xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรสงขลายึดแนวทางในหลวง แปลงสวนยางเป็น “สวนป่า” สร้างรายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายหมัดฉา กับผลผลิตจากสวนป่าที่สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวเพิ่มขึ้น
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เกษตรกรในสงขลาประสบความสำเร็จจากการยึดแนวทางตามพระราชดำริของในหลวง แปลงสภาพสวนยางพาราเป็นสวนป่า ปลูกไม้ยืนต้นไม้พื้นเมือง ไม้ผลและพืชผักสมุนไพร แซมร่องยางสร้าง สร้างรายได้เสริมและฟื้นฟูสภาพดินตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยหรือสารเคมี และไม่กระทบกับการเติบโตของยางพาราแถมยังให้ผลผลิตสูงกว่าเดิม

วานนี้ (22 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวได้พบ นายหมัดฉา หนูหมาน เกษตรกรในพื้นที่บ้านห้วยหาด หมู่1 ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่ประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการแปลงสภาพสวนยางพาราเนื้อที่ 14 ไร่ ที่กำลังกรีดและให้ผลผลิตเป็นสวนป่า

ทั้งนี้ นายหมัดฉา เล่าว่า ได้มีการปลูกไม้ยืนต้นและไม้พื้นเมืองหลากหลายชนิด เช่น ไม้ตะเคียน ไม้ยาง มะฮอกกานี เทพทาโร ต้นชะมวง หรือแม้แต่ไม้ผล ทั้งสละอินโดฯ กล้วย ขนุน จำปาดะ ไผ่ตง และมะพร้าวน้ำหอม รวมทั้งพืชสมุนไพร แซมในร่องยางพาราที่ว่างเปล่า เพื่อให้พื้นที่สวนยางทุกตารางนิ้วเกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างรายได้เสริมนอกเหนือจากรายได้หลักจากผลผลิตยางพารา ทั้งยังขุดสระน้ำไว้กลางสวนเพื่อใช้ในช่วงหน้าแล้งด้วย

หลังจากที่ทดลองแปลงสภาพสวนยางพาราเป็นสวนป่ามา 2 ปี ขณะนี้ไม้ผลเริ่มให้ผลผลิตเก็บขายสร้างรายได้เสริมวันละหลายร้อยบาท ขณะที่ไม้ยืนต้นและไม้พื้นเมืองก็งอกงามโตวันโตคืน รอสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกรรมในอนาคต โดยไม่กระทบต่อการเติบโตของต้นยางพาราและปริมาณน้ำยางยังเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ เพราะดินกลับมาคืนสภาพดีตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยหรือสารเคมี และแทบไม่ต้องดูแล ปล่อยให้ธรรมชาติของป่าดูแลและฟื้นฟูด้วยตัวของมันเอง จึงสามารถปลูกไม้ได้ทุกประเภทในที่เดียวกันได้มากเท่าที่ต้องการ

นายหมัดฉาเปิดเผยว่า ข้อดีของการแปลงสวนยางเป็นสวนป่า คือ ดินกลับมามีสภาพดีขึ้นตามธรรมชาติ และสามารถสร้างรายได้เสริมจากพื้นที่ว่างเปล่าระหว่างร่องยาง ที่ส่วนใหญ่ถูกปล่อยทิ้งโดยไร้ประโยชน์ มาชดเชยรายได้จากยางพาราด้วย ไม่ว่าราคายางจะขึ้นหรือลง เป็นการสร้างรายได้ทั้งในระยะสั้น และระยาว ส่วนเคล็ดลับที่จะทำให้สำเร็จนั้นจะต้องปลูกไม้ยืนต้นและไม้ผลให้หลากหลายชนิด เพื่อป้องกันการแย่งอาหาร และต้องศึกษาไม้แต่ละชนิดด้วยว่าเหมาะสมกับสภาพพื้นที่หรือไม่

นอกจากป่าสวนยางพาราเนื้อที่14 ไร่แล้ว นายหมัดฉา ยังได้แปลงสภาพสวนยางพาราข้างบ้านเนื้อที่กว่า 5 ไร่เป็นสวนป่าเช่นเดียวกัน แต่เน้นไม้ผลและพืชผักสมุนไพรที่กินได้ เช่น ผักเหมียง รางจืด ตะไคร้หอม รวมทั้งไม้หายากอีกหลายชนิด และยังเลี้ยงผึ้งรังปล่อยให้หากินภายในสวน และยังมีพวกผักสวนครัวรั้วกินได้ โดยที่สำคัญได้ผลิตปุ๋ยหมักไว้ใช้เองด้วย

นายหมัดฉาเล่าว่า ความสำเร็จในวันนี้มาจากการยึดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต ตามที่พระองค์ท่านทรงตรัสว่าอยากกินอะไรก็ให้ปลูกอย่างนั้น ซึ่งเห็นผลจริงๆ และหากใครที่ต้องการมาดูต้นแบบสวนป่าก็ยินดีที่จะถ่ายทอดวิธีการทำให้ โดยติดต่อได้ที่หมายเลข 08-9596-6432
กำลังโหลดความคิดเห็น