xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะกับชีวิตประจำวัน : เก่า - ใหม่ ลืมมองข้างใน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้หญิงคนหนึ่งถามหลวงตาว่า : ลูกเขาว่า ดิฉันเป็นคนหัวโบราณเกินไปจนกลายเป็นคนครึหรือล้าสมัยทำนองนี้ เขาอยากให้แม่ดัดแปลงหัวเสียใหม่จะได้เข้ากับสังคมของโลกเขาได้บ้าง ถ้าจะล้าก็คงพอมองเห็นกันได้แว๊บๆ บ้าง ไม่เช่นนั้นก็เต็มที มองหาใครไม่เจอ ไม่ว่าแต่จะมองหาคนอื่นๆ แม้แต่จะมองหาลูกในบ้านเดียวกันก็ไม่เจออีก เพราะหัวมันอยู่ห่างไกลกันมาก

หลวงตาตอบว่า : คำว่าที่เขาว่า “เกินไป” นั้นรู้สึกจะมีส่วนที่น่าคิดอยู่ เพราะทุกสิ่งที่เกินพอดีแล้วโลกถือว่าเกินไป เช่น บ้านสูงเกินไป ต่ำเกินไป คนขาวเกินไป ดำเกินไป คนสูงเกินไป ต่ำเกินไป อาหารเผ็ดเกินไป เค็มเกินไป สิ่งที่เกินไปนั้นไม่ว่าอะไร โลกถือกันว่าเลยขอบเขตแห่งความพอดีทั้งนั้น ใช้การอะไรไม่ค่อยจะได้ดี สิ่งที่เกินไปนั้นเป็นสิ่งกีดขวางความพอดีในโลกและธรรมนิยมที่ใช้กันมาแต่ดึกดำบรรพ์

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงประกาศธรรมลงในทางสายกลางเรียกว่า “มัชฌิมา” ซึ่งแปลว่าท่ามกลาง คือความพอดี ถ้าเป็นอาหารก็มีรสพอดี ถ้าเป็นคน ก็คือคนพอดี บ้านพอดี เสื้อพอดี กางเกงพอดี ทุกๆ สิ่งลงในความพอดี แล้วเป็นอันใช้ได้ดี ทั้งงามตา งามใจ

การที่เราจะไปตำหนิลูกว่าพูดผิดเสียทีเดียวยังไม่ชอบนัก เราคงมีส่วนที่ควรตำหนิอยู่บ้างเป็นแน่ จากหัวโบราณจนเกินไป คำว่าโบราณนี้มีความหมายอย่างไร และกว้างแคบแค่ไหน

ผู้หญิง : คำว่า โบราณเท่าที่ทราบมาจากคุณพ่อคุณแม่ และคนเก่าแก่ที่เล่าให้ฟังว่า ถ้าเป็นสิ่งของก็เป็นสมบัติเก่าแก่ที่ปู่ ย่า ตา ทวด มอบให้เป็นมรดกต่อๆ กันมาถึงพวกเรารุ่นหลัง ท่านเรียกสิ่งนั้นว่าของโบราณหรือวัตถุโบราณ เช่น พระรูปสมัยโบราณ เป็นต้น ถ้าเป็นคนก็คือคนเก่าแก่ที่ล่วงลับไปแล้วหลายๆ ชั่วคน ท่านเรียกคนเช่นนั้นว่าคนโบราณ ถ้าเป็นความคิดความเห็นเกี่ยวกับการทำมาหาเลี้ยงชีพ การปลูกบ้านสร้างเรือน การปกครองบ้านเมือง การนุ่งห่ม ตลอดขนบธรรมเนียมประเพณีที่คนโบราณคิดขึ้น แล้วพากันดำเนินสืบๆ กันมา ท่านเรียกว่าหัวโบราณ จะถูกหรือผิดดิฉันจำมาอย่างนี้

หลวงตาตอบว่า : นี่ ตามความเข้าใจของคุณคิดว่าที่โบราณพาคิดพาทำมานั้น ยังคงที่ดีอยู่ทั้งวิธีการและคุณภาพของสิ่งนั้นๆ ซึ่งควรจะนำมาใช้ได้ทุกๆ อย่างและทุกๆ โอกาสมีไหม และที่ควรจะดัดแปลงแก้ไขเสียบ้างเพื่อให้เหมาะสมกับกาลสถานที่และความนิยม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอตามกฎอนิจจังมีไหม และที่ควรจะปล่อยให้ผ่านไปตามกาลสมัย เพราะคุณภาพไม่ดีและขาด ความนิยมมีไหม หรือเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นยังคงที่ดีอยู่ ไม่ควรแก้ไขดัดแปลงโดยประการทั้งปวง

ผู้หญิง : ดิฉันพอทราบได้ในสิ่งที่ควรหรือไม่ควร ไม่ว่าจะเป็นโบราณหรือปัจจุบัน เพราะของใหม่กับของเก่ามันอยู่ด้วยกัน เช่น คนแก่ๆ จนหลังค่อมกับเด็กๆ เพิ่ง คลอด เป็นต้น ก็อยู่ด้วยกัน ซ้ำยายแก่ๆ ยังกลับเลี้ยงดูหลานน้อยเสียอีก

หลวงตาตอบว่า : แล้วคุณยังมีข้อข้องใจอะไรบ้าง ระหว่างของเก่ากับของใหม่ที่คละเคล้ากันอยู่ตลอดมา อาตมาไม่เห็นมีอะไรจะพอให้เกิดเป็นปัญหา เพราะทั้งของเก่าและของใหม่มันมีทางจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ ผู้ที่รู้จักใช้ได้เสมอกัน เว้นแต่คนหัวรั้นที่ไม่ยอมรับฟังเหตุผลใดๆ ทั้งนั้น จะเป็นคนขวางโลกยิ่งกว่าหัวโบราณและหัวอะไรๆ เป็นไหนๆ โปรดระวังหัวประเภทนี้ให้มากยิ่งกว่าหัวอื่นใด

เท่าที่พิจารณาแล้วของเก่ากับของใหม่ โดยนับความคิดเห็นเข้าด้วย คนเก่ากับคนใหม่มันมีส่วนดีและส่วนชั่วด้วยกัน เพราะเป็นคนมีกิเลสความเห็นแก่ตัวเหมือนกัน สิ่งที่เกิดจากคนประเภทดังกล่าวคิดอ่านและทำขึ้น จึงควร พิจารณาให้ดีก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ ถ้าเราเป็นคนรอบคอบเสียเท่านั้น จะเป็นหัวอะไรคิดขึ้นทำขึ้นก็ไม่สู้เป็นปัญหาให้ก่อความยุ่งยากและกวนสมองนัก สิ่งต่างๆ กลับจะช่วยให้ความสะดวกและเหมาะสมแก่เรามากขึ้น


ที่สำคัญก็คือตัวเราคนหนึ่งซึ่งควรนับเข้าในจำนวน สิ่งดังกล่าวทั้งเก่าและใหม่ ถ้าไปมองแต่ข้างนอกว่าสิ่งนั้นดีสิ่งนี้ไม่ดี สิ่งนั้นเป็นของเก่า สิ่งนี้เป็นของใหม่ คนนั้นดี คนนี้ไม่ดี ข้าราชการคนที่ย้ายไปนั้นดี คนนี้มาแทนแย่มาก สามีคนที่ตายไปแล้วนั้นเต็มที คนนี้เข้ามาแทนอบอุ่น ภรรยาคนนี้แสนเอาใจยาก คนที่จากไปนั้นแสนดี คนใช้ในบ้านคนนี้เต็มทีไว้ใจอะไรไม่ได้ คนก่อนนั้นแสนดี แต่เขาหนีไปเสีย อะไรเหล่านี้ จนลืมมองข้างในคือตัวเอง

ผลที่ได้รับจากการติ-ชม ก็คือความยุ่งยากใจตลอดเวลา หาที่แก้ไขและปลงวางไม่ได้ ความจริงแล้วตัวเรายังมีส่วนเสียอยู่ด้วยที่ไปเที่ยวเก็บเอาเรื่องของคนอื่นมาแบก หามให้หนักใจยิ่งกว่าภูเขาเสียอีก ที่ควรยกเราขึ้นเป็นเป้าหมายก็เพื่อการพิจารณาความผิดถูกของตัวว่า

นับแต่วันเราเกิดมาก็เป็นเวลาหลายปี คราวเป็นเด็ก เรามีความรู้ความเห็นและความประพฤติผิดถูกอย่างไรบ้าง ก้าวขึ้นมาเป็นหนุ่มเป็นสาว เรามีความรู้ความเห็นประพฤติผิดถูกอย่างไรบ้าง บัดนี้ เรามีความรู้ความฉลาด และความประพฤติตัวอย่างไรบ้าง ต่อไปนี้เราจะดัดแปลง แก้ไขความคิดเห็นต่างๆ ตลอดความประพฤติอันดีงามแก่ตัวอย่างไรบ้าง

ขณะนี้จิตของเราเย็นหรือร้อน ถ้ามีความเย็นเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จะพยายามอบรมส่งเสริมอย่างไรต่อไปถึงจะได้รับความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าใจเราร้อน จะพยายาม แก้ไขอย่างไร ถึงจะหายพยศ ลดความชั่วที่ทำให้ร้อนลงได้บ้าง

ถึงวาระสุดท้ายของชีวิตเราจะตั้งจิตไว้อย่างไร จึงจะมีหลักยึดไม่ส่ายหน้าส่ายหลัง จนลืมตัวและคว้ายึดในทางผิด

ถ้าเราตั้งตัวไม่ได้แต่บัดนี้ โดยเชื่อความสามารถของจิตไม่ได้ ไม่ว่าเราจะตายในสถานที่และเวลาใด เราก็คือคนที่เสียท่าเสียทีอยู่โดยดี ถ้าจิตไม่ดี และกลายเป็นกองเพลิงอยู่ในตัวของมันแล้ว เราจะหาความสุขความรุ่งเรือง มาจากโลกไหนไม่มีทางเจอได้

เมื่อเทียบคนที่มีจิตรุ่มร้อนด้วยกิเลสต่างๆเข้าครอบงำแล้ว ก็ไม่ผิดอะไรกับบุคคลที่กำลังเจ็บหนัก จะไปอยู่ในสถานที่ใดที่มีหมอผู้ฉลาดคอยเอาใจใส่ดูแลรักษาตลอดเวลา โดยไม่เลือกว่าเป็นโรงพยาบาลหรือเป็นปราสาทร้อย ชั้นที่เต็มไปด้วยสิ่งบำเรอความสุขตลอดกาลก็ตาม เขาก็คือคนที่เจ็บหนักและมีทุกข์มากอยู่ตลอดวเลานั่นเอง

โปรดอย่าเข้าใจว่าโลกนี้ไม่ดีหาความสุขไม่ได้ โลกหน้าจะดีมีความสุขโดยไม่สนใจบำเพ็ญความดี ถ้าเป็นได้เช่น นั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงหมดภาระห่วงใยในการสั่งสอนสัตว์ โลกให้เป็นคนดี โลกก็หมดกังวลที่จะรับเอาธรรมมาฝึก หัดอบรมตนพื่อเป็นคนดีในปัจจุบันและอนาคต เพราะความสุขและความสมหวังรอคอยมนุษย์อยู่ข้างหน้าโน้นแล้ว เพื่อความประจักษ์พยานในโลกมนุษย์เรานี่แล ไม่ต้อง คาดคะเนไปโลกอื่น เช่น คนจนๆ ไปรับจ้างทำงานให้คน รวยๆ มีเงินเป็นล้านๆ คนรับจ้างที่อาศัยเขาอยู่ ก็คือเขาผู้ จนๆ อยู่นั่นแล จะแปรรูปเป็นคนรวยไปไม่ได้ ถ้าเขาไม่สามารถทำได้เองฯ

(เรียบเรียงจากส่วนหนึ่ง
ของคำถาม-คำตอบ ปัญหาธรรม)


(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 128 กรกฎาคม 2554 โดย พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว) วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี)
กำลังโหลดความคิดเห็น