ชีวิตของมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ ล้วนแต่มีกฎแห่งกรรมที่สลับซับซ้อนอยู่เบื้องหลัง ชีวิตจะเป็นไปอย่างไรก็อยู่กับกรรมที่เราเคยทำและกรรมที่เรากำลังกระทำอยู่นั่นเอง
เบื้องหลังความสุขความทุกข์ของมนุษย์จึงเต็มไปด้วยเหตุและผล เต็มไปด้วยความยุติธรรมต่างๆ นั่นก็คือ การที่ใครจะเกิดมารวย จน ประสบความสำเร็จ หรือไม่นั้น ล้วนแต่มีเหตุปัจจัยกำหนดให้เป็นไปทั้งสิ้น
“กฤษดา” เจ้าของธุรกิจเสื้อผ้า มีความใฝ่ฝันอยากจะประสบความสำเร็จในชีวิตเหมือนคนอื่นๆ เขาจึงมีความขยันขันแข็งในการทำงานเป็นพิเศษ ในชีวิตของเขาแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีอะไรที่จะมีคุณค่าเท่ากับเงินทองและความสำเร็จ
การที่กฤษดามุ่งมั่นสู่ความสำเร็จอย่างนี้นี่เองที่ทำให้เขาลืมหลายๆ เรื่องในชีวิตไป เช่น ความถูกต้องดีงามต่างๆ เป็นต้น เขาไม่แคร์อะไรทั้งสิ้น ขอเพียงอย่างเดียวคือ ให้ตัวเองประสบความสำเร็จ อย่างที่ตั้งใจไว้
แม้คนภายนอกจะมองว่าเขาประสบความสำเร็จแล้ว เพราะมีโรงงานขนาดใหญ่ มีพนักงานมากมาย แต่สำหรับตัวเขาเองคิดว่ายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ละปีเขาจึงตั้งเป้าหมายไว้สูงลิ่ว เพื่อให้ได้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
การทำธุรกิจของกฤษดาจึงเต็มไปด้วยเล่ห์กลต่างๆ มากมาย เพื่อทำให้ได้เงินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกดค่าแรงของพนักงาน การใช้วัตถุดิบที่ราคาถูกและคุณภาพต่ำ การให้สินบนเจ้าหน้าที่บ้านเมือง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เขาบอกว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำ หากอยากจะประสบความสำเร็จ
ความคิดของกฤษดาจึงเต็มไปด้วยการคดโกงทุกรูปแบบ เพียงเพื่อให้ตนเองได้ขึ้นมายืนโดดเด่นอยู่ในสังคม และที่สำคัญเขาไม่รู้จักกับคำว่า “พอ” ยิ่งเขาได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งตะเกียกตะกายให้ได้มากขึ้นเท่านั้น
ในมุมมองของกฤษดา ความพอคือการยอมแพ้ เป็นคนไม่เข้มแข็ง แต่การเอารัดเอาเปรียบคนอื่นเป็นเรื่องของความเก่ง ความฉลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหนีภาษี ยิ่งเขาเลี่ยงภาษีได้มากเท่าใด ก็แสดงว่าเขามีความฉลาดในการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของเขาเท่านั้น
กฤษดาใช้เวลาสร้างตัวอยู่อย่างนี้ไม่นานนัก เงินทองก็ไหลมาเทมา ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าสิ่งที่เขาได้กระทำไปนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามเพราะหากเป็นสิ่งที่ไม่ดี ทำไมเขาถึงได้ดี
เมื่อมีเงินทองมากมาย กฤษดาก็วางแผนที่จะขยายโรงงานให้ใหญ่ขึ้นอีก เพื่อความเป็นมหาเศรษฐีที่ยั่งยืน ในช่วงนั้นเขาไม่เคยคิดเลยว่า จะมีอะไรที่ทำให้จนลงได้ เพราะเงินทองแต่ละวันที่เข้ามามันมากมายมหาศาล
มีบางครั้งเหมือนกันที่เขารู้สึกไม่สบายใจ เพราะรู้ว่าเงินที่ตนเองได้มาจำนวนมากนั้น มันไม่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ถึงแม้ว่าธุรกิจที่เขาทำจะเป็นอาชีพที่บริสุทธิ์ก็ตาม
แต่ในที่สุดเขาก็ปลอบใจตนเองว่า ก็เพราะว่าคนพวกนั้นมันโง่เอง จึงทำให้เขาหลอกได้ ใครไม่อยากตกอยู่ภายใต้การกดขี่ขมเหงของเขาก็ลาออกไป เขาไม่ได้บังคับ
ในโรงงานของกฤษดาซึ่งมีพนักงานมากมายนั้น แน่นอนว่ามีทั้งคนที่ซื่อสัตย์และไม่ซื่อสัตย์ หลายคนยิ่งเห็นเจ้านายเอารัดเอาเปรียบก็รู้สึกเคียดแค้นชิงชัง จึงหาทางฉ้อโกงบริษัทด้วยวิธีการต่างๆนานา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องไม่ให้กฤษดารู้ เพราะหากรู้ขึ้นมาวันไหนก็เป็นอันว่า ต้องถูกไล่ออกอย่างแน่นอน
ชีวิตคนก็เหมือนกับสปริงนั่นเอง หากถูกกดมากๆ เวลาปล่อยก็จะดีดแรง ลูกน้องของกฤษดาก็เช่นเดียวกัน เมื่อโดนกฤษดากดขี่แรงงาน ในรูปแบบต่างๆ การสะท้อนกลับจึงแรงเช่นเดียวกัน
คนที่คดโกงกฤษดานั้นไม่ได้มีเพียงคนเดียว แต่มีหลายคนทำงานเป็นทีม ตั้งแต่พนักงานบัญชี พนักงานส่งของ เป็นต้น คนเหล่านี้คิดว่าจะทำให้กฤษดาไม่เหลืออะไรเลยในชีวิต
จากความโกรธแค้นของพนักงานที่ถูกกดขี่ข่มเหงนี่เอง ที่ทำให้กฤษดาต้องสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง บริษัทของเขาเริ่มขาดทุนลงเรื่อยๆ ลูกน้องส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่รายงานเรื่องเท็จให้เจ้านายทราบ กฤษดาจึงไม่ทราบสถานการณ์ที่แท้จริงเกี่ยวกับบริษัท
เขายังนึกอยู่เสมอว่าธุรกิจของตัวเองไปได้ดี แต่ในความเป็นจริงนั้น รายงานทุกอย่างแทบจะเรียกได้ว่าถูกเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นมาทั้งสิ้น จนกระทั่งในที่สุดธุรกิจของเขาก็ต้องล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา ทรัพย์สินเงินทองที่เคยมีอยู่ ก็หมดไปกับการใช้หนี้สิน ไม่เว้นแม้แต่รถและบ้านก็ต้องขาย เพื่อเอาเงินมาใช้หนี้ !!
กฤษดาได้พาครอบครัวไปเช่าห้องเล็กๆ อยู่ ซึ่งตอนแรกๆเขารับไม่ได้กับสภาพชีวิตที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาเขาเคยเป็นมหาเศรษฐีที่มีคนนับหน้าถือตามากมาย แต่วันนี้เขากลายเป็นคนไม่มีอะไรเหลือเลย ลูกที่เคยเรียนโรงเรียนดีๆ ก็ต้องออกมาเรียนโรงเรียนวัด
ชายหนุ่มรู้สึกชีวิตไม่เป็นสุขเหมือนที่เคยเป็นมา วันหนึ่งเขาจึงได้เข้ามานั่งสงบจิตสงบใจในวัดใกล้บ้าน เขาเข้าไปกราบพระพุทธรูปในโบสถ์ พร้อมกับคิดว่าทำไมหนอ ชีวิตของเขาถึงตกอยู่ในสภาพเช่นนี้
เขานั่งสงบนิ่งอยู่ในโบสถ์พักใหญ่ จนจิตสงบ และเมื่อเขาได้ทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมา ก็พบว่า เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นก็ล้วนมาจากตัวเองที่เอารัดเอาเปรียบลูกน้อง และใช้เล่ห์กลต่างๆ ในการทำงาน ไม่ทำแบบตรงไปตรงมา
การใช้เล่ห์เหลี่ยมนี่เองที่เป็นผลย้อนกลับ ทำให้เขาโดนกระทำจากคนอื่นในรูปแบบเดียวกัน นี่เป็นกฏแห่งกรรม ที่เขาคิดว่าเป็นกรรมที่เห็นได้ในปัจจุบัน ที่เขาประสบด้วยตัวเอง
หากย้อนเวลากลับไปได้ กฤษดาคิดว่าเขาจะทำให้พนักงานทุกคนในบริษัทได้รับความเป็นธรรม ไม่กดขี่ข่มเหง ได้เงินมามาก ก็ควรแบ่งปันให้พนักงานมากเช่นเดียวกัน เพราะทุกคนล้วนแต่ทำงานเหน็ดเหนื่อยด้วยกันทั้งนั้น หากเขาปฏิบัติดีต่อพนักงานและคนอื่นๆ ที่ติดต่อสัมพันธ์กับเขา ชีวิตของเขาก็คงจะไม่เป็นแบบนี้
การทำงานอย่างบริสุทธิ์และรักษาความเป็นธรรมต่างหากที่จะทำให้ธุรกิจ มีความยั่งยืนและสังคมเป็นสุขอย่างแท้จริง
ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านที่มีประสบการณ์จริงเกี่ยวกับเรื่องกฎแห่งกรรม เขียนเล่ามาเป็นธรรมทานในการเตือนสติแก่เพื่อนร่วมโลกให้ตระหนักถึงบาปบุญคุณโทษ และตั้งอยู่ในความดีงามตลอดไป
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย มาลาวชิโร)