xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปสมานุสสติขั้นวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาศัยตัณหาละตัณหา

ฉะนั้น ตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากของใจ จึงได้แต่สร้างความไม่สงบและความทุกข์ต่างๆให้บังเกิดขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติเพื่อละตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากปรารถนานั้นเสียสำหรับผู้ที่ต้องการจะพบกับความสงบ

และในขั้นสามัญก็ได้มีคำสอนอันแสดงไว้ว่า “ให้อาศัยตัณหาละตัณหาเสีย”

ความอาศัยตัณหาละตัณหานั้น ก็หมายความว่าให้ใช้ความดิ้นรนทะยานอยากในทางที่จะพบกับความสิ้นทุกข์ คือให้อยากพบความสิ้นทุกข์ อยากบรรลุมรรคผลนิพพาน

อันความอยากดังกล่าวนี้ ถ้าเป็นความพอใจใคร่ที่จะปฏิบัติกระทำ ท่านเรียกว่า ฉันทะ เป็นอิทธิบาทคือให้บรรลุถึงความสำเร็จ แต่ว่าถ้าเป็นความพอใจที่แรงสักหน่อยหนึ่ง อันมีลักษณะเป็นความดิ้นรนหรือเป็นความต้องการที่มาก ฉันทะนี้ก็เป็นตัณหา

และเมื่อแสดงอย่างละเอียดแม้ฉันทะดังกล่าวนั้นก็เป็นตัณหาอย่างละเอียดอย่างหนึ่ง แต่เป็นตัณหาในทางที่ดี ก็ให้อาศัยตัณหาในทางที่ดีนั้นเพื่อละตัณหาในที่สุด

ในข้อนี้ได้มีแสดงถึงการอาศัยฉันทะเพื่อละฉันทะ ดังที่ท่านพระอานนทเถระได้ตอบปัญหาผู้ที่มาถามว่า “ประพฤติพรหมจรรย์เพื่ออะไร”

ท่านตอบว่า “เพื่อละฉันทะ”

ผู้ถามก็ถามต่อไปว่า “การละฉันทะนั้นจะทำอย่างไร”

ท่านก็ตอบว่า “ให้อบรมทำฉันทะให้บังเกิดขึ้น”

ผู้ถามจึงแย้งว่า “คำตอบเช่นนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าทีแรกตอบว่าประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละฉันทะ แล้วทำไม จึงมาตอบอีกว่า ให้ปฏิบัติอบรมทำฉันทะ”

ท่านพระอานนท์จึงได้แสดงอุปมาว่า “การที่จะมาสู่อารามนี้ ผู้มาก็ต้องมีฉันทะที่จะมา ต้องมีจิตตะที่จะมา ต้องมีความใคร่ครวญที่จะมา แต่ว่าครั้นมาถึงอารามนี้แล้ว ฉันทะนั้นก็สงบ ความเพียรก็สงบ จิตใจที่มาก็สงบ วิมังสาคือความใคร่ครวญพิจารณาที่จะมาก็สงบ ฉะนั้น จึงละฉันทะอย่างนี้”

ตามคำตอบของท่านนี้ก็คือว่าต้องอาศัยฉันทะในการที่จะทำกรณียะคือกิจที่ควรทำ ครั้นทำเสร็จแล้ว ฉันทะนั้นก็สงบ ก็เป็นอันว่าละฉันทะ อาศัยตัณหาเพื่อละตัณหาก็เช่นเดียวกัน อาศัยตัณหาคือความอยากเพื่อจะทำกรณียะคือกิจที่ควรทำ ครั้นทำสำเร็จแล้ว ตัณหานั้นก็สงบ แต่ว่าต้องละตัณหาจึงจะพบกับความสงบ อันหมายถึงความสิ้นสุดกิจที่จะพึงทำนั้นได้

ฉะนั้น เมื่อยังมีตัณหาอยู่ก็ให้เป็นนายของตัณหา อย่าให้ตัณหาเป็นนาย ตัณหาเป็นนายนั้น เรียกว่าตฺณหาทาโส แปลว่าเป็นทาสของตัณหา ความเป็นทาสของตัณหานั้นก่อให้เกิดความทุกข์ อันเป็นความไม่สงบด้วยประการทั้งปวง

แต่ความเป็นนายของตัณหานั้น แม้ว่าจะมีความไม่สงบเพราะตัณหา แต่ก็สามารถควบคุมตัณหาได้ ไม่ให้ตัณหานำไปในทางที่ผิด เพราะว่าเมื่อมีความดิ้นรนทะยาน อยากบังเกิดขึ้นก็ควบคุมได้ เพราะพิจารณารู้ว่าที่ดิ้นรนทะยานอยากไปอย่างนั้นถูกหรือผิด

ถ้าเป็นไปในทางที่ผิด ก็งดเว้นไม่กระทำ สงบความอยากนั้นเสีย ถ้าเป็นไปในทางที่ถูกก็กระทำ ก็เป็นอันว่าเป็นนายของตัณหา ควบคุมตัณหาได้ และเป็นการอาศัยตัณหาเพื่อละตัณหาเสียด้วย

ก็เพราะว่า เมื่ออยากจะทำกรณียะคือกิจที่ควรทำอันใด อันเป็นกิจที่ดีที่ชอบ เมื่อกระทำเสร็จลงไปแล้ว ตัณหาในเรื่องนั้นก็สงบ เป็นอันละตัณหานั้นได้ พบความสงบไปชั้นหนึ่งๆ ดังนี้

ตณฺหกฺขโย

เพราะฉะนั้น การที่สามารถควบคุมจิตใจของตนเองให้เป็นนายของตัณหาในใจ ควบคุมตัณหาในใจของตนเองได้ และให้อาศัยตัณหาเพื่อละตัณหาเสียในทางที่ถูกที่ควรดังนี้ ก็เป็นปฏิปทานำไปสู่ความสงบ

และเมื่อละตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากเสียได้อย่างหนึ่งๆ ก็เป็นความสงบอย่างหนึ่งๆ ละได้มากก็เป็นความสงบมาก

เพราะฉะนั้น ให้พิจารณาดูถึงความสงบตัณหาซึ่งทุกๆคนมีอยู่ เทียบเคียงกับความไม่สงบ เพราะมีตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากของใจ ก็ย่อมจะรู้ได้ และเมื่อปฏิบัติสงบระงับตัณหาละตัณหาเสียตามภูมิตามชั้นแม้โดยที่กล่าวมา ก็ย่อมจะพบกับความสงบตามภูมิตามชั้น และการสงบตัณหาหรือละตัณหาเสียได้นั้นก็จะปรากฏเป็นศีลบ้าง เป็นสมาธิบ้าง เป็นปัญญาบ้าง เป็นวิมุตติบ้าง

ตัณหาอย่างแรงเมื่อสงบด้วยศีล ละได้ด้วยศีล คือว่างดเว้นด้วยใจของตนเองได้ ไม่กระทำไปตามความดิ้นรนทะยานอยากของใจ ดังนี้ก็เป็นการละตัณหาด้วยศีล

เมื่อสงบกามฉันท์นิวรณ์ในใจของตนเองได้ด้วยสมาธิ ก็เป็นการละตัณหาด้วยสมาธิ

เมื่อละตัณหาอย่างละเอียดที่บังเกิดขึ้นด้วยปัญญา เพราะพิจารณามองเห็นว่า ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ ตัณหาจึงสงบไปจากใจ ความยึดถือสิ่งที่ยึดถือด้วยตัณหานั้นก็สงบลงไป ก็เป็นความสงบเพราะละตัณหาด้วยปัญญา

และความสงบเพราะละตัณหาเสียได้ อันเป็นตัวความสงบอันบังเกิดขึ้นในใจ มีลักษณะเป็นความไม่ดิ้นรน ไม่กระวนกระวาย ไม่ทะยานอยาก มีลักษณะเป็นความอิ่ม เป็นความเต็ม เป็นความพอ เป็นความเยือกเย็น สิ้นความดิ้นรนกระวนกระวายด้วยประการทั้งปวง ดังนี้ เป็นลักษณะของวิมุตติคือความหลุดพ้นตามภูมิตามชั้น

ดังนี้แหละเป็นธรรมที่เป็นความสงบหรือเป็นที่สงบเพราะสิ้นตัณหา ละตัณหาในลักษณะที่ว่า “ตณฺหกฺขโย ความสิ้นตัณหาหรือธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา” อันเป็นอุปสมะ ความสงบระงับหรือธรรมเป็นที่สงบระงับอีกลักษณะหนึ่ง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 133 มกราคม 2555 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น