xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : 10 ไลฟ์สไตล์ห่างไกล โรคอัลไซเมอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายแพทย์แกรี่ สมอล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาผู้สูงอายุแห่ง UCLA (มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส) กล่าวว่า “ความเชื่อที่ว่า โรคอัลไซเมอร์ หรือ ภาวะสมองเสื่อม เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมล้วนๆ และไม่อาจป้องกันได้นั้น อาจเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง”

เพราะปัจจุบัน บรรดานักวิจัยตระหนักดีว่า โรคอัลไซเมอร์มีระยะเวลาก่อตัวนานกว่า 10 ปี และอาจเกิดจากปัจจัยในด้านต่างๆ อาทิ ภาวะซึมเศร้า การศึกษา โภชนาการ ความอ้วน การนอนหลับ กิจกรรมทางร่างกาย จิต และสังคม รวมทั้งเรื่องโคเลสเตอรอล และความดันโลหิต ฯลฯ

แต่ข่าวดีก็คือ มีงานวิจัยจำนวนมากเปิดเผยว่า หลายสิ่งง่ายๆที่คุณทำในชีวิตประจำวันนั้น อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

10 ไลฟสไตล์ง่ายๆต่อไปนี้ บางคนอาจทำเป็นประจำอยู่แล้ว ส่วนผู้ไม่เคยทำ ก็ลองทำดู จะได้ห่างไกลโรคอัลไซเมอร์

1. ดื่มกาแฟ

กาแฟคือตัวกระตุ้นการทำงานของสมองให้เปิด-ปิดได้อย่างเหลือเชื่อ มีงานวิจัยจำนวนมากในยุโรปชี้ว่า คนวัยกลางคนที่ดื่มกาแฟวันละ 3-5 ถ้วย ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในบั้นปลายชีวิตได้ถึง 65%

แกรี่ อเรนดาช นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเซาท์ฟลอริดา กล่าวถึงข้อดีของกาแฟว่า มันช่วยลดสารแอมีลอยด์ในสมอง ที่เป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อม และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย จึงแนะนำให้ดื่มกาแฟเป็นประจำ ยกเว้นผู้ป่วยและแพทย์สั่งห้าม

2. แปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟัน

ไม่น่าเชื่อว่า สุขภาพเหงือกและฟันสามารถทำนายการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย พบว่า โรคปริทันต์หรือโรครำมะนาดที่เกิดในคนอายุต่ำกว่า 35 ปี ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงเกิดโรคสมองเสื่อมถึง 4 เท่าในเวลาต่อมา

ทั้งนี้มีงานวิจัยที่ระบุว่า ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเหงือกและฟัน ทำบททดสอบความจำ และกระบวนการรับรู้ ได้คะแนนต่ำกว่าผู้สูงอายุที่ไม่เป็นโรคดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า เป็นเพราะอาการบวมอักเสบ ติดเชื้อในช่องปากได้ลุกลามไปยังสมอง

ดังนั้น จึงควรรักษาสุขภาพช่องปาก ด้วยการแปรงฟันเป็นประจำก่อนและหลังตื่นนอน บ้วนปากหลังมื้ออาหาร และใช้ไหมขัดฟัน เพื่อกำจัดเศษอาหารในซอกมุมที่แปรงเข้าไม่ถึง

3. ท่องโลกอินเตอร์เน็ต

นายแพทย์แกรี่ สมอล บอกว่า การค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต สามารถกระตุ้นสมองของผู้สูงวัยได้มากกว่าการอ่านหนังสือ และที่น่าประหลาดใจมาก คือ นักท่องอินเตอร์เน็ตมือใหม่ที่มีอายุระหว่าง 55-78 ปี ได้กระตุ้นศูนย์ความจำหลักและการเรียนรู้ในสมองของพวกเขา ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งใน 1 สัปดาห์ หลังจากท่องอินเตอร์เน็ตวันละ 1 ชม.เท่านั้น

4. เพิ่มเซลล์สมองใหม่

นักวิทยาศาสตร์เคยพูดว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะเพิ่มเซลล์สมองใหม่ หากแต่ปัจจุบัน เชื่อกันว่า เซลล์สมองใหม่จำนวนมากเกิดใหม่ได้ทุกวัน

เคล็ดลับคือ ต้องรักษาเซลล์สมองใหม่นี้ให้คงอยู่ต่อไป ด้วยการควบคุมร่างกายไม่ให้อ้วนเกินไป ขจัดความเครียดเรื้อรัง ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หนัก รวมทั้งออกกำลังกาย เล่นแอโรบิค หรือเดินเร็ววันละ 30 นาที ทำกิจกรรมที่ใช้พลังความคิดและจิตใจ รับประทานปลา วิตามินบี และนอนหลับให้เพียงพอ

5. ดื่มน้ำแอปเปิ้ล

ดร.โทมัส เชีย แห่งมหาวิทยาลัยแมซซาชูเซตส์ กล่าวว่า น้ำแอปเปิ้ลช่วยเร่งให้ร่างกายผลิต “อะเซทิลโคลีน” ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท ช่วยให้ความจำดี โดยทดลองให้หนูแก่กินน้ำแอปเปิ้ล ผลที่ได้คือ มันทำบททดสอบด้านการเรียนรู้และความจำได้ดีกว่าหนูแก่ที่กินน้ำเปล่า

เขาจึงแนะให้ดื่มน้ำแอปเปิ้ล 1 แก้ว หรือทานผลสด 2-3 ลูก เป็นประจำทุกวัน

6. ปกป้องศีรษะ

ในวัยเด็กหรือหนุ่มสาว หากศีรษะได้รับการกระทบกระเทือน แม้แค่ถูกตีเบาๆ ก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อม ได้เมื่ออายุมากขึ้น เช่น นักฟุตบอลอาชีพ มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคความจำเสื่อมมากกว่าคนทั่วไปถึง 19 เท่า

รายงานจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เผยว่า โรคอัลไซเมอร์เกิดขึ้นมากกว่าปกติถึง 4 เท่าในผู้สูงอายุที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ หากหกล้มจะมีความเสี่ยงเกิดภาวะสมองเสื่อมถึง 2 เท่าภายใน 5 ปีต่อมา

ดังนั้น จึงควรระมัดระวังปกป้องศีรษะไว้ให้ดี

7. ทำสมาธิ

จากการสแกนสมองของผู้ทำสมาธิเป็นประจำ พบว่า สมองส่วนกระบวนการรับรู้ หดตัวน้อยกว่าคนทั่วไป ซึ่งภาวะสมองหดตัวเป็นสัญญาณชี้ว่า บุคคลนั้นมีความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ เมื่ออายุมากขึ้น

แอนดรูว์ นิวเบิร์ก แห่งคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย บอกว่า การทำสมาธิวันละ 12 นาที นาน 2 เดือน ช่วยให้การไหลเวียนโลหิตและกระบวนการรับรู้ในผู้สูงวัยที่มีปัญหาความจำบกพร่องนั้นดีขึ้น

8. รับประทานวิตามินดี

การวิจัยของมหาวิทยาลัยเอ็กเซ็กเตอร์ ในอังกฤษ ค้นพบเรื่องที่น่าตกใจว่า หากร่างกายขาดวิตามินดีอย่างรุนแรง จะเร่งให้ผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องกระบวนการรับรู้บกพร่องมากเกือบ 400% ทีเดียว

อาหารที่อุดมด้วยวิตามินดี ได้แก่ น้ำมันตับปลา ไข่ นม เนย ตับ ปลาทู เห็ดหอม ฯลฯ หรือแหล่งที่ช่วยเสริมสร้างวิตามินดีให้กับร่างกายอีกอย่างหนึ่งก็คือแสงแดด

9. เติมเต็ม “คลังปัญญา”

การสั่งสมประสบการณ์ชีวิตในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษา การแต่งงาน การปฏิสัมพันธ์กับสังคม การทำงานที่ท้าทาย การมีทักษะด้านภาษา การมีเป้าหมายในชีวิต การมีกิจกรรมผ่อนคลายทั้งทางร่างกายและจิตใจ เหล่านี้คือ “คลังปัญญา” (cognitive reserve) ที่ช่วยให้สมองทำงานอย่างเป็นระบบ ไม่สับสน

นายแพทย์เดวิด เบนเนตต์ แห่งศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยรัช เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า บุคคลที่มีพยาธิสภาพของโรคอัลไซเมอร์ อาจไม่มีอาการความจำเสื่อมปรากฏ หากเขามีคลังปัญญาที่เต็มเปี่ยม

10. หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ

มีหลักฐานชิ้นใหม่ที่น่าประหลาดใจ ซึ่งเชื่อมโยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ กับโรคเริม แผลในกระเพาะอาหาร ปอดบวม และไข้หวัดใหญ่ ซึ่ง ดร.รูธ อิทซาคิ แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเมินว่า 60% ของคนไข้อัลไซเมอร์ เกิดจากไวรัส โรคเริม โดยตั้งข้อสมมุติฐานว่า การติดเชื้อจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเบตาแอมีลอยด์มากเกิน จนกระทั่งไปฆ่าเซลสมอง

อย่างไรก็ตาม แม้ข้อสมมุติฐานดังกล่าว ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าจริง แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการติดเชื้อทั่วไปจากโรคต่างๆ โดยการฉีดวัคซีนหรือทานยาปฏิชีวนะและยาต้านไวรัสที่จำเป็นต่อร่างกาย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย เบญญา)

กำลังโหลดความคิดเห็น