xs
xsm
sm
md
lg

อสีติมหาสาวก : กลุ่มพระชาวแคว้นอวันตี (ตอนที่ ๘๓) (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มพระชาวแคว้นอวันตี คือ กลุ่มพระที่เป็นชาวแคว้นอวันตีโดยกำเนิด มี ๒ รูป คือ พระมหากัจจายนะ และพระโสณกุฏิกัณณะแต่ละรูปมีประวัติที่น่าศึกษา ดังนี้

การบรรลุธรรม

พระมหากัจจายนะ เวลาที่ท่านพร้อมด้วยผู้ติดตาม อีก ๗ คน เดินทางไปถึงวัดเชตวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดชาวเมืองสาวัตถีอยู่พอดี ท่านและคณะจึงหยุดฟังธรรมอยู่นอกที่ประชุม พร้อมพิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน จนเกิดความรู้แจ้ง ได้บรรลุอรหัตผลทันทีหลังฟังพระธรรมเทศนาจบลง ท่านเป็นพระอสีติมหาสาวกอีกรูปหนึ่งที่ได้บรรลุอรหัตผลก่อนบวช

พระโสณกุฏิกัณณะ ครั้นบวชแล้วก็ได้เรียนกรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์ ท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล

งานสำคัญ

พระมหากัจจายนะ ครั้นบวชแล้วก็ได้ทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เสด็จไปแคว้นอวันตี เพื่อโปรดพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวแคว้นอวันตี แต่พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้เป็นภาระของท่าน เพราะเห็นว่า ไม่ว่าพระองค์ หรือพระมหากัจจายนะไปก็เหมือนกัน คือ สามารถทำให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวแคว้นอวันตีเลื่อมใสได้

ครั้นได้รับมอบหมายแล้ว พระมหากัจจายนะพร้อมด้วยพระชาวแคว้นอวันตีอีก ๗ รูปที่ออกบวชพร้อมกันก็เดินทางกลับไปบ้านเกิด ระหว่างทางใกล้ถึงเมืองอุชเชนี มีหญิงสาวยากจนคนหนึ่งทำบุญด้วยการตัดผมตนเองออกขาย แล้วนำเงิน ๘ กหาปณะไปซื้ออาหารถวายท่านและคณะ

ท่านครั้นเดินทางไปถึงบ้านเกิดแล้วก็พักอยู่ในพระราชอุทยานและฉันอาหารที่หญิงสาวผู้ยากจนถวายมา เจ้าหน้าที่เฝ้าพระราชอุทยานทราบเรื่อง จึงไปกราบทูลพระเจ้าจัณฑปัชโชตให้ทรงทราบ พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงดีพระทัยมาก เสด็จออกมาต้อนรับท่านและตรัสถามถึงเรื่องพระพุทธเจ้า

ท่านได้ทูลเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าถวายพร้อมทั้งทูลว่า พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้ท่านมาแทน พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงพอพระทัย จึงนิมนต์ท่านให้แสดงธรรมโปรดพระองค์และชาวแคว้นอวันตี ท่านปฏิบัติศาสนกิจตามที่พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงมีพระราชประสงค์ และสามารถปฏิบัติได้สำเร็จด้วยดี โดยต่อมาพระเจ้าจัณฑปัชโชตและ ชาวแคว้นอวันตีจำนวนมากประกาศตนนับถือพระรัตนตรัย เป็นสรณะ ยิ่งไปกว่านั้นพระนางโคปาลมารดา พระมเหสีพระองค์หนึ่งของพระเจ้าจัณฑปัชโชตยังทรงมีพระราชศรัทธา สร้างวัดถวายไว้ในพระราชอุทยาน อันเป็นหลักฐานให้เห็นว่าบัดนี้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นแล้วในแคว้นอวันตี ท่านจำพรรษาอยู่ในแคว้นอวันตีพอสมควรแล้ว จึงได้ทูลลาพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวแคว้นอวันตีกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน

ขณะที่กลับมาพักอยู่ในสำนักของพระพุทธเจ้า ท่านแสดงความสามารถด้วยการขยายความพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้โดยย่อให้พระทั้งหลายฟังดังนี้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้มีปัญญา
ไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับอดีต ไม่ควรเพ้อฝันถึงอนาคต
เพราะอดีตผ่านพ้นไปแล้ว และอนาคตก็ยังมาไม่ถึง
ผู้ใด เห็นแจ้งปัจจุบันอย่างไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน
ผู้นั้น ครั้นรู้ธรรมนั้นแล้ว ทำธรรมนั้นให้เกิดขึ้นเนืองๆ
ควรรีบทำความเพียรเผากิเลสเสียแต่วันนี้
เพราะพรุ่งนี้อาจตายเสียก็ได้ ใครจะไปรู้
อีกทั้งพญามัจจุราช ผู้มีกำลังเกรียงไกร ใครจะไปผัดผ่อนได้
บุคคลผู้มีความเพียรไม่เกียจคร้าน ทั้งกลางวันและกลางคืน
ผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ท่านผู้สงบระงับ
ย่อมกล่าวสรรเสริญว่า เป็น “ผู้มีราตรีเดียวอันเจริญ”


พระมหากัจจายนะ ขยายความสรุปได้ว่า

ที่ว่า ไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับอดีต คือ ไม่ควรคิดถึง
รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย และสิ่งสัมผัสทางใจ
ที่เคยได้เห็น ได้ยิน และเคยได้รับรู้มาแล้ว
จนเกิดความกำหนัดพอใจเพลิดเพลิน
และติดอยู่ในสิ่งที่ผ่านมานั้น
ผู้ที่คิดถึงด้วยความกำหนัดพอใจเพลิดเพลิน
และติดอยู่ในสิ่งที่ผ่านมานั้น
ชื่อว่า หมกมุ่นอยู่กับอดีต

ที่ว่า ไม่ควรเพ้อฝันถึงอนาคต คือ ไม่ควรคิดคาดหวังว่า
จักได้เห็นรูป จักได้ฟังเสียง จักได้ดมกลิ่น
จักได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางกาย
จักได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางใจ (คิดถึงเรื่องราวต่างๆ)
ซึ่งแต่ละสิ่งที่เพ้อฝันถึงนั้น
ก่อให้เกิดความกำหนัดพอใจ เพลิดเพลินและติดอยู่
ผู้ที่คิดคาดหวังถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ด้วยความกำหนัดพอใจ
เพลิดเพลินอยู่ ชื่อว่า เพ้อฝันถึงอนาคต

การที่บุคคลขณะที่ได้เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น
ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางกาย
และได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางใจ(คิดถึงเรื่องราวต่างๆ)
แล้วเกิดความกำหนัดพอใจเพลิดเพลิน
และติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น
ชื่อว่า ง่อนแง่นคลอนแคลนในปัจจุบัน

การที่บุคคลขณะที่ได้เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น
ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางกาย
และได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางใจแล้ว
ไม่เกิดความกำหนัดพอใจเพลิดเพลิน
และไม่ติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น
ชื่อว่า ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในปัจจุบัน


พระทั้งหลายฟังพระมหากัจจายนะกล่าวขยายความแล้ว ได้นำความไปกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ ซึ่งพระองค์ได้ตรัสรับรองว่าถูกต้องแล้ว และบอกว่าหากพระองค์จะทรงขยายความก็จะทรงขยายความในทำนองเดียวกันนี้

ต่อมา ท่านได้เดินทางกลับไปแคว้นอวันตีอีก และพักจำพรรษาอยู่ที่ภูเขาปวัตตะเมืองกุรรฆระ อันเป็นเมืองชายแดน มีผู้คนจำนวนมากเลื่อมใส และได้เป็นอุปัชฌาย์บวชให้พระโสณกุฏิกัณณะ

ขณะที่จำพรรษาอยู่ที่เมืองกุรรฆระ ท่านเห็นความยากลำบากของพระที่จำพรรษาอยู่ที่นั้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระวินัย ๕ ประการ คือ

๑. การบวชพระต้องมีสงฆ์เป็นคณปูรกะ (เต็มคณะ) ครบ ๑๐ รูป
๒. เดินทางลำบากเพราต้องสวมรองเท้าชั้นเดียว
๓. ๑๕ วันอาบน้ำได้เพียงครั้งเดียว
๔. การนั่งบนอาสนะที่ทำด้วยหนังสัตว์ไม่ได้
๕. จีวรที่มีผู้ปวารณาถวายไว้เกิน ๑๐ วันแล้วพระรับไม่ได้

ข้อ ๑ เป็นความลำบาก เพราะในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระหาพระยากมาก กว่าจะมีครบเป็นคณปูรกะ คือ ๑๐ รูปได้ต้องใช้เวลารอคอยเป็นปีๆ

ข้อ ๒ เป็นความลำบาก เพราะในปัจจันตชนบท มีทางเดินขรุขระ เป็นรอยโค รอยเกวียน รองเท้าชั้นเดียวไม่สามารถป้องกันเท้าไม่ให้เจ็บได้

ข้อ ๓ เป็นความลำบาก เพราะในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระ มีอากาศร้อน ชาวพื้นเมืองนิยมอาบน้ำทุกวัน เมื่อพระอาบน้ำ ๑๕ วันต่อ ๑ ครั้ง จึงกลายเป็นของแปลกสำหรับชาวพื้นเมือง และทำให้พวกเขารังเกียจได้อีก อีกทั้งพระเองก็ไม่สบายตัว

ข้อ ๔ เป็นความลำบาก เพราะในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระ ชาวพื้นเมืองนิยมใช้อาสนะที่ทำด้วยหนังแพะ หนังแกะ เมื่อพระนั่งบนอาสนะเช่นนั้นไม่ได้ จึงเป็นความลำบากแก่ชาวพื้นเมืองที่จะถวายการต้อนรับ และเป็นความลำบากแก่พระที่ต้องคอยระวัง

ข้อ ๕ เป็นความลำบาก เพราะในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระ มีทางคมนาคมไม่สะดวก ทายกกว่าจะนำจีวรที่ปวารณาถวายพระไว้มาถวายถึงมือได้ก็ล่วงเวลา ๑๐ วัน ซึ่งพระไม่กล้ารับ เนื่องจากพ้นกำหนดที่ทรงอนุญาต

พระมหากัจจายนะได้มอบหมายให้พระโสณกุฏิกัณณะ นำความนี้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ขอให้ทรงผ่อนผัน ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงผ่อนผันให้ในปัจจันตชนบททุกแห่งถือปฏิบัติดังนี้

๑. การบวชในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระ มีพระร่วมเป็นคณปูรกะเพียง ๕ รูป ก็ใช้ได้

๒. พระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระสวมรองเท้าหลายชั้นได้

๓. พระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระอาบน้ำได้ทุกวัน

๔. พระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระนั่งบนอาสนะที่ทำด้วยหนังสัตว์ได้

๕. พระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระ รับจีวรที่ทายกปวารณาถวายไว้เกิน ๑๐ วันได้

ต่อมาภายหลังพุทธปรินิพพานได้มีการจัดทำปฐมสังคายนา พระมหากัจจายนะได้เข้าร่วมด้วย

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 131 ตุลาคม 2554 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ)
กำลังโหลดความคิดเห็น