xs
xsm
sm
md
lg

อาหารเป็นยา : รางจืด ราชายาถอนพิษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รางจืดมีชื่อไทยอีกหลายชื่อ เช่น ยาเขียว เครือเขาเขียว กำลังช้างเผือก หนามแน่ ย้ำแย้ น้ำนอง คายดุเหง่า รางเย็น ทิดพุด แอดแอ ขอบชะนาง

รางจืดเป็นไม้เถาขนาดกลาง ลำต้นจะเลื้อยพันกับต้นไม้อื่น โดยอาศัยลำต้นพันรัด ไม่มีมือจับ ใบเป็นใบเดี่ยวแยกออกจากลำต้นเป็นคู่ตรงบริเวณข้อ มีสีเขียวเข้ม รูปยาวรีหรือรูปไข่ ดอกสีม่วงอมฟ้าออกเป็นช่อตามซอกใบ ผลรูปทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 1 เซนติเมตร เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีกจากส่วนบน

สายพันธุ์ของรางจืดที่พบในประเทศไทยมี 3 สายพันธุ์ คือ รางจืดดอกแดง รางจืดดอกขาว และรางจืดดอกม่วง แต่ที่นิยมใช้และมีสารสำคัญทางยาอยู่มากที่สุดก็จะเป็นรางจืดดอกม่วง

รางจืดสามารถปลูกได้ทั่วไป ชอบดินร่วนปนทราย ชอบความชุ่มชื้นหรือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รางจืดเป็นไม้ที่ต้องการแสงแดดปานกลาง คือ ไม่ต้องการแสงแดดที่จัดมากเกินไป

การขยายพันธุ์ นิยมขยายพันธุ์โดยวิธีการปักชำ หรือใช้เมล็ดแก่ ควรทำค้างปลูกขนาดใหญ่ เนื่องจากรางจืดเป็นไม้เถาขนาดกลาง และมีการเจริญเติบโตเร็ว รางจืดสามารถเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป เพราะมีสารสำคัญทางยาอยู่ในปริมาณสูง สำหรับการใช้ประโยชน์จากรางจืดให้เลือกรากที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป

รางจืดมีการใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนานในหมอยาพื้นบ้าน กล่าวคือ

รากและเถา รับประทานแก้ร้อนใน กระหายน้ำ

ใบและราก ใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ เป็นยาพอกบาดแผล น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ทำลายพิษยาฆ่าแมลง หรือยาเบื่อ พิษจากดื่มเหล้ามากเกินไป

สำหรับภูมิปัญญาอีสานมีประสบการณ์สืบต่อกันมาว่า เมื่อจะปรุงอาหารที่เก็บมาจากป่าทุกครั้ง ให้ใส่ใบและดอกของเถารางจืดเข้าไปด้วย เพื่อป้องกันพิษที่อาจเกิดจากพืชหรือสัตว์ป่าที่นำมารับประทาน

การรับประทานใบใช้ครั้งละ 10-12 ใบ สำหรับแก้พิษรุนแรง หรือ 4-5 ใบสำหรับแก้ร้อนใน ถอนพิษไข้ ถอนพิษสุราหรือบำรุงร่างกาย

ส่วนรากให้ใช้รากสดที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไปเพียง 1 ราก โขลกหรือฝนผสมน้ำซาวข้าว เอาแต่น้ำ ดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ อาจให้ดื่มซ้ำได้อีกใน 1/2-1 ชั่วโมงต่อมา หรืออาจใช้ใบรางจืดแห้ง 300 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ต้มดื่มน้ำครั้ง ละ 1 แก้ว ทุก 2 ชั่วโมง หรือนำใบหรือรากมาหั่นฝอย ผึ่งลมให้แห้ง บดเป็นผง บรรจุแคปซูลหรือทำเป็นเม็ด รับประทานครั้งละประมาณ 5 กรัม

งานทดลองทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า :

- เถารางจืดมีสรรพคุณในการต่อต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะส่วนของใบที่สกัดจากน้ำ สามารถต้านอนุมูลอิสระ ได้ดีกว่าหญ้าหวาน เห็ดหลินจือและดอกคำฝอย และอาจพูดได้ว่ารางจืดมีความเป็นพิษต่ำมาก

นอกจากนั้นยังพบสรรพคุณด้านอื่นๆ ของรางจืดด้วย ได้แก่

- ฤทธิ์ต้านพิษยาฆ่าแมลงและสารเคมี มีการศึกษาหนึ่งในโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ที่ใช้รางจืดกับเกษตรกรกลุ่มเสี่ยงที่มีการใช้ยาฆ่าแมลง “พาราควอท” โดยการรับประทานรางจืดขนาด 8 กรัมต่อวัน พบว่าช่วยขับยาฆ่าแมลงได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับรางจืด

- ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส ที่เป็นสาเหตุของโรคเริม งูสวัด

- ฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ มีความสามารถต้านการอักเสบได้ใกล้คียงกับสเตียรอยด์ครีม

- ฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย

- ฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด
โดยใช้รางจืดดอกสีม่วงอบแห้ง ต้มน้ำ นำสารสกัดความเข้มข้น 60 มก/มล. ป้อนให้กับหนูเบาหวานเป็นเวลา 15 วัน ผลการทดลองพบว่า สารสกัดรางจืดสามารถลดน้ำตาลในเลือดในหนูเบาหวานได้

- ฤทธิ์ในการปกป้องตับ (Hepatoprotective) พบว่าสารสกัดน้ำจากรางจืด ช่วยป้องกันพิษที่ตับของหนูจากการให้แอลกอฮอล์ต่อเนื่องเป็นเวลา 14 วัน จากการศึกษาความเป็นพิษของน้ำสกัดใบรางจืดในหนูขาว โดยให้รับประทานต่อเนื่องกันเป็นเวลา 28 วัน ไม่พบความผิดปกติของอวัยวะภายในทั้งหมด ยกเว้นน้ำหนักของตับและไต และผลทางโลหิตวิทยาบางค่า ดังนั้นในผู้ที่มีปัญหาของตับ ไต หรือระบบเลือด ควรรับประทานรางจืดด้วยความระมัดระวัง

• เมนูรางจืด

ไข่ฟูดูดพิษ

ส่วนผสม : ไข่ไก่, ดอกรางจืด, น้ำมัน, เครื่องปรุงรส(ไข่เจียว)

วิธีทำ : นำไข่ไก่มาตีให้เข้ากัน ปรุงรสตามต้องการ จากนั้นใส่ดอกรางจืดลงไป ทอดในน้ำมันร้อนๆ พอเหลืองกรอบยกขึ้นจากกระทะ

ผัดสู้มลพิษ
(ผัดยอดรางจืดใส่น้ำมันหอย)

ส่วนผสม : ยอดรางจืด กระเทียม น้ำมันหอย น้ำตาล น้ำมัน น้ำปลา

วิธีทำ : ใส่น้ำมันให้ร้อน ทอดกระเทียมให้หอม จากนั้นใส่ยอดใบรางจืดลงไปผัดกับน้ำมันหอย และใส่เครื่องปรุงอื่นๆตามลงไป ปรุงรสตามต้องการ

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 131 ตุลาคม 2554 โดย ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร)



กำลังโหลดความคิดเห็น