xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เงียบๆ กันหน่อย นี่วัดนะจ๊ะ ไม่ใช่ตลาดสด สำรวมกันหน่อย วันนี้มาฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งวัดเราก็จัดกิจกรรมตามที่รัฐบาลประกาศมาตลอดสัปดาห์วิสาขบูชาแล้ว อย่าทำให้บุญสุดท้ายในคืนวันวิสาขบูชานี้สูญเปล่าเลย ถ้าพร้อมกันแล้วผมก็จะได้ไปอาราธนาหลวงตา และพระสงฆ์ออกมานำบูชาพระ ปฏิบัติศาสนกิจต่อไป” มรรคทายกกล่าวกับชาวบ้านที่มาพร้อมหน้าพร้อมตากัน

เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันที่อาสน์สงฆ์ในพระอุโบสถ มรรคทายกก็นำกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยเนื่องในวันวิสาขบูชา หลวงตานำพระสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ทำวัตรค่ำ แล้วนำทุกคนเวียนเทียน แล้วก็กลับมาประชุมกันในพระอุโบสถ

ปีนี้ชาวบ้านมากกว่าทุกปี ด้วยเหตุที่ลูกหลานซึ่งไปทำงานในถิ่นอื่น พาครอบครัวกลับมาร่วมงานพุทธชยันตีของบ้านเรา พระอุโบสถจึงแน่นขนัด หลายคนก็หลบมานั่งที่ด้านนอก ดีที่มรรคทายกได้จัดเครื่องเสียงไว้ประชาสัมพันธ์ จึงทำให้ทุกที่ในวัดสามารถได้ยินเสียงการทำศาสนกิจในพระอุโบสถได้ พอได้เวลาอันสมควร มรรคทายกก็นิมนต์หลวงตากล่าวปาฐกถา เนื่องในการฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี

“เจริญพร สาธุชนลูกหลานทุกคนที่มาประชุมพร้อมกันในวันนี้ ดูแล้วก็มาครบทุกบ้าน เห็นกิริยาตั้งใจฟังธรรมของทุกคนแล้ว ก็ปลื้มใจที่ยังช่วยกันรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของบ้านเราเอาไว้ ผู้เฒ่าผู้แก่ของเราท่านพร่ำสอนอยู่เสมอว่า การฟังธรรมนั้น ต้องฟังโดยเคารพ ประนมมือให้ถูกลักษณะจารีตประเพณี นั่งตัวตรงให้สง่างาม ชวนให้ผู้พบเห็นประทับใจ

ตลอดระยะเวลาที่พระท่านแสดงธรรม ก็ให้หลับตาปิดปาก เปิดหูฟังพระสัทธรรมด้วยความตั้งใจ พร้อมทั้งจดจำสิ่งที่ท่านแสดง เพื่อนำกลับไปตริตรองให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ก็จะทำให้เกิดมงคลแก่ตนเอง สมกับที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้ว่า การฟังธรรมตามกาล เป็นมงคลอย่างยิ่ง ก็ต้องช่วยกันสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีนี้ต่อไปยังลูกหลานของเราด้วย วิญญาณบรรพชนของเราท่านจะได้ปลื้มใจเมื่อทราบด้วยญาณวิถีของท่าน

วันวิสาขบูชาปีนี้ เป็นมงคลพิเศษ ด้วยเป็นปีที่นับระยะกาลได้ ๒,๖๐๐ ปี ตั้งแต่วันที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนทั่วโลกได้จัดพิธีเฉลิมฉลองมโหฬารตามคติในประเทศของตน ซึ่งวันวิสาขบูชาในแต่ละประเทศก็ไม่ตรงกัน ทำให้ดูเหมือน พ.ศ.๒๕๕๔-๕๕ มีงานพุทธชยันตีทั่วโลก ก็เป็นอุดมมงคลที่พุทธศาสนิกชนจะได้เกิดพุทธานุสสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าอีกวาระหนึ่ง

การเฉลิมฉลองวันพุทธชยันตีที่จัดโดยมหาเถรสมาคมและรัฐบาล ก็คงเป็นงานที่เหมือนกับที่จัดในประเทศอื่นๆ คือมีกิจกรรมตามประเพณีและวิชาการ ตามกำลังความสามารถของประเทศนั้น ซึ่งงานเหล่านี้ถือว่าเป็นอามิสบูชา คือเป็นการแสดงออกถึงความเคารพนับถือ การยกย่องเชิดชูพระพุทธเจ้า และเป็นการตอบแทนพระคุณความดีของพระพุทธองค์ ด้วยกิจกรรม อันแสดงถึงความเป็นผู้มีน้ำใจและผู้มีคุณธรรมของผู้บูชา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามอย่างยิ่ง เป็นขนบธรรมเนียม ที่สืบทอดมาแต่โบราณกาล เป็นแบบอย่าง ที่ดีแก่ลูกหลานที่จะจำนำไปปฏิบัติสืบทอดส่งต่อสู่รุ่นต่อไป

แต่อามิสบูชานั้นเป็นการรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงคงอยู่อย่างไม่มั่นคง เหมือนกับตระกูลที่สามารถรักษาธรรมเนียมในตระกูลไว้ได้อย่างเข้มแข็ง แต่ไม่สามารถดำรงตระกูลให้ดำรงอยู่ได้นาน ก็เพราะขาดความเข้าใจในจิตวิญญาณแห่งธรรมเนียมในตระกูล อันเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ลูกหลานในตระกูลรู้ว่า ทำไมต้องรักษาธรรมเนียมนี้ไว้ให้สืบทอดต่อไป นี่ก็เหมือนกับการรักษาพระพุทธศาสนาให้วัฒนาสถาพรสืบต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน เราก็ต้องทำให้ลูกหลานเข้าใจถึงจิตวิญญาณของอามิสบูชา ที่ปู่ย่าตายายนำปฏิบัติสืบทอดมาจากบรรพชน และส่งต่อ มาถึงรุ่นเรา

ในประเทศไทยนี่โชคดีมากๆ ที่อามิสบูชาในพระพุทธศาสนา ได้ถูกนำมาเป็นขนบธรรมเนียมในการทำบุญ ไหว้พระ ลูกหลานเราจึงคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ความเจริญทางสังคมที่รัฐบาลมุ่งมั่นให้มีความทัดเทียมกับประเทศทางยุโรปอเมริกา ซึ่งมีขนบธรรมเนียมประเพณีแตกต่างกับบ้านเราอย่างสิ้นเชิง กำลังทำให้ลูกหลานละเลยขนบธรรมเนียมที่งดงามของชาติไทยไป มองอามิสบูชาด้วยทัศนคติที่ไม่ดี ซึ่งจะเป็นเชื้อทำลายพระพุทธศาสนาได้ในที่สุด

เมื่อพระพุทธศาสนาถูกทำลาย ประเทศไทยและสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะมลายหายไปจากสังคมโลก โลกนี้ก็จะไม่มีความเป็นไทยปรากฏอยู่อีกเลย

ดังนั้น ในมงคลโอกาสเฉลิมฉลองพุทธชยันตีนี้ ควรที่พ่อแม่จะได้อธิบายเรื่องอามิสบูชาให้ลูกหลานได้เข้าใจ และทำให้เขามีความภูมิใจในวัฒนธรรมของชาติไทย ซึ่งจะเป็นการรักษาความเป็นไทยให้คงอยู่สืบไปตราบนานเท่านาน

เพื่อให้เกิดความเข้าใจในอามิสบูชามากขึ้น เราทั้งหลายลองมาพิจารณาถึงการทำบุญของเราตั้งแต่เช้าจนถึงบัดนี้ดูสิ ว่าเราได้บูชาพระรัตนตรัยด้วยอะไร? แรกสุดก็คือการตักบาตร นี่เป็นอามิสบูชาอย่างเด่นชัด เพราะสิ่งของที่นำมาบูชาคืออาหาร ถัดมาก็ไหว้พระประธานในพุทธสถานของวัด ด้วยดอกไม้ธูปเทียน การเวียนเทียนที่เพิ่งเสร็จไป ก็เป็นอามิสบูชาด้วยกำลังกาย ตามกิริยาที่นิยมว่าเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงสุด การฟังเทศน์ฟังธรรม นี่ก็อามิสบูชาด้วยปัจจัยและกำลังกายกำลังใจของตนในการนั่งฟัง เทศน์ฟังธรรม นี่เป็นขนบธรรมเนียมส่วนอามิสบูชาที่สืบทอดกันมาในสังคมไทย

อามิสบูชาจะสำเร็จไม่ได้ ถ้าขาดปฏิบัติ บูชาสนับสนุน ปฏิบัติบูชา คือการบูชาด้วยการปฏิบัติตามแบบที่ท่านทำ ตามคำที่ท่านสอน ได้แก่ท่านปฏิบัติมาอย่างไรก็ปฏิบัติตาม ท่านสอนอย่างไร แนะนำอย่างไร ก็ทำตามด้วยความเต็มใจ ด้วยการประพฤติดีปฏิบัติชอบ กระทำแต่สิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ นี่คือจิตวิญญาณของอามิสบูชาในขนบธรรมเนียมไทย

พิจารณาดูการตักบาตร ถ้าขาดการปฏิบัติบูชาแล้ว การตักบาตรนั้นก็เป็นไปอย่างขอไปที อย่างเสียไม่ได้ หรือสั่งให้คนอื่นเตรียมของและทำแทน เมื่อทำบ่อยๆ ก็ทำให้หงุดหงิดรำคาญใจ ที่สุดก็เลิกตักบาตร หรือหันไปนับถือศาสนาอื่น

การตักบาตรแต่เดิมนั้น เป็นความตั้งใจของผู้จะตักบาตร ด้วยการขวนขวาย จัดเตรียมวัตถุดิบในการทำอาหารแต่เย็นวาน แล้วก็ตื่นนอนก่อนพระบิณฑบาต เพื่อจัดทำอาหารจากวัตถุดิบที่เตรียมไว้ เสร็จแล้วก็ชำระร่างกายให้สะอาด แล้วนำอาหารที่จัดทำไว้ลงไปรอพระมารับ เมื่อพระมาถึงก็ตั้งใจตักบาตรด้วยความเคารพ ด้วยจิตใจที่มุ่งจะบำเพ็ญทานบารมี อันเป็นบุญกุศล เสร็จแล้วก็ตั้งใจอุทิศกุศลนั้นแก่บรรพชนผู้ล่วงลับไปแล้ว จึงเป็นการเสร็จศาสนพิธีตามขนบธรรมเนียม นี่ก็ลองพิจารณาเทียบเคียงกับการทำบุญอย่างอื่นดูนะ

ปฏิบัติบูชาที่พรรณนามานั้น เป็นเพียงปฏิบัติบูชาในอามิสบูชา หรือการบูชาด้วยการปฏิบัติตามแบบที่ท่านทำ ซึ่งยังไม่เพียงพอที่รักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงคงอยู่สืบต่อไปได้นานเท่าใดนัก เพราะอามิสบูชานั้นทำตามกาลตามสมัย ไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ อย่างเช่นงานเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี กว่าจะจัดอีกก็อีก ๑๐๐ ปี หรืออย่างกรณีตักบาตร ที่กล่าวถึง

ดังนั้น การจะรักษาพระพุทธศาสนาให้วัฒนาสถาพร ดำรงความ เป็นไทยไปชั่วนิจนิรันดร์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติบูชาในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เป็นไปตามหลักพระไตรปิฎก คือ ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม นี่จะเป็นการบูชาด้วยการปฏิบัติตามคำที่ท่านสอน นำตนให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ กระทำแต่สิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม

สังคมที่อุดมไปด้วยนักปฏิบัติบูชา ย่อมเป็นสังคมที่มีแต่ความวัฒนาสถาพร เหตุนี้ ปฏิบัติบูชาตามคำที่ท่านสอน จึงเป็นการบูชาที่สำคัญยิ่ง ยอดเยี่ยมกว่าการปฏิบัติตามแบบที่ท่านทำ

วันนี้เป็นวันเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เราทั้งหลายก็ได้เรียนรู้พุทธประวัติมาแล้ว ทราบกันดีว่าเจ้าชายสิทธัตถะต้องใช้เวลาศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมจนตรัสรู้นี้ ใช้เวลาถึง ๖ ปี

ในระยะเวลา ๖ ปีนั้นหลายคนอาจทราบเพียงว่า ทรงศึกษาธรรมอันเป็นแนวทางแห่งการหลุดพ้นตามความเชื่อในครั้งนั้นจากสำนักของท่านอาจารย์อาฬารดาบสและท่านอาจารย์อุทกดาบส แล้วนำสิ่งที่เรียนนั้นมาเป็นหลักปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้นด้วยตนเอง โดยมีเบญจวัคคีย์ผู้หวังจะรับผลแห่งการปฏิบัตินี้จากพระองค์คอยอยู่เป็นเพื่อน

เจ้าชายสิทธัตถะทรงปฏิบัติพระองค์ตามแนวทางนั้น จนถึงที่สุดในความสามารถของมนุษย์ที่จะทำได้ จวนเจียนจะสิ้นพระชนม์แล้ว พระองค์ก็ทราบผลแห่งการปฏิบัติที่ทำอยู่นี้ว่า ไม่ใช่แนวทางแห่งการหลุดพ้นอย่างแท้จริง พระองค์จึงเลิกเชื่อธรรมที่ศึกษามาในสำนักท่านอาจารย์ทั้งสอง ทรงพินิจพิจารณาถึงความน่าจะเป็นแห่งธรรมที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น นำตนเข้าสู่อมตธรรม

หลวงตาคิดว่าพระองค์น่าจะดำริว่า ทรงเคยเสวยสุขในทางกามคุณมาก็มาก ทรงปฏิบัติทุกรกิริยาก็มาเต็มที่แล้ว ทั้งสองนี้จะไม่ทำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุจุดหมายปลายทางได้เลย ทางที่ถูกต้องน่าจะเป็นทางสายกลาง ซึ่งทางสายกลางที่ทรงค้นพบและเริ่มปฏิบัติคืออะไร หลวงตาก็บอก ไม่ได้นะ ตำราก็พรรณนากันไป แต่ที่แน่นอนตรงกันทุกตำราก็คือว่า

เมื่อประทับนั่ง ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงอธิษฐานในพระทัยว่า หนัง เอ็น กระดูก จักไม่เหลืออยู่ เนื้อและเลือดในสรีระ จักเหือดแห้งไปก็ตามที เมื่อยังไม่ลุถึงประโยชน์อันบุคคลจะลุได้ด้วยกำลังของบุรุษ (การตรัสรู้) ด้วยความเพียรของ บุรุษ (มนุษย์) ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักหยุดความเพียรนั้นเสีย เป็นไม่มีเลย... แล้วทรงปฏิบัติตามทางสายกลาง ที่ทรงค้นพบ

..อยากให้ญาติโยมดูที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังเหนือประตูทางเข้าพระอุโบสถ ซึ่งเป็นจินตนาการของบรรพชนไทย กล่าวถึง การบำเพ็ญเพียรเพื่อการตรัสรู้ในขณะที่ถูก พญามารมาผจญ ในที่สุดพระองค์ก็ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคืนนั้น อันคืนวัน พระจันทร์เต็มดวงเดือนวิสาขะ ที่เราทั้งหลายกำลังมาบูชาพระพุทธองค์ในขณะนี้ ฟังความตอนนี้กันมาทุกปี น่าจะจดจำเนื้อ ความโดยตลอดได้แล้ว

ที่สำคัญที่น่าจะมาปฏิบัติเป็นพุทธบูชาในวันพุทธชยันตีนี้เป็นต้นไปคือ การทำตนให้เป็นผู้มีความเพียรในการประกอบกิจการงานหน้าที่จนบรรลุผลสำเร็จที่ตั้งไว้

ถ้าสามารถนำความเพียรมาสร้างเป็นคุณนิสัยประจำตนได้แล้ว ก็ถือว่าเป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติบูชาได้ตามรอยพระพุทธองค์ และที่สุดก็อาจเข้าใจในธรรม มองโลกทั้งปวงด้วยปัญญาเที่ยงธรรม นำตนให้เข้าสู่พระนิพพานได้ในอนาคตกาล ที่สำคัญเมื่อใดที่ใจเห็นธรรม ตรงตามธรรม เมื่อนั้นก็จะเห็นพระพุทธเจ้าได้ ดังคำที่ได้ตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา

ปาฐกธรรมในวันพุทธชยันตี พอสมควรแก่เวลาแล้ว ก็ขอยุติเพียงเท่านี้ ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย จงอำนวยสวัสดิผลดลให้ทุกคนได้มีความเจริญในธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถนำตนให้ถึงนิพพานธรรม ได้ในที่สุด...เจริญพร”

“สาธุ... ขอเรียนเชิญกราบพระรัตนตรัย พร้อมกันนะครับ แล้วนั่งสมาธิเจริญจิตภาวนากันตามกำลัง งานพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี ของวัดเราก็ขอยุติเพียงเท่านี้ โชคดีทุกท่านนะครับ” มรรคทายกกล่าวตบท้าย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 138 มิถุนายน 2555 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)


กำลังโหลดความคิดเห็น