xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : รัฐเตรียมจัดวิสาขบูชานานาชาติอย่างยิ่งใหญ่ ฉลอง "พุทธชยันตี : 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ด้วยวันวิสาขบูชา ประจำปีพุทธศักราช 2555 เป็นอภิลักขิตกาลที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ 2,600 ปี ซึ่งเป็นวโรกาสที่ก่อให้เกิดพลังศรัทธาและนำความปลื้มปีติมาสู่พุทธศาสนิกชนทั่วโลก โดยประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างกำหนดให้มีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองถวายเป็นพุทธบูชาในวาระนี้อย่างยิ่งใหญ่ เรียกว่า “งานฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า”

ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก คณะสงฆ์ไทย มหาเถรสมาคม ได้มีมติเห็นชอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเสนอต่อรัฐบาลพิจารณารับเป็นเจ้าภาพในการจัดงานดังกล่าว รัฐบาลจึงเห็นควรจัดงานฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการศึกษา ปฏิบัติ เผยแผ่ และสืบสานพระพุทธศาสนา โดยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

และเมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกฯ เป็นประธานการประชุม และมีสมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย(มจร.) นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ศ.ดร.ธงทอง จันทรางสุ ปลัดประจำสำนักนายกฯ และนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ร่วมประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางในการจัดทำธงสัญลักษณ์ และกรอบแผนงานการดำเนินงาน และโครงการต่างๆ

พระธรรมโกศาจารย์ ในฐานะประธานกรรมการสมาคมวิสาขบูชาโลก เปิดเผยว่า “การจัดงานเฉลิมฉลองในปีนี้มีความพิเศษกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา เพราะปีนี้เป็นปีพุทธชยันตี ที่ครบรอบ 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ฉะนั้น ในฐานะที่มหาจุฬาฯ ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลไทย และมหาเถรสมาคมให้เป็นผู้ดำเนินการหลักในการจัดกิจกรรมนานาชาติ ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม และภาคีอื่นๆ นั้น จะถือโอกาสนี้ ในการเชิญชาวพุทธทั่วโลกมาร่วมจัดงานเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า"

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า "ในฐานะพุทธศาสนิกชน และในนามของรัฐบาลไทย มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะเป็นแกนหลักในการร่วมจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ และสมเกียรติ เนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และนำแสงสว่างมาเป็นเครื่องชี้นำทางในการประพฤติปฏิบัติของมวลพุทธศาสนิกชน ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยจะถือโอกาสจัดงานทั้งในระดับจังหวัด ซึ่งมีทั้งผู้ว่า และอบจ. ระดับอำเภอ และระดับตำบล จะร่วมระดมสรรพกำลังพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งประเทศไทยจัดงานทั่วทั้งประเทศไทย และจะถือโอกาสนี้ เชิญหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดงานครั้งนี้โดยพร้อมเพรียงกัน"

อนึ่ง สำหรับความคืบหน้าในการเตรียมการจัดงานวิสาขบูชาโลกครั้งนี้ พระธรรมโกศาจารย์ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานในส่วนของมหาจุฬาฯ และประชุมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้ส่งหนังสือเชิญชาวพุทธทั่วโลกกว่า 87ประเทศแล้ว คาดว่าจะมีพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลกกว่า 5,000 รูป/คน เดินทางมาร่วมเฉลิมฉลองในครั้งนี้

• การเฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี” ที่ผ่านมา

คำว่า พุทธชยันตี มาจากศัพท์ พุทธ+ชยันตี (สันสกฤต) ที่แปลว่า วันครบรอบ (อังกฤษ: Anniversary) ในภาษาสันสกฤต พุทธชยันตีจึงแปลว่า การครบรอบวันเกิดของพระพุทธเจ้า หรือวันครบรอบชัยชนะของพระพุทธเจ้าก็ได้

พุทธชยันตี สันนิษฐานว่าเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 ในประเทศศรีลังกา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยดำริของ ฯพณฯ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ท่านได้ดำริให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันบูรณะลุมพินีวัน ที่ตั้งอยู่ในประเทศเนปาล ให้เป็นพุทธอุทยานประวัติศาสตร์ของโลก โดยเรียกว่า การฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ (2500th Buddha Jayanti Celebration)

โดยนำคำ Buddha Jayanti ซึ่งเป็นคำเรียกวันครบรอบของชาวอินเดียและเนปาลมาใช้ เพื่อให้เกียรติประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของพุทธสังเวชนียสถาน และมีการรณรงค์ให้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่างๆ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในปีนั้น เช่น ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดีย

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษในครั้งนั้น ในประเทศอินเดีย ได้มีการจัดกิจกรรมฟื้นฟูพระพุทธศาสนา โดยการนำของ ดร.บี.อาร์. อัมเบดการ์ นำชาวอินเดียประมาณ 2 แสนคนปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ การสร้างสวนสาธารณะพุทธชยันตีไว้ที่กรุงนิวเดลี เพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับวาระนี้

และนอกจากนี้ ฯพณฯ ชวาหระลาล เนห์รู อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกแห่งอินเดีย ยังได้เชิญชวนให้ประเทศพุทธศาสนาทั่วโลกมาสร้างวัดไว้ในดินแดนพุทธอุบัติภูมิอีกด้วย

ในประเทศพม่า ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างปาสาณคูหา เพื่อการทำฉัฏฐสังคีติสังคายนาพระไตรปิฎก

สำหรับในประเทศศรีลังกา ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลอง เพื่อเป็นการประกาศศักยภาพของประเทศศรีลังกาหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ. 2491 ด้วย

ในส่วนของประเทศไทย ในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้มีการฉลองเนื่องในโอกาสพุทธชยันตีนี้ด้วย โดยจัดเป็นงานฉลองทางพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย มีการจัดสร้างพุทธมณฑล การประกาศให้วันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พระราชบัญญัติล้างมลทิน การออกประกาศพระบรมราชโองการพระราชทานบริเวณสนามหลวงเป็นสังฆปริมณฑลสำหรับจัดงานฉลองในครั้งนี้เป็นการชั่วคราวด้วย

นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลยังได้ออกพระราชบัญญัติเหรียญงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เป็นกรณีพิเศษด้วย ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประเทศไทยที่รัฐบาลมีการออกเหรียญที่ระลึกและแพรแถบ เนื่องในโอกาสสำคัญทางศาสนา

อย่างไรก็ดี การจัดงานครั้งนั้นในประเทศไทย ได้ใช้ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ" ทำให้คำว่า "พุทธชยันตี" ไม่แพร่หลายในประเทศไทยเหมือนประเทศอื่นๆ

กำหนดการจัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ 9
เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี : 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า”
เรื่อง “พระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ”
การประชุมสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ ๒ เรื่อง “พุทธปรัชญากับการประยุกต์ใช้”
วันที่ 31 พฤษภาคม และ 1-2 มิถุนายน พ.ศ. 2555
ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 08.00-19.00 น. (ณ อาคาร มวก. 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

เวลา 08.00 น. ผู้เข้าร่วมประชุมเดินทางถึงห้องประชุม เวลา 09.00-09.30 น.สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเดินทางถึงห้องประชุม พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานกรรมการดำเนินการจัดการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ กล่าวถวายรายงาน สมเด็จพระพุฒาจารย์ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กล่าวสัมโมทนียกถา เวลา 09.30 น. พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวต้อนรับ

เวลา 10.00-10.30 น. สุนทรพจน์จากผู้นำชาวพุทธ เวลา 10.30-11.15น. ปาฐกถานำโดย พระภาวนาวิเทศ (หลวงพ่อเขมธัมโม) ประเทศอังกฤษ

เวลา 14.00 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุม

เวลา 14.30-15.30 น. รองนายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ เวลา 15.30-17.00 น.การเสวนาทางวิชาการเรื่อง พุทธปัญญาและการปรองดอง (Buddhist Wisdom and Reconciliation) โดย พระโนริอากิ คูนิโตโม ประเทศญี่ปุ่น ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ประเทศไทย ศ.ภัตตาจารยะ ประเทศฝรั่งเศส ดร. ฟิล แทน ประเทศสหรัฐอเมริกา เวลา 19.00 น. การแสดงทางวัฒนธรรมนานาชาติ

วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 08.00-18.00 น. (ณ อาคาร มวก. 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) สุนทรพจน์จากผู้นำชาวพุทธ และการสัมมนาประชุมกลุ่มย่อย

เวลา 08.00-11.00 น. สัมมนาเรื่อง “พุทธปรัชญาและกรรมฐาน” ห้องประชุมโซนเอ ชั้น 1สัมมนาเรื่อง “ประมวลทัศนะทางพุทธปรัชญา” ห้องประชุมโซนบี ชั้น 1สัมมนาเรื่อง “การสอนพุทธธรรมในทางประเทศ” ห้องประชุมโซนซี ชั้น 1สัมมนาเรื่อง “พุทธจิตบำบัด” ห้องประชุมโซนดี ชั้น 1และประชุมเพื่อจัดทำสหบรรณานุกรมตำราทางพระพุทธศาสนา (UCBT) ห้องประชุม 4 ชั้น G

เวลา 08.30-08.50 น. สุนทรพจน์จาก พระธรรมาจารย์เชง ไค (Sheng Kai) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

เวลา 08.50-09.10 น. สุนทรพจน์จาก ศาสตราจารย์ จี แอล เพริส (G. L. Peiris) ประเทศศรีลังกา เวลา 09.30-11.30 น. การเสวนาทางวิชาการ เรื่อง พุทธปัญญาและสิ่งแวดล้อม (Buddhist Wisdom and Environment ) โดย ศ.โดนัลด์ เค. สแวเรอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ศ.เดเมียน คีโอน ประเทศอังกฤษ ดร. ตัม ดึ๊ก ประเทศเวียดนาม และ มรว. ดิศนัดดา ดิศกุล ประเทศไทย และการประชุมเพื่อจัดทำสหบรรณานุกรมตำราทางพระพุทธศาสนา (UCBT)

เวลา 13.00-15.00 น. สุนทรพจน์และสาส์นจากผู้นำชาวพุทธ เวลา 15.00-17.00 น.การเสวนาทางวิชาการ เรื่อง พุทธปัญญาและการปรับเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ (Buddhist Wisdom and Human Transformation ) โดย พระหยวน ฉี ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ศ.สุมานะปาละ กัลมานโกฏะ ประเทศศรีลังกา ดร. อาจอง ชุมสาย ณอยุธยา ประเทศไทย และมิสซาร่า ชอว์ ประเทศอังกฤษ

วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 08.00-18.00 น.( ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ / พุทธมณฑล)

เวลา 08.00-11.30 น.สุนทรพจน์และสาส์นจากบุคคลสำคัญ อาทิ เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เลขาธิการองค์การยูเนสโก ผู้นำทางการเมือง สาส์นแสดงความยินดีจากพุทธศาสนิกชนและผู้นำทางการเมือง

เวลา 13.30-14.30 น. นำเสนอผลสรุปโครงการพระไตรปิฎกสากล (CBT) นำเสนอผลสรุปการเสวนาทางวิชาการ

เวลา 15.00 น. ประกาศปฏิญญากรุงเทพมหานคร2012/2555 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชกล่าวอนุโมทนากถา และกล่าวปิดการประชุม

เวลา 16.00 น.ผู้เข้าร่วมประชุมเดินทางไปร่วมประกอบพิธีธรรมยาตรา และเวียนเทียน ณ ลานหน้าองค์พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

เวลา 17.00 น. ร่วมเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตภาวนาถวายพระพรชัยมงคลและถวายราชกุศล เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ 60 พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย กองบรรณาธิการ)



กำลังโหลดความคิดเห็น