xs
xsm
sm
md
lg

ฉันเห็นคนตายที่... : Rashomon/อภินันท์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


Facebook...teelao1979@hotmail.com

ตั้งแต่วันที่ 6 ถึง 19 มกราคมที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจมากๆ เหตุการณ์หนึ่ง ก็คือ การจัด “เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่น 2554” เพื่อเป็นการฉลองครบรอบวันเกิด 100 ปีของ “อากิระ คุโรซาว่า” บรมครูผู้กำกับที่แม้จะล่วงลับไปแล้ว แต่ผลงานของท่านนั้น ยังคงยืนหยัดอยู่เป็นตำนาน เป็นความงดงาม ในความทรงจำของคนดูหนังทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้

ของดีๆ สิ่งดีๆ ก็เช่นเดียวกับความดี ซึ่งไม่มีวันเอาต์หรือ “ตกยุค” อีกร้อยสองร้อยปีข้างหน้า (ถ้าในกรณีที่โลกยังไม่แบะไปเสียก่อน) ผมเชื่อว่า ชีวิตและผลงานของคุโรซาว่า ก็จะยังคงได้รับการพูดถึงอยู่ไม่รู้วาย

“ไม้ใหญ่” อย่างคุโรซาว่ากับผลงานของเขายิ่งใหญ่เพียงใด ต้นหญ้าเล็กๆ อย่างผม เพียงแค่แหงนหน้ามองก็ประจักษ์ชัดได้ โดยไม่จำเป็นต้องเอ่ยปากวิพากษ์วิจารณ์อะไรเลย

ก็เหมือนกับทุกๆ ท่านที่เมื่อเดินเข้ามาอยู่บนถนนของคนดูหนังจนกระทั่งรักและหลงใหลในศิลปะแขนงนี้ ที่สุดแล้ว ก็น่าจะถูกโลกของหนังชักนำให้ได้ทำความรู้จักกับ “อากิระ คุโรซาว่า” เข้าสักวัน ผมไม่ใช่นักเรียนหนังที่อย่างไรเสีย ก็ต้องได้รู้จักคุโรซาว่าแน่ๆ นอนๆ แต่คุโรซาว่าในโลกของผม สั่งสมมาจากการได้อ่านบทความวิเคราะห์วิจารณ์ตามสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งหลังจากที่สงสัยว่าทำไม ใครต่อใครจึงพากันพูดถึงผู้กำกับคนนี้กันนัก แถมที่พูดถึง ก็พูดถึงด้วยความรักและชื่นชม...ผมก็จึงเริ่มต้นค้นหาผลงานของเขามาดู

บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาครับว่า จนทุกวันนี้ ผมก็ยังดูหนังของคุโรซาว่าไม่ครบทุกเรื่อง แต่ก็ชอบทุกเรื่องที่ได้ดู

มีเรื่องที่ชอบมากๆ ก็อย่างเช่น Yojimbo หนังที่หยิบยืมเอาอิทธิพลแบบหนังคาวบอยตะวันตกมาใช้ (ก่อนจะถูกเซอร์จิโอ ลีโอเน่ เอาไปรีเมคเป็นหนังคาวบอยชื่อดังอย่าง A Fistful of Dollar) ความคมคายของเนื้อเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับซามูไรผู้เข้าไปปั่นหัวแก๊งสองแก๊งในหมู่บ้านแห่งหนึ่งนั้น สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงที่สุดแสนเจ็บปวดว่า ขณะที่คนสองกลุ่มกำลังมีเรื่องมีราวกันนั้น มันยังเลวร้ายไม่พอหรือ เหตุไฉน จึงต้องมี “มือที่สาม” ที่ “ชาญฉลาด” เข้ามาเก็บกวาดแสวงหาผลประโยชน์ซ้ำเติมอีก...หนังเรื่องนี้อาจจะทำให้เรานึกไปถึงเวลาที่ประเทศสัก 2-3 ประเทศทะเลาะกัน แล้วมันก็มักจะมีประเทศอีกประเทศที่บอกว่าเดี๋ยวข้าจะเข้าไปช่วย แต่ก็มักจะมีวาระซ่อนเร้นบ้างอะไรบ้างอยู่ตลอด โลกของเรามี “คนแบบนี้” อยู่เสมอ

ความยอดเยี่ยมที่เราสามารถสัมผัสได้จากเนื้องานของคุโรซาว่าแต่ละเรื่อง ถ้าไม่สื่อสะท้อนหรือวิพากษ์วิจารณ์วิถีแห่งความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปของยุคสมัยและมนุษย์แล้ว ก็พาคนดูดิ่งลึกลงสู่โลกแห่งจิตวิญญาณที่ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องคุณค่าความหมายของชีวิตไปจนถึงการปล่อยวางหลุดพ้นจากบ่วงแห่งความยึดมั่นถือมั่น และที่ยิ่งไปกว่านั้น เราก็อาจจะได้เห็นทั้งสองด้านนั้นปรากฏอยู่ในเรื่องเดียวกัน ซึ่งงานในกลุ่มนี้ที่ผมชอบมากๆ ก็คือ Ikiru ที่บอกเล่าเรื่องราวของชายชราคนหนึ่งซึ่งคร่ำเคร่งกับงานข้าราชการมาทั้งชีวิต ก่อนจะเจอ “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญ เมื่อวันหนึ่ง ความป่วยไข้ได้มาเยือน...

คือถ้าจะมีหนังสักเรื่องของคุโรซาว่าที่พญามัจจุราชอนุญาตให้ผมคิดถึงได้ก่อนลมหายใจสุดท้ายของตัวเอง ผมขอนึกถึงเรื่องนี้ครับ เพราะนอกเหนือไปจาก Ikiru จะทำหน้าที่วิพากษ์ความเป็นไปของยุคสมัยและผู้คน (เฉพาะอย่างยิ่ง ระบบราชการ) ตามแบบฉบับที่หนังคุโรซาว่ามักจะมีแล้ว มันยังงดงามละเมียดละไมในการค่อยๆ ทำให้คนดูรู้สึกว่า มนุษย์ควรจะใช้จ่ายวันเวลาอย่างไรเพื่อให้ชีวิตของตนที่เกิดมามีคุณค่ามีความหมาย ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น...

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่หนังของคุโรซาว่า เหมือนกับว่ามันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา เพียง “เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง” หรือ “เพื่อยุคสมัยใดยุคสมัยหนึ่ง” โดยเฉพาะ เพราะเนื้อหาของมันยังคงใช้ได้กับทุกๆ ยุคสมัย กับทุกๆ ผู้คน และก็คงเพราะเหตุนั้น มันจึงทำให้ผลงานของปรมาจารย์ท่านนี้ไม่มีวันตาย และจะยังคงเป็นอมตะตลอดไป

ในแง่นี้ ผมนึกถึง Rashomon...

ผมไม่แน่ใจว่า ทางทีมผู้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่นครั้งนี้มีความนึกคิดอย่างไร แต่การเลือกเอา Rashomon ที่เนื้อหาของหนังค่อนข้างซ้อนทับอยู่กับความเป็นไปของบ้านเราเมืองเราในรอบหลายปีที่ผ่านมา เป็นหนังเปิดเทศกาลนั้น ผมก็ขอชมในความมีกึ๋นของทีมผู้จัดครับว่าช่าง “เข้าอกเข้าใจ” เลือกสรรหนังได้ดีจริงๆ

เรื่องราวหลักๆ ใน Rashomon นั้นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ฆาตกรรมกลางป่าเขาแห่งหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับคน 4-5 คนที่ทางการนำตัวมาสืบสวนเพื่อสืบหาสาเหตุแห่งการตายของเหยื่อรายนั้น ซึ่งแต่ละคนก็ “ให้การ” ไปคนละแบบจนท้ายที่สุด อย่าว่าแต่เจ้าหน้าที่ทางการ แม้แต่เราคนดูผู้ชมก็จะมึนตึ้บไปกับคำให้การของตัวละครเหล่านั้นจนไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี เพราะแต่ละคนก็ดูจะ “มีเรื่องราวเรื่องเล่า” ซึ่ง “มีเหตุมีผล” ที่หนักแน่น เหมาะควรแก่ความน่าเชื่อถือด้วยกันทั้งนั้น

แน่ล่ะครับ อากิระ คุโรซาว่า คงไม่ได้ตรัสรู้ล่วงหน้าหรอกว่า ในอีกหลายสิบปีต่อมา ประเทศไทยจะต้องเผชิญสถานการณ์แบบเดียวกับที่ตัวละครของเขาต้องพบเจอ เพราะถ้าจะพูดกันตามความจริง เหตุการณ์แบบเดียวกับในหนังเรื่องดังกล่าว มันก็คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคม ไม่ว่ายุคใดสมัยใด

มันคือสังคมที่มีลักษณะเป็น “พหุโฆษะ” แต่ละคนสามารถจะสร้าง “เรื่องราว” และ “เหตุผล” ของตนเองขึ้นมา ตามแต่ความปรารถนาหรือจุดประสงค์ในใจ หลวงจีนก็พูดไปอย่างหนึ่ง คนจรสะพายดาบก็เล่าไปอีกแบบ ขณะที่ชาวบ้านในย่านนั้นซึ่งยืนยันว่าตนได้พบเห็น ก็มีประเด็นที่ต่างออกไป

“ความจริง” จริงๆ เป็นเช่นใด ใช่หรือไม่ว่า ดูเหมือนเราจะเชื่อถือผู้ใดไม่ได้อีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคนี้สมัยนี้ที่ใครต่อใครสามารถมี “สื่อ” อยู่ในมือของตัวเองได้อย่างง่ายดาย เฟซบุ๊ก ทวีตเตอร์ บล็อก บอร์ด อะไรต่อมิอะไรเยอะแยะ ซึ่งทำให้ทุกคนมีอิสระที่จะ “สร้าง” ความจริงในแบบของตัวเองขึ้นมา จนกระทั่ง แม้แต่กับเรื่องบางเรื่องซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสาธารณะคนหมู่มาก เราก็ยังมี “ความจริง” กันหลายชุด มี “พยาน” กันหลายตา

ในสภาพการณ์เช่นที่ว่านี้ ก็เห็นจะมีแค่เพียงดวงตาของฟ้าดินเท่านั้นกระมังที่จะยังยืนยันได้ว่า ใดจริง ใดลวง...





กำลังโหลดความคิดเห็น