The Lady เป็นภาพยนตร์ว่าด้วย อัตชีวประวัติของสตรีแกร่งแห่งพม่านั่นคือ “นางอองซาน ซูจี” โดยหนังเริ่มต้นที่เหตุการณ์การลอบสังหาร นายพลอองซาน ผู้เป็นบิดาของซูจี
นายพลอองซาน เป็นวีรบุรุษที่ชาวพม่านับถือ เพราะเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากการรุกรานของสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น แต่ความคิดแบบหัวก้าวหน้าที่มองไปถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตย นายพลผู้ยิ่งใหญ่จึงถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมจากฝ่ายทหารผู้กระหายอำนาจ
หนังตัดภาพข้ามช่วงเวลาการเติบโตของซูจีออกไปยังชีวิตครอบครัวที่แสนอบอุ่นของเธอในประเทศอังกฤษ ซึ่งเธอได้มาศึกษาที่มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดและพบรักกับ “ไมเคิล อริส” ผู้เป็นสามี ทั้งคู่มีลูกชายสองคน คือ อเล็กซานเดอร์ กับ คิม
แต่แล้วจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของซูจี คือ โทรศัพท์ทางไกลจากประเทศบ้านเกิดที่แจ้งอาการป่วยของผู้เป็นมารดา ทำให้เธอตัดสินใจบินกลับไปดูแลแม่ที่พม่า โดยหารู้ไม่ว่านั่นเป็นจุดเริ่มของความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของเธอ และชาวพม่าทั้งประเทศ
เพียงก้าวแรกที่ซูจีเดินเข้าสู่สนามบิน คนของนายพลเนวิน ผู้ครองอำนาจมายาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ ก็คอยจับตาความเคลื่อนไหวของเธอ เพราะรัฐบาลทหารรู้ดีว่า นางซูจีคือสายเลือดแท้ๆของนายพลเนวิน ผู้ซึ่งยังเป็นที่รักใคร่ของชาวพม่า
เดิมทีซูจีก็ไม่ได้ต้องการเคลื่อนไหว หรือยุ่งเกี่ยวอะไรกับสถานการณ์ภายในประเทศ เธอเพียงรับรู้ และกังวลใจเท่านั้น เหนืออื่นใดคือการมาทำหน้าที่ลูกที่ดีในการดูแลมารดาที่เจ็บป่วยเท่านั้น
แต่ท่ามกลางสถานการณ์ภายในประเทศที่บรรดานักศึกษา ประชาชนกำลังประท้วงรัฐบาลทหาร และเกิดการปะทะอย่างรุนแรง จนมีผู้บาดเจ็บมากมายถูกหามเข้ามารักษายังโรงพยาบาลที่นางซูจีดูแลมารดาอยู่นั้น เป็นภาพที่น่าหดหู่สำหรับเธอ
และการที่ต้องอยู่ภายในสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้นางซูจีมิอาจนิ่งเฉยดูดายได้ กอปรกับได้แรงสนับสนุนจากนักศึกษาและประชาชนที่ยังจงรักภักดีต่อนายพลอองซาน เธอจึงเริ่มก้าวเข้าสู่เส้นทางสายการเมืองในที่สุด
เหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งของซูจีคือ การกล่าวปราศรัยครั้งแรกในกรุงย่างกุ้ง บริเวณเจดีย์ชเวดากอง ท่ามกลางกลุ่มผู้สนับสนุนราว 5 แสนคน ทั้งสื่อพม่า สื่อต่างชาติ ต่างประโคมข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้อย่างคึกคัก สอดรับกับความหวังที่เบ่งบานของชาวพม่า ที่อาจจะมีโอกาสโค่นอำนาจของนายพลเนวิน
ซูจีได้ร่วมกับแกนนำอุดมการณ์เดียวกัน จัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy : NLD) แต่อุปสรรคระหว่างเส้นทางการเมืองของเธอ คือการขัดขวางตัดกำลังจากรัฐบาลทหารทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการห้ามปราศรัยย่อย การอาศัยจังหวะเผลอจับแกนนำนักศึกษาที่สนับสนุนไปขังลืมในคุก ตลอดจนการข่มขู่ด้วยกระบอกปืน
ในภาพยนตร์ มีฉากสำคัญที่กลุ่มทหารพม่าเล็งปืนไปที่ซูจี เพื่อข่มขวัญให้เธอเกิดความหวาดกลัว และถอดใจในการเดินหน้าหาเสียง แต่ทว่าด้วยจิตใจอันแข็งแกร่ง และเชื่อมั่นในพลังความดี เธอเดินเข้าไปหาปลายกระบอกปืนอย่างนิ่งสงบแต่แฝงไว้ด้วยความแข็งแกร่ง จนทหารพม่าต้องยอมถอยไปเอง
สุภาษิตที่ว่า “คนดีตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้” นั้น ใช้ได้ดีกับซูจี เธอรอดพ้นจากเหตุการณ์ที่เป็นอันตรายมาได้หลายครั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งนับว่าเป็นกรรมดีที่เธอได้ทำไว้ ผนวกกับความเชื่อเรื่องคำทำนายและโชคชะตาที่หมอดูได้บอกกับนายพลเนวิน หากจะสังหารนางซูจี ทำให้เขาไม่กล้าทำอะไรเธอไปมากกว่าการ ตัดทอนกำลังและจองจำหญิงแกร่งผู้นี้
ซูจีถูกจองจำในบ้านพักของตัวเอง โดยมีกองทหารปิดกั้นตรวจสอบอยู่โดยรอบ ขณะเดียวกันก็เริ่มจับแกนนำคนสำคัญของพรรคอีกหลายรายเข้าคุกด้วยข้อหาที่ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล
แต่พลังของประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตย ก็ปรากฏออกมาหลังการเลือกตั้ง เมื่อพรรค NLD ชนะการเลือกตั้งอย่างงดงาม แต่แน่นอนว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่ปรารถนาให้อำนาจถูกเปลี่ยนแปลง จึงยังสั่งกักบริเวณแกนนำสตรีคนสำคัญต่อไปโดยพยายามยื่นข้อเสนอว่า ให้เธอกลับไปอังกฤษ แล้วทุกอย่างจะคลี่คลายเอง
ซูจีรู้ดีว่าข้อเสนอนั้น คือ การเนรเทศเธอออกจากประเทศบ้านเกิดอย่างถาวรโดยไม่มีทางจะได้กลับมายืนหยัดต่อสู้ และกลับมาเป็นผู้นำความถูกต้องบนแผ่นดินพม่าได้อีก เธอจึงยอมที่จะถูกกักขังต่อไป แม้กระทั่งเมื่อมีการประกาศให้เธอได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพซูจีก็ไม่ยอมเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อไปรับรางวัลอันทรงเกียรตินั้น
นอกจากนี้ ภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์ควบคู่ไปกับเหตุการณ์ด้านการเมือง และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอันบริสุทธิ์ คือ ภาพของ “ความเป็นแม่” ที่ต้องพลัดพรากจากลูกทั้งสอง โดยซูจีมีโอกาสได้พบลูกๆ เพียงไม่กี่ครั้ง เมื่อทั้งสองเดินทางมาหาแม่ที่พม่า
แม้ในฐานะแม่ลูกสอง เธอย่อมตัดสินใจกลับไปทำหน้าที่ในครอบครัวที่อังกฤษได้เสมอ แต่ซูจีรู้ดีว่า เธอนั้นเปรียบได้ราวกับ “แม่ซู” ของชาวพม่าอีกหลายล้านคนด้วย เธอจึงยอมเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อประเทศชาติ
The Lady จบลงที่เหตุการณ์การชุมนุมของพระสงฆ์ และซูจีก็ยังคงต่อสู้ด้วยหลักที่เธอยึดถือต่อไป ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า
ความสำเร็จในชีวิตของคุณแม่ลูกสองรายนี้ เกิดจากหลักธรรมแห่งพุทธศาสนานำทางชีวิต ตั้งแต่หลักการอหิงสาของท่านมหาตมะ คานธี ในการต่อสู้ด้วยความสงบนิ่ง ไม่ใช้ความรุนแรง มีความเพียร (วิริยะ) ไม่ท้อถอยกับอุปสรรคที่ถาโถมเข้ามา
เส้นทางแห่งความสำเร็จของซูจี สอดคล้องกับหลัก “ฆราวาสธรรม 4” อันประกอบไปด้วย สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ กล่าวคือ “สัจจะ” ความซื่อสัตย์จริงใจ ที่มีให้กับบุคคลที่ตนรัก ทั้งสามี ลูกๆ และประชาชนชาวพม่า, “ทมะ” การข่มใจควบคุมอารมณ์ ท่ามกลางสถานการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา, “ขันติ” ความอดทนอดกลั้นแม้จะถูกทางการพม่ายั่วยุ บีบคั้นเพียงใดก็ตาม และ “จาคะ” ความเสียสละ แบ่งปันที่เธอมีให้กับประเทศชาติ
กว่า 20 ปี แห่งการถูกจองจำ บัดนี้อองซาน ซูจี ได้รับอิสรภาพแล้ว เส้นทางชีวิตของเธอ หรือ “แม่ซู” ของชาวพม่า จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 140 สิงหาคม 2555 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)