“คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกได้ ว่าจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร”
นัยของคำคมนี้ มิได้หมายความให้เราละเลยอดีตตน หากเพียงแต่เมื่อรับรู้ในสิ่งที่ผ่านมาแล้ว จำต้องตระหนักในปัจจุบันด้วย ว่าเราเป็นใคร และมีหน้าที่รับผิดชอบใด
ภาคต่อของ “กังฟู แพนด้า” ยังคงเป็นเรื่องราวการผจญภัยของ “โป” แพนด้าตัวอ้วนสุดกวนที่เป็นเซเลบดังเมื่อกลายเป็นนักรบมังกรผู้พิชิตอธรรมเมื่อภาคก่อน โดยเรื่องราวในภาคนี้ปูพื้นเหตุการณ์ย้อนกลับไปในอดีตให้ผู้ชมได้รู้ว่า หลายปีก่อนแผ่นดินจีนที่รุ่งเรืองนั้น ปกครองด้วยราชา-ราชินีนกยูง แต่บุตรชายอย่าง “เชน” กลับลุ่มหลง มัวเมาในอำนาจ คิดการณ์ใหญ่ในด้านมืด จนกระทั่งเมื่อโหรหลวงแห่งราชสำนัก พยากรณ์ว่าหากเชนยังเดินทางสาย นี้ เขาจะถูกพิชิตด้วย “พลังสีดำ-ขาว” ซึ่งนัยนั้น คือ สีของ แพนด้านั่นเอง เมื่อฟังคำทำนาย “เชน” กลับเลือกเส้นทางที่เลวร้ายกว่าเดิม เขาระดมพลพรรคหมาป่าที่อยู่ในอาณัติ ออกตามล่ากวาดล้างเผ่าพันธุ์แพนด้าทั่วราชอาณาจักรจีนไม่ให้หลงเหลือ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของปริศนาอย่างหนึ่งของ “โป”
หลังปฏิบัติภารกิจทำลายเผ่าพันธุ์อื่น ราชา-ราชินีนกยูงเจ็บปวดเกินกว่าจะทำใจได้ จึงเนรเทศ “เชน” ออกไป แต่บุตรชายที่ตกอยู่ในหุบเหวแห่งความหลงผิด กลับไม่สำนึก และฝากความแค้นเอาไว้ โดยตั้งใจจะกลับมายึดอาณาจักรจีนในสักวัน
ย้อนกลับมาในยุคปัจจุบัน “เชน” ได้รวบรวมสรรพกำลังหมาป่า พร้อมควานหาโลหะต่างๆมาสร้างเป็นอาวุธปืนไฟ เพราะเขารู้ว่าอาวุธปืน คือ อำนาจที่ใช้ต่อกรกับ “กังฟู” ได้ และนั่นย่อมทำให้การยึดอาณาจักรแดนมังกรกลายเป็นงานที่ง่ายขึ้น ซึ่งก็ถูกต้องตามที่นกยูงใจอำมหิตคาดไว้ เพราะเขาสามารถสังหารปรมาจารย์กังฟูชื่อดังไปได้อย่างสบายๆหนึ่งราย
ข่าวร้ายดังกล่าว ถูกนำส่งมายัง “อาจารย์ชิฟู” นั่นจึงกลายเป็นภารกิจที่เหล่าบรรดาศิษย์เอก ซึ่งประกอบไปด้วย แพนด้าเสี่ยวโป นางพยัคฆ์ไทเกรส นกกระเรียนเครน ตั๊กแตนแมนทิส ลิงจอมบู๊มังกี้ และอสรพิษไวเปอร์ ต้องออกไปตามล่าจัดการกับทรราชย์อย่าง “นกยูงเชน” ก่อนที่อำนาจมืด และปืนไฟของเขาจะยึดครองอาณาจักรมังกรได้สำเร็จ
นอกจากความสนุกในสไตล์แอนิเมชั่นน่ารักๆแล้ว “กังฟู แพนด้า ภาค 2” ยังฝากข้อคิดดีๆหลายประการเช่น เคย โดยประเด็นรองๆที่เห็นได้ทั่วๆไป เช่น ความสามัคคี ความกตัญญู ความโลภนำไปสู่ความสูญเสีย เป็นต้น
แต่สำหรับประเด็นหลักที่หนังถ่ายทอดเป็นข้อคิดได้ชัดเจน เริ่มจากประเด็นแรกซึ่งเป็นการไขปริศนาของ “โป” ให้ผู้ชมได้รู้ และยังเป็นคติสอนใจ เพราะหากยังจำกันได้ในภาคแรก “พ่อของโป” หาใช่แพนด้าตัวอ้วนแบบลูกชาย แต่กลับกลายเป็นสัตว์คนละสายพันธุ์ คือ “มิสเตอร์พิง” ห่านคอยาวๆที่มีอาชีพขายบะหมี่เกี๊ยว
ปริศนาได้รับการไขกระจ่างในภาคนี้ ว่าแท้จริงแล้ว ห่านอย่างมิสเตอร์พิงก็ไม่ใช่พ่อบังเกิดเกล้าของแพนด้าโป (ก็ควรจะเป็นอย่างนั้นล่ะครับ... ฮา) แต่ห่านผู้ขายบะหมี่เกี๊ยว ไปเจอโปในกล่องไม้ที่ถูกทิ้งเอาไว้ และด้วยความเมตตาเอ็นดูแพนด้าวัยแบเบาะที่ไม่รู้เดียงสา มิสเตอร์โปจึงตัดสินใจเปลี่ยนชะตาชีวิตตัวเอง รับแพนด้าน้อยหลงทางมารับเลี้ยง เฝ้าทะนุถนอมดั่งลูกแท้ๆของตน
ดังนั้น ในมุมความดีของ “มิสเตอร์พิง” คือ การทำหน้าที่เสมอเหมือน “บิดา” ที่มีต่อบุตร ในการมอบความรักความเมตตา ทั้งยังเลี้ยงดู “เสี่ยวโป” ตามหลักธรรมของบิดาขั้นต้น เช่น ห้ามมิให้ลูกทำความชั่ว แนะนำให้ลูกตั้งอยู่ในความดี ให้ลูกศึกษาศิลปวิทยา เป็นต้น ดังเราจะเห็นได้ว่า “โป” ก็เป็นแพนด้าที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ห่างไกลจากความคิดด้านลบ หรือการกระทำความชั่วใดๆ มีอาชีพสุจริตจากการค้าขายบะหมี่ จนกระทั่งนำไปสู่การฝึกฝนตนเป็นนักรบมังกรในภาคแรกในที่สุด ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “พื้นฐานการเลี้ยงดู” ของมิสเตอร์พิง ย่อมมีส่วนไม่น้อย
ประเด็นถัดมา คือ “หลักธรรมจากกังฟู” ของ “อาจารย์ชิฟู” ที่สอนวิชาขั้นสูงให้กับโป คือ “การตั้งมั่นแห่งจิต” หรือการทำสมาธิ เพื่อปล่อยวางจากความคิดฟุ้งซ่าน
วิชากังฟู หรือศิลปะการต่อสู้แขนงต่างๆนั้น นับว่ามีความเชื่อมโยงกับพุทธศาสนาอยู่ไม่น้อย เพราะการฝึกฝนขั้นสูง ทำให้ผู้นั้นอดทนต่อความเจ็บปวด เหนื่อยล้า ตัดความคิดอารมณ์วอกแวกที่มากวนจิตใจ จนกระทั่งเปลี่ยน เป็นพลังที่เกิดขึ้นมาจากภายในจิตใจได้ ไม่ต่างจากการทำสมาธิตามหลักพุทธศาสนา ที่ต้องตั้งมั่นใจจิต ปล่อยวางต่อสิ่งรอบข้าง จนเกิดความแน่วแน่มั่นคงของสภาวจิต และสามารถนำไปปรับใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆได้สารพัด
เฉกเช่นเดียวกันกับนักรบแพนด้าอย่างโป ซึ่งเรื่องราวจากในอดีตที่ว่า ตนเองเป็นแพนด้าที่ต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใครนั้น ได้ทำให้จิตใจของโปฟุ้งซ่าน กระวนกระวาย ต้องการค้นหาคำตอบให้กับตัวเอง จนกระทั่งต้องพลาดท่าเสียทีให้กับ “เชน” เนื่องจากสภาวะ จิตใจที่ไม่นิ่ง
แต่แล้วเมื่อโปได้ตั้งจิตแน่วแน่ ในการฝึกสมาธิ ตัดความกังวลต่างๆ นอกจากโปได้รำลึกถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น เพื่อทำความเข้าใจในอดีตของตนแล้ว ยังเกิด “ดวงตาเห็นธรรม” ที่ว่า อดีตอันแสนขมขื่นจะเป็นเช่นไรนั้น ไม่สำคัญเท่ากับปัจจุบัน ว่าเขาคือใคร และมีหน้าที่ใด จนสามารถเอาชนะอุปสรรคที่ไม่มีใครคาดคิดได้
เปรียบไปแล้ว โปก็เหมือนพื้นฐานของมนุษย์ที่เลือกเกิดเลือกชะตาชีวิต ณ จุดเริ่มต้นไม่ได้ เพราะถือเป็นอดีต กรรม แต่ปัจจุบันกรรมนั้นยังเป็นสิ่งที่เราตัดสินใจเลือกได้ เช่น เจ้าโปเอง เมื่อได้เห็นธรรมข้อนี้ ก็ย้ำกับตนเองว่า ไม่ว่าจะมีอดีตเช่นไร แต่ปัจจุบันเขาคือ “เสี่ยวโป” นักรบแพนด้าผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการต่อสู้กับความอยุติธรรม
ข้อคิดจากประเด็นนี้ จึงยังเตือนสติให้เราตระหนักถึง “การทำหน้าที่ของตน” ว่า ต้องพึงระลึกเสมอว่าหน้าที่รับผิดชอบของเรา คืออะไร และก็ควรปฏิบัติตามหน้าที่นั้นให้สมบูรณ์อีกด้วย
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 128 กรกฎาคม 2554 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)