xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับสุขภาพ : การทำสมาธิ ช่วยบรรเทาอาการผู้หญิงวัยทอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มีงานวิจัยชิ้นใหม่เปิดเผยว่า การเรียนเทคนิคทำสมาธิอย่างง่ายๆ อาจช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน และนอนไม่หลับ ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

ทั้งนี้ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เผยว่า การฝึกทำสมาธิตามวิถีพุทธ ช่วยลดความทุกข์ทรมานที่เกิดจากอาการร้อนวูบวาบ และทำให้สุขภาพร่างกาย จิตใจ และเรื่องเพศดีขึ้น

“การค้นพบนี้นับเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากการรักษาอาการวัยทอง ด้วยการใช้ฮอร์โมนทดแทนเช่นในอดีตนั้น ทำให้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่จะเกิดตามมา” เจมส์ คาร์โมดี้ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ หน่วยเวชศาสตร์ป้องกันและพฤติกรรมบำบัด ซึ่งเป็นผู้เขียนงานวิจัยเรื่องนี้กล่าว

ผู้วิจัยบอกว่า ราว 40 เปอร์เซนต์ของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ต้องทนทรมานจากอาการร้อนวูบวาบและเหงื่อออกตอนกลางคืน ซึ่งบั่นทอนคุณภาพชีวิตของพวกเธอ แต่ตั้งแต่มีการระบุว่า การใช้ฮอร์โมนทดแทนบำบัดอาการ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็งเต้านม และโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้น คาร์โมดี้ จึงตั้งข้อสังเกตว่า

“ไม่เพียงแต่บรรดาผู้หญิงเท่านั้น ที่กำลังมองหาทางเลือกใหม่ๆเพื่อบำบัดอาการวัยทอง แต่สถาบันสุขภาพแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆที่จะค้นหาการรักษาด้วยพฤติกรรมบำบัด”

รายงานวิจัยเผยว่า ยังไม่มีวิธีรักษาอื่นใดที่จะทดแทนการใช้ฮอร์โมนบำบัด แต่ดูเหมือนว่า การฝึกสมาธิจะช่วยให้ผู้หญิงบรรเทาจากอาการวัยทองได้

การบำบัดอาการวัยทองด้วยการทำสมาธิ ช่วยให้ผู้ปฏิบัติมุ่งอยู่ที่ปัจจุบันขณะเพ่งมองลมหายใจ ไม่ต้องตัดสินใจ และยอมรับทุกเรื่องที่ผ่านเข้ามาในใจอย่างง่ายดาย เทคนิคนี้ไม่ยากที่จะเรียนรู้ แต่แรกๆต้องอาศัยความมีวินัย ผู้เชี่ยวชาญบอก

ผู้วิจัยตั้งเป้าที่จะควบคุมปฏิกิริยาของ ผู้หญิงในการตอบสนองอาการเหล่านี้ “รวมถึงความทุกข์ใจ ความกระวนกระวายใจทางสังคม”

“เราต้องการดูว่า เราสามารถทำให้ผู้หญิงยืดหยุ่นต่อการตอบสนองอาการเหล่านี้ได้หรือไม่”
คาร์โมดี้ อธิบาย “เราไม่ได้พยายามจะไปเปลี่ยนแปลงอาการวัยทอง ถึงแม้ว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นบ้างแล้วก็ตาม”

ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แบ่งผู้หญิง 110 คน อายุระหว่าง 47-69 ปี เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้ฝึกทำสมาธิ กลุ่มที่สองรอที่จะฝึก

กลุ่มตัวอย่างต้องทำแบบสอบถาม เพื่อหาองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการเกิดอาการร้อนวูบวาบ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การเล่นโยคะ และการออกกำลังกาย

อีกทั้งคณะวิจัยต้องประเมินผลคุณภาพชีวิตใน 4 ด้าน คือ ร่างกาย จิตใจ อาการร้อนวูบวาบ และกิจกรรมทางเพศ โดยจะให้คะแนนกลุ่มตัวอย่างจาก 1-4 ตามความรุนแรงของอาการที่พวกเธอถูกรบกวน

จาก “ไม่เลย” ไปจนถึง “รบกวนมากที่สุด” และจดบันทึกจำนวนครั้ง และระดับความรุนแรงของอาการร้อนวูบวาบ และเหงื่อออกตอนกลางคืน เมื่อการวิจัยเริ่มต้น โดยเฉลี่ยในแต่ละวัน ผู้หญิงเกิดอาการร้อนวูบวาบหรือเหงื่อออกตอนกลางคืน ระดับปานกลางถึงร้ายแรงที่สุด ราว 5 ครั้งหรือมากกว่า

หลังจากให้กลุ่มตัวอย่างแรกเรียนทำสมาธิสัปดาห์ละครั้ง นาน 8 สัปดาห์ และฝึกปฏิบัติจริง 1 วันเต็ม ผลปรากฏว่า ผู้หญิงกลุ่มนี้รู้สึกถูกรบกวนด้วยอาการวัยทอง ลดน้อยลง 15% โดยเฉลี่ย เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ยังไม่ได้เรียนที่ลดลงเพียง 7% ในขณะที่ความรุนแรงของอาการร้อนวูบวาบไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

กลุ่มที่เรียนทำสมาธิบอกว่า พวกเธอหลับดีขึ้น วิตกกังวลและเครียดน้อยลง


งานวิจัยนี้เริ่มต้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2005 ถึงเดือนกันยายน 2007 กลุ่มตัวอย่าง มีปัญหาการนอนหลับอย่างเด่นชัด ดังนั้น เมื่อผลวิจัยออกมาว่า การทำสมาธิทำให้การนอนหลับดีขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญ

“สิ่งที่ทำให้เราประหลาดใจมากที่สุด คือ ผลที่มีต่อการนอนหลับ” คาร์โมดี้ กล่าวโดยให้ข้อสังเกตว่า การฝึกทำสมาธิถือเป็นหนทางรักษาเพื่อลดอาการนอนไม่หลับ ให้ผลดีเทียบเท่าการใช้ฮอร์โมนทดแทนเลยทีเดียว

ผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่งได้กล่าวยกย่อง การวิจัยชิ้นนี้ ที่ใช้ “ความสัมพันธ์ใจ-กาย” ช่วยผู้หญิงจัดการกับอาการวัยทองรุนแรง ได้โดย “ไม่มีผลข้างเคียง”

“เรารู้เรื่องความสัมพันธ์ของใจและกาย” ดร.จิล เอ็ม เรบิน กล่าว “เพียงแต่เรากำลังเริ่มปลดปล่อยพลังจิตให้ส่งผลต่อสุขภาพกายของพวกเรา”

แต่เรบิน ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และหัวหน้าหน่วยสูตินรีเวช ที่ Long Island Jewish Medical Center ได้ให้ความเห็นว่า การวิจัยดังกล่าว ขาดซึ่งโปรแกรมกลุ่มตัวอย่างที่ฝึกทำสมาธิเป็นประจำ และบรรดาผู้หญิงที่เข้าร่วมวิจัยครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว และมีการศึกษาสูง ซึ่งเธอเห็นว่าจำเป็น ต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อดูว่าผลลัพธ์ที่ได้ สามารถนำไปใช้กับประชากร ทั่วไปได้หรือไม่

“ไม่ใช่ว่า ผลวิจัยที่ได้ ไม่สามารถนำไปใช้ได้ หรือจะมีความแตกต่างเมื่อทดลอง กับคนกลุ่มอื่นที่แตกต่างออกไป เพียงแต่เรายังไม่รู้” ดร.จิล เอ็ม เรบิน กล่าว

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 134 กุมภาพันธ์ 2555 โดย เบญญา)
กำลังโหลดความคิดเห็น