แม้จะเกิดมาในช่วงเวลาที่ครอบครัวมีกำลังทรัพย์ พร้อมจะเสริมสร้างโอกาสให้แก่เธอทุกๆทาง แต่ “ลุลา” กันยารัตน์ ติยะพรไชย เจ้าหญิงบอสโนวา แห่งวงการเพลงไทย (บอสโนวา คือแนวเพลงที่มาจากการผสมผสานดนตรีแจ๊ซของแอฟริกันอเมริกัน กับดนตรีแซมบา ซึ่งเป็นดนตรีพื้นบ้านของบราซิล) ประจำค่ายเพลง “สนามหลวง” ที่ผู้คนเริ่มรู้จักเธออย่างดีจากเพลง “ตุ๊กตาหน้ารถ” และเป็นเจ้าของเสียงร้องในบทเพลงประกอบละคร “รักประกาศิต” ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตเป็นคุณหนู หรือใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย
• ลูกคนที่ 3
ของครอบครัวชาวจีน
“ลุลาเกิดมาในครอบครัวคนจีนที่คุณพ่อคุณแม่ทำแต่งานในที่นี้ไม่ได้หมาย ความว่าเขาไม่ได้สนใจเรา แต่เป็นครอบครัวคนจีนที่มักจะสอนกันมาว่า ให้สร้างเนื้อสร้างตัวก่อน แล้วพอมีสตางค์มั่นคงเมื่อไหร่ เราถึงเอาเงิน เอาเวลามาเที่ยว
ตอนเด็กๆ ได้เห็นคุณพ่อคุณแม่ทำงานเยอะมาก ลุลามีพี่น้อง 3 คน มีพี่ชาย 2 คน ส่วนลุลาเป็นคนเล็ก พี่ชายคนโตจะเกิดมาในช่วงเวลที่คุณพ่อคุณแม่ทำงานหนักมาก พยายามสร้างเนื้อสร้างตัวให้มีเงิน เป็นคนจีนที่ช่วง 10 ปีแรกของการทำงาน จะทำงานอย่างเดียว ทำเอาเป็นเอาตาย เพื่อให้มั่นใจว่า ในอนาคตจะไม่ลำบาก ฉะนั้นพี่ชายคนโตจะน่าสงสารที่สุด เพราะว่าคุณพ่อคุณแม่อาจไม่ค่อยมีเวลาให้
แต่พี่ชายคนที่สองเกิดในช่วงที่ครอบครัวเริ่มดีขึ้นแล้ว ส่วนลุลาโชคดีสุด เพราะเกิดในยุคที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มมีสตางค์แล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำตัวฟุ่มเฟือยมาก แม้แต่ตอนที่ลุลาโตขึ้นมา ก็ยังเห็นคุณพ่อคุณแม่ทำแต่งาน ได้เที่ยวบ้าง ได้ซื้อของเล็กๆ น้อยๆบ้าง แต่ไม่ได้ฟู่ฟ่าและฟุ่มเฟือย”
• ลำบากก่อน สบายทีหลัง
ภาพของความขยันและประหยัด มัธยัสถ์ของบุพการี ที่ได้สัมผัสมาตั้งแต่วัยเด็ก บ่มเพาะให้ลุลากลายเป็นผู้ใหญ่ ที่เอาการเอางาน และมีวินัยเรื่องการใช้จ่าย
“ลุลาไม่เคยเห็นคุณพ่อคุณแม่ขี้เกียจเลย ท่านทำอาชีพค้าขาย ทำธุรกิจเกี่ยวกับเสื้อผ้า เป็นคนที่ขยันมาก เพื่อวันที่ดีกว่า เพื่อความสบายในอนาคตของลูก ประโยคหนึ่งที่เคยได้ยินบ่อยมากจากปากคุณพ่อคุณแม่ คือ ลำบากก่อน สบายทีหลัง เขาชอบพูดคำนี้ และเราได้ยินมาตลอด
ที่ผ่านมาลุลาได้เห็นว่าคุณพ่อคุณแม่ทำงานหนักมากเลย พอถึงวันนี้เขาสบายแล้วนะ เพราะฉะนั้น วันนี้เราต้องลำบาก อนาคตจะได้สบาย
คุณแม่เป็นคนที่ทำงานบ้านเก่ง แล้วชอบพูดกับลุลาว่า รู้ไหม ถ้าทำงานบ้านได้ดี นอกบ้านจะทำได้ดียิ่งกว่า เหมือนสอนให้รู้จักจัดระบบชีวิตตัวเองก่อนตั้งแต่ในบ้าน และเขาจะเป็นคนที่ไม่ค่อยใช้เงิน จะใช้กับเรื่องที่จำเป็นและสำคัญเท่านั้น จะบอกลูกเสมอว่า มีเงินเอาไปซื้อทองนะ ซื้อบ้านนะ ซื้อทรัพย์สินนะ แต่ของสุรุ่ยสุร่ายอย่าซื้อ บางทีกางเกงแม่ใส่ขาดแล้วขาดอีก มือถือพังแล้วพังอีก ไม่ยอมเปลี่ยน
หลายสิ่งที่เขาไม่ได้สอน แต่เราเห็น มันทำให้คิดก่อนที่จะซื้ออะไร เช่น เราจะซื้อมือถือ ต้องมานั่งคิดก่อนว่า เออ ...แม่ของเรายังใช้ของยุคโบราณอยู่เลย ถ้าเราใช้ของใหม่ แม่ต้องดุแน่ๆเลย คิดไม่ดีไว้ก่อนว่าแม่ต้องดุ แต่อีกทางหนึ่งมันก็ทำให้เราหยุดคิดทุกครั้ง มันเหมือนว่าทุกสิ่งที่เขาเป็น มันสอนเราโดยอัตโนมัติ”
• พ่อแม่ไม่อยาก
ให้เป็นนักร้อง
นับตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งพ่อและแม่อาจจะพยายามสนับสนุนให้ลุลาได้เรียนรู้ศาสตร์ทุกแขนง ทว่าทั้งสองท่านไม่เคยสนับสนุน เลย เมื่อลูกสาวคนเดียวของบ้าน เอ่ยปากว่าอยากเป็นนักร้อง จนกระทั่งเธอได้ใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองให้เห็น
“เรื่องนี้ตลกมาก.. ทั้งที่เขาส่งเราไปเรียนตั้งแต่เด็กๆ เรียนร้องเพลง เรียนดนตรี เรียนเปียโน เรียนศิลปะ เรียนเต้น บัลเล่ต์ เรียนทุกสิ่ง แต่พอโตขึ้น เรียนจบปริญญาตรี แล้วทำงานๆ จนวันหนึ่งบอกเขาว่า เราอยากจะเป็นนักร้อง แม่กลับไม่ชอบ ไม่อยากให้เป็น เพราะเขากลัวเราเสียคน กลัวติดยา กลัวท้อง ไม่มีพ่อกลัว ไปหมดคนเป็นพ่อเป็นแม่
ลุลาใช้เวลา 5-6 ปี เพื่อที่จะพิสูจน์ว่า เรายืนอยู่ด้วย อาชีพนี้ได้ เพราะมันเหมือน มีอะไรกำหนดมาแล้วว่า เราต้องเป็นสิ่งนี้ และเราก็พิสูจน์ได้แล้วว่า การที่อยู่ในวงการนี้ มันมีทางเลือกให้ยืนเยอะ ไม่จำเป็นว่าทุกคนที่ยืนอยู่ตรงนี้แล้วจะต้องขายเนื้อหนังมังสา แต่่เรายืนอยู่ได้ด้วยการขายเสียง ขายความสามารถ ขายในสิ่งที่เราเป็นจริงๆได้
ตอนกลางคืนของวันหนึ่ง แม่ได้ยินเสียงเราผ่านคลื่นวิทยุของค่ายแกรมมี่ ต่อมาก็ได้ยินบ่อยขึ้นๆ จึงเริ่มยอมรับว่า การร้องเพลงมันคืออาชีพของเรา ที่ผ่านมาเขาจะคอยมองดูอยู่ห่างๆ และคอยเตือนว่า อย่าหลงตัวเองนะว่าเธอเป็นศิลปินแล้ว วันหนึ่งถ้าเธอตก เพราะชื่อเสียงของคนเรา มีขึ้นก็ย่อมมีตก เธออย่าเสียใจนะ และต้องหาอย่างอื่นมารองรับนะ จะคอยเตือนแบบนี้ตลอด เหมือนพูดไม่ให้เราไม่ประมาท”
• ทำความฝันให้เป็นจริง
ความภูมิใจของลูกสาวเสียงสวย
ความภูมิใจในตัวเองในฐานะลูก ไม่ได้เกิดขึ้นจากการสามารถเป็นได้ในแบบที่พ่อแม่ฝันอยากให้เป็น แต่เกิดจากการที่เธอทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง
“สิ่งที่เราฝัน บางครั้งมันดูแย่มากเลยในสายตาคนอื่น แล้วบางทีคนเขาก็เหยียบย่ำดูถูก ลุลายอมรับว่า เราไม่ได้เกิดมาแบบคนที่ไม่มีโอกาส คือคุณแม่ส่งไปเรียนหมด ถ้าเราอยากเรียนอะไร แต่ว่าโอกาสที่เราจะเป็นได้อย่างที่เราฝัน มันไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากตัวเราเอง
เราต้องไขว่คว้ามาเอง จากเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เพื่อนๆสมัยเด็กๆ มักจะได้เห็นเราร้องเพลงโหวกเหวกโวยวาย กระทั่งโตขึ้น เข้าทำงาน และเพื่อนๆ สมัยทำงานมักจะได้เห็นเรานั่งฟังเพลงแนวบอสซ่าทุกวัน แล้วฝันว่าสักวันหนึ่งฉันจะได้ทำในสิ่งที่ฉันชอบ คือตอนนั้นเป็นสาวออฟฟิศ ทำแต่งาน ไม่ได้เป็นเหมือนทุกวันนี้
แต่เดี๋ยวนี้เพื่อนๆ พูดเหมือนกันหมดว่า เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ที่เราสามารถทำฝันให้เป็นจริง เหมือนเนรมิตตามนั้นเลย จนถึงจุดหนึ่งที่พ่อแม่ยอมรับและเปิดโอกาสให้ทำอาชีพนี้ ทั้งที่เขาเคยต่อต้านเรามาก่อน คงเป็นเพราะที่ผ่านมาเรามีความตั้งใจกับสิ่งที่เรารักที่จะทำ มีความพยายาม และพอโอกาสมาถึง เราก็รีบคว้า มันไว้ จนทุกวันนี้ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ภูมิใจมากที่สุด เพราะสามารถทำให้พ่อแม่ยอมรับได้”
• พาพ่อไปดูหนัง เป็นเพื่อนแม่ทำงานฝีมือ
ต่อให้มีคิวให้ต้องไปร้องเพลงมากมายขนาดไหน แต่เมื่อมีเวลาว่าง เธอก็มักใช้มันไปกับครอบครัว แม้ว่าบางเวลาจะไม่ได้อยู่พร้อมหน้ากันตลอด
“คุณแม่กับลุลาเป็นคนชอบทำงานฝีมือทั้งคู่ ก็จะพยายามหาเวลา หาสถานที่ในบ้าน ที่เขากับเราจะมาแชร์ร่วมกันได้ ส่วนกิจกรรมที่ทำร่วมกับพี่ชายกับคุณพ่อก็จะเป็นเรื่องปกติ ไปทานข้าว ไปดูหนัง จะเป็นบ้านที่ไม่ได้ทำอะไรพร้อมกันตลอดเวลา บางที ก็จะแยกคู่กันไปบ้าง พ่อไปกับพี่ เราไปกับแม่ หรือว่าแม่ไปกับพี่ เราไปกับ พ่อ สลับกันไปมา เหมือนพยายามเทกแคร์ให้ทั่วถึง
สำหรับคุณพ่อ ลุลาจะชอบพาไปดูหนังค่ะ เพราะเขาชอบดูหนังในโรง ส่วนคุณแม่ ก็จะชอบพาไปดูงานฝีมือ ไปชอปปิ้ง ไปทำ อะไรตามประสาผู้หญิง
ทุกวันนี้ที่ลุลาเป็นคนชอบทำงานศิลปะ เพราะว่าคุณแม่ด้วย คุณแม่ชอบทำ ก็จะช่วยคุณแม่ทำ จนเราเริ่มตกหลุมรักมัน ภาพที่จำติดตาอยู่เสมอคือ แม่กับลูกสาว หากิจกรรมทำกันสองคน ประดิษฐ์ดอกไม้ร่วมกัน ส่วนลุลากับพี่ชายจะสนใจเหมือนกันในเรื่องไอที มือถือ คอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูป อะไรอย่างนี้ แต่ถ้ามีเวลาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งบ้าน ก็จะไปเที่ยว ไปกินข้าวด้วยกันมากกว่า”
• แม่สอนว่า
“จงเป็นผู้รู้จักให้”
ไม่เพียงแต่เฉพาะความรักในงานฝีมือที่เธอได้รับอิทธิพลมาจากแม่ การเปลี่ยนตัวเองไปเป็นฝ่ายให้คนอื่นบ้าง ก็เป็นอีกสิ่งที่เธอได้เรียนรู้มาจากแม่
“คุณแม่จะทำให้เห็นตลอดเวลาว่า คุณแม่จะไปช่วยคนนั้นคนนี้อยู่เรื่อยๆ อย่างสมัยก่อนที่การดูแลตัวเองตามแนวทางแบบชีวจิตได้รับความนิยม คุณแม่จะขับรถไปโคราช ไปสำนักชี เพื่อไปเป็นวิทยากร หรืออาสาสมัครสอนรำกระบอง
คุณแม่พูดอยู่ตลอดว่า เมื่อมีใครเป็นฝ่ายให้เรามา เราก็มีหน้าที่ต้องเป็นฝ่ายให้คนอื่นต่อไปอีก บางครั้งจะมีไปทำบุญกับคุณพ่อคุณแม่บ้าง อย่างเช่นมีงานการกุศุล เขาก็จะชวนว่า ไปด้วยกันไหม ไปร้องเพลง
หรืออย่างช่วงหนึ่งลุลาจัดบ้าน พบว่าตัวเองมีตุ๊กตาเยอะมาก เพราะจริงๆแล้วชื่อเล่นของลุลาคือ “ตุ๊กตา” จึงมีตุ๊กตาเยอะมาก พอโตแล้ว ไม่ได้เล่น คุณแม่กับลุลาก็จะคุยกันว่า เอาไปบริจาคที่โรงพยาบาลเด็กอ่อนราชวิถีกันไหม
พอไปถึง ได้เห็นเด็กนอนป่วย โอ้โห.. รู้สึกสงสาร พอได้บริจาคแล้ว แม่เขาก็รู้สึกดี สบายใจ ที่ได้ทำบุญ ส่วนเราเองก็รู้สึกดีที่ได้มีกิจกรรมที่ทำเพื่อคนอื่น ทำร่วมกับแม่
และตอนหลัง ลุลาค้นพบด้วยตัวเองว่า พอเราเคยเป็นฝ่ายรับ แล้วมาเป็นฝ่ายให้คนอื่น สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดีมากที่สุดคือ เรารู้สึกสมบูรณ์ข้างใน มันทำให้เราไม่ต้องไปไขว่คว้าเอาอะไรจากใครอีกแล้ว
ถ้าสมมุติเรามีแฟน ถ้าเราไม่สามารถไปด้วยกันได้ เราก็จะไม่ไปไขว่คว้าให้แฟนอยู่กับเรา จะอยู่เป็นโสดโดยไม่ต้องแต่งงานก็ได้ เพราะเราสามารถเติมเต็มชีวิตของเราให้สมบูรณ์ได้ด้วยตัวของเราเอง”
• สาวห่างวัดที่ไม่ไกลธรรมะ
“ลุลายอมรับนะคะ ว่าตัวเองเป็นคนที่ไปปฏิบัติธรรมน้อย เคยมีบางช่วงที่ว่าง และไปคนเดียวด้วย ไม่ได้ไปกับคุณแม่ แต่ช่วงหลังทำงานค่อนข้างเยอะ ธรรมะที่ใกล้ที่สุด คือ จะต้องท่องนะโมสามจบก่อนขึ้นเวที และทำจิตใจให้สงบเพื่อเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วนเวียนอยู่แถวๆนั้น บอกเขาว่า เราจะทำให้ดีที่สุด ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ช่วยดลบันดาลให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แล้วก็ขอให้ทุกคนมีแต่ความสุข ลุลาชอบทำแบบนี้ ทำแล้วมีความสุข
ยอมรับว่า ช่วงหลังๆอาจจะห่างไกลวัดนิดนึง แต่ก็จะใช้ชีวิตโดยยึดหลักธรรมะ ที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ฉะนั้นลุลาเชื่อว่า ถ้าเราไปพูดถึงคนอื่นในแง่ไม่ดีลับหลัง สักวันเรื่องที่ไม่ดีจะต้องวนกลับมาหาเรา
ลุลาจะมีรุ่นพี่ที่ชอบไปทำบุญหรือไปปฏิบัติธรรม แล้วเขาก็จะเอาประโยคหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับธรรมะ มาโพสต์ให้อ่านในเฟชบุ๊ค ขณะที่คุณแม่เป็นคนธัมมะธัมโมมาก เวลาเข้าไปในเฟชบุ๊คของแม่เมื่อไหร่ ลุลานึกว่าตัวเองอยู่ในห้องพระ จะมีเรื่องราวของธรรมะเกี่ยวกับแม่กับลูก, การให้ การรับ, การปลงสังขารชีวิต มีเยอะมาก
และคุณแม่เคยไปแสวงบุญที่อินเดียมาแล้ว ชอบพูดกับลูกทุกเดือนว่าว่างไหม ไปแสวงบุญกัน จริงๆแล้วเป้าหมายที่ชวนไป คงไม่ใช่ไปเรียนรู้เรื่องของศาสนาเป็นหลัก แต่อยากให้ได้ไปเห็นคนอื่นที่แย่กว่าเรา อยากให้ลองไปลำบากบ้าง และอยากให้หลุดออกไปจากวงจรของวัตถุนิยมบ้าง โลกของการเป็นนักร้องที่ต้องแต่งตัวสวยๆ ได้เจอคนมีหน้ามีตาในสังคม ลุลาเชื่อว่า ณ จุดหนึ่งเขาอยากจะดึงเราออก มาจากตรงนั้นสักพัก แล้วค่อยกลับมา”
• ทำใจยอมรับ
อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด
ภายนอกของลุลา ที่เรามองว่าดูสดใส อาจเพราะส่วนหนึ่ง ภายในของเธอ ผ่านการจัดระเบียบมาแล้วเป็นอย่างดี
“จริงๆทุกวันนี้ก็ยังเป็นคนคิดมาก (หัวเราะ) ข้อเสียข้อเดียวคือเป็นคนที่คิดมาก ก่อนนอนจะชอบเก็บอะไรมาคิด จนนอนไม่ค่อยหลับ แต่พยายามเรียนรู้ที่จะเข้าใจมัน ทุกคนมีภูมิต้านทานที่เป็นของตัวเอง เวลาไม่มีความสุข เราเรียนรู้ที่จะหาอะไรก็ได้ที่ทำให้ตัวเองมีความสุข ส่วนลุลาจะหาอะไรทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรากังวลอะไรมากๆ ทำให้เครียดนอนไม่หลับ ก็จะหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น ทำงานฝีมือ ทำอะไรก็ได้ที่สนใจ จะได้ไม่ต้องเอาเวลามานั่งกังวล อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ออกกำลังกาย เพราะคิดว่า ถ้าเครียดมาก ควรจะได้สารเอ็นโดฟิน (สารความสุข)เก็บไว้บ้าง”
แต่ไม่ว่าเธอจะพยายามหากิจกรรม เพื่อเบนความสนใจของตัวเองไปจากเรื่องที่ไม่ดีอย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว เธอก็ไม่ลืมที่จะบอกตัวเองให้ทำใจยอมรับกับทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิต
“เราคงต้องทำใจให้ยอมรับให้ได้ว่า อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด อยู่ที่ว่าเราจะแก้ปัญหา และยอมรับมันได้แค่ไหน สิ่งนี้คือสิ่งสุดท้ายที่กำลังพยายามทำอยู่”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 136 เมษายน 2555 โดย อ้อย ป้อมสุวรรณ)