xs
xsm
sm
md
lg

ปชช.เรือนหมื่นร่วมพิธีบวงสรวงสร้างพระพุทธเมตตาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กาญจนบุรี - ประชาชนชาวจังหวัดกาญจนบุรี และใกล้เคียงเรือนหมื่นแห่ร่วมพิธีบวงสรวงในการสร้างพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่วัดสุคนธาราม กาญจนบุรี

เมื่อเวลา 11.59 น.วันนี้ (22 ส.ค.) ฯพณฯ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานพิธีบวงสรวงในการสร้างพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่วัดสุคนธาราม ต.ดอนแฉลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี พร้อมด้วย นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองเลขาธิการพระราชวัง ผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ บรมราชินีนาถ โดยมี นายณฐพลษ์ วิเชียรเพริศ ผวจ.กาญจนบุรี นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ รอง ผวจ.กาญจนบุรี นายเสกสรร ปานวัฒน์วิไย นายอำเภอห้วยกระเจา รวมทั้ง ภาครัฐ เอกชน และประชาชนกว่า 1 หมื่นคนเข้าร่วมในพิธีดังกล่าว

สำหรับความเป็นมาของโครงการจัดสร้างพระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราฐอนุสรณ์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสรมหาเถร ป.ธ.9) อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม มีความประสงค์ที่จะสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ สูง 32 เมตร (อาการแห่งกายครบบริบูรณ์ทั้ง 32 ประการของมนุษย์ เพื่อเป็นสถานที่ศูนย์รวมความเคารพสักการบูชาของเหล่าพุทธศาสนิกชนอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นศิลปะพระพุทธรูปยุคแรกที่เผยแพร่มาจากอารยธรรมกรีกโบราณ ซึ่งมีความงดงามทางด้านพุทธศิลป์ควรค่าแก่การเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในอดีตที่แห่งนี้เคยเป็นฐานที่มั่นของพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานานกว่า 2,000 ปี

โดย เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ตั้งชื่อพระพุทธรูปองค์นี้ ว่า พระพุทธเมตตาประชาไทยไตรโลกนาถคันธารราชอนุสรณ์ ซึ่งมีความหมาย 3 ประการ คือ 1.เป็นพระพุทธรูปซึ่งเป็นที่พึ่งของประชาชนชาวไทย และชาวโลก 2.เป็นพระพุทธรูปซึ่งเป็นที่พึ่งของ 3 โลก อันได้แก่ โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และยมโลก 3.เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระพุทธรูปแห่งบามิยัน ประเทศอัฟกานิสถาน

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 53 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯไปในพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทรงสดับพระธรรมเทศนา เนื่องในวันวิสาขบูชา ณ วัดชนะสงคราม สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ได้ทูลถึงเรื่องความตั้งใจที่จะจัดสร้างพระพุทธรูปดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงรับเป็นธุระที่จะช่วยผลักดันให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งผู้มีจิตศรัทธาภาคเอกชน ได้จัดตั้งโครงการขึ้น โดยเรียนเชิญ ฯพณฯ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี มาเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการ พร้อมทั้งเชิญผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมเป็นคณะกรรมการโครงการ

วันที่ 10 ตุลาคม 2553 สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ได้โปรดลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการ และได้เห็นชอบให้มีคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ และคณะกรรมการดำเนินงานฝ่ายต่างๆ เพื่อร่วมกันดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงได้ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชามพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2555

วันที่ 20 สิงหาคม 2554 ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีหนังสือแจ้งว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับโครงการ ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดที่จะสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ รวมทั้งจะได้มีศาสนสถานที่สำคัญเป็นศูนย์รวมจิตใจและความเคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนชาวไทย เกิดแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติแห่งใหม่ อันเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยสืบไป

วัตถุประสงค์ 1.เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

2.เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2555

3.เพื่อเป็นการรำลึกถึงเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสสรมหาเถร ป.ธ.9) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดที่จะสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ และเป็นพระเถระซึ่งผู้ประกอบศาสนกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อคณะสงค์ไทย

4.เพื่อให้ชุมชนโดยรอบ ส่วนราชการ ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมส่งเสริมและทำนุบำรุงศาสนาให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทย

ลักษณะของโครงการ จัดสร้างพระพุทธรูปปางขอฝน (ปางคันธารราฐ) ด้วยโลหะสัมฤทธิ์ความสูง 32 เมตร โดยมีส่วนประกอบที่ใช้ยึดเพื่อสร้างความแข็งแรงให้แก่องค์พระ ประกอบด้วย ฐานองค์พระ ลานประทักษิณ หอประวัติสมเด็จพระมหาธีราจารย์ และอาคารประกอบต่างๆ รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบให้เปรียบเสมือน “พุทธอุทยาน” รวมทั้งจัดสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น

สถานที่ดำเนินการ ณ วัดทิพย์สุคนธาราม ตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554-2557 รวม 4 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น