สมมุติว่าตัวเราเป็นรถยนต์ เครื่องยนต์ของเราคือกล้ามเนื้อแขนขา ที่จะทำให้เราเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนได้ รถยนต์ต้องการน้ำมันเพื่อให้เครื่องยนต์ทำงาน คนเราก็ต้องการอาหารเป็นพลังงานให้ร่างกายเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนได้ โดยเฉพาะใช้ออกกำลังกาย
ตื่นนอนเช้ารถยนต์และร่างกายเราไม่มีน้ำมัน ไม่มีพลังงาน จำเป็นต้องเติมน้ำมันก่อน หรือกินอาหารก่อน รถยนต์จะได้มีพลังงานวิ่งไปได้ คนเราจะได้มีพลังงานให้กล้ามเนื้อแขนขา ทำให้เราไปไหนมาไหนได้
รถยนต์ต่างกับร่างกายเราตรงที่พอเติมน้ำมันเต็มถัง แล้ว สามารถขับรถไปได้ทันที แต่คนเราหลังกินอาหารอิ่ม เต็มที่ ยังไปออกกำลังกายไม่ได้ เพราะหลังกินอาหาร 2 ช.ม. จะมีเลือดมารอรับอาหารที่จะถูกย่อยที่กระเพาะและลำไส้เป็นจำนวนมาก หลังจากอาหารถูกดูดซึมเข้ามาในเลือดแล้ว เลือดจะพาสารอาหารแจกจ่ายไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ถ้าออกกำลังกายหนักๆ ตอนนี้ เช่น วิ่ง ออกกำลัง ซึ่งต้องการเลือดมาเลี้ยงที่ขาที่ใช้วิ่ง 20 เท่าตัว ของสภาวะปกติ เมื่อเลือดมากองอยู่ที่กระเพาะเป็นจำนวนมาก บวกกับมาเลี้ยงที่ขาอีก 20 เท่าดังกล่าว ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ทำให้หน้ามืดเป็นลม หรือถ้าทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอ เท่ากับกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันถึงชีวิตได้ จึงห้ามเด็ดขาด ห้ามออกกำลัง หลังกินอาหาร 2 ช.ม. เมื่ออาหารย่อยหมดแล้ว ดูดซึมเข้าเลือดหมดแล้ว (2 ช.ม.) เลือดที่มารออยู่ที่กระเพาะก็จะกระจายไปหมด ถึงตอนนี้จะวิ่งก็ปลอดภัย
ทีนี้คนตื่นนอนตอนเช้าแล้วมาออกกำลัง เพราะตอนเช้าอากาศสดชื่น มลพิษก็น้อย อากาศเย็น ร่างกายยังสดชื่น เพราะได้พักมาทั้งคืน แต่คงไม่มีใครกินอาหารก่อนออกกำลังแน่ เท่ากับรถยนต์ไม่ได้เติมน้ำมัน รถยนต์จะวิ่งได้อย่างไร แต่คนออกกำลังกายได้โดยไม่ต้องกินอาหาร เพราะตอนเย็นกินอาหารเสร็จเข้านอน ไม่ได้ใช้พลังงานขณะที่นอนหลับ ตับจะปรับเปลี่ยนสารอาหาร เช่น น้ำตาลเปลี่ยนเป็นไกลโคเจน ไตรกรีเซอร์ไรด์ ไขมันเปลี่ยนเป็น กรดไขมัน โปรตีนเปลี่ยนเป็นฟอสฟาเจน เป็นต้น แล้วนำไปเก็บไว้ในอวัยวะต่างๆ เมื่อตื่นนอนจึงไม่มีพลังงานหลง เหลืออยู่ในเลือด เท่ากับรถยนต์น้ำมันแห้งถัง สภาพนี้คน ออกกำลังได้โดยตับจะดึงสารอาหารที่ปรับเปลี่ยนไปเก็บไว้ในที่ต่างๆตอนนอนหลับ ให้กลับเป็นสารพลังงานในเลือดใหม่ จึงสามารถออกกำลังกายได้
มาลองคิดดู ตอนนอนตับทำงานหนักมาก เพื่อเอาสารอาหารไปเก็บ ตื่นตอนเช้าไปออกกำลังกายทันที ตับต้องดึงสารอาหารที่เอาไปเก็บไว้เมื่อคืน ออกมาใช้ใหม่ ทำอย่างนี้บ่อยๆทุกวันๆ ตับจะต้องทำงานหนักแค่ไหน จะทนสภาพนี้ได้นานเท่าไร เพราะไม่ได้พักเลย เหมือนคน กินเหล้าแล้วไม่กินอาหาร ตับต้องไปดึงสารอาหารจากที่ต่างๆ มาให้แอลกอฮอล์เผาผลาญมากๆเข้านานๆเข้า ในตับมีแต่ไขมัน กลายเป็นตับแข็ง
ทีนี้ถ้าจะทำให้ถูกต้อง ก็ต้องกินอาหารเสียก่อน แต่ต้องรอถึง 2 ช.ม.จึงจะไปออกกำลังได้ เช่น กินอาหาร ตี 5 เจ็ดโมงเช้าจึงจะออกกำลังกายได้ จะมีใครทำอย่างนี้บ้าง
ฉะนั้น ฝรั่งจึงมีแต่คำว่า morning walk ไม่เคยได้ยิน morning jogging เลย นั่นคือออกกำลังกายเบาๆ ได้ เช่น เดิน ก่อนเดินก็กินอาหารเบาๆ เช่น แซนวิช 1 ชิ้น กับโอวัลติน 1 ถ้วย ซึ่งจะใช้เวลาย่อยอาหารสัก 1/2 - 1 ช.ม. ก็พอ ก็จะไปเดินออกกำลังกายได้ กินเล็กน้อยออกกำลังกายเบาๆ ก็ใช้พลังงานน้อย ที่กินมาแค่นี้ก็พอไหว
ลองพิจารณาการออกกำลังตอนเย็นบ้าง เรากินอาหารเช้า อาหารกลางวัน ตกเย็นรับรองว่าพลังงานยังเหลือเฟือ ขณะทำงานใช้ไปไม่หมด สามารถออกกำลังกายได้เลย เหมือนกับรถยนต์ น้ำมันยังไม่แห้งถัง แต่จะให้ดีอาจเติมอาหารเหมือนตอนเช้าอีกสักเล็กน้อยก่อนไปออกกำลัง จะทำให้ไม่รู้สึกระโหย ความจริงไม่ต้องไปกินอะไรเลยก็ได้
ข้อสำคัญเมื่อออกกำลังตอนเย็นเสร็จแล้ว ให้ดื่มน้ำโดยค่อยๆ ดื่มจนรู้สึกอิ่ม กลับถึงบ้านท่านจะไม่รู้สึกหิวและไม่อยากกินอะไรอีก และหลังออกกำลังกายตอนเย็นนี้แล้ว เมื่อถึงเวลาเข้านอน จะเหลือสารอาหารน้อยที่สุด ตับไม่ต้องทำงานมาก สารอาหารไม่มีไปเก็บตามที่ต่างๆ จึงไม่ทำให้อ้วน และไม่มีสารอาหารเหลือค้างในหลอดเลือดโดยเฉพาะไขมัน จึงเป็นวิธีที่จะลดไขมันในเลือดได้ดีที่สุดโดยไม่ต้องกินยา
ถ้าพิจารณาตรงนี้ ออกกำลังกายตอนเช้า หรือตอนเย็น จะเป็นการออกกำลังที่ทำให้สุขภาพทั่วๆไปดี (แอโรบิกเท่าๆ กันทั้งคู่) แต่การออกกำลังกายตอนเย็นโดยไม่ไปกิน อาหารภายหลัง ยังจะช่วยให้สารอาหารที่เหลือจากการกินตอนเช้าและตอนเที่ยง น้อยลงจนไม่สามารถทำร้ายร่างกายได้ด้วย การออกกำลังกายตอนเย็นจึงได้ 2 ต่อ
จากงานวิจัยต่างประเทศเร็วๆ นี้ พบว่า การออกกำลัง กายตอนเช้านั้น จะทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายลดลง และการออกกำลังกายตอนเย็น จะทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายเพิ่มขึ้น ดูในแง่นี้ถ้าไข้หวัดระบาด การออกกำลังกายตอนเย็นจะได้ 3 ต่อ มีกรณีเดียวที่ออกกำลังกายตอน เช้าได้ประโยชน์คือ พวกที่มีภูมิต้านทานมากไป เช่น โรคภูมิแพ้ได้แก่ หอบหืด แพ้อากาศ แพ้ฝุ่น หรือโรคพุ่มพวง ดวงจันทร์ ออกกำลังกายตอนเช้าช่วยลดภูมิต้านทาน จึงเท่ากับช่วยให้คนนั้นกินยาลดภูมิต้านทานน้อยลงได้
สรุปมาถึงแค่นี้ ท่านคงทราบแล้วนะครับว่า ออกกำลังกายตอนเช้าหรือตอนเย็นดี
มีข้อเสนออีกข้อหนึ่งคือออกกำลังกายแบบแอโรบิก ก่อนนอน เช่น เดินบนสายพาน หรือขี่จักรยาน 30 นาที - 60 นาที ไม่ต้องกลัวว่าจะนอนไม่หลับ เพราะการออกกำลังกายแบบแอโรบิก 30 นาที ขึ้นไปนี้ ร่างกายจะหลั่ง “เอนดอร์ฟีน” ออกมาซึ่งมีฤทธิ์คล้ายๆมอร์ฟีน ที่ใช้ฉีดให้คนไข้หลังผ่าตัดจะทำให้ง่วงนอนคลายความเจ็บปวด คลายเครียด
ฉะนั้น ออกกำลังกายเสร็จ อาบน้ำแล้ว เข้านอนเลย ท่านจะนอนหลับสนิทชนิดไม่ฝัน การนอนหลับสนิทนี้ท่านต้องการการนอนเพียง 5 ช.ม. ก็เพียงพอ จะทราบได้ คือตอนทำงานกลางวัน จะไม่เพลีย ไม่ง่วง แสดงว่านอนหลับสนิท 5 ช.ม. เพียงพอแล้ว
นอกจากนี้มีงานวิจัยใหม่ๆ ออกมาพบว่า คนนอน 5 ช.ม. มีอุบัติการโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันน้อยกว่าพวกนอน 7-8 ช.ม.
ฉะนั้น การออกกำลังกายตอนเย็นหรือก่อนนอน ดีกว่าออกกำลังกายตอนเช้า
(บทความจากสภากาชาดไทย)
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 128 กรกฎาคม 2554 โดย ศ.กิตติคุณนายแพทย์เสก อักษรานุเคราะห์ ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย)