สำหรับคนที่เป็นแฟนหนังของผู้กำกับสายเลือดฝรั่งเศส แต่ไปเติบโตเป็นไม้ใหญ่ในตลาดฮอลลีวูดอย่างลุค เบซง จะพบว่า ผลงานเขาทั้งหมด โดยเฉพาะที่เขากำกับเอง ล้วนแล้วแต่เป็นหนังที่ให้น้ำหนักความสำคัญกับตัวละครที่เป็นเพศหญิงค่อนข้างมาก
ไล่มาตั้งแต่ “ลีลู” หญิงสาวต่างดาว ใน The Fifth Element, นิกิต้า ใน La Femme Nikita หรือแม้แต่หนังที่ดูเหมือนจะเป็นหนังผู้ชายจ๋าอย่าง Leon The Professional แต่ก็ยังมีตัวละครหญิงอย่าง “มาทิลด้า” (รับบทโดยนาตาลี พอร์ตแมน ที่ยังเด็กแบ๊วใสๆ) มาเป็นตัวสร้างจุดเปลี่ยนของมือปืนในเรื่อง
เหนืออื่นใด ผู้หญิงในหนังของลุค เบซง จะมีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกันอยู่ประการหนึ่ง นั่นก็คือ นอกเหนือไปจากจะต้องมีความเข้มแข็ง (แต่เก็บซ่อนความอ่อนไหวเปราะบางไว้ลึกๆ) เพื่อที่จะประคับประคองตัวเองให้ผ่านพ้นสถานการณ์ยุ่งยากต่างๆ “ตัวละครหญิง” ของเขาก็มักจะเป็น “ใครบางคน” ที่ดูเหมือนว่าจะต้องถูกชักพาเข้าสู่ “สถานะ” บางอย่างซึ่งส่งผลให้พวกเธอไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตปกติได้เฉกเช่นคนทั่วไป
และไม่มากไม่มาย ผมคิดว่า อองซาน ซูจี แห่ง The Lady ก็อยู่ในขอบข่ายนี้เช่นเดียวกัน
แน่นอนครับ นี่คือหนังที่ผมขออนุญาตแสดงตัวเป็น “หน้าม้า” อย่างออกนอกหน้าตั้งแต่บรรทัดนี้เลยว่า เป็นหนังประวัติศาสตร์ที่ทำออกมาได้ดีถึงดีมาก ผมดูแล้วก็ได้แต่นึกในใจว่า ถ้าคนไทยเราทำหนังประวัติศาสตร์ได้ขนาดนี้ จะเป็นอย่างไร หนังไม่จำเป็นต้องมีซีจี ไม่ต้องมีเอฟเฟคต์ และก็ไม่ต้องมีเรือเป็นร้อยเป็นพันลำอะไรเลยครับ แต่มันคือคุณภาพของการเล่าเรื่อง การแสดง และบทหนังล้วนๆ
และที่สำคัญ มันเป็นหนังประวัติศาสตร์ที่ไม่แห้งแล้งอารมณ์ความรู้สึก ผมว่าหนังสามารถรักษาระดับของตัวเองได้ว่า จะทำให้มันดู “เป็นหนัง” ประมาณเท่าไหร่ ขณะที่ก็ไม่เพ้อเจ้อเกินไปจนลืมมองว่า เรื่องราวทั้งหมดยืนพื้นอยู่บนฐานของความเป็นจริง
สำหรับคนที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประเทศพม่าหรืออองซาน ซูจี ไม่ต้องกลัวว่าจะดู The Lady ไม่รู้เรื่องครับ หนังอธิบายอย่างเคลียร์คัตชัดเจนมาก โดยออกสตาร์ทจากจุดที่อองซาน ซูจี ทำหน้าที่เป็นแม่ศรีเรือน ดูแลสามีและลูกๆ อยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนที่เธอจะกลับมาเยี่ยมแม่ซึ่งป่วยอยู่ที่ประเทศพม่าและได้พบเห็นเหตุการณ์จริงของการปราบปรามนักศึกษาที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตย
เหตุการณ์ดังกล่าว กระตุ้นให้เธอรู้สึกถึงความไม่ถูกต้องบางประการที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศบ้านเกิด และทันทีที่ได้รับการร้องขอจากบรรดาปัญญาชนหัวก้าวหน้า (ครูบาอาจารย์) บวกกับภาพของพ่อผู้เป็นนักต่อสู้ในอดีตที่ผุดพรายขึ้นมาในความทรงจำ เธอก็ตัดสินใจอาสาเป็นทัพหน้าเรียกหาความเป็นธรรมและประชาธิปไตยให้กับมาตุภูมิ
ด้วยการร้อยเรียงเรื่องแบบเป็นไปตามลำดับเวลา ทำให้ The Lady เป็นหนังที่ดูเข้าใจและเข้าถึงง่าย แม้เมื่อเทียบกับ The Iron Lady ซึ่งเป็นหนังประวัติบุคคลเหมือนกัน The Lady จะมีการเล่าเรื่องที่ธรรมดาไปเลย แต่นี่ก็เป็นการดีสำหรับผู้ที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ชีวิตอองซาน ซูจี ซึ่งผมเชื่อว่า อย่างน้อยที่สุด แม้จะไม่ได้รายละเอียดอะไรมาก แต่ดูจบแล้ว ก็น่าจะสามารถบอกเล่าได้ว่า สเต็ปชีวิตช่วงสำคัญๆ ของ The Lady แห่งดินแดนชเวดากองผู้นี้ เป็นอย่างไรบ้าง
ส่วนที่ดีมากๆ ของหนังคือการแสดงของมิเชล โหย่ว ผู้รับบทซูจี ดูแล้วต้องปรบมือให้ดังๆ กับฝีไม้ลายมือที่เข้าขั้นมืออาชีพ เราอาจจะเคยเห็นเธอเล่นหนังจำพวก Martial Art ที่ต้องใช้ความสามารถด้านร่างกายเป็นส่วนใหญ่ แต่ The Lady เปิดโอกาสให้เธอเต็มที่ในการแสดงอารมณ์ (Emotion) ที่ต้องอาศัยสมาธิสูง
ผมชอบฉากที่เธอกล่าวปราศรัยบนเวที มันคือความยอดเยี่ยมที่น่าจดจำอีกครั้งหนึ่งในชีวิตการแสดงของเธอ เธอคือฟันเฟืองตัวสำคัญที่ทำให้หนัง “อัตชีวประวัติ” มีชีวิต มีความรู้สึก บทอองซาน ซูจี ที่ต้องอยู่ท่ามกลางสถานการณ์บีบคั้นกดดันนั้น นักแสดงต้องรู้จักที่จะ “เก็บงำ” และ “เปิดเผย” ความรู้สึกอย่างไม่มากหรือน้อยเกินไป มิเชล โหย่ว แสดงให้เห็นถึงภาวะอารมณ์แบบนั้นได้อย่างหมดจด ความเข้มแข็งของตัวละครนั้นปรากฏชัดต่อสายตา แต่ทว่าความอ่อนไหวเปราะบาง เหมือนเงารางๆ ซึ่งไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่เราจะสัมผัสรับรู้
บทมิเชล โหย่ว ในหนังเรื่องนี้ ทำให้ผมนึกไปถึงหญิงสาวอีกคนในเรื่อง Blue (หนึ่งในไตรภาค 3 สี ของผู้กำกับ คริสต๊อฟ เคียสลอฟสกี้) ที่ต้องเก็บงำความรู้สึกเจ็บปวดไว้ตลอดทาง ก่อนหนังจะปล่อยให้เธอร้องไห้อย่างสาแก่ใจในตอนท้ายเรื่อง มันเป็นทั้งการปลดปล่อยและชำระล้างความปวดร้าวที่คั่งค้างคับข้องมาโดยตลอด
อีริค เซียร่า คนทำมิวสิกสกอร์คู่บุญของลุค เบซง นั้นก็เหลือร้าย ดนตรีที่เขาทำ ฟังกังวานหวานเศร้าและถูกปล่อยออกมาอย่างได้จังหวะ แม้จะดูเหมือนว่าบิวท์กันไปหน่อย แต่ผมเชื่อว่า ด้วยพลังแห่งเสียงดนตรีที่มักจะดังขึ้นมาในช่วงฉากอันน่าสะท้อนสะเทือนใจนั้น คงทำให้หลายต่อหลายคนน้ำตาซึมไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ตาม เท่าๆ ที่เล่ามา ดูเหมือนว่าสิ่งที่เราจะได้เห็นในหนัง จะมีแต่ภาพของการต่อสู้ทางการเมือง แต่จริงๆ แล้ว นั่นเพียงส่วนหนึ่ง และอาจจะเป็นส่วนน้อยเสียด้วยซ้ำครับ เพราะถ้าจะให้ผมมองหนังเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ผมอยากใช้คำว่า มันเป็นหนังรักที่โรแมนติกมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ดังนั้น ผมจึงเห็นว่า ช่วงเวลาที่หนังเลือกเข้าฉายนั้นเหมาะเจาะที่สุด เพราะอย่างน้อยก็ยังอยู่ในช่วงวาเลนไทน์ ช่วงเวลาที่ความรักถูกพูดถึง (และดอกกุหลาบขายดี) ผมแนะนำเลยครับว่า ถ้าใครที่มองหา “หนังรัก” ที่อยากดูช่วงนี้ยังไมได้ The Lady คือหนังที่เหมาะมากๆ
มันอาจไม่ใช่หนังรักกุ๊กกิ๊กดูไปเขินไปอย่าง “วาเลนไทน์ สวีทตี้” และไม่ใช่หนังรักที่อัดแน่นไปด้วยความอึดอัดกดทับ แบบ “ไม่ได้ขอให้มารัก” แต่ความรักของ The Lady เป็นความรักอีกแบบที่ต้องพึ่งพาขนาดของหัวใจที่ใหญ่กว่าสถานการณ์ปกติ
เราจะพบว่า ในขณะที่ The Lady ของเรื่อง กำลังอยู่กับสถานการณ์คอขาดบาดตายนั้น หนังก็นำเสนอให้เห็นว่า ยังมีผู้ชายคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือน “ลมใต้ปีก” ที่โบกพัดอยู่เบื้องหลังอย่างแผ่วเบา นั่นก็จึงเป็นเหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้เราๆ ท่านๆ ไม่ค่อยได้ยินชื่อของผู้ชายคนนี้เท่าไรนัก...“ไมเคิล แอริส” ชายอังกฤษผู้เป็นสามีของอองซาน ซูจี
ภาพของไมเคิล แอริส คือชายที่มากด้วยรักห่วงใย และเอาเข้าจริง ผมคิดว่า ทั้งอองซาน และไมเคิล ต่างก็สะท้อนกันและกันอยู่ในที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการเสียสละตัวเองเพื่อส่วนรวม เพราะขณะที่อองซานต้องพลัดพรากจากลูกจากสามีเพื่อบุกเบิกวิถีใหม่ให้พม่า ไมเคิล แอริส เอง ก็ต้อง “ปล่อย” คนรักไปเพื่อให้เธอได้ทำในสิ่งที่เธอปรารถนา
มันคือการเสียสละตัวเองเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าซึ่งรออยู่เบื้องหน้า ไกลโพ้น...
ความโรแมนติกของหนังนั้นอยู่ที่ว่า ถึงแม้จะโดนกีดกันห้ามเข้าประเทศพม่า แต่ไมเคิลก็ยังดิ้นรนในหลายทางเพื่อช่วยเหลือคนรักที่อยู่คนละซีกโลก ผมเองก็เพิ่งรู้ครับว่า รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อองซานได้รับนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากความพยายามของไมเคิลผู้นี้ที่อยากให้รางวัลเป็นดั่งเกราะคุ้มกันภัยให้กับภรรยา
สำหรับซูจี โนเบลจึงไม่ได้มีความหมายเพียงเพื่อป่าวประกาศให้ชาวโลกรับรู้ถึงการเสียสละและการต่อสู้ของเธอ แต่มันยังเปรียบเสมือน “ดอกไม้” ที่ส่งมอบจากแดนไกล โดยมีความรักความห่วงใยของผู้ชายคนหนึ่งบรรจุมาเต็มช่อ
ความสำเร็จของบุรุษ มักมีสตรีอยู่เบื้องหลัง และในกรณีของซูจี อาจนับได้ว่า ความสำเร็จของสตรี มีบุรุษอยู่เบื้องหลัง
ฉากที่น่าจดจำมากๆ ฉากหนึ่งของหนัง คือตอนที่อองซาน ซูจี โผเข้าไปในอ้อมกอดของไมเคิล แอริส ซึ่งยืนอยู่ที่ระเบียง น้ำเสียงของเธอฟังดูนุ่มนวลตอนกระซิบเขา
“คุณคือผู้ชายที่หลงผิดมากที่สุดในโลก”
สำหรับคนที่ได้ดู คงรู้สึกเช่นเดียวกันครับว่า นั่นไม่ใช่คำกล่าวหาแต่ประการใด และลึกๆ มันแฝงไว้ด้วยความรู้สึกสะท้อนใจอย่างบอกไม่ถูก
หากไมเคิล แอริส เป็นผู้ชายที่หลงผิด เขาก็คงเป็นคนหลงผิดที่แสนดีและน่ารักมากที่สุดในโลก สำหรับเธอ The Lady...
…............
ณ บริเวณหน้าโรงหนัง หนุ่มหล่อเกรียนๆ สองคน คุยกัน หลังเดินออกมาจากโรงฉาย The Lady
บุรุษที 1 : “ดูหนังอองซาน ซูจี แล้วนึกถึงผู้นำหญิงบางประเทศแฮะ”
บุรุษที่ 2 : “ยังไงวะ”
บุรุษที 1 : “เพราะว่า ทั้งอองซาน ซูจี และผู้นำหญิงบางประเทศคนนั้น ต่างก็มีผู้ชายอยู่เบื้องหลังเหมือนกัน”
บุรุษที่ 2 : “คุณมึงจะบอกว่า ความสำเร็จของผู้นำหญิงบางประเทศที่ว่านั้น มีบุรุษที่ดีงามคอยให้ความช่วยเหลืออยู่เบื้องหลังยังงั้นสิ”
บุรุษที่ 1 : “เปล่าๆๆ กูแค่จะบอกว่า ความห่วยแตกของผู้นำหญิงบางประเทศ มีบุรุษทุเรศชักใยอยู่เบื้องหลังต่างหาก 555”
บุรุษที่ 2 : “???”