xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : การทำสมาธิแบบอินเดียโบราณ ช่วยรักษาผู้ป่วยความจำเสื่อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีมนักวิจัยของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโทมัสเจฟเฟอร์สัน ในเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา เชื่อมั่นว่า การทำสมาธิด้วยการภาวนามนตราช่วยให้การตอบสนองทางอารมณ์ที่มีต่อความเครียด ความเหนื่อยล้า และความวิตกกังวล ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาความจำบกพร่องและความจำเสื่อมนั้นดีขึ้น

โดยการค้นพบนี้ ได้ตีพิมพ์ ในวารสาร แพทย์ทางเลือก “Journal of Alternative and Complementary Medicine” เมื่อเร็วๆนี้

การวิจัยดังกล่าว ได้ให้กลุ่มทดลองที่เป็นผู้สูงอายุ 15 คน ซึ่งมีปัญหาเรื่องความจำ ตั้งแต่ความจำบกพร่องไม่รุนแรงอันเนื่องมาจากวัยไปจนถึงระดับที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ (ภาวะสมองเสื่อม) ระยะแรก ให้ทำสมาธิกิรตันกริยา (Kirtan Kriya) ซึ่งเป็นการทำสมาธิ ด้วยการภาวนามนตรา ทุกวัน วันละ 12 นาที นาน 8 สัปดาห์ ส่วนกลุ่มควบคุมให้ฟังดนตรีคลาสสิคทุกวัน วันละ 12 นาที นาน 8 สัปดาห์

ผลการวิจัยเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า กลุ่มทดลองมีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วน Pre Frontal (ควบคุมความคิด การตัดสินใจ ความสนใจ) Superior Frontal (ควบคุมการตระหนักรู้ตัว ความรู้สึก) และ Superior Parietal (ควบคุมการสัมผัส การพูด การรับรส) รวมถึงช่วยให้ความจำดีขึ้นด้วย

“เราทำวิจัยเรื่องนี้เพื่อหาคำตอบว่า การเปลี่ยนแปลงของการไหลเวียนโลหิต ไปยังสมอง มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอารมณ์ของคนไข้ ความเชื่อทางจิตวิญญาณ และทำให้ความจำดีขึ้นหรือไม่” นายแพทย์แอนดรูว์ นิวเบิร์ก ผู้อำนวยการวิจัยแห่งศูนย์การแพทย์ผสมผสานเจฟเฟอร์สันไมร์นา ไบรด์ กล่าว

“ความจำบกพร่องที่เกี่ยวเนื่องกับอายุ อาจมีภาวะซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวนร่วมด้วย และมีข้อมูลที่ชี้แนะว่า ความผิดปกติด้านอารมณ์อาจเร่งให้ภาวะความจำเสื่อมรุนแรงเพิ่มขึ้น” นิวเบิร์ก กล่าวเสริม

กลุ่มทดลองที่ทำสมาธิด้วยการภาวนามนตรารายงานว่า พวกเขามีอาการตึงเครียด เหนื่อยล้า ซึมเศร้า โกรธ และสับสนลดน้อยลง โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัด คือ ความตึงเครียดและเหนื่อยล้าลดน้อย ลงมากกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม และไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเรื่องจิตวิญญาณ

มีการนำเครื่องช่วยตรวจวินิจฉัยทาง เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (SPECT) มาสแกน สมองของกลุ่มทดลอง ในส่วนที่พบว่า ได้รับผลกระทบระหว่างการทำสมาธิ และมีหน้าที่ในเรื่องความจำและการโต้ตอบทางอารมณ์ เมื่อเริ่มต้นและหลัง 8 สัปดาห์ผ่านไป

พบว่า มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะอารมณ์

สมองส่วน Amygdala ซึ่งมีบทบาทในการสร้างและเก็บความทรงจำเหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ และ Caudate ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และความจำ มีความสัมพันธ์กับคะแนนความ ซึมเศร้า ในขณะที่ Prefrontal Cortex, Inferior Frontal Lobe, Parietal Region และ Cingulate Cortex มีความสัมพันธ์กับความรู้สึกตึงเครียด

และพบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างคะแนนความสับสนและซึมเศร้าที่ดีขึ้น กับความเปลี่ยนแปลงด้านความจำที่เป็นคำพูด ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ความรู้สึกสับสนและซึมเศร้าที่ลดน้อยลง มีความสัมพันธ์กับความจำที่ดีขึ้น

“การวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ด้านประสาทวิทยาที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่า การทำสมาธิส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและชีววิทยา โดยเฉพาะบริเวณสมองส่วนที่ควบคุมด้านความสนใจ ภาวะอารมณ์ และความจำ

มันเป็นขั้นแรกที่ทำให้เราเข้าใจถึงผลกระทบด้านระบบประสาท อันเกิดจากการทำสมาธิด้วยการภาวนามนตราหรือ ที่คล้ายคลึงกัน”
ดร.นิวเบิร์ก กล่าว

อนึ่ง งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิวิจัยและป้องกันโรคอัลไซเมอร์ เมืองทูซาน รัฐอริโซน่า สหรัฐอเมริกา

• วิธีภาวนามนตรา "กริตัน กริยา"

การทำสมาธิด้วยการภาวนามนตราแบบที่เรียกว่า กิรตัน กริยา (Kirtan Kriya Meditation) เป็นการทำสมาธิรูปแบบหนึ่งที่มีต้นกำเนิดจากกุณฑาลินีโยคะ กอปรด้วยการภาวนามนตรา “ซา..ตา..นา..มา” (คำภาวนาภาษาสันสกฤต มีความหมายว่า เกิดขึ้น..ดำรงอยู่..ดับไป..กลับมาเกิดใหม่) และใช้ท่านิ้วมือประกอบ ซึ่งนิยมทำกันทางตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งมีหลักฐานปรากฏตั้งแต่ศตวรรษที่ 16

เป็นการปฏิบัติง่ายๆ ที่ใช้เวลาเพียงวันละ 12 นาที ก็จะช่วยลดระดับความเครียด เพิ่มการไหลเวียนโลหิตไปยังสมอง ทำให้ผู้ปฏิบัติเพ่งจิตและควบคุมความสนใจได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างใจ-กาย-จิตวิญญาณอีกด้วย

แต่ถ้าจะให้ผลดีที่สุด ควรทำเป็นประจำในเวลาเดิมทุกวัน

• วิธีปฏิบัติ

1. นั่งตัวตรงบนพื้นหรือบนเก้าอี้พนักตรง หงายฝ่ามือและวางลงบนเข่าทั้งสองข้าง

2. เปล่งเสียงภาวนา ซา..ตา..นา..มา.. ทอดเสียงยาวๆในแต่ละคำ

3. ให้ปลายนิ้วชี้แตะปลายนิ้วหัวแม่มือ ขณะภาวนา ซา

4. ให้ปลายนิ้วกลางแตะปลายนิ้วหัวแม่มือ ขณะภาวนา ตา

5. ให้ปลายนิ้วนางแตะปลายนิ้วหัวแม่มือ ขณะภาวนา นา

6. ให้ปลายนิ้วก้อยแตะปลายนิ้วหัวแม่มือ ขณะภาวนา มา

7. เคลื่อนไหวนิ้วตามขั้นตอนที่ 3-6 ขณะภาวนาอย่างต่อเนื่องดังนี้

• ภาวนาเสียงดัง 2 นาที
• ภาวนาเสียงเบา 2 นาที
• ภาวนาในใจ 4 นาที
• ภาวนาเสียงเบา 2 นาที
• ภาวนาเสียงดัง 2 นาที

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย เบญญา)
ซา ตา นา โม
กำลังโหลดความคิดเห็น