ความระลึกถึงนิพพาน
อีกอย่างหนึ่ง การบ่ายหน้าสู่นิพพานนั้นเท่ากับเป็นการหันหลังให้กิเลส คือหันหลังให้ราคะ โทสะ โมหะ ให้ตัณหาคือ ความดิ้นรนทะยานอยาก เป็นต้น แต่หากว่าบ่ายหน้าไปในทางตรงกันข้าม ก็ชื่อว่าบ่ายหน้าไปสู่กิเลส แต่หันหลังให้นิพพาน
เมื่อบ่ายหน้าไปสู่กิเลส ดำเนินไปตามทางของกิเลส ไปหากิเลส ก็ย่อมจะร้อน ใกล้กิเลสเท่าไหร่ก็ร้อนเท่านั้น แต่หากว่าถ้าบ่ายหน้าไปสู่นิพพานเป็นการบ่ายหน้าไปสู่ความเย็น หันหลังให้กิเลส และเมื่อดำเนินปฏิบัติไปก็จะห่างกิเลสเข้าทุกที ใกล้นิพพานเข้าไปเท่านั้น ก็จะพบความเย็นยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นการปฏิบัติที่หันหลังให้กิเลส แต่บ่ายหน้าไปสู่นิพพานอันเป็นความเย็นนี้ จึงเป็นไปเพื่อความสงบระงับเพื่อความสุขเพียงส่วนเดียว แม้จะยังไกลอยู่ก็ตาม ก็เป็นอันว่าได้มองเห็นแสงของความสงบ ความเย็น ของความสุขขึ้นไปโดยลำดับ
ฉะนั้น ความระลึกถึงนิพพานแม้โดยปริยายดังกล่าวนี้ ก็จะทำให้พบกับความสงบ ความสุข จะทำให้เกิดความอุตสาหะ ขวนขวายในการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยิ่งขึ้น
นิพพาน
ความระลึกถึงนิพพานนับเข้าในอนุสสติข้อว่า อุปสมานุสสติ แม้ว่าจะอยู่ไม่บรรลุถึงนิพพาน ยังไม่พบนิพพานด้วยตนเองว่าเป็นอย่างไร ก็อาจระลึกถึงได้
ฉะนั้น ท่านจึงสอนให้ระลึกถึง ถ้าระลึกถึงไม่ได้ ท่านก็จะไม่สอนให้ระลึกถึง แต่ว่าการระลึกถึงในสิ่งที่ตนเองยังไม่ได้ไม่ถึง ยังไม่รู้ไม่เห็นแจ้งจริงด้วยตนเองนั้น ก็อาจทำได้ด้วยอาศัยความรู้ของท่านผู้ที่รู้ที่ได้แสดงสั่งสอนไว้ คืออาศัย คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นเครื่องแสดงชี้เอาไว้ และก็พิจารณาตรองไปตาม เหตุและผล ก็จะทำให้พอสังเกตลักษณะแห่งนิพพานตามที่ตรัสแสดงไว้ได้
อันการระลึกถึงเรื่องที่ตนยังไม่ได้ไม่ถึง ไม่รู้ไม่เห็นด้วยตนเองนั้น ย่อมมีอยู่เป็นอันมากแก่ทุกๆ คน ฉะนั้น ทุกคนจึงต้องมีการเรียนวิชา ตั้งต้นแต่เรียนจากมารดาบิดาในฐานะเป็นบูรพาจารย์ เรียนจากครูอาจารย์สืบต่อมา ในทางพระศาสนาก็เรียนจากพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ตรัสรู้
สิ่งที่เรียนเหล่านี้มีเป็นอันมากที่นักเรียนนักศึกษาไม่ได้ไม่ถึง ไม่รู้ไม่เห็นด้วยตนเอง แต่ก็อาจจะพิจารณาตรึกตรอง ไปตามอาการตามลักษณะ ก็จะพอให้บังเกิดความเข้าใจได้บ้าง
เรื่องนิพพานที่แสดงมาก็เป็นเช่นนั้น แสดงตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ประกอบการตรึกตรองพิจารณาไปตามลักษณะอาการ อันทำให้เข้าใจได้โดยลักษณะอาการเป็นต้นดังกล่าว
โมกขธรรม - นิพพาน - วิมุตติ
อีกอย่างหนึ่ง ทำให้เข้าใจได้โดยเทียบเคียงกับสิ่งที่มีอยู่อันเป็นด้านหนึ่ง และเทียบเคียงถึงนิพพานอันมีลักษณะอีกด้านหนึ่งอันตรงกันข้าม ในข้อนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ก็ได้ทรงพิจารณาเทียบเคียงดูแล้ว
ดังที่ท่านแสดงว่า พระสิทธัตถะราชกุมารได้ทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ที่ท่านเรียกว่า เทวทูต แสดงโดยบุคคลาธิษฐาน ท่านก็แสดงกันมาว่า เทพยดามาเนรมิตไว้ให้ทรงเห็น แต่ว่าจะเป็นเทพยดามาเนรมิตหรือว่าจะเป็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย เป็นสมณะ ที่เป็นมนุษย์นี่แหละ ได้ทรงเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะจริงๆ ก็ตาม
ความสำคัญย่อมอยู่ที่ว่า เมื่อได้ทรงเห็นแล้วได้ทรงพิจารณาน้อมเข้ามาว่า บุคคลเกิดมาก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่มีใครจะพ้นไปได้ แม้พระองค์เองก็ต้องเป็นเช่นนี้ จะทรงดำรงอยู่ในฐานะใดก็ตาม คือในฐานะเป็นองค์รัชทายาท หรือต่อไปจะทรงเป็นพระราชาผู้ปกครอง หรือแม้จะทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ตามคำทำนายที่พราหมณ์ผู้ดูลักษณะได้ทำนายไว้เมื่อแรกประสูติก็ตาม ก็จะต้องทรงแก่ ทรงเจ็บ ทรงตาย ไม่พ้นไปได้
ฉะนั้น จึงได้ทรงเห็นทุกข์ และทรงปรารถนาที่จะพ้นทุกข์อันเรียกว่าโมกขธรรม คือทรงปรารถนาโมกขธรรม ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น โดยตรงก็คือทรงปรารถนาที่จะพ้นทุกข์ พ้นชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ นั้นเอง
และก็ทรงพิจารณาเห็นว่า เมื่อมีแก่ มีเจ็บ มีตาย ก็จะต้องมีไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย อันตรงกันข้าม ความไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย หรือธรรมที่ทำให้ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นี้แหละคือโมกขธรรม
ทรงเห็นว่า ธรรมดาของโลกคือของธรรมชาติ เมื่อมีมืดก็มีสว่าง มีร้อนก็มีเย็น เป็นเครื่องแก้กันฉันใด เมื่อมีแก่ มีเจ็บ มีตาย ก็ต้องมีไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ฉันนั้น นี้แหละคือโมกขธรรม
ทรงสันนิษฐานโดยเทียบเคียงดังนี้ ความระลึกของพระองค์ดั่งนี้ก็เรียกว่าเป็น อุปสมานุสสติ ระลึกถึงนิพพานอันเป็นที่เข้าไปสงบทุกข์ทั้งปวงอย่างหนึ่ง แม้จะยังไม่ได้ไม่ถึง ไม่รู้ไม่เห็นนิพพาน อันเรียกว่าโมกขธรรมนั้นก็ตาม
แต่ก็พึงระลึกถึงโดยเทียบเคียงกับสิ่งที่ตรงกันข้าม แก่ เจ็บ ตายนั้น ก็รู้อยู่ ก็เห็นอยู่ ทรงเห็นแก่ เห็นเจ็บ เห็นตาย นี่แหละ คือทรงเห็นเทวทูต แม้จะเคยเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายมาก่อนสักกี่ครั้งกี่คราวก็ตาม แต่ว่าไม่เห็นด้วยตาปัญญาเหมือนอย่างที่ทรงเห็นในคราวที่จะเสด็จออกทรงผนวชนั้น ก็ยังไม่ชื่อว่าเห็นเทวทูต
แต่เมื่อเห็นแก่ เห็นเจ็บ เห็นตาย ด้วยตาปัญญา คือน้อมเข้ามารู้ด้วยปัญญาที่ใจ จนเกิดความสังเวช นี้แหละคือเห็นเทวทูต จะเป็นเทวดาเนรมิตไว้ข้างนอก หรือว่าจะเป็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย จริงๆ นั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่าเห็นที่ใจด้วยปัญญา เรียกว่าเห็นทุกข์ จึงได้เทียบเคียงไปถึงด้านที่ตรงกันข้าม คือ ที่ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายดังกล่าว
ฉะนั้น แม้ความระลึกถึงได้ดั่งนี้ก็เป็นอุปสมานุสสติย่อมจะเป็นประโยชน์ และก็เป็นประโยชน์จริงๆ เพราะว่าเป็นเหตุให้พระองค์ทรงละฆราวาสสมบัติ แม้แต่จักรพรรดิสมบัติทั้งสิ้น เสด็จออกทรงผนวช และทรงแสวงหาโมกขธรรมคือนิพพานนั้น จนทรงบรรลุถึงโมกขธรรมในที่สุด
ซึ่งโมกขธรรมนั้นก็เป็นอมตะ คือ ธรรมที่ไม่ตาย กล่าวรวมกันว่า ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นั้นเอง แม้ว่าเมื่อทรงบรรลุเข้าจริงๆ ธรรมข้อนี้จะมีลักษณะพิเศษลึกซึ้งประการใดก็ตาม แต่ว่าก็ย่อมอยู่ใน ลักษณะที่จะพึงพูดหมายให้เข้าใจกันได้ ก็คือว่า ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย หรือที่เรียกว่าอมตธรรม หรือโมกขธรรมนั่นแหละ
ถ้าหากว่าไม่ได้ทรงมีอุปสมานุสสติในข้อนี้แล้วก็จะไม่ทรงผนวช เพราะไม่มีอะไรจะชักจูงให้เสด็จออกทรงผนวชได้ ฉะนั้น จะว่ายังไม่ได้ไม่ถึงแล้วนึกไม่ได้ อาจจะนึกได้แม้อาศัยความเทียบเคียงกับสิ่งที่มีอยู่ไปถึงสิ่งตรงกันข้าม ดังที่พระโพธิสัตว์ได้ทรงระลึกถึงนี้ และในธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ที่แสดงลักษณะต่างๆ อันจะพึงระลึกตามไปได้นั้นก็มีอยู่เป็นอันมาก
เป็นต้นว่า ได้ทรงแสดงไว้ว่า น้ำทั้งสิ้นในมหาสมุทรมีรสเป็นอันเดียวกัน คือมีความเค็มเป็นรสฉันใด ธรรมคือคำสั่งสอนของพระองค์ทุกข้อทุกบทก็มีรสอันเป็นอันเดียวกันฉันนั้น คือว่ามีวิมุตติ ความหลุดพ้นเป็นรส ในที่นี้ก็หมายถึงนิพพานนี้เอง
ฉะนั้น ธรรมที่ทรงสั่งสอนไว้ทุกข้อ ทุกบท ไม่ว่าจะเป็นขั้นศีล หรือขั้นสมาธิ หรือขั้นปัญญา ขั้นใดขั้นหนึ่งทุกข้อ ทุกบท ย่อมมุ่งวิมุตติคือความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ มุ่งนิพพานทั้งนั้น
ฉะนั้น เมื่อปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ไม่ว่าจะข้อใดก็ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อวิมุตติ หรือเพื่อนิพพาน คือเพื่อดับกิเลสและกองทุกข์
ไม่มีธรรมสักข้อหนึ่งที่พระพุทธเจ้าจะทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติเพื่อเพิ่มกิเลสเพิ่มกองทุกข์ มีแต่ตรัสสอนให้ลดให้ละกิเลสและกองทุกข์ทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น ธรรมทุกข้อทุกบทจึงเป็นไปเพื่อนิพพานและผู้ปฏิบัติธรรมทุกข้อทุกบท ก็เป็นไปเพื่อนิพพานเช่นเดียวกัน นี้ในด้านคำสั่งสอน
(อ่านต่อฉบับหน้า)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 139 กรกฎาคม 2555 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)