xs
xsm
sm
md
lg

ภาษี กับ มรดก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ World Panorama By KKFund
โดย นานา
บลจ.เกียรตินาคิน จำกัด (KKFund)

หลังจากทราบข่าวว่า คุณแม่ของเพื่อนสนิทเพิ่งจากไปกระทันหัน ทั้งที่ท่านยังดูแข็งแรง และยังทำงานเป็นผู้บริหารของบริษัทหลายแห่ง เพื่อนสนิทเศร้ามากและยังจัดการอะไรไม่ถูกเพราะไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจ เรื่องหนึ่งที่ใกล้ตัวและไม่รู้จะต้องทำอย่างไรคือ รายได้ต่าง ๆ ที่คุณแม่ได้รับมาตลอดปีและการลดหย่อนต่าง ๆ ของคุณแม่ที่ได้ทำไปแล้ว เช่น ค่าเบี้ยประกันชีวิต เงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นต้น คำถามต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปกับสรรพากรบ้าง จึงให้ข้อมูลกับเพื่อนไปว่า ตามกฎหมายยังถือว่าคุณแม่ยังมีหน้าที่เสียภาษีอยู่เฉพาะในปีที่จากไปเพียงปีเดียวเท่านั้น

ส่วนปีต่อ ๆ ไปหากมีเงินได้จากกองมรดก ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในนามของคุณแม่อีกแล้ว แต่กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งต้องเสียภาษีเงินได้แทน ดังนั้น เพื่อนคนนี้จึงมีหน้าที่ยื่นรายการ ภ.ง.ด. 91 ในนามของคุณแม่ โดยหักค่าลดหย่อนของคุณแม่ได้เต็ม 30,000 บาท และค่าลดหย่อนของลูก ๆ ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรืออายุไม่เกิน 25 ปี และยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษา (ซึ่งกรณีนี้ ลูกโตกันหมดแล้ว จึงไม่สามารถหักได้) และหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ได้ตามปกติ เช่น เงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นต้น

นอกจากนี้ คุณแม่ท่านไม่ได้มีพินัยกรรมไว้ และคุณพ่อก็ยังอยากให้ทุกอย่างเหมือนเดิมไปก่อน จึงตกลงกันว่าจะเก็บทรัพย์สินไว้เป็นกองมรดก ขอขยายความหน่อยว่า กองมรดกนี้ไม่มีสภาพเป็นบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่เป็นกองทรัพย์สินซึ่งประมวลรัษฎากรถือเป็นหน่วยภาษีเช่นเดียวกับคณะบุคคล ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลกองมรดกก็คือผู้จัดการมรดก ซึ่งเงินได้จากกองมรดกส่วนใหญ่จะเป็นดอกเบี้ยเงินฝาก เงินปันผลจากการลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ปีหน้าผู้จัดการมรดกก็มีหน้าที่รวบรวมหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายไปประกอบรายละเอียดการยื่นเสียภาษีปีต่อไป ทั้งนี้ กองมรดกสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท และยังสามารถเครดิตภาษีเงินปันผลตามที่เคยคุยกันไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนได้เหมือนเดิม ผู้จัดการมรดกก็คือคุณพ่อและลูก ๆ นั่นเองโดยทำเรื่องร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาล

เมื่อมีการแบ่งทรัพย์สิน ทายาทได้รับเงินได้ซึ่งกองมรดกได้เสียภาษีไปเรียบร้อยแล้ว ทายาทก็ไม่ต้องเสียภาษีซ้ำอีก เช่น ได้รับส่วนแบ่งเป็นที่ดินมูลค่า 1,000,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากทายาทนำที่ดินที่ได้รับจากกองมรดกไปขาย ต้องเสียภาษี โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินที่ได้จากการขายที่ดิน เช่น ขายได้ 1,600,000 บาท หักค่าใช้จ่ายได้ 800,000 บาท เหลือเงินได้สุทธิ 1,600,000 - 800,000 = 800,000 บาท เอา 800,000 บาท ไปคำนวณภาษีต่อไป อีกกรณีคือได้รับมรดกเป็นของมีค่าอย่างอื่น เช่น ได้รับเป็นเครื่องเพชรมูลค่า 1,000,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษีเมื่อได้รับ และเมื่อขายเครื่องเพชรไปก็ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งต่างจากที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์

ภาษีของคุณแม่ที่ลูก ๆ ทุกคนช่วยกันดูแลเป็นเรื่องที่ไม่มีใครพูดถึง ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้น ก็ไม่มีใจจะคิดจะทำอะไรได้มากนัก เลยนำเรื่องของเพื่อนสนิทมาเล่าสู่กันฟัง ตอนนี้ พวกเราหลายคนยังมีเวลาอยู่กับคนที่เรารัก พาท่านไปเที่ยวทะเล พาท่านไปหาอะไรอร่อย ๆ ทานกัน พาเจ้าตัวเล็กไปวิ่งเล่นให้คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายชื่นใจถึงแม้จะทำบ้านของท่านเลอะเทอะไปบ้างก็เถอะ กอดท่านมาก ๆ เหมือนที่ท่านเคยกอดเราตอนเราเด็ก ๆ เพื่อให้ทุกวันของท่านมีความสุขไปพร้อมกับเรา และเราก็ช่วยดูแลงานสุดท้ายให้ท่านเหมือนที่เคยทำให้ ทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุด คือคนที่เรารัก... จริงมั๊ยคะ
กำลังโหลดความคิดเห็น