นักธุรกิจหนุ่มหมื่นล้านมากความสามารถ “ณัฐ” ณัฐพล จุฬางกูร ที่ต่อยอดธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ของครอบครัว ไปจนถึงการสร้างธุรกิจด้วยตัวเอง จนปัจจุบันอาณาจักรหมื่นล้าน ของเขาประกอบไปด้วย บริษัท ซัมมิท คอร์ปอเรชั่น และผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติ เบิร์คลีย์, สนามกอล์ฟซัมมิท วินด์มิลล์กอล์ฟ คลับ, สนามกอล์ฟซัมมิท กรีนวัลเล่ย์ เชียงใหม่คันทรี คลับ, ซัมมิทวินด์มิลล์กอล์ฟเรสซิเดนซ์ และเจ้าของนิตยสารซัมมิท ออนกรีน
ณัฐพลในวัย 37 ปี ต้องดูแลรับผิดชอบธุรกิจมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท แต่เขาก็เหมือนคนหนุ่มทั่วไปที่มีไลฟ์สไตล์ยามว่างด้วยการพักผ่อน เล่นกีฬา แต่ในชีวิตของเศรษฐีนักธุรกิจหนุ่มคนนี้ ยังมีอีกซอกมุมหนึ่งที่อาจจะดูขัดแย้งกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ นั่นคือ อุปนิสัยประจำตัวที่ชอบทำบุญสุนทานทั้งกับวัด และมูลนิธิต่างๆ เป็นชีวิตจิตใจ
• พ่อ-แม่พาเปิดถนนสายบุญ
ณัฐพลบอกว่า นับตั้งแต่เด็กพอจำความได้ ก็เห็นพ่อและแม่ชอบทำบุญ โดยจะพาเขาและพี่น้องทั้ง 6 คน เดินสายทำบุญอยู่เป็นประจำ จึงเรียกได้ว่า พ่อกับแม่เป็นผู้จุดประกายสร้างสะพานบุญส่งต่อมาให้แก่เขานั่นเอง
เขาเล่าเหตุการณ์ในวัยเด็กที่ประทับใจว่า มีครั้งหนึ่งพ่อและแม่พาลูกๆ ไปสร้างโรงเรียนจุฬางกูรวิทยา ที่จังหวัดบุรีรัมย์ และยกที่ดินสร้างวิทยาเขตให้กับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่จังหวัดสุรินทร์
“ที่พ่อกับแม่ไปสร้างโรงเรียนในแถบอีสาน เพราะแม่เป็นคนสุรินทร์ ก็เลยชวนพ่อไปสร้างโรงเรียนให้เด็กที่นั่น ซึ่งเราเห็นภาพแล้วมีความสุข”
• เปิดโครงการเติมน้ำใจให้ชีวิต
ด้วยความที่ถูกปลูกฝังเรื่องการทำบุญมาตั้งแต่เด็ก เมื่อก้าวขึ้นบริหารซัมมิทกรุ๊ป เขาจึงคิดโครงการ “เติมน้ำใจให้ชีวิตกับซัมมิท คอร์ปอเรชั่น” เพื่อช่วยเหลือให้โอกาสผู้ยากไร้ รวมทั้งเชิดชูคนดีอยู่แล้วให้มีกำลังใจ โดยกิจกรรมนี้จะตระเวนไปตามสถานที่และสถานสงเคราะห์ต่างๆ ทุกสัปดาห์ และยังนำกิจกรรมนี้ไปถ่ายทอดผ่านรายการ “วันนี้ที่รอคอย” ทางโทรทัศน์ช่อง 9 เพื่อเป็นสื่อกลางส่งผ่านไปถึงคนที่เดือดร้อนหรือต้องการความช่วยเหลือ
ณัฐพลยังบอกอีกว่า เขาให้ความสำคัญกับเรื่องการคืนกำไรสู่สังคม เพราะสังคมให้อะไรกับเขามามากแล้ว ซึ่งการทำบุญไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่หลายคนบอกไม่มีเวลา เขาคิดว่าเป็นข้ออ้าง
“ผมว่าการทำบุญไม่ได้จำกัดแค่การเข้าวัด แต่เราสามารถทำบุญได้ทุกที่ ทุกเวลา เพียงแต่ว่าเราจะให้ความสำคัญกับการทำบุญแค่ไหน กิจกรรมที่ผมไปทำตลอดคือทำบุญ เช้าเข้าวัดให้ทาน ไปถวายสังฆทาน”
หลายครั้งที่นักธุรกิจหนุ่มทราบข่าวจากสื่อถึงความลำบากของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เขาจะรู้สึกสะเทือนใจและพร้อมที่จะไปช่วยเหลือทันที อย่างกรณีที่ทราบว่าแม่ชีนฤมล ประสงค์กิจ อายุ 61 ปี ขึ้นรถเมล์เดินทางไป-กลับระหว่างวัดปรินายก กับโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ เพื่อบันทึกเทป อ่านหนังสือให้นักเรียนตาบอดฟัง เป็นประจำทุกวัน แต่ละวันจะใช้เวลาอยู่ที่โรงเรียนไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง โดยมีเครื่องบันทึกเสียงคู่ใจที่ซื้อมาใช้ในการทำงานหลายปีเพียงเครื่องเดียว เมื่อเขาทราบเรื่อง ก็ให้ความสนใจ และขอติดตามไปดู จนพบว่าแม่ชีเสียสละปฏิบัติเช่นนี้ด้วยความเต็มใจ โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ
“แม่ชีก็อายุมากและไม่มีรายได้อะไร ต้องเดินทางแบบนี้ทุกวัน ผมก็ถามท่านว่า พอมีอะไรที่จะให้ช่วยได้บ้าง ท่านก็ดีใจ บอกขอเครื่องอัดเสียงเล็กๆ อันเดียว ตอนที่ผมตามท่านไปโรงเรียนสอนคนตาบอด ผมได้สัมผัสความสุขตรงนั้นมันรู้สึกดี วันนั้นท่านให้ผมช่วยท่านอ่านนิทานด้วย ก็รู้เลยว่าท่านทำเพื่อสังคมจริงๆ ผมเลยมอบเงินให้ท่านไว้ใช้จ่ายส่วนตัว เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้กับท่าน” ณัฐพลกล่าว
• ฟื้นฟูจิตใจผู้สูงอายุ
ชีวิตของผู้สูงวัยในสถานสงเคราะห์ เป็นอีกเรื่องที่ณัฐพลให้ความสำคัญอย่างมาก เขาบอกว่าทุกครั้งที่เห็นคนชราถูกทอดทิ้งก็จะรู้สึกแย่มาก เพราะธรรมชาติของผู้ใหญ่ทุกคนจะขี้เหงา ใจน้อยและชอบอยู่ใกล้ลูกหลาน เมื่อใดที่ถูกส่งเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์คนชรา เขาเชื่อว่าจะเริ่มมีผลกับจิตใจทันที ดังนั้น ถ้ารู้ข่าวปัญหาผู้สูงอายุเมื่อใด เขาจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ
ตัวอย่างเช่นที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ รังสิต จ.ปทุมธานี ณัฐพลบอกว่า ได้ทราบจากคุณสิทธิอาภร เชยนาค ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ว่ามีผู้สูงอายุเข้ามาอยู่มากขึ้นทุกปี ค่าใช้จ่ายมากเกินความสามารถที่ทางศูนย์จะแบกภาระได้ เขาจึงชวนลูกน้องไปทำกิจกรรมสร้างความสนุกให้คนชราที่นั่น
“คุณยายหลายคนเข้ามากอด หลายคนก็ร้องไห้ออกมาเลย ผมรู้สึกได้ว่าพวกท่านเหงา ว้าเหว่ โดดเดี่ยว เหมือนเขารอคอย คอยลูกหลานไปเยี่ยม ทุกครั้งที่ผมกับเพื่อนไป ก็จะร้องเพลงเต้นรำ ทำกิจกรรมให้ท่านหายเหงา กิจกรรมแบบนี้ใครก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผม ถ้าเราช่วยกัน ผู้สูงวัยเหล่านี้จะได้รู้ว่าเขาไม่ได้ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยวในช่วงสุดท้ายของชีวิต”
• ร่วมโครงการเตียงสายสัมพันธ์แม่ลูก
“ขอหนูนอนกอดแม่บนเตียงในคืนนี้..เพราะพรุ่งนี้ไม่รู้ว่าหนูจะมีโอกาสได้ตื่นอีกหรือเปล่า” วลีนี้คือสโลแกนที่ถ่ายทอดภาพและเหตุการณ์จริงได้ชัดเจนที่สุด สำหรับผู้ป่วยเด็กที่เป็นมะเร็งที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก)
ณัฐพลเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ว่า ได้ไปที่โรงพยาบาลเด็กและเห็นเด็กหลายคนป่วยเป็นโรคมะเร็งนอนอยู่บนเตียง ซึ่งเป็นกรงเหล็กเล็กๆ และเห็นแม่นอนเฝ้าลูกอยู่ที่พื้นบ้าง นั่งบนเก้าอี้พลาสติกบ้าง พอลูกร้องก็ทำได้แค่อุ้มลูกมากอดไว้แนบอก ไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะนอนกอดกันเลย ซึ่งเป็นภาพที่สะเทือนใจเขามาก เพราะคิดว่าในช่วงเวลาที่ลูกรักษาตัวนั้น แม่ก็เจ็บปวดอยู่แล้ว
เขาจึงสอบถามทางโรงพยาบาล ว่าพอจะช่วยอะไรได้บ้าง ทางโรงพยาบาลจึงเล่าถึง “โครงการเตียงสายสัมพันธ์แม่ลูก” ให้ฟัง เศรษฐีหนุ่มจึงชวนครอบครัวมาบริจาค 7 เตียง ซึ่งคิดเป็นเงินราว 2 แสนกว่าบาท
สำหรับเตียงสายสัมพันธ์แม่ลูก เป็นเตียงไฟฟ้าขนาดใหญ่พอให้แม่ขึ้นไปนอนกอดลูกได้ โดยหัวเตียงตกแต่งด้วยรูปสัตว์น่ารัก เพื่อให้เด็กๆ ได้ผ่อนคลาย
“ผมคิดว่าไออุ่นของแม่ ถือเป็นการรักษาอาการป่วยของลูกอีกทางหนึ่งด้วย ผมบริจาค 7 เตียง แต่โรงพยาบาลต้องการ 180 เตียง พอดีช่วงนั้น คุณชมพูนุช โรจนชลาสิทธิ์ เจ้าของรายการโทรทัศน์ “วันนี้ที่รอคอย” เชิญผมไปสัมภาษณ์ถึงโครงการนี้ พอเทปออกอากาศไม่กี่วัน ก็มีผู้บริจาคเข้ามาเพิ่มอีก 100 กว่าเตียง ผมรู้สึกดีใจนะ ที่อย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือโครงการนี้”
เมื่อได้เตียงครบตามเป้าหมายแล้ว เขาได้กลับไปที่โรงพยาบาลเพื่อเยี่ยมเด็กๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือ ทุกครั้งที่เห็นภาพแม่นอนกอดลูกที่ป่วยอยู่บนเตียง มันทำให้เขารู้สึกอิ่มเอมใจ แม้ว่าสุดท้ายอาจต้องเสียใจ เมื่อเด็กเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานก็ตาม
“อย่างน้องปีโป้ (ด.ช.สุทธิศักดิ์ ขาวจันทร์) ผมไปเยี่ยมหลายครั้ง เขาเป็นโรคแพ้นมวัว กินอะไรไม่ได้ ตัวเล็กมาก คุณหมอรักษาจนน้องดีขึ้น แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ทราบว่าน้องเสียชีวิตแล้ว ผมก็เสียใจ แต่อย่างน้อยช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้เจอน้อง ผมก็ได้ทำเต็มที่แล้ว” ณัฐพลกล่าว
• ช่วยต่อลมหายใจให้สรรพสัตว์
อีกสิ่งหนึ่งที่ณัฐพลให้ความสำคัญไม่แพ้เพื่อนมนุษย์ก็คือสัตว์ เมื่อเขาได้รับรู้ว่า “สวนสัตว์ ซาฟารีพาร์ค” อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี กิจการของปิยบุตร ประสบสุขโชคมณี นักธุรกิจซึ่งประสบปัญหาการเงิน เพราะนักท่องเที่ยวลดลง ทำให้รายรับไม่พอค่าอาหารสัตว์ ที่ต้องใช้ถึงวันละกว่า 20,000 บาท ทำให้สัตว์ทั้งหลายขาดอาหารและยา อีกทั้งที่อยู่อาศัยก็เก่า ผุพัง เขาจึงได้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ
“สัตว์ทั้งหลายก็รักชีวิตเหมือนเรา ตอนเข้าไปเห็นสภาพสัตว์แล้วรู้สึกเศร้ามาก แต่ละตัวผอมเห็นซี่โครง กรงก็ผุเก่าผมจึงช่วยในส่วนที่พอจะทำได้ คือ ซื้ออาหาร ยา และสร้างที่อยู่อาศัยให้ใหม่ ผมอยากฝากไว้ตรงนี้ว่า สวนสัตว์แห่งนี้ยังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ยังคงรอคอยความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ หากช่วยกันได้ ผมอยากชวนทุกคนให้มาช่วยกันคนละนิดคนละหน่อย เพื่อต่อลมหายใจให้แก่สัตว์พวกนี้”
• ปลอบขวัญเด็ก 3 จังหวัดชายแดนใต้
จนถึงวันนี้ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ผู้คนในพื้นที่อยู่กันด้วยความรู้สึกหวาดหวั่น โดยเฉพาะเด็กๆ ณัฐพลจึงคิดที่จะพาเด็กๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ขึ้นเครื่องบินมาเที่ยวในกรุงเทพฯ เพื่อให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ
“ผมมานั่งคิดว่า ที่ผ่านมาเราก็ทำมาหมดแล้ว หลังจากนี้จะทำอะไร มีพื้นที่ตรงไหนที่ยังไม่ได้ทำ ก็เห็นว่าเด็ก 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็ต้องการโอกาส โครงการนี้ผมตั้งใจทำเพื่อเปิดประสบการณ์ชีวิตให้พวกเขา โดยพาไปทัศนศึกษาที่ท้องฟ้าจำลอง พานั่งรถไฟฟ้า และพาไปรับประทานอาหารญี่ปุ่นที่เสิร์ฟโดยหุ่นยนต์”
หลายครั้งหลายคราที่มีเสียงครหา ว่าการทำบุญของ “ณัฐพล” เป็นการสร้างภาพให้ดูสวยหรู แต่เขาบอกว่าไม่สนใจ เพราะนับตั้งแต่เล็กๆ พ่อและแม่ปลูกฝังเรื่องการทำบุญมาตลอด ตั้งแต่เรียนจบและมาเป็นนักธุรกิจ ก็ได้พบเห็นเรื่องราวต่างๆ มากมาย
ณัฐพลย้ำว่า “หากคุณค่าของการแบ่งปันความสุขให้กันและกัน การช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่าในสังคม เป็นการสร้างภาพผมก็พร้อมและเต็มใจที่จะทำ”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 140 สิงหาคม 2555 โดย วรกัญญา)