xs
xsm
sm
md
lg

พุทธลีลา : ปางปัจจเวกขณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระพุทธรูปอีกปางหนึ่งที่ยังมิได้กล่าวถึงในตอนแรกๆ ซึ่งจะขอนำมากล่าวในฉบับนี้ นั่นคือ พระพุทธรูปปางปัจจเวกขณะ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ไม่ค่อยมีผู้นิยมสร้างเท่าใดนัก คำว่า “ปัจจเวกขณะ” แปลว่า พิจารณา

พระพุทธรูปปางปัจจเวกขณะ อยู่ในพระอิริยาบถประทับนั่ง ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตรที่วางอยู่บนพระเพลา(ตัก) ส่วนพระหัตถ์ขวายกขึ้นป้องเสมอพระอุระ(อก)ทอดพระเนตรลงต่ำ


ความเป็นมาของพระพุทธรูปปางนี้ มีกล่าวไว้ในอรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ว่าเมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชแล้ว ได้เสด็จไปประทับเสวยสุขจากการผนวช ณ อนุปิยอัมพวัน เป็นเวลา 7 วัน

หลังจากนั้นได้เสด็จออกบิณฑบาต ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองราชคฤห์ ทรงถือบาตรดิน เสด็จเข้าพระนครทางประตูด้านทิศตะวันออก ได้เสด็จเที่ยวบิณฑบาตตามบ้านเรือน เมื่อบาตรเต็ม ก็เสด็จออกจากพระนครไปประทับที่ปัณฑวบรรพต ประทับนั่งพิจารณาอาหารซึ่งปะปนกันอยู่ในบาตร ไม่น่าฉัน ทำให้ทรงนึกถึงพระกระยาหารอันประณีตในวังที่เคยเสวยมาก่อนเมื่อครั้งยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ

แต่แล้วพระองค์ก็ระลึกได้ว่า ขณะนี้พระองค์ได้สละพระราชวังอันงดงามและชีวิตที่สุขสบาย เพื่อออกผนวชเป็นบรรพชิต ซึ่งต้องเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ไม่สามารถจะเลือกอาหารอันประณีตเพื่อบริโภคได้ แล้วก็พิจารณาต่อไปว่า อาหารนี้ก็สักว่าเป็นธาตุ ต้องเป็นไปตามปัจจัยที่ปรุงแต่งขึ้น การบริโภคอาหารของบรรพชิตผู้แสวงหาสัจธรรมนั้น ก็เพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด ไม่มีจุดประสงค์อื่นนอกเหนือจากการแสวงหาทางหลุดพ้นเท่านั้น

เมื่อทรงพิจารณาใคร่ครวญเช่นนี้แล้ว ในที่สุดพระองค์จึงชนะในความคุ้นเคยเดิม ชนะความกระด้างถือตัว ทรงหมดความรังเกียจในอาหารอันวางอยู่เฉพาะพระพักตร์ แล้วทรงเริ่มเสวยภัตตาหารนั้นอย่างเป็นปกติ และไม่ต้องทรงลำบากพระทัยในการที่จะต้องฉันอาหารเช่นนี้สืบไป

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 129 สิงหาคม 2554 โดย กานต์ธีรา)


กำลังโหลดความคิดเห็น