ข่อย เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นค่อนข้างคดงอ มีปุ่มปมอยู่รอบๆ ต้น อาจจะขึ้นเป็นต้นเดียว หรือเป็นกลุ่ม แตกกิ่งต่ำ กิ่งก้านสาขามาก มักปลูกเป็นแนวกันลม ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ให้ความร่มรื่น หรือนำมาปลูกเป็นไม้ดัด เพื่อประดับสวน โดยนำมาปลูกแต่งสนามหญ้ากลางแจ้ง สามารถตัดแต่งเรือนยอดได้ดี
เนื้อไม้ข่อยในสมัยโบราณนิยมนำมาทำกระดานข่อย ไม่นิยมนำมาก่อสร้าง เพราะเป็นไม้เนื้ออ่อนและไม่ทนทาน
สรรพคุณของข่อยที่เด่นที่สุดที่รู้จักกันดี คือ สรรพคุณในการรักษาโรคในช่องปาก
โรคฟันและโรคเหงือกอักเสบ เกิดจากคราบจุลินทรีย์จำนวนมากยึดเกาะบริเวณฟัน ขอบเหงือกและใต้เหงือก
เชื้อแบคทีเรียบางชนิดในช่องปากจะเจริญเติบโต เมื่อมีคราบอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเกาะบนผิวฟัน และจากการที่เราทำความสะอาดฟันไม่ดีพอ ทำให้คราบอาหารเหล่านี้กลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้น แผ่กระจายไปบนผิวฟัน ที่เรียกกันว่า แผ่นคราบจุลินทรีย์
แบคทีเรียพวกนี้เมื่อมีการบริโภคอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเข้าไป จะปล่อยกรดและสารพิษออกมา เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบ ผลก็คือทำให้เหงือกบวมแดงอักเสบและมีเลือดออก
จากการนำใบข่อยมาวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ พบว่าใบข่อยมีสารอันเป็นประโยชน์ในการลดการอักเสบของเหงือก ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในช่องปาก มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อกลุ่มสเตร็ปโตค็อกคัส ซึ่งทำให้เกิดคราบจุลินทรีย์และโรคฟันผุได้
ข่อยเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลายอย่าง อาทิ เปลือกมีสรรพคุณแก้โรคฟัน ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ รักษาแผล แก้ท้องร่วง แก้ไข้ ดับพิษภายใน หรือใช้เปลือกต้มกับเกลือ เป็นยาอมแก้เหงือกอักเสบ แก่นหั่นเป็นฝอยมวนเป็นบุหรี่สูบแก้ริดสีดวงจมูก กิ่งอ่อนทุบให้นิ่มใช้เป็นไม้สีฟัน ทำให้ฟันแข็งแรง ทนทาน ไม่ปวด ไม่ผุ ใช้น้ำยางจากต้นข่อยผสมเกลือใส่ฟันหรือถูบริเวณที่ปวด จะแก้อาการเจ็บปวดได้ เมล็ดเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงธาตุและเจริญอาหาร ขับลมในลำไส้ ฆ่าเชื้อในช่องปากและทางเดินอาหาร ส่วนรากใช้เป็นยาใส่แผล
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย ปุยฝ้าย)