาแก้ไขปัญหา เด็กตีกัน เป็นมิติที่อ่อนโยนกว่าการที่ ศธ.เสนอแนวทางนำเด็กไปเข้าค่ายทหาร เพราะการฝึกกับทหาร เป็นการอัดฉีดสร้างพลังให้กับเด็ก แต่ไม่สามารถหาพื้นที่การแสดงออกได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะขาดเรื่องการหล่อหลอมจิตใจ เห็นตัวอย่างได้จากนักโทษที่ถูกคุมขังอยู่ในคุก เมื่อได้รับการปล่อยตัวออกมา ก็นำกระบวนการเรียนรู้จากในคุก กลับมากระทำความผิดซ้ำๆ ขึ้นอีก นายปรีชา กล่าวต่อไปว่า ตนจึงเสนอให้นำวิธีการทางด้านศาสนาเข้ามาเยียวยาจิตใจเด็กและเยาวชน โดยเสนอให้มีการจัดคลินิกคุณธรรมในสถานศึกษา โดยมีรูปแบบให้คล้ายกับการเข้าค่ายทางศาสนา​ซึ่ง ศน.ได้ร่วมกับศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่อมเกลาจิตใจ เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด และต้องถูกคุมขัง โดย นิมนต์พระสงฆ์มาเป็นวิทยากร และให้พ่อแม่ ผู้ปกครองมาร่วมกิจกรรมกับเด็กและเยาวชน โดยใช้วิถีพุทธ เข้ามาเป็นตัวเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ทั้งการฝึกสมาธิ ฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งจากการประเมิลผล พบว่า ไม่มีเด็กและเยาวชนกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก อีกทั้งยังชักจูงเพื่อนๆ ให้กระทำความดี ละเว้นความชั่ว

โดยในเบื้องต้น คลินิกคุณธรรมในสถานศึกษา ได้วางแนวทางการดำเนินการ ไว้ 2 ส่วน คือ 1.พระวิทยากร ได้รับการประสานจากสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชญญาติการาม และกรรมการมหาเถรสมาคม ในการช่วยฝึกอบรมพระวิทยากรมาร่วมจุดประกายแนวคิดให้เด็กเข้าถึงวิถีพุทธมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในระยะเวลา 1 ปี จะสามารถผลิตพระวิทยากร ได้กว่า 10,000 รูปทั่วประเทศ

2.ทางสถานศึกษาจะต้องร่วมจัดหลักสูตรและกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาของตนเองโดยเน้นแนวทางวิถีพุทธ ซึ่งทาง ศน. พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมทั้งหมด ซึ่งตนคิดว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้เด็กได้ละลายพฤติกรรม และซึมซับเกิดการยั้งคิดในการปฏิบัติตนว่าสิ่งใดควรกระทำ และไม่ควรกระทำ โดยอยู่ในกรอบของพระพุทธศาสนา ทั้งนีี้ีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีีี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบทำกิจกรรมพัฒนานักเรียน นักศึกษา “โครงการพัฒนาผู้นำเยาวาชนคนดีศรีดอนเมือง” ระหว่างวันที่ 18-20 ส.ค.ที่ ค่าย 27 รีสอร์ท อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยใช้งบประมาณสนับสนุน 2.5 แสนบาท นอกจากนี้ยังจัดตั้งคลินิคคุณธรรมในสถานศึกษาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น