• ผัก ผลไม้ ปลา ช่วยลดเสี่ยงโรคพาร์กินสัน
งานวิจัยล่าสุดพบว่า ผู้ที่รับประทานผัก ผลไม้ ปลา ในปริมาณสูง เชื่อมโยงกับโอกาส ที่ลดลงจากการป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน
นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ได้ทำการประเมินนิสัยการรับประทานอาหารของผู้ป่วยที่เพิ่งเป็นโรคพาร์กินสัน 249 คน เปรียบเทียบกับอาสาสมัครที่สุขภาพดี 368 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ ปลา ผลไม้ ผัก เห็ด ธัญพืช และสาหร่าย กลุ่มที่ 2 รับประทานอาหารแบบตะวันตก ได้แก่ เนื้อแดง และอาหารที่มีไขมันสัตว์เป็นส่วนประกอบ และกลุ่มที่ 3 รับประทานอาหารที่ประกอบด้วยอาหารอย่างละครึ่งจากทั้งสองกลุ่ม
ผลปรากฏว่า เกือบครึ่งของกลุ่มที่บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ลดโอกาสเป็นโรคพาร์กินสัน ขณะเดียวกันอีก 2 กลุ่มที่เหลือ อาหารที่รับประทานไม่ส่งผลต่อการป้องกันโรคพาร์กินสัน
• เทคนิคดื่มน้ำให้ดีต่อสุขภาพ
มีงานวิจัยชี้ว่า การดื่มน้ำเย็นจัดมากเกินไปจะทำให้ขีดความสามารถในการทำงานของสมองลดลงทันที ส่งผลกระทบต่อการทำงานที่ต้องใช้สมอง ส่วนการดื่มน้ำร้อนจัดนั้นอาจทำลายเยื่อบุช่องปากและทางเดินอาหาร ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรค
การดื่มน้ำที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ควรเป็นน้ำที่มีอุณหภูมิใกล้เคียงหรือต่ำกว่าอุณหภูมิร่างกายเล็กน้อย จะทำให้ร่างกายจะดูดซึมไปใช้ในระบบหมุนเวียนเลือดได้ทันที
ส่วนการดื่มน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพนั้น แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงตื่นนอน เป็นช่วงที่เลือดมีความเข้มข้นสูงจะขาดน้ำ จึงควรดื่มน้ำทดแทนให้มาก ช่วงสายประมาณ 10 โมงเช้า และช่วงบ่ายเวลาประมาณ 3 โมงเย็น เพราะร่างกายเมื่อทำงานมาระยะหนึ่งจะเกิดของเสียขึ้น จึงควรดื่มน้ำเพื่อชำระของเสียออกไป ช่วงก่อนนอนก็เป็นช่วงที่เลือดมีความเข้มข้นสูง ควรดื่มน้ำเพื่อให้เลือดไหลเวียนสะดวก จะทำให้หลับสบาย
และไม่ควรดื่มคราวละมากๆ เพราะจะทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย ควรดื่มแบบค่อยๆจิบ จะทำให้เซลล์ในร่างกายดึงน้ำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
• 9 เคล็ดลับกินอาหารต้านมะเร็ง
เคล็ดลับอาหารต้านมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ มีดังนี้ 1.กินผักหลากสีทุกวัน 2.กินผลไม้เป็นประจำ 3.ทำอาหารจากธัญพืชและเส้นใย ซึ่งจะมีส่วนช่วยขับสารพิษต่างๆ ออกจากร่างกาย ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งในทางเดินอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่ 4.ใส่เครื่องเทศเสริมรสชาติอาหาร เช่น พริก ขมิ้น กระเทียม ขิง ซึ่งมีสรรพคุณลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน 5.เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเครื่องดื่มจากธรรมชาติจะมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ชาเขียว น้ำแครอท น้ำดอกอัญชัน น้ำขิง เป็นต้น
6. ปรุงอาหารถูกวิธี ไม่ปิ้ง ย่างอาหารจนไหม้เกรียม ไม่รับประทานอาหารสุกๆดิบๆ และไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำหลายๆครั้ง 7.หลีกเลี่ยงอาหารไขมัน 8.ลดบริโภคเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ ซึ่งเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง หากรับประทานเป็นประจำจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ และทวารหนัก จึงควรรับประทานเพียงสัปดาห์ละ 500 กรัม เพื่อลดความเสี่ยง และ 9. ลดเกลือแกง และอาหารหมักดอง
• แตงโมช่วยลดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
มหาวิทยาลัยเคนตักกีของสหรัฐฯ ค้นคว้าพบว่า แตงโมมีสรรพคุณในการรักษาโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้
โดยได้ทำการทดลองกับหนู ซึ่งถูกทำให้เป็นโรคไขมันในเลือดสูง แล้วให้กินน้ำแตงโมคั้นติดต่อกันนาน 2 เดือน ปรากฏว่า หนูเหล่านั้นน้ำหนักตัวลดลง เนื่องจากไขมันน้อยลง มากกว่าหนูที่กินน้ำธรรมดา และที่สำคัญมีแนวโน้มของโรคหลอดเลือดแดงแข็งลดน้อยลงด้วย
หัวหน้าคณะวิจัยกล่าวว่า “การศึกษานี้ได้พบว่า แตงโมมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพของหนูที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง เราจึงมีเป้าหมายที่จะค้นคว้าหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เพื่อจะได้ใช้ในการบำรุงสุขภาพของมนุษย์”
• อันตราย..อย่ากินยา
พร้อมน้ำผลไม้
คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ได้เปิดเผยผลการวิจัย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า น้ำผลไม้ทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาหมดไปก่อนที่ยานั้นจะซึมเข้าสู่กระแสโลหิต เพราะน้ำผลไม้จะต่อต้านการดูดซึมของยาที่ใช้ใน การรักษาโรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว และโรคภูมิแพ้ต่างๆ รวมไปถึงยาที่ใช้กับผู้ป่วยที่ทำ การปลูกถ่ายอวัยวะใหม่
โดยผลการวิจัยก่อนหน้านี้บอกถึงอันตรายของน้ำผลไม้ที่ส่งผลต่อการรับประทานยาเช่นกัน เพราะฤทธิ์การทำลายเอนไซม์ในร่างกายที่ทำหน้าที่สกัดกั้นไม่ให้ยาเข้าสู่กระแสเลือดมากเกินไป เมื่อเอนไซม์ชนิดนี้ลดลง ทำให้ตัวยาบางชนิด รวมถึงยาที่ใช้ในการรักษาโรคความดันโลหิตและแอนติฮิสตามีน มีฤทธิ์ในการรักษารุนแรงขึ้น เพราะในบางกรณีที่ร่างกายได้รับตัวยามากเกินขนาด จะเป็นผลเสียต่อการรักษาและร่างกายผู้ป่วย
• รอยเหี่ยวย่นที่หน้าและคอ
ช่วยทำนายแนวโน้มกระดูกร้าว
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเยล ในสหรัฐอเมริกาได้เก็บข้อมูลจากผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนแล้ว 114 คน ซึ่งมีประจำเดือนครั้งล่าสุดภายในระยะเวลา 3 ปี โดยได้วัดค่าผิวหนังของผู้หญิงทั้งหมด 11 จุด ตามใบหน้าและลำคอ โดยวัดทั้งที่สามารถเห็นด้วย ตาเปล่า และวัดโดยใช้เครื่องดูโรมีเตอร์ เพื่อประเมินว่าผิวหนังที่หน้าผากและแก้มมีความแข็งแรงแค่ไหน ส่วนความหนาแน่นและมวลของกระดูกนั้นวัดโดยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์แบบพกพาและเครื่องเอ็กซ์เรย์
ทีมนักวิจัยได้ค้นพบว่า รอยเหี่ยวย่นที่ลึกและรุนแรงนั้น จะมีความเกี่ยวข้องกับความหนาแน่นของกระดูกที่ลดลง ยิ่งรอยเหี่ยวย่นรุนแรงแค่ไหน ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความหนาแน่นของกระดูกที่ลดลงมากเท่านั้น และความสัมพันธ์ของสองอย่างนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอายุหรือปัจจัยอื่นๆ ที่ทราบกันว่าเป็นปัจจัยที่ส่งอิทธิพลต่อมวลกระดูกแต่อย่างใด
สาเหตุที่รอยเหี่ยวย่นใช้ทำนายแนวโน้มของกระดูกแตกร้าวได้ เนื่องมาจากระดับโปรตีนในผิวหนังและกระดูกนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน ดังนั้นถ้าผู้หญิงคนหนึ่งมีใบหน้าและลำคอที่เหี่ยวย่นมากๆ ก็จะสามารถคาดการณ์ได้ว่า เธอกำลังเผชิญกับความเสี่ยงสูงที่จะมีปัญหากระดูกแตกร้าว เนื่องจากความหนาแน่นของกระดูกที่ลดลง
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 136 เมษายน 2555 โดย ธาราทิพย์)