เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดแถลงข่าว “โครงการจัดสร้างพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์” โดยมี นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเป็นประธาน ร่วมด้วยนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการฯ พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น นายชัช ชลวร และนายชลาลักษณ์ บุนนาค คณะกรรมการอำนวยการฯ ร่วมแถลง ณ ห้องประชุมเทเวศร์ อาคารหอประชุมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ความเป็นมาของโครงการ
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสรมหาเถร ป.ธ.9) อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม อดีตเจ้าคณะใหญ่หนกลาง มีความประสงค์ที่จะสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ สูง 32 เมตร (อาการแห่งกายครบบริบูรณ์ทั้ง 32 ประการของมนุษย์) เพื่อเป็นสถานที่ศูนย์รวมความเคารพสักการบูชาของเหล่าพุทธศาสนิกชนอีกแห่งหนึ่ง และเป็นอนุสรณ์ แด่พระพุทธรูปแห่งบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งนับว่าเป็นศิลปะพระพุทธรูปยุคแรกที่เผยแพร่มาจากอารยธรรมกรีกโบราณ ที่มีความงดงามทางด้านพุทธศิลป์ ควรค่าแก่การเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง โดยในอดีตที่แห่งนี้เคยเป็นฐานที่มั่นของพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานาน กว่า 2,000 ปี
เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์” ซึ่งมีความหมาย 3 ประการ ดังนี้ 1. เป็นพระพุทธรูปซึ่งเป็นที่พึ่งของประชาชนชาวไทยและชาวโลก 2. เป็นพระพุทธรูปซึ่งเป็นที่พึ่งของ 3 โลก อันได้แก่ โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และยมโลก 3. เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเพื่อ รำลึกถึงพระพุทธรูปแห่งบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน
โดยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯไปในพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทรงสดับพระธรรมเทศนา เนื่องในวันวิสาขบูชา ณ วัดชนะสงคราม สมเด็จพระมหาธีราจารย์ได้ทูลถึงเรื่องความตั้งใจที่จะจัดสร้างพระพุทธรูปดังกล่าว ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงรับเป็นธุระที่จะช่วยผลักดันให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม
จากนั้นวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2553 สมเด็จพระมหาธีราจารย์ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการ และได้เห็นชอบให้มีคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ และคณะกรรมการดำเนินงานฝ่ายต่างๆ เพื่อร่วมกันดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 และในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2555
ต่อมาวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2554 หลังจากที่สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ได้มรณภาพแล้ว พระพรหมโมลี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการฯ ได้มีลิขิตกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ขอพระราชทานพระมหากรุณาให้โครงการจัดสร้างพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ อยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์
วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2554 ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้มีหนังสือแจ้งว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับโครงการฯ ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2554 เป็นต้นไป
รูปแบบองค์พระและภูมิทัศน์โดยรอบ
นายพลากร สุวรรณรัฐ กล่าวว่า พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ สูง 32 เมตร “ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีปณิธานมุ่งมั่นที่จะจัดสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นมา เพื่อแทนพระพุทธรูปแห่งบามิยันที่ถูกทำลายลงไป ตลอดจนเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ในส่วนของพุทธลักษณะนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ปั้นขึ้นรูปด้วยตนเอง เมื่อทำไม่ไหว ก็จะให้ลูก ศิษย์ปั้นต่อ จากนั้นจึงตรวจทานและแก้ไขจนออกมาสมบูรณ์แบบ”
ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการ ได้กล่าวต่อไปว่า สมเด็จพระมหาธีราจารย์ได้กำหนดพื้นที่กว่า 300 ไร่ ในวัดทิพย์สุคนธาราม ตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบให้กลายเป็นพุทธอุทยาน ตลอดจนสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นขึ้นมา โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการทั้งหมดประมาณ 4 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 - 2557
ด้านพลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะกรรมการฝ่ายออกแบบ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ปั้นต้นแบบพระพุทธรูปขึ้นมา ตามพุทธลักษณะเดิมที่สมเด็จพระมหาธีราจารย์ปั้นไว้ แต่ปรับตรงท่ายืนให้มั่นคงยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่มีความสูงถึง 32 เมตร ใกล้เคียงกับเทพีเสรีภาพในสหรัฐอเมริกา ที่มีความสูง 34 เมตร จึงมีน้ำหนักที่องค์พระมหาศาล
“พระพุทธรูปองค์นี้จัดสร้างด้วยโลหะสัมฤทธิ์และเสริมใยเหล็ก เพื่อสร้างความแข็งแรงให้องค์พระพุทธรูปยืน ซึ่งมีเพียงพระบาทเป็นฐานเท่านั้น ส่วนฐานองค์พระนั้นจะมีการยกพื้นฐานประทักษิณเพื่อใช้ประโยชน์ในพิธีทางศาสนา อาทิ เวียนเทียน ทำให้ความสูงขององค์พระเมื่อรวมฐานแล้ว จะสูงถึง 40 เมตร ในส่วนรูปแบบของฐานตลอดจนอาคารต่างๆ จะเน้นสถาปัตยกรรมไทย กลมกลืนธรรมชาติ โดยเน้นทัศนียภาพ ให้เห็นองค์พระทุกส่วน เบื้องต้นได้ออกแบบไว้ 3 ส่วน ส่วนแรก คือ จุดที่ตั้งองค์พระพุทธรูป ฐานประทักษิณ หอประวัติองค์พระ และหอประวัติสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ส่วนที่ 2 จัดเป็นสาธารณประโยชน์ ทั้งที่จอดรถ ร้านค้า และห้องน้ำ ส่วนสุดท้ายจัดทำเป็นสวนป่าพุทธอุทยาน เพื่อใช้ปฏิบัติธรรม โดยจะมีอาคารในพื้นที่ทั้งหมด 16 หลัง”
พระพรหมโมลี เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม กล่าวถึงเจตนารมณ์ของสมเด็จพระมหาธีราจารย์ว่า “ท่านมีแนวคิดสร้างพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ ซึ่งจำลองจากพระพุทธรูปหินบาบิยันสูง 53 เมตรในอัฟกานิสถาน ที่ถูกกลุ่มตอลิบันระเบิดทำลายจนหมดสิ้นเมื่อปี 2544 ท่านคิดว่าการสร้างพระพุทธรูปครั้งนี้จะเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่า พระพุทธศาสนายังมีความมั่นคงในประเทศไทย และมีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป นับได้ว่าเป็นมรดกธรรมชิ้นสุดท้ายก่อนท่านมรณภาพ
ช่วงแรกท่านห่วงว่า ท่านเป็นอะไรไป โครงการจะไม่สำเร็จ พอความทราบถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระองค์จึงทรงรับการจัดสร้างพระพุทธรูปไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และมอบให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ดูแล ทำให้ท่านหมดห่วง ขณะนี้ แบบเสร็จหมดแล้ว อยู่ระหว่างการสร้างฐานและสร้างหล่อขนาดองค์จริง”
สมเด็จพระราชินีทรงรับสั่งเกี่ยวกับโครงการจัดสร้างพระพุทธเมตตาฯ
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพร ชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในการนี้ทรงมีพระราชดำรัส ความตอนหนึ่งว่า
“...ข้าพเจ้าขอแจ้งให้ทราบถึงโครงการจัดสร้างพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ที่วัดทิพย์สุคนธาราม อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี โครงการนี้เกิดจากความริเริ่มของเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ซึ่งเมื่อวันวิสาขบูชาปีที่แล้ว ข้าพเจ้าได้ไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัดชนะสงคราม สมเด็จพระมหาธีราจารย์ท่านได้ปรารภกับข้าพเจ้าเรื่องความตั้งใจที่จะสร้างพระพุทธรูปองค์สำคัญขึ้น วัตถุประสงค์คือ เพื่อเป็นศูนย์รวมความเคารพของพุทธศาสนิกชนอีกแห่งหนึ่ง และเพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระพุทธรูปแห่งบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งถูกระเบิดทำลายไป เป็นข่าวใหญ่สะเทือนใจชาวพุทธทั่วโลก เมื่อหลายปีก่อน รวมทั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา กับเพื่อเป็นเกียรติแก่ข้าพเจ้าที่จะมีอายุ 80 ปีในปีหน้า แหม รีบบอก เพิ่งจะ 79 ปีนี้ บอก 80 เมื่อข้าพเจ้าได้ทราบ ข้าพเจ้าก็รับปากกับเจ้าประคุณสมเด็จฯว่า ข้าพเจ้าจะขอร่วมทำบุญ และจะพยายามสนับสนุนโครงการนี้ ให้ดำเนินไปจนสำเร็จ
บัดนี้ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ท่านได้มรณภาพแล้ว เมื่อไม่กี่เดือนมานี้เอง ข้าพเจ้าจึงรับเป็นผู้อุปถัมภ์โครงการและปวารณาว่าจะดำเนินการให้ลุล่วงดั่งความตั้งใจของเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ผู้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ และมีอุปการคุณแก่คณะสงฆ์ไทย และพุทธศาสนิกชนอย่างยิ่ง พระพุทธรูปองค์นี้สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ท่านเป็นผู้ออกแบบ ดูแลแก้ไข และเลือกทำเลที่จะประดิษฐานด้วย ตามแบบเป็นพระพุทธรูปปางคันธารราษฎร์ หรือที่เรียกว่า ปางขอฝน หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ จะสูง 32 เมตร ซึ่งแทนความหมายถึงอาการแห่งกายครบ 32 ประการของมนุษย์ ยืนบนฐานที่สูงประมาณ 8 เมตร มีพุทธลักษณะงามมาก
สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ตั้งชื่อว่า “พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์” มีความหมาย 3 ประการคือ 1. เป็นพระพุทธรูป ซึ่งเป็นที่พึ่งของประชาชนชาวไทย และชาวโลก 2. เป็นพระพุทธรูป ซึ่งเป็นที่พึ่งของสามโลก ได้แก่ โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และยมโลก 3. เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้น เพื่อระลึกถึงพระพุทธรูปแห่งบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน ก่อนที่พระพุทธรูปใหญ่แห่งบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน จะถูก ระเบิดทำลาย ประชาชนทั้งโลกเลย ทั้งศาสนาพุทธหรือไม่ใช่พุทธศาสนา ต่างก็ขอร้องไปที่ประเทศอัฟกานิสถานว่า ขออย่าให้ระเบิดท่านเลย พระพุทธรูปแห่งบามิยัน เพราะท่านอายุตั้ง 2,000 ปีแล้ว อย่าระเบิดเลย แต่เขาก็ระเบิดอยู่ดี
เพราะฉะนั้น สมเด็จท่านเลยคิดว่า ชาวไทยพุทธต้องช่วยกันสร้างพระพุทธรูปนี้ขึ้นแทน จากองค์ที่ถูกระเบิดไปที่ประเทศอัฟกานิสถาน โครงการนี้ ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี จึงจะแล้วเสร็จ ที่ข้าพเจ้านำมาเล่าให้ท่านทั้งหลายฟัง ก็เพื่อจะบอกกล่าวให้แก่พุทธศาสนิกชนได้ทราบโดยทั่วกันว่า บ้านเมืองเรากำลังจะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่มาก เกิดขึ้นในเวลาไม่ช้าไม่นานนี้...”
พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ เป็นพระพุทธรูปแบบคันธารราฐ อยู่ในพระอิริยาบถประทับยืน ทรงผ้าวัสสิกสาฎก พระหัตถ์ขวานิ้วพระหัตถ์จีบยกขึ้นเสมอพระอุระ(อก) ส่วนพระหัตถ์ซ้ายทอดหงายรองรับน้ำฝน หรือนิยมเรียกกันว่า “ปางขอฝน”
พระพุทธรูป หรือรูปเคารพแทนพระพุทธเจ้า เริ่มมีการสร้างขึ้นมาตั้งแต่ระหว่างพ.ศ. 500 ถึง 550 เมื่อชาวกรีกที่ชาวชมพูทวีป (อินเดียโบราณ) เรียกชาวต่างแดนว่า “โยนา” หรือ “โยนก” โดยพระเจ้าเมนันเดอร์ที่ 1 หรือพระเจ้ามิลินท์ กษัตริย์เชื้อสายกรีก ยกทัพกรีกเข้ามาครอบครองแคว้นคันธาระ (ปัจจุบันเป็นดินแดนของอัฟกานิสถาน)
พระพุทธรูปรูปแรกจึงเกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้ามิลินท์ และเรียกรูปแบบของพระพุทธรูปนี้ว่าแบบคันธารราฐ
หมายเหตุ : ผู้สนใจสามารถร่วมบริจาคทำบุญได้โดยฝากเข้าบัญชีออมทรัพย์ ชื่อ “วัดชนะสงครามเพื่อโครงการจัดสร้างพระพุทธเมตตาประชาไทย” เลขที่บัญชี 020-269664-9 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเทเวศร์ หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานโครงการจัดสร้างพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โทร. 0-2787-7076-8, 0-2787-7309-10
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 130 กันยายน 2554 โดย กองบรรณาธิการ)