xs
xsm
sm
md
lg

มองเป็นเห็นธรรม : สายใยผูกพัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไปปตลาดมาเหรอแม่..”

“จ้ะพ่อ..ตอนนี้ของแพงทุกอย่าง เงิน 200 บาท ซื้ออะไรแทบไม่ได้ เห็นร้านขายข้าวสารบอกว่า เร็วๆนี้ข้าวสารก็จะขึ้นราคาอีก แล้วยังพวกน้ำมันพืช น้ำตาล น้ำปลา สารพัด เตรียมที่จะขึ้นตาม”

ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายในบ้านแทบจะไม่พอแล้วนะ เงินเก็บที่สะสมไว้ก็ร่อยหรอลงเรื่อยๆ ทำไงดีล่ะจ๊ะ”

“ไม่เป็นไรหรอกแม่ เงินที่พ่อออมไว้ก็ ยังพอมีอยู่ ตั้งแต่พ่อนั่งรถเมล์ไปทำงาน ก็ลดค่าใช้จ่ายได้มากเลยทีเดียว”

“ไม่รู้ว่า เราคิดถูกหรือเปล่า ที่ทำตัวเป็นข้าราชการที่ดี ดำรงตนตามระเบียบทุกอย่าง ยึดมั่นในคำปฏิญาณที่ถวายต่อหน้าพระพักตร์ในตอนรับพระราชทานปริญญาบัตร ทำตนเป็นผู้รับใช้ของประชาชนตามอุดมการณ์ แล้วต้องมานั่งทุกข์กับความเป็นอยู่แบบเดือนชนเดือนนี่นะ”

“คิดถูกแล้วล่ะแม่.. ที่เราทำตัวเป็นข้าราชการที่ดีทั้งกายและใจนี้ ก็เป็นการช่วยเหลือประเทศชาติอย่างดียิ่งเลย

ลูกเราก็เป็นเด็กดี ตั้งใจเรียนจนจบทุกคน และได้ทำงานตามความรู้ที่เรียนมา ได้รับการยอมรับจากผู้บังคับบัญชาเป็นอย่างดี มีครอบครัวน่ารักและอบอุ่น ดำเนินชีวิตตามอย่างเราเลย

เดือนนี้อาจจะบกพร่องไปบ้าง ก็เพราะเรื่องสุขภาพ แต่เราก็ผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มาได้เสมอไม่ใช่หรือแม่”

“จ้ะ.. เดือนนี้ค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งค่าประกัน ค่าอื่นๆจิปาถะ มารวมกันหมด เงินก็เลยขาดๆไปหน่อย นี่ลูกก็จะเอาเงินมาให้เหมือนกัน แต่แม่ก็บอกไปว่าไม่ต้อง เก็บไว้ใช้ในครอบครัวตัวเองเถอะ”

“แม่ทำดีแล้ว อย่ากังวลใจไปเลย เราอยู่กันแบบพอเพียงมานานแล้ว กินผักที่เราปลูกเองจนชิน เลยไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไรนัก ข้าวนี่ก็อาศัยพวกญาติที่ทำนาส่งมาช่วยจุนเจือให้

แม่จำได้ไหม ตอนที่เราจะปลูกบ้านหลังนี้ พ่อบอกแม่ว่า เรากู้สหกรณ์เอาเงินมาซื้อที่ดินไว้ให้ได้มากที่สุด เผื่อลูกโตแล้วจะได้สร้างบ้านอยู่ในที่ของเราเอง เพราะแม่บริหารเงินเดือนของเราดี รู้จักเก็บออม เราจึงสามารถใช้หนี้สหกรณ์ได้เร็ว และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขเสมอมา พ่อภูมิใจแล้วล่ะแม่”

“จริงของพ่อนะ โชคดีที่เรามีหลวงตาคอยเป็นที่ปรึกษา และมีในหลวงทรงเป็นแบบอย่าง ทำให้เราสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ มาได้เสมอ

แม่ดีใจจริงๆ ที่พ่อไม่ยอมรับเงินทุจริตต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ทั้งที่งานของพ่อนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว.. สามารถสร้างความร่ำรวยมากมายเลย

นี่ถ้าพ่อรับเงินเหล่านั้น วันนี้ครอบครัวเราก็คงจะวิบัติแน่ๆ เลยนะ”

“อย่ามาชมพ่อเลย...พ่อก็ทำตามอุดมการณ์ที่มีอยู่ในใจน่ะ แต่พ่อกลับมองว่าแม่เป็นครูที่ดีมากเลยนะ ที่ไม่ยอมใช้เวลาราชการไปสอนพิเศษ เพื่อจะเอาเงินทองของเด็กมาใช้ เห็นแม่ทุ่มเทให้กับลูกศิษย์แล้ว พ่อก็คิดถึงสิ่งที่พ่อได้รับจากคุณครูตอนเรียนหนังสือ พ่อจึงยอมทำงานพิเศษทุกอย่างตามกำลังความสามารถ เพื่อให้ได้เงินบริสุทธิ์มาใช้จ่ายในบ้านเรา พยายามให้แม่และลูกได้รับความสุขที่สมควรกับฐานะอยู่เสมอ

แม้จะเหนื่อยมาก แต่ก็สุขใจนะแม่ ย้อนคิดถึงเมื่อไร ก็อิ่มใจอยู่เสมอ ความดีเหล่านี้แหละที่ทำให้คนรู้จัก มาชวนไปทำงานเป็นที่ปรึกษา ตั้งแต่เกษียณมานี่ไง”

“แม่ก็ว่าอย่างนั้น เพราะความดีที่เราทำมานี่เอง ที่ทำให้ลูกๆหลานๆ เป็นเด็กดี ไม่ฟุ่มเฟือยเลย หลานๆ ก็ตั้งใจเรียนดีทุกคน ชีวิตมันก็แค่นี้เองนะพ่อ

เอาล่ะ..พ่ออ่านหนังสือต่อไปเถอะ แล้วเดี๋ยวจะได้ลงแปลงผักกัน วันนี้จะตำน้ำพริกให้ลูกๆหลานๆ ได้ทานกันในตอนเย็น แม่ลงไปดูในครัวก่อนนะจ๊ะ”

“จ้ะ..ไปเถอะ “

.....

“สวัสดีครับ/ค่ะ คุณปู่”

“สวัสดีจ้ะ.. มาถึงตั้งแต่เมื่อไรล่ะ ปู่อ่านหนังสือเพลินๆอยู่ หลับไปตอนไหนก็ไม่รู้”

“นี่จะสี่โมงเย็นแล้วครับ คุณปู่อ่านเรื่องอะไรหรือครับ”

“พระธรรมเทศนาเรื่องประโยชน์ในโลกนี้ พระท่านแจกแจงสารธรรมไว้ดีมาก อ่านแล้วเลยได้พิจารณาว่า ปู่ได้ทำตนให้ได้ประโยชน์ในโลกนี้หรือยัง”

“แล้วคุณปู่ได้หรือเปล่าคะ”

“ได้สิ.. มานั่งนี่ ปู่จะอธิบายให้ฟัง ข้อที่ ๑ ท่านว่าเราต้องมีความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร คือต้องเป็นคนมีความขยัน ลักษณะของคนขยัน มี ๓ ประการ คือ ๑. รีบทำงานที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำ ๒. รีบทำธุระที่มาถึงเข้าโดยไม่ชักช้า ๓. รีบทำงานตามเวลาโดยไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

ซึ่งจะตรงข้ามกับคนขี้เกียจที่มีลักษณะ ๓ ประการคือ ๑.ทอดธุระที่กะไว้ว่าจะทำ ๒.เบื่อหน่ายต่องานที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ๓. คิดผลัดเปลี่ยนเวลาเรื่อยไป

คนที่มีความขยันหมั่นเพียรย่อมทำให้งานที่ทำมีความสำเร็จ รู้จักการแสวงหาทรัพย์สินไว้เลี้ยงดูครอบครัวให้มีความสุข บัณฑิตชนจึงมีคำสอนว่า “ทรัพย์นี้มิใช่อยู่ไกล ใครปัญญาไว หาได้บ่นาน ทั่วแคว้น แดนดินมีสิ้นทุกสถาน ผู้ใดเกียจคร้าน บ่พานพบนา”

ปู่ทำงานมาด้วยความขยันหมั่นเพียร แสวงหาความรู้อยู่เสมอ ทำให้สามารถเลี้ยงดูพ่อและอาๆของหลานเรียนหนังสือจนจบ และได้ทำงานที่ตนชอบ จนมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างที่หลานเห็นอยู่ตอนนี้

บ้านเราแม้จะไม่มีสมบัติมากมาย แต่เราก็อยู่กันไม่ลำบาก เพราะทุกคนต่างมีความขยันทำงานหาเงินมาเลี้ยงชีวิตอย่างพอเพียง หลานล่ะมีคุณธรรมข้อนี้ในตัวหรือยัง”

“มีบ้างไม่มีบ้างครับ ก็ผมยังเด็กอยู่นี่ครับ”

“พี่ต่ายขี้โกง... คุณปู่คะ พี่ต่ายชอบขี้เกียจค่ะ เล่นแต่เกม นอนตื่นสาย หนูแดง ไปโรงเรียนไม่ค่อยทันก็เพราะพี่ต่ายนี่ล่ะค่ะ”

“ใช่อย่างที่หลานว่า ตอนนี้ยังเป็นเด็ก ทำตามใจตัวเองก่อน โตแล้วว่ากันใหม่ แต่ต่ายรู้ไหมว่า คนที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต มักจะเริ่มต้นชีวิตวัยเด็กอย่างต่ายนี่แหละ.. ว่าแต่ว่าต่ายรักพ่อรักแม่ไหม ?”

“รักซิครับ แล้วก็รักคุณปู่คุณย่าด้วยครับ”

“ถ้ารักอย่างที่พูด ต่ายแสดงความรักให้ปู่ดูซิว่าเป็นอย่างไร? “

“จุ๊บ..นี่ไงคุณปู่ ต่ายรักคุณปู่แล้วนี่ไงครับ”

“อ้อ..รักแบบนี้หรือ แล้วถ้าห่างกันไปล่ะ ไม่รักแล้วหรือ ?”

“รักซิครับ ใจต่ายรักคุณปู่คุณย่า คุณพ่อคุณแม่ น้องหนูแดงตลอดเวลาครับ”

“รักแบบต่ายนี้คนอื่นเขาไม่รู้ว่ารักหรอก ต่ายลองรักแบบเป็นคนขยันให้ทุกคนเห็นหน่อยสิ ทุกคนจะได้รู้ว่าต่ายรัก ทำได้ไหมล่ะ”

“ได้แน่นอนครับ ต่ายจะทำตั้งแต่วันนี้เลย”

“ดีมากหลานรัก”

“พี่ต่ายขี้โม้ คุณปู่อย่าไปเชื่อค่ะ เดี๋ยวลับหลังคุณปู่ พี่ต่ายก็เหมือนเดิม”

“เอ๊ะ..น้องหนูแดงนี่ ไม่เชื่อพี่เลยเหรอ”

“อย่าไปโกรธน้องเลยนะต่าย น้องพูดความจริงอย่างที่เขาเคยเห็น ต่ายต้องทำให้น้องเห็นว่าต่ายทำได้อย่างที่พูด น้องจะได้ภูมิใจในตัวพี่ชาย พ่อแม่ก็จะได้อิ่มใจที่ต่ายสามารถปรับปรุงตนเองได้ ปู่ย่าก็ดีใจเหมือนกับวันที่ต่ายเกิด ต่ายเป็นที่รักของทุกคน ต่ายต้องทำตนให้สมกับความรักที่เขาให้นะหลานนะ หนูแดงด้วยเหมือนกัน”

“ครับ/ค่ะ”

“มาฟังข้อที่ ๒ ต่อเลย ข้อที่ ๒ ท่านว่าเราต้องมีความถึงพร้อมด้วยการรักษา คือต้องรู้จักรักษาทรัพย์สินเงินทองที่แสวงหามาได้ด้วยความหมั่น ไม่ให้อันตรธานก็ดี รักษางานของตนไม่ให้เสื่อม ให้เจริญก้าวหน้าก็ดี คนขยันหาทรัพย์ เมื่อได้ทรัพย์มาแล้ว จะรักษาทรัพย์ให้อยู่นาน ก็ต้องรู้จักใช้สอยในสิ่งที่จำเป็น รู้จักเก็บหอมรอมริบ

การรู้จักรักษา จึงเป็นคุณธรรมสนับสนุนให้เกิดความเพียร ในการแสวงหาเครื่องยังชีพ ในการศึกษา และในการประกอบธุรกิจไม่ท้อถอย

หลานรู้ไหมว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่ ถึงให้เรานำเงินค่าขนมที่เหลือ มาหยอดกระปุกออมสินทุกวัน”

“รู้ครับ.. คุณพ่อไม่อยากให้เราฟุ่มเฟือย”

“หนูว่าคุณแม่อยากให้เราเก็บเงินไว้ซื้อของที่เราอยากได้เองค่ะ”

“ก็ถูกทั้งสองคนนะ ถ้าเรามีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเล่าเรียน แต่เราไม่รู้จักรักษาความรู้ที่เรียนมาให้มีความเจริญ การเรียนก็สูญเปล่า นี่ล่ะที่ทำให้คนเรามีความแตกต่างกัน

หลานลองคิดดูสิว่า ถ้าเราไม่หมั่นทบทวนความรู้ที่เรียนมา เราจะสามารถเรียนความรู้ที่สูงขึ้นไปได้ไหม แล้วเราจะรักษาความขยันได้นานแค่ไหนก็ไม่รู้ นี่ก็เป็นประโยชน์แก่ตนเองอีกประการหนึ่ง”

“แล้วข้อ ๓ ว่าอย่างไรครับคุณปู่”

“ข้อที่ ๓ ท่านว่าเราต้องมีความเป็นผู้มีมิตรที่ดี ด้วยการประพฤติต่อเพื่อนๆ ดังนี้ ๑.ให้ปันสิ่งของของตนที่ควรให้ปันแก่เพื่อน ๒.ต้องพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ ๓.ต้องประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ต่อกัน ๔.ต้องมีความเป็นผู้วางตนเสมอ ไม่เย่อหยิ่ง ๕. ต้องเป็นคนจริง ไม่เหลาะแหละ ต่อหน้าเป็นมะพลับ ลับหลังเป็นตะโก

การประพฤติเช่นนี้ย่อมผูกน้ำใจไมตรีต่อกันไว้ได้ ด้วยความดีอันเป็นหน้าที่ของตน หลานเห็นเพื่อนๆ ปู่ไหม ปู่คบเพื่อนมานานมากและยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เพราะประพฤติต่อกันดังกล่าวมานี้

หลานๆล่ะ ทำตัวกับเพื่อนแบบนี้ไหม”

“ผมทำอยู่ครับ แต่ก็ไม่บ่อยครั้งหรอก เพราะเพื่อนชอบเอาเปรียบอยู่เรื่อยเลยครับ”

“จริงหรือพี่ต่าย เมื่อวานยังเห็นทะเลาะกับพี่เจี๊ยบอยู่เลย แล้วยังไปต่อว่าพี่หมูอีก ใครกันหนอเอาเปรียบใคร”

“ก็เขาเอาเปรียบพี่ก่อนนี่ ไม่รู้เรื่องแล้ว อย่าพูดดีกว่าหนูแดง เดี๋ยวสวย”

“สวยอยู่แล้วล่ะพี่ต่าย ฮิฮิ..”

“เอาล่ะๆ อย่าทะเลาะกัน ปู่คิดว่าต่ายก็ต้องปรับปรุงความประพฤติใหม่นะ จะได้มีเพื่อนดีๆ ช่วยสนับสนุนกันในเรื่องการเรียน การดำเนินชีวิต

คนที่ไม่มีเพื่อนจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ยาก อยากได้เพื่อนดี เราก็ต้องทำตัวเป็นเพื่อนที่ดีของเขาก่อน จำไว้นะ หนูแดงก็ต้องจำไว้ด้วยนะ”

“ครับ/ค่ะ”

“มาดูข้อที่ ๔ ข้อสุดท้าย ท่านว่าต้องเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ เมื่อหาทรัพย์ได้แล้ว ต้องกินต้องใช้อย่างประหยัด ไม่ให้ฝืดเคืองจนเกินไป ไม่ให้ฟุ่มเฟือยจนเกินเหตุ เรียกว่า เดินสายกลาง ให้พิจารณาว่าสิ่งไหนควรจ่ายสิ่งไหนไม่ควรจ่าย จ่ายในสิ่งที่จำเป็น

นี่ก็ตรงกับที่ในหลวงท่านตรัสไว้ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หลานๆต้องศึกษา หาความรู้เพิ่มเติมนะ จะได้รู้หลักการดำเนินชีวิตของตนให้เกิดประโยชน์ในปัจจุบันนี้”

“ครับ/ค่ะ”

“คุณปู่ คุณหลาน อาหารพร้อมแล้วจ้ะ มารับประทานกันได้แล้ว วันนี้มีแกงส้ม ชะอมชุบไข่ น้ำพริกกะปิของโปรดของหลานๆด้วย มาเร็วๆ”

“ครับ..คุณย่า”

“ค่ะ..ไปเดี๋ยวนี้ค่ะคุณย่า”

“ไปกันเถอะครับคุณปู่”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 136 เมษายน 2555 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)


กำลังโหลดความคิดเห็น