xs
xsm
sm
md
lg

มองแนวโน้มธุรกิจเกษตร กูรูชี้ทางยกระดับรับภารกิจผลิตอาหารป้อนประชากรโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมองแนวโน้มธุรกิจเกษตร เผย 4 ปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการ ยกตัวอย่างธุรกิจระดับแนวหน้า สรุป 3 ปัจจัยหลักสู่ความสำเร็จ “Collaboration - Compliance - Intelligence and Risk Management“ ย้ำผู้ประกอบการต้องไม่คิดถึงแต่กำไร ส่วนผู้บริโภคต้องต่อต้านคนเห็นแก่ตัว ด้านสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติใช้หลักการ QCDSMEE วิเคราะห์ธุรกิจ

ศาสตราจารย์ ราล์ฟ คริสตี้ ผู้อำนวยการสถาบันนานาชาติคอร์เนล เพื่ออาหาร การเกษตร และการพัฒนา และผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา และศาสตราจารย์ลุย ดิวินากราเซีย รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและคณบดีคณะธุรกิจที่ มหาวิทยาลัยพิลิท่า ฮาลาแพน (Universitas Pelita Harapan) เมืองสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวถึงการยกระดับการจัดการธุรกิจเกษตรไทย โดยมองภาพรวมในธุรกิจเกษตรของโลกว่า

ภายใน 15 ปี นับจากนี้ จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นของโลก ทำให้จากวันนี้ไปจะต้องมีอาหารเพิ่มขึ้น 60% และต้องมีการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรขึ้น 40% จึงต้องมีการปรับห่วงโซ่แห่งคุณค่า ( Value Chain) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น ผู้นำทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องตระหนัก และพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่นี้ นอกจากนี้ จะต้องมีการปรับปรุงการเพิ่มผลิตภาพ หรือ productivity improvement ควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ห่วงโซ่คุณค่าดำเนินไปได้อย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ และยั่งยืน

4 ปัจจัยหลักกระทบธุรกิจ

โดย 4 ปัจจัยหลักที่เป็นปัจจัยแวดล้อมสำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการธุรกิจเกษตร ได้แก่ หนึ่ง “เทคโนโลยี” ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เช่น ไอที ซึ่งเข้ามามีบทบาทอย่างมาก รวมถึง เรื่องของ Bio Technology , Modern Technology และ NANO Technology สอง“นโยบาย” ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากรัฐบาล ถ้ารัฐมีนโยบายสนับสนุนก็จะผลักดันได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานต่างๆ ความปลอดภัย และการแข่งขันอย่างยุติธรรม สาม “สิ่งแวดล้อม” ด้วยการดูแลให้เกิดความยั่งยืน เช่น เรื่องการใส่สารเคมี โดยการให้ความสำคัญกับการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสี่ “คน” คนที่เกี่ยวข้องจะต้องมีทักษะ ความสามารถ ความรู้ และมีคุณภาพ

ขณะที่ ทิศทางหรือแนวโน้มของธุรกิจเกษตรในอนาคตจะเผชิญกับเรื่องต่างๆ ดังนี้คือ 1. Urbanization การเคลื่อนย้ายของคนชนบทเข้าสู่เมือง การต้องการความสะดวกสบายของคน ความต้องการรสชาติที่หลากหลาย ดังนั้น การที่จะทำธุรกิจกับประเทศต่างๆ จึงต้องศึกษาวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ให้ดี เช่น อินโดนีเซีย มีกลุ่ม middle class หรือกลุ่มชนชั้นกลางมากขึ้น ซึ่งอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียน มาตรฐานการเพิ่มรายได้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเกษตร

2.การเปลี่ยนแปลงของ food system หรือการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งต้องการความสะดวกสบายในรูปแบบใหม่ๆ และความหลากหลายของสินค้าที่มีมากขึ้น 3. แรงกดดันจากประเทศผู้ซื้อจากทั่วโลก โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจต้องเป็นไปตามกฎระเบียบความปลอดภัยของอาหาร เช่น ต้องมีใบรับรองเรื่องความปลอดภัย ซึ่งผู้ผลิตต้องปฎิบัติตามให้ได้ เช่น อินโดนีเซียมีประชากร 250 ล้านคน เป็นมุสลิม 90% จึงต้องการอาหารที่ผ่านการรับรองฮาลาล หรือต้องลดการใช้สารเคมี จึงต้องใช้ Bio Technology มาช่วย เป็นต้น

4. Climate Change การเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ เช่น การเพิ่มอุณหภูมิน้ำเพียง 1องศา อาจจะทำให้สัตว์น้ำย้ายแหล่งที่อยู่ ไปอยู่แหล่งอื่น เป็นต้น 5. คู่แข่ง เช่น อ้อยเดิมผลิตเป็นน้ำตาล แต่ตอนนี้มีการนำไปกลั่นด้วยจุลินทรีย์เพื่อผลิตเป็นแอลกอฮอล์ได้ จึงเกิดการแข่งขันกันเองระหว่างผู้ผลิตน้ำตาลและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้จากการเกษตร 6. เงื่อนไขทางการค้า ทั้งการเปิดเสรีทางการค้า หรือ FTA ของอาเซียน และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2015 และ7. ความไม่มั่นคงทางการเมืองของหลายประเทศในอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงและเตรียมรับมือ

สำหรับตัวอย่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจเกษตร เช่น “CP” บริษัทของไทยซึ่งดำเนินกิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำงานร่วมกันได้ดีกับ ธุรกิจท้องถิ่น กลุ่มเกษตรกร และผู้ค้า “Jollibee Foods” บริษัทในฟิลลิปินส์ซึ่งพยายามสร้างความมั่นใจว่าผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี เป็นธุรกิจที่เริ่มจากธุรกิจครอบครัว ขยายไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้ามไปฝั่งแปซิฟิกและตะวันออกกลาง โดยมีพันธกิจคือส่งสินค้าที่มีคุณภาพ “PT. Jaya Wonokoyo Corporindo” ในอินโดนีเซีย ซึ่งเริ่มกิจการจากธุรกิจครอบครัวเช่นกัน ทำธุกิจเกี่ยวกับการค้าเนื้อสัตว์ปีก บริษัทได้นำเรื่อง Food safety มาปรับใช้กับธุรกิจ ส่งผลให้สามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีกไปในประเทศต่างๆ

“Sijil Organik Malaysia" ซึ่งเป็น ผู้ออกใบรับรองสินค้า organic หรือ Malaysian Organic Certification Program บริษัทนี้ทำงานใกล้ชิดกับธุรกิจเกษตรขนาดเล็ก เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสินค้าอาหารของมาเลเชียได้ผ่านการรับรองเรื่องเกษตรอินทรีย์ หรือ organic และ“Tops supermarket” หรือ “Central” ของไทยซึ่งโดดเด่นเรื่องการหีบห่อสินค้าที่จัดส่งไปถึงลูกค้าแต่ละราย และถ้าเป็นลูกค้าในกลุ่มระดับกลางหรือสูง จะรู้สึกสะดวกสบายกับสถานที่ที่สะอาด สินค้าอาหารที่มีคุณภาพดีและราคาที่สมเหตุสมผล ขณะที่ “ Big C” ก็ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าระดับต่ำลงมาได้อย่างดี

3 กุญแจสู่ความสำเร็จ

โดยมี 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้ทั้งห้าบริษัทประสบความสำเร็จ คือ “Collaboration” การให้ความร่วมมือระหว่างคนที่เกี่ยวข้อง โดยมีเรื่องความไว้วางใจเป็นพื้นฐาน (trust) เพราะเราไม่สามารถทำธุรกิจด้วยตัวเองโดยลำพัง เราต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น (partners) ทั้งห่วงโซ่อุปสงค์ อุปทาน “Compliance“ การปฎิบัติตามกฎระเบียบของภาครัฐที่กำหนดขึ้น ด้วยการทำงานร่วมกับภาครัฐ ผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ รวมทั้งลูกค้า ของแต่ละประเทศ และ“Intelligence and Risk Management“ การสามารถแกะรอย วิเคราะห์ หรือแม้กระทั่งคาดการณ์ trend ต่างๆ และเตรียมการรับมือกับมัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรสามารถพัฒนาและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน จากการดำเนินธุรกิจอย่างตรงไปตรงมาและยุติธรรม หรือ Fair Trade ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่าธุรกิจเกษตรนั้นๆ มีส่วนร่วมหรือตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน จากการคำนึงถึงความมั่งคั่งของเกษตรกรรายเล็ก ผู้ผลิตสินค้า หรือการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจไม่ใช่การทำธุรกิจแบบรวยคนเดียว จากการคำนึงถึงทุพโภชนาการ หรือMalnutrition ไม่ใช่เพียงเรื่องความปลอดภัยของอาหาร แต่เรื่องอาหารที่ไม่ปลอดภัยด้วย จากการคำนึงถึงการจัดการกับสิ่งแวดล้อมสำหรับสินค้าและบริการสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือส่วนล่างสุดของปิรามิดสามเหลี่ยมในทางการตลาด

นอกจากนี้ ผู้บริโภคและสมาคมอาหารต่างๆ ต้องเรียนรู้ที่จะควบคุมพฤติกรรมที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยไม่อนุญาตให้บริษัทเหล่านั้นขายสินค้าในตลาดได้เพื่อให้บทเรียนแก่บริษัทเหล่านั้น เช่น เรื่องควันที่มาจากเกาะสุมาตราซึ่งพัดไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ ควันนี้เกิดจากการเผาป่าของเกษตรกรและเจ้าของธุรกิจเกษตรเพราะต้องการปลูกปาล์มน้ำมัน ทั้งๆ ที่มีวิธีที่ดีกว่าการเผาป่า ดังนั้น บางกลุ่มที่สังเกตถึงพฤติกรรมนี้จึงห้ามจำหน่ายน้ำมันปาล์มจากบริษัทนี้ สิ่งสำคัญคือในเรื่องความยั่งยืนต้องเริ่มที่ใจของเจ้าของกิจการและผู้บริหาร ไม่คำนึงถึงแต่กำไร ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างยั่งยืน

สุวรรณ เหรียญเสาวภาคย์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่าสำหรับสถาบันฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจหลักในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพในการบริหารจัดการองค์กร ใช้หลักการ QCDSMEE ในการวิเคราะห์ระดับผลิตภาพของอุตสาหกรรม ประกอบด้วย Q - Quality คุณภาพ ควรให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐานต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับ C - Cost ต้นทุน ปัจจัยนี้ที่บ้านเราพบคือ ต้นทุนด้านแรงงาน ที่ต้องจ่ายค่าแรงสูงขึ้น หรือต้นทุนด้านการขนส่ง logistic เพราะเราใช้แต่รถบรรทุกซึ่งต้นทุนก็ผันแปรตามราคาน้ำมัน แต่ในต่างประเทศจะใช้พวก รถไฟ หรือ เรือ ซึ่งประหยัดกว่า

D - Delivery การส่งมอบ ต้องพิจารณาว่าจะขนส่งยังไงให้ตรงตามความต้องการ หรือ ขนส่งให้สินค้าไม่เน่าเสีย พวกแช่เยือกแข็ง S - Safety ความปลอดภัยของบุคคลากรในการทำงาน คนทำงานต้องมีสุขภาพอนามัยที่ดี M - Morale คนต้องมีความรัก ความผูกพันกับองค์กร ซึ่งก็จะมาจากพวก ค่าตอบแทน สวัสดิการ และ E - Ethic จริยธรรมในการทำงาน เช่น เรื่องราคาต้องเหมาะสมกับคุณภาพ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น