xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารผ่านโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัฟกานิสถาน : หินแกะสลักบนหน้าผาบามิยัน
บามิยัน 2 เสี่ยงภัยเหมืองจีน

• อัฟกานิสถาน : ผ่านมา 10 ปีแล้ว ที่กลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานได้ระเบิดทำลายพระพุทธรูปหินแกะสลักบนหน้าผาบามิยันที่สูงที่สุดในโลกจำนวน 2 องค์ ท่ามกลางความเศร้าสลดของประชาคมโลก

ขณะนี้ แหล่งพุทธศาสนสถานสำคัญแห่ง ที่ 2 ของอัฟกานิสถาน กำลังเผชิญกับภัยคุกคามใหม่ นั่นคือ ระบบทุนนิยม เนื่องจากทีมนักโบราณคดีอัฟกันและฝรั่งเศสได้ขุดพบวัดพุทธโบราณ ซึ่งสร้างในสมัยศตวรรษที่ 5 ที่บริเวณ “เมส ไอนัค” (มีความ หมายว่า บ่อแร่ทองแดงเล็กๆ) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงคาบูลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 25 ไมล์ มีเนื้อที่ราว 25,000 ไร่

ในการขุดเจาะ พบซากอาคารวัดสูง 15 เมตร ขนาด 80 X 40 เมตร โดยมีการขุดโพรงข้างถนนหลักไปยังกรุงคาบูล พบพระพุทธรูปขนาดใหญ่โผล่จากพื้นดินครึ่งองค์ พร้อมพระบาท พระกร และพระพักตร์

เมื่อเร็วๆนี้ โจอานี เมฮารี นักโบราณคดี ที่ได้เดินทางไปยังเมส ไอนัค และบรรยายถึงสิ่งล้ำค่าที่ขุดพบ “ในซากปรักหักพัง พบสถูปสูงกว่า 9 เมตร ภาพเขียนสีดำและแดง บนผนังปูน พระพุทธรูปปูนปั้นประดับด้วยอัญมณีและทอง รวมทั้งชิ้นส่วนของเครื่อง ปั้นดินเผา”

ทีมขุดค้นประกอบด้วยนักโบราณคดีอัฟกันและฝรั่งเศส 16 คน มีเวลา 38 เดือนที่จะขุดสำรวจบริเวณเมส ไอนัค ก่อนที่คนงานเหมืองจีนจะเข้ามาทำงานในปี 2014

ทั้งนี้ ในปี 2007 บริษัทไชน่า เมทัลเลอร์จิคอล กรุ๊ป คอร์ป บริษัทเหมืองแร่ของจีน ได้เซ็นสัญญามูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐกับรัฐบาลอัฟกัน ซึ่งเป็นการลงทุนจากต่างชาติ ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพื่อขุดเจาะแร่ทองแดงจำนวนมหาศาลที่อยู่ลึกจากบริเวณที่ขุด พบวัดโบราณไม่เกิน 1,000 เมตร

(จาก NYT News Service)

พระไตรปิฎกทิเบตโชว์หลักฐานผ่าตัดสมองยุคโบราณ

• ทิเบต : เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมและอักษรศาสตร์ของทิเบตเผยว่า หลังการศึกษาวิจัยพระไตรปิฎกทิเบตโบราณมานานกว่า 4 ทศวรรษ เขาพบว่า ได้มีการผ่าตัดสมองคนไข้โดยแพทย์มาตั้งแต่ 2,900 ปีที่แล้ว

“พระไตรปิฎกทิเบตโบราณจารึกไว้อย่างชัดเจนถึงสาเหตุและวิธีการผ่าตัดสมอง” กัมมะ ตรินลีย์ ศาสตราจารย์จากแผนกภาษาและวรรณคดี ทิเบตแห่งมหาวิทยาลัยทิเบต ในนครลาซา เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองทิเบต ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน กล่าว

กัมมะ ตรินลีย์ ซึ่งเริ่มต้นศึกษาพระไตรปิฎกในปี 1970 เล่าว่า ในพระไตรปิฎกได้บรรยายถึงรายละเอียดที่แพทย์หนุ่มชาวอินเดียชื่อ ซอกเยล ได้รับอนุญาตจากคนไข้ซึ่งมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ให้ยืนข้างเตียง เพื่อเฝ้าดูการผ่าตัดสมองโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ขณะผ่าตัด ซอกเยลเห็นศัลยแพทย์กำลังจะหยิบคีมผ่าตัด เขาจึงพูดด้วยเสียงดังว่า ควรนำไปลนไฟฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน

“ซอกเยล เป็นหมอที่มีชื่อเสียงและรักษาโรคได้ทุกโรค ยกเว้นการผ่าตัดสมอง และศัลยแพทย์ท่านนั้นก็ทำตามคำแนะนำของเขา จนเป็นผลสำเร็จ” กัมมะ ตรินลีย์ กล่าวและเสริมต่อไปว่า คำแนะนำของซอกเยลให้ฆ่าเชื้อเครื่องมือผ่าตัด ช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จของการผ่าตัดในสมัยนั้นให้มากขึ้น และต่อมาซอกเยลได้กลายเป็นศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

พระไตรปิฎกเล่มนี้ ถือเป็นเล่มแรกสุดที่รวบรวมเรื่องทางพุทธศาสนา ซึ่งเขียนขึ้นราว 300 ปี ก่อนคริสตกาล จากคำบอกเล่าต่อๆกันมาด้วยภาษาสันสกฤต ต่อมาได้แปลเป็นภาษาทิเบต ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ กังเยอร์ และ ดังเยอร์

กังเยอร์ เป็นส่วนที่รวบรวมธรรมะของพระพุทธเจ้า ส่วนดังเยอร์ รวบรวมข้อความและการตีความกังเยอร์ ในด้านปรัชญา ตรรกะ วรรณกรรม ภาษาศาสตร์ ศิลปะ ดาราศาสตร์ การแพทย์ สถาปัตยกรรม และการคำนวณปฏิทิน ของผู้เชี่ยวชาญ นักการศึกษา และผู้แปล ทั้งชาวอินเดียและทิเบต

“พระไตรปิฎกทิเบตจารึกว่า พระพุทธเจ้าทรงจัดแบ่งประเภทอาการป่วยไว้ถึง 440 อาการ ซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับลม น้ำดี และเสมหะ และในปัจจุบัน แพทย์ทิเบตยังคงนำหลักการแพทย์หลายอย่างที่ระบุในพระไตรปิฎกมาใช้” กัมมะ ตรินลีย์ กล่าว

(จาก Xinua)

ICT ศรีลังกาเดินหน้า ตำราธรรมะออนไลน์

• ศรีลังกา : หน่วยงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ของศรีลังกา เดินหน้ามาตรการนำตำราเรียนพุทธศาสนาทั้งหมดใส่บนโลกออนไลน์ ให้ได้อ่านกัน

หนังสือเรียนธรรมะของนักเรียนชั้นเกรด 1 ถึงชั้นสูงสุด หาอ่านออนไลน์ได้ที่เวบไซต์ http://www.dahamsayura.com/ รวมทั้งฟังบทสวดมนต์ได้ที่นี่เช่นกัน โดยสามารถดาวน์โหลดหนังสือได้ฟรี

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรัฐบาลที่มีชื่อว่า “e-social development” เวบไซต์นี้ดำเนินงานโดยศูนย์หมู่บ้านเนนะศาลา ในบริเวณ ทนมัลวิละ เขตโมนารากาลา

(จาก ColomboPage News Desk)

จีนบูรณะถ้ำหยุนกัง ครั้งใหญ่

• จีน : บรรดานักโบราณคดี และวิศวกรของจีนกำลังบูรณะส่วนที่เป็นชายคาและห้องใต้เพดานของถ้ำหยุนกัง หมู่ถ้ำเก่าแก่อายุ 1,500 ปี ซึ่งอยู่ในเมืองต้าถง มณฑลชานซี ทางตอนเหนือของจีน เพื่อชะลอการสึกกร่อนอันเนื่องมาจากสภาพอากาศ

ซาง ซัว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยถ้ำหยุนกัง กล่าวว่า งานบูรณะครั้งนี้ใช้เวลา 2 ปี ด้วยงบราว 50 ล้านหยวน (ราว 250 ล้านบาท) เนื่องจากหมู่ถ้ำกำลังเผชิญภัยกัดกร่อนอย่างร้ายแรง และส่วนที่เป็นชายคาดั้งเดิมก็ทรุดโทรมตามกาลเวลา

โดยขั้นแรก วิศวกรจะซ่อมแซมถ้ำ 6 แห่งที่เสียหายหนักที่สุด เพราะเสาถ้ำอาจพังทลายลง

อนึ่ง ถ้ำหยุนกัง เป็นหมู่ถ้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นเมื่อ 1,500 ปีที่แล้ว มีพระพุทธรูปกว่า 51,000 องค์ประดิษฐานภาย ในถ้ำ 53 แห่งที่ตั้งเรียงรายยาว 1 กม.ไปตามหน้าผา และองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2001

(จาก Xinhua)

เปิดศูนย์พุทธศาสนาสากลในศรีลังกา

• ศรีลังกา : เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นาย มหินธา ราชปักษา ประธานาธิบดีแห่งศรีลังกา ได้ทำพิธี เปิดศูนย์พุทธศาสนาสากล ศรีสัมพุทธวา ชยันตี เพื่อเป็นแหล่งเก็บรวบรวมสิ่งพิมพ์และวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ศูนย์พุทธฯดังกล่าว ตั้งอยู่ที่บริเวณธัมมัลลา ในกรุงโคลัมโบ สร้างโดยศูนย์วัฒนธรรมพุทธเดฮีวาลา ภายใต้การอุปถัมภ์ของกระทรวงพัฒนาชุมชนเมืองและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ขององค์พระศาสดา นับเป็นศูนย์รวมหนังสือและข้อมูลทางพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุด

ภายในตัวอาคาร มีห้องประชุมระดับมาตรฐานสากลรองรับได้ 600 ที่นั่ง และจะใช้เป็นศูนย์เผยแพร่ปรัชญาพุทธในภูมิภาคนี้ และจัดกิจกรรมศึกษาค้นคว้าธรรมะ มีเครื่องอำนวยความสะดวกสมัยใหม่ครบครัน รวมถึงศูนย์วิเคราะห์จิตทางพุทธศาสนา และสตูดิโอบันทึกเสียง รวมค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 300 ล้านรูปี

โดยประธานาธิบดีได้กล่าวชมเชยพระกิรมา วิมลโยธี เถระ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมพุทธเดฮีวาลา ซึ่งรับผิดชอบการสร้างศูนย์จนเสร็จภายในเวลา 11 เดือน และถวายรางวัลแด่ท่านสำหรับศาสนกิจต่างๆที่ท่านได้ปฏิบัติมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ประธานาธิบดียังได้เปลี่ยนชื่อถนนเฮฟล็อค เป็น “ศรีสัมพุทธวา ชยันตี มาวาธา” และเปิดตัวเว็บไซต์ “The Sambuddhatya Jayanthi” อย่างเป็นทางการอีกด้วย

(จาก Lanka Daily News)

ทิเบตได้ผู้นำทางโลกคนใหม่ "ทะไล ลามะ" ขอเป็นแค่ผู้นำจิตวิญญาณ

• ญี่ปุ่น : เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา องค์ทะไล ลามะ ตรัสในขณะทรงเป็นประธานในพิธีสวดมนต์อุทิศกุศลแด่เหยื่อแผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2011 ณ วัดแห่งหนึ่งว่า ขอเป็น “ผู้นำทางจิตวิญญาณอย่างสมบูรณ์” ภายหลังการถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองตามกฎหมายให้แก่ “ลอบซัง ซังเก” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง

“แต่นั่นมิได้หมายความว่า อาตมาจะลาออกจากการเป็น ทะไล ลามะ อาตมาขอย้ำชัดเจนว่า สถาบันทะไล ลามะ ควรทำหน้าที่เป็นผู้นำจิตวิญญาณอย่างสมบูรณ์” สำนักข่าวเกียวโดอ้างคำให้สัมภาษณ์ของท่าน

โดยทรงแสดงความคิดเห็นนี้ หลังจาก “ลอบซัง ซังเก” นักวิชาการด้านกฎหมายซึ่งจบจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของรัฐบาลทิเบตพลัดถิ่น ที่ตั้งอยู่ในธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ด้วยคะแนนเสียงของชาวทิเบตผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งหลายหมื่นคนทั่วโลก

“ขณะนี้เป็นสภาวะที่เหมาะสม ดังนั้น อาตมาจึงตัดสินใจมอบอำนาจทางการเมืองตามกฎหมายทั้งหมดให้แก่ผู้นำการเมือง คนใหม่ที่ได้รับเลือกตั้ง และตอนนี้ชาวทิเบตส่วนใหญ่ก็เข้าใจ” องค์ทะไล ลามะ ตรัส

(จาก PTI)

เวียดนามส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีเซน

• เวียดนาม : ด้วยประวัติศาสตร์ทางพุทธศาสนาที่ยาวนาน 2,500 ปี มีพุทธศาสนิกชนกว่า 10 ล้านคนในปัจจุบัน และวัดหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ ทำให้เวียดนามกลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยววิถีเซนได้ไม่ยาก

เซน เป็นนิกายหนึ่งในพุทธศาสนาแบบมหายาน โดยให้ความสำคัญกับสติปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติจริงในชีวิต เพื่อนำไปสู่การรู้ตื่นและเบิกบาน เซนจึงไม่เน้นหลักทฤษฏีที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเองผ่านการทำสมาธิและปฏิบัติธรรม คำสอนของเซนประกอบด้วยปรัชญาทางมหายาน ปรัชญาปารมิตา คำสอนของโยคาจาร และตถาคตคัพภะ

การกำเนิดขึ้นของนิกายเซน ถูกบันทึกเป็นเอกสารครั้งแรกในจีนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 7 ต่อมาได้เผยแพร่ลงมาทางใต้ เข้าสู่เวียดนาม และเจริญรุ่งเรืองในสมัยราชวงค์ ลีถึงราชวงค์ตรัน และ ราชวงค์ตรินถึงราชวงค์เหงียน ทำให้วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของคนเวียดนาม ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาเซน

การท่องเที่ยววิถีเซนนี้ จะนำนักท่องเที่ยวเดินทางไปยังวัดต่างๆและงานเทศกาลวัด เพื่อเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา ชมและเข้าร่วมศาสนกิจของพระสงฆ์ เพลิดเพลินและซาบซึ้งกับงานศิลปะแบบเซน อาทิ การจัดดอกไม้ พิธีชงชา การปลูกบอนไซ และอาหารมังสวิรัติ

มีวัดราว 120 แห่งในเวียดนามที่รองรับการท่องเที่ยววิถีเซน รวมทั้งวัดหลายแห่งที่มีชื่อเสียง เช่น วัดเด่า ในจังหวัดบั๊กนิงที่อยู่ทางเหนือ วัดบาดาและวัดตรัน กวอก ในกรุงฮานอย วัดตรัคลัมเตยเทียน ในจังหวัด หวิงฟุกที่อยู่ทางทิศเหนือ วัดตูดัม วัดเทียนมู และวัดตูเฮียว ในจังหวัดเถื่อเทียนเหว้ ซึ่งอยู่ตอนกลางของประเทศ และวัดตูอัน วัด ยักลัม วัดยักเวียน ในนครโฮจิมินห์

(จาก VietNamNet Bridge)

รัฐมนตรีศรีลังกาปลงผม เฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา

• ศรีลังกา : นายชัมปิกา รนวกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายอุทยะ กัมมันปิละ รัฐมนตรีซึ่งเป็นโฆษกพรรครัฐบาล ร่วมกับบรรดาพุทธศาสนิกชน ได้พร้อมใจกันโกนศีรษะ นุ่งขาวห่มขาว เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมปลีกวิเวกในวัดแห่งหนึ่งใกล้กรุงโคลัมโบ เป็นเวลา 10 วัน เริ่มจากวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา ครบรอบ 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“พวกท่านจะอุทิศตนแด่พระพุทธศาสนาตลอด 10 วันนี้ เพื่อปฏิบัติกิจทางศาสนาและทำวิปัสสนา” พระอทุรลิเย รัตนะ พระเถระชั้นสูงซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ กล่าว

(จาก Xinhua)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 127 มิถุนายน 2554 โดย เภตรา)
จีน : บูรณะถ้ำหยุนกัง
ศรีลังกา : พิธีเปิดศูนย์พุทธศาสนาสากล ศรีสัมพุทธวา ชยันตี
ศรีลังกา : พิธีเปิดศูนย์พุทธศาสนาสากล ศรีสัมพุทธวา ชยันตี
ญี่ปุ่น : ลอบซัง ซังเก นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของรัฐบาลธิเบต
ศรีลังกา : รัฐมนตรีศรีลังกาปลงผม เฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา
กำลังโหลดความคิดเห็น