xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : เรื่องของพระใบลานเปล่า (ตอนที่ ๕)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระใบลานเปล่า หมายถึง พระโปฐิละ คำว่า “โปฐิละ” แปลว่า ใบลานเปล่า ได้แก่ คัมภีร์ที่ปราศจากตัวอักษร เปรียบเหมือนจิตที่ปราศจากธรรม ท่านเป็นพระเถระรูปหนึ่งที่ทรงจำและแตกฉานในพระธรรมวินัยมาก เป็นอาจารย์สั่งสอนศิษย์จำนวนมาก แต่ท่านก็ไม่เคยลงมือปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ในเวลาที่ท่านเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะเรียกท่านว่า “โปฐิละๆ” เป็นการกระตุ้นให้ท่านเกิดความสำนึกตัวว่า ท่านมีแต่ความทรงจำธรรมะได้ แต่ใจไม่มีธรรม พระโปฐิละถูกเรียกเช่นนี้ก็ได้อายจริงๆ เมื่อทนไม่ไหวท่านจึงทูลลาพระพุทธเจ้าออกไปปฏิบัติธรรม เพื่อเติมใบลานคือใจของท่าน ให้เต็มไปด้วยอักษรคือธรรม

๒. การทำกรรมฐานทางมโนทวาร
ง่ายกว่าการทำกรรมฐานทั้ง ๖ ทวาร (ต่อ)


ประการที่สาม ยากที่จิตจะตั้งมั่นได้จริงเมื่อมีอารมณ์หมุนเวียนเข้ามาทางทวารต่างๆอย่างรวดเร็ว การจะให้จิตเกิดความตั้งมั่นในการรู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ เป็นเรื่องที่ยากมากกว่าการจะให้จิตตั้งมั่นในการรู้อารมณ์ทางมโนทวารเพียงทวารเดียว เพราะอารมณ์ที่มากระทบทางทวารทั้ง ๖ จะเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วและย้ายที่ไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ การมีสติตามระลึกไปทางทวารนั้นทวารนี้ตลอดเวลา ย่อมล่อแหลมที่จะทำให้จิตฟุ้งซ่านได้ง่าย เมื่อจิตฟุ้งซ่านก็จะรู้อารมณ์ได้ไม่ชัดเจน เมื่อรู้อารมณ์ได้ไม่ชัดเจนจิตก็มักจะเกิดความอยากและความพยายามที่จะรู้อารมณ์ให้ชัดเจน จึงเกิดการเพ่งอารมณ์ หรือเกิดการส่งจิตถลำเข้าไปจมแช่อยู่กับอารมณ์นานๆ เป็นการถลำรู้ ไม่ใช่การสักว่ารู้

ในขณะที่การทำกรรมฐานอยู่ทางมโนทวารที่เดียว จะทำให้สติระลึกรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางใจที่เดียว โอกาสที่จิตจะฟุ้งซ่านไปทางทวารนั้นทวารนี้ย่อมมีน้อยลง และหากจิตเกิดความไม่ตั้งมั่น คือเกิดความฟุ้งซ่าน หรือแม้แต่จะเกิดการถลำเข้าไปรู้และจมแช่อยู่กับอารมณ์ทางใจ ผู้ปฏิบัติก็จะสังเกตเห็นความฟุ้งซ่านและอาการถลำรู้ได้ง่าย เพราะมีงานที่ต้องทำไม่มากอยู่แล้ว จิตก็จะเกิดสติได้เร็ว และเกิดความตั้งมั่นในการรู้อารมณ์อย่างสักว่ารู้ต่อไป

......

ขอขยายความเรื่องสมาธิสักเล็กน้อย คือสมาธินั้นเป็นสภาวธรรมที่เกิดร่วมกับจิตได้ทุกประเภท ดังนั้นแม้แต่อกุศลจิตก็ยังประกอบด้วยสมาธิได้ เพราะสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต ซึ่งจิตที่จะทำกรรมชั่วก็ต้องมีความ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่ชั่ว

ในทางพระอภิธรรมถือว่า องค์ธรรมของสมาธิคือเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกับจิตทุกดวง ทำให้จิตทุกดวงมีความตั้งมั่นในการทำหน้าที่รู้อารมณ์อันเดียว

แต่ในความหมายทั่วไปที่พวกเราใช้กัน เรามักจะมองสมาธิในแง่ของความจดจ่อในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าจิตไม่จดจ่อก็ถือว่าไม่มีสมาธิหรือสมาธิสั้น เช่น กล่าวกันว่า เด็กคนนี้มีสมาธิสั้น หมายถึงจิตใจของเด็กไม่จดจ่อในการเรียนหนังสือ เป็นต้น ความหมายของสมาธิอย่างหลัง นี้เป็นความหมายที่พวกเราคิดๆกันเอาเอง โดยยืมคำว่า สมาธิของพระพุทธศาสนามาใช้ในความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

และบางทีเราก็ไปเอาความขาดสติมาเป็นสมาธิ เช่น บางคนนั่งทำสมถกรรมฐานอยู่ แล้วจิตเกิดขาดสติมีความเคลิบเคลิ้มลืมตัว เกิดความปรุงแต่งที่เรียกว่านิมิต ก็บอกว่าวันนี้จิตรวมเป็นสมาธิได้ดี เป็นต้น

สมาธิจำแนกออกได้เป็น ๒ ประเภทคือมิจฉาสมาธิ กับ สัมมาสมาธิ

มิจฉาสมาธิ
เป็นความตั้งมั่นของจิตในการรู้อารมณ์สมมุติบัญญัติ เป็นสภาพที่จิตจดจ่อถลำเข้าไปรู้อารมณ์จนลืมตัวหรือจมแช่อยู่กับอารมณ์ เป็นความตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์ เกิดขึ้นกับจิตทุกประเภท คือเกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ เกิดขึ้นกับจิตที่เป็นอกุศลก็ได้ แม้แต่ในจิตที่ฟุ้งซ่านก็ยังมีเอกัคคตาเจตสิกหรือความตั้งมั่นในการรู้อารมณ์นั้นอารมณ์นี้ เพียงแต่ตั้งอยู่ได้สั้นมาก เพราะอารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อยมากจนรู้ได้ไม่ชัดเจน จึงเรียกว่าจิตฟุ้งซ่านเพราะมีความจับจดในการรู้อารมณ์

ส่วนสัมมาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นของจิตที่เป็นกลางและเป็นตัวของตัวเองในระหว่างการรู้อารมณ์ปรมัตถ์ ไม่ใช่การถลำเข้าไปตั้งหรือจมแช่อยู่ในอารมณ์ปรมัตถ์ เป็นสภาพที่รู้อย่างสักว่ารู้อารมณ์ และเกิดขึ้นได้กับจิตที่เป็นกุศลอันประกอบด้วยสติปัญญาเท่านั้น

สัมมาสมาธิจำแนกได้เป็น ๓ ระดับ คือ

ขณิกสมาธิ เป็นความตั้งมั่นอยู่ชั่วขณะเมื่อจิตมีสติระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์

อุปจารสมาธิ เป็นความตั้งมั่นแน่วแน่ในอารมณ์อันหนึ่งแต่ไม่ถึงระดับที่เป็นฌาน

อัปปนาสมาธิ เป็นความตั้งมั่นแน่วแน่ในอารมณ์อันหนึ่งถึงระดับที่เป็นฌาน

ขณิกสมาธิใช้ในการเจริญวิปัสสนา สมาธิชนิดนี้แหละ ที่ผู้เขียนกล่าวว่า เป็นความตั้งมั่นอยู่ชั่วขณะเมื่อจิตมีสติระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์

ส่วนอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิใช้เป็นบาทฐาน เพื่อการเจริญวิปัสสนาของผู้เป็นสมถยานิก โดยในเบื้องต้นให้ผู้ปฏิบัติมีสติรู้อารมณ์บัญญัติอันใดอันหนึ่งที่ถูกจริต จนเกิดปฏิภาคนิมิตและรู้นิมิตนั้นต่อไป จนจิตมีอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ จิตจะมีความตั้งมั่น มีสติ ปราศจากกิเลสและอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน

เมื่อจิตถอนออกจากอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิแล้ว ก็เจริญวิปัสสนาด้วยจิตที่มีขณิกสมาธิต่อไป ส่วนอาการที่จิตเคลิบเคลิ้มลืมตัวและขาดสติ ไม่ใช่อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิอย่างที่พวกเราบางคนเข้าใจกัน เพราะจิตที่ขาดสติ ลืมเนื้อลืมตัว ใช้ในการเจริญวิปัสสนาไม่ได้ อย่างมากก็เป็นแค่มิจฉาสมาธิเท่านั้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 132 พฤศจิกายน - ธันวาคม 2554 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น