xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารบ้านเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


• อยุธยาสร้างอนุสรณ์สถาน
แห่งความจงรักภักดีอย่างยิ่งใหญ่


นางปรียา ปาลิโพธิ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้จัดทำโครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ที่สวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุ่งหันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา ภายในโครงการดังกล่าวมีกิจกรรมจัดสร้างพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขนาดความสูง 9.48 เมตร ประทับยืนบนฐานดอกบัวสูง 3 เมตร ประดิษฐานบนเนินวงกลมสูง 4 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 84 เมตร สร้างเป็นขั้นบันไดคอนกรีตรอบฐาน 7 ชั้น

นางปรียา ปาลิโพธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า การก่อสร้างอนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะบันทึกรวบรวมเหตุการณ์ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนแล้วเสร็จ ในรูปแบบ ดีวีดี และหนังสือจดหมายเหตุ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบว่า พสกนิกรชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ดำเนินการสิ่งใดถวายพระองค์ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ในการนี้ ทางจังหวัดฯ จะมอบดีวีดี และหนังสือจดหมายเหตุให้สถานศึกษาและห้องสมุดทุกแห่งทั่วประเทศได้นำไปเผยแพร่ต่อไป

• วธ.ห้ามสัก!
สัญลักษณ์พุทธศาสนา 6 แบบ


ตามที่ได้มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการสักภาพ (Tattoo) พระพุทธรูปและรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาบนร่างกาย หรือในที่ที่ไม่เหมาะสมนั้น กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) จะจัดทำคู่มือข้อควรระวังในการใช้สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาที่มีอยู่เดิมแล้วนำมาพิมพ์ใหม่ ประมาณ 10,000 เล่มเพื่อแจกจ่ายไปตามสถานประกอบการร้านค้าที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการใช้สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

ทั้งนี้ สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาที่ไม่ควรนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ 6 แบบ ได้แก่ 1. พระพุทธรูปปางต่างๆ 2. พุทธพจน์ เถรภาษิต และเถรีภาษิต 3. พระสงฆ์ ภาพถ่าย ภาพวาด สิ่งประดิษฐ์คล้ายพระสงฆ์ บริขารของพระสงฆ์ เช่น ไตรจีวร และบาตร 4. การแต่งการเลียนแบบพระสงฆ์ หรืออ้างตัวว่าเป็นพระสงฆ์ในบทภาพยนตร์ที่ไม่เหมาะสม 5. โบสถ์ วิหาร เจดีย์ทางพระพุทธศาสนา 6. ธรรมจักรและธงฉัพพรรณรังสี

ส่วนสถานที่ที่ไม่ควรนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาใช้ในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ 1. โรงงานและร้านจำหน่ายแอลกอฮอล์ 2. ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ โรงละคร สถานบันเทิง 3. โรงฆ่าสัตว์และบ่อนการพนันทุกชนิด 4. ห้องน้ำและห้องสุขา

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ควรนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนามาใช้เชิงพาณิชย์ ได้แก่ 1. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วัตถุมึนเมา ยาพิษและอาวุธ 2. เสื้อ กางเกง ชุดชั้นใน รองเท้า เครื่องสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ ห้องสุขา 3. เก้าอี้และเตียงนอน รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรกนิกส์ที่ไม่ควรนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศสนามาใช้ในเชิงพาณิชย์

• เผยพระสงฆ์ทั่วประเทศเกินครึ่งถูกโรครุมเร้า
กรมอนามัยหนุนเครือข่ายพระเป็นแกนนำสุขภาพ


นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็น ประธานเปิดการประชุมสัมมนาเครือข่ายพระสังฆาธิการเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ปี 2554 ว่า ปัจจุบันพระสงฆ์ 1 ใน 3 รูปอาพาธด้วยโรคต่างๆ จากผลการสำรวจสุขภาพของพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศราว 350,000 รูป ในปี 2550 พบว่า พระสงฆ์ร้อยละ 55 เป็นทั้งผู้ป่วยและผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยเป็นผู้ป่วยร้อยละ 30 และเป็นผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงร้อยละ 25 สอดคล้องกับข้อมูลสถิติของโรงพยาบาลสงฆ์ในปี 2550 พบว่า พระสงฆ์ที่มารับการตรวจรักษา 17,381 รูป ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ร้อยละ 17.8 โรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 17.1 ภาวะไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 13.5 โรคเหงือกอักเสบ ร้อยละ 6.7 และโรคช่องปากและฟัน ร้อยละ 6.3

นพ.สมยศกล่าวต่อไปว่า ความเสี่ยงของการเกิดโรคส่วนใหญ่ มีสาเหตุจากปัญหาการบริโภคไม่ถูกหลักโภชนาการ เนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารได้ ต้องฉันอาหารตามที่ฆราวาสตักบาตรหรือนำมาถวาย ประกอบกับสถานภาพของพระภิกษุสงฆ์ ไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค

“ในปี 2553 ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้สนับสนุนพระสงฆ์เป็นแกนหลักดำเนินงานร่วมกันกับชุมชน ในการปรับเปลี่ยนวิถี ชีวิตให้ลดเสี่ยง ลดโรค ลดภาวะแทรกซ้อนของโรค และก้าวสู่วิถีชีวิตที่พอเพียง สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยมีกลยุทธ์ 3 ประการ คือ 1.การชี้นำ 2.การเพิ่มความรู้ ความสามารถ ทักษะ และ 3.การขับเคลื่อนของภาคีเครือข่ายร่วมให้เกิดผลดีและประโยชน์ที่เอื้อต่อกัน โดยมีเป้าหมายคือ 1 อำเภอ 1 วัดส่งเสริม สุขภาพ ส่งผลให้ขณะนี้มีแกนนำพระสงฆ์ทั่วประเทศจำนวน 2,138 รูป มีวัดส่งเสริมสุขภาพกระจายอยู่เกือบทุกอำเภอ จำนวน 2,366 แห่ง แบ่งเป็นวัดส่งเสริมสุขภาพดีเด่น จำนวน 669 แห่ง และผ่านเกณฑ์ประเมินขั้นพื้นฐานของวัดส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 1,697 แห่ง” นพ.สมยศ กล่าว

อธิบดีกรมอนามัยกล่าวในตอนท้ายว่า การประชุมสัมมนาเครือข่ายพระสังฆาธิการ เพื่อการส่งเสริมสุขภาพครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมภายใต้หลัก 5 ประการ คือ สะอาดร่มรื่น สงบร่มเย็น สุขภาพร่วมสร้าง ศิลปะร่วมจิต และชาวประชาร่วมพัฒนา รวมทั้งส่งเสริมการมีเครือข่ายพระสังฆาธิการระดับจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานในการดำเนินงาน ระดมศักยภาพของภาคีเครือข่ายวัดส่งเสริมสุขภาพ ตลอดจนสนับสนุนพระสงฆ์เป็นกลไกและแกนนำที่สำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ สู่ผู้สูงอายุ ประชาชนในท้องถิ่น และชุมชนตามบริบทของท้องถิ่นตนเองได้อย่างเข้มแข็งต่อไป

• มหาดไทย จับมือ สสส.
นำร่องรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา


นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทย เป็นองค์กรความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการ “จังหวัดนำร่องงดเหล้าเข้าพรรษา ทำความดีถวายในหลวง 84 พรรษา ปี 2554 ร่วมเฉลิมฉลอง 2,600 ปี การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” โดยคัดเลือกจังหวัดนำร่องจำนวน 37 จังหวัด ประกอบด้วย

ภาคเหนือตอนบน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน ลำปาง แพร่ ภาคเหนือตอนล่าง 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร ภาคอีสานตอนบน 8 จังหวัด ได้แก่ เลย มหาสารคาม นครพนม ขอนแก่น มุกดาหาร สกลนคร อุดรธานี หนองบัวลำภู ภาคอีสานตอนล่าง 4 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ ตราด นครนายก จันทบุรี ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี ปทุมธานี ภาคตะวันตก 4 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กาญจนบุรี และภาคใต้ 4 จังหวัด ได้แก่นครศรีธรรมราช สงขลา ชุมพร ตรัง

เพื่อสนับสนุนรณรงค์ขับเคลื่อนโครงการ โดยเชิญชวนให้ประชาชนงดเหล้าเข้าพรรษาตลอด 3 เดือน หรือลดการดื่มลง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเลิกดื่มตลอดชีวิต และจะขยายให้ครบทุกจังหวัดในปี 2555

• วัดโพธิ์เตรียมจัดพิธีสมโภชใหญ่ย้อนยุค 9 วัน 9 คืน
หลังยูเนสโกประกาศรับรองจารึกวันโพธิ์ 1,440 ชิ้น
ขึ้นทะเบียนนานาชาติ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก


คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลกขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ได้เสนอจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ต่อยูเนสโก เพื่อพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในระดับนานาชาตินั้น ขณะนี้ยูเนสโกได้ประกาศรับรองจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในทะเบียนนานาชาติแล้ว เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554

สำหรับจารึกวัดโพธิ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก มีจำนวน 1,440 ชิ้น แบ่ง เป็น 5 หมวด อาทิ หมวดประวัติศาสตร์ ได้แก่ จารึกรัชกาลที่ 1 เรื่องสร้างวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม รายการแบ่งด้านปฏิสังขรณ์ถอดจากโคลงหมวดพระพุทธศาสนา ได้แก่ จารึกเรื่อง พระสาวกเอตทัคคะ หมวดวรรณคดี อาทิ จารึกเรื่องนารายณ์ 10 ปาง จารึกเรื่องสิบสองเหลี่ยม ทำเนียบสมณศักดิ์ และหมวดประเพณี ได้แก่ จารึกเรื่องเมืองมอญกวนข้าวทิพย์ จารึกเรื่องมหาสงกรานต์

อนึ่ง จารึกวัดโพธิ์ เคยได้รับอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำของโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Regional Register) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 ตามที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ประเทศไทย ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ยูเนสโก หลังจากนั้น คณะกรรมการแห่งชาติฯจึงได้ดำเนินการสำรวจ จัดทำทะเบียนและถ่ายภาพแผ่นจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น และจัดทำแผนอนุรักษ์ตามแนวทางของยูเนสโก เพื่อเสนอให้ยูเนสโกพิจารณา จารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อเดือนมกราคม 54 และผ่านขั้นตอนการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษานานาชาติ ของโครงการมรดกความทรงจำแห่งโลก ที่สหราชอาณาจักร โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้จารึกวัดโพธิ์ที่เกี่ยวข้องกับวิชาความรู้ที่มีลักษณะเป็นสากล ไม่ใช่ความรู้เฉพาะในประเทศไทย เช่น เรื่องพระพุทธศาสนา เรื่องวรรณกรรม เช่น จารึกรัชกาลที่ 1 เรื่องสร้างวัดพระเชตุพนฯ จารึกเรื่องพระพุทธบาท จารึกเรื่องนิทานสิบสองเหลี่ยม หรือนิทานอิหร่านราชธรรม จารึกโคลงภาพคนต่างภาษา (ชาติพันธุ์วิทยา) จารึกเรื่องตำรายา จารึกเรื่องฤๅษีดัดตน จารึกทำเนียบหัวเมืองขึ้นกรุงสยาม จารึกฉันท์กฤษณาสอนน้อง และจารึกตำราเพลงยาวกลบท เป็นต้น เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในทะเบียนนานาชาติ

พระราชเวที ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร เปิดเผยว่า ตามที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรับรองจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในทะเบียนนานาชาติ จำนวน 1,440 ชิ้น มีจารึกสำคัญที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุด คือ จารึกรัชกาลที่ 1 อายุกว่า 200 ปี นอกจากนี้ ยังมีจารึกสำคัญ คือ จารึกการนวด จารึกพระราชกฤษฎีกา ราชานุศาสตร์ รัชกาลที่ 3 ซึ่งถือเป็นจารึกกฎหมายการเข้าวัด เมื่อมีการขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ในระดับนานาชาติแล้ว เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก ดังนั้น ทางวัดจะมีการดูแลรักษาให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่า 1 ล้านคน พร้อมกันนี้ได้มีการรวบรวมองค์ความรู้ทั้งเรื่องฤาษีดัดตน และข้อมูลต่างๆภายในวัดให้ประชาชนได้ศึกษาค้นคว้าผ่านเวบไซต์ด้วย

นอกจากนี้ ทางวัดจะจัดพิธีสมโภชจารึกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำของโลก โดยยึดการจัดงานตามจารึกรัชกาลที่ 1 ซึ่งจะมีการจัดงานแบบย้อนยุค มีการละเล่นที่หาชมได้ยาก ระหว่างวันที่ 19-27 พฤศจิกายน2554 เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน

• งานสมัชชาคุณธรรมปี 54 ชูหัวข้อ
"สร้างชาติโปร่งใส สร้างไทยชื่อตรง"


นางสาวนราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม กล่าวในการแถลงข่าวการจัดงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 21-23 กรกฎาคม 2554 ณ ฮอลล์ 9 อิมแพ็คเมืองทองธานี ภายใต้แนวคิดหลัก “สร้างชาติโปร่งใส สร้างไทยซื่อตรง” ในกลุ่มเป้าหมาย 6 ประเด็น คือ ข้าราชการการเมือง การศึกษา ศาสนา ชุมชน สื่อ และธุรกิจ ในส่วนของการขับเคลื่อนงานสมัชชาคุณธรรม ปี 2554 ประเด็นศาสนาพุทธ ได้มีการบูรณาการและเชื่อมโยงการทำงานไปสู่เวทีสมัชชาคุณธรรม ครั้งที่ 5 ยึดแนวกิจกรรมที่ขับเคลื่อนมาขยายผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ชื่อว่า “เครือข่ายพุทธชยันตี-สังฆะเพื่อสังคม” หมายถึงการรวมกลุ่มกันของพุทธบริษัทอย่างเข้มแข็งสามัคคีโดยธรรมประดุจดั่งสังฆะ ที่ออกมาทำงานสร้างสรรค์ธัมมิกสังคม หรือทำให้เกิดสังคมที่เป็นไปในครรลองแห่งพุทธธรรม อันถือเป็นการร่วมประกาศชัยชนะแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในการตรัสรู้อริยสัจธัมม์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก

พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ ศูนย์คุณธรรม กล่าวว่า การจัดงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ในปีนี้ เพื่อต้องการให้เกิดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านความซื่อตรง รวมทั้งเสริมสร้างคุณธรรมอย่างมีส่วนร่วมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในสังคมไทย มุ่งหวังให้องค์กรต่างๆ และประชาชนเกิดความเข้มแข็งทางด้านคุณธรรม

นางสารภี ศิลา ผอ.สำนักส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า เครือข่ายพระสงฆ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยฟื้นคำว่า “บวร” ให้กลับคืนสู่สังคม เพราะปัจจุบัน บ้าน วัด โรงเรียน ห่างกันออกไปทุกที ดังนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะร่วมกับเครือข่าย พระสงฆ์ในการช่วยกันทำให้บวรเกิดความเข้มแข็ง และสร้างความซื่อสัตย์ให้สังคมไทยทั่วประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ครอบครัวนำเด็กและเยาวชนเข้าวัด ได้เรียนรู้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปสู่การปฏิบัติมากขึ้น

ด้านนายธีระ วัชระปราณี ผู้แทนเครือข่ายงดเหล้า กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานด้านคุณธรรม พระสงฆ์จะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่จะทำให้เรื่องนามธรรมเกิดผลเป็นรูปธรรมได้

• ธรรมยาตรา
งดเหล้าเข้าพรรษา


การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 26,000 คนต่อปี สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจปีละกว่า 1.5 แสนล้านบาท โดยคนไทยจ่ายเงินซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 2 แสนล้านบาท ทำให้แต่ละปีมีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 260,000 คน

การรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้ เครือข่ายคณะกรรมการพุทธชยันตี ธรรมยาตรางดเหล้าเข้าพรรษา จะจัดงาน “ธรรมยาตรางดเหล้าเข้าพรรษา” รวมพลังทำความดีถวายในหลวง 84 พรรษาและฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

โดยจะจัดให้มีการเดินธรรมยาตรางดเหล้าเข้าพรรษา จาก “สวนสันติชัยปราการ-วัดสระเกศฯ” ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 ตั้งแต่เวลา 08.00 น.เป็นต้นไป โดยจะมีเวทีเสวนา หัวข้อ “พุทธชยันตี ทำความดีครบรอบ 2,600 ปี การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” จากนั้นจึงเป็นการเดินธรรมยาตรา รับบิณฑบาตความดีตลอดเส้นทาง โดยจะนำรายชื่อผู้ร่วมปฎิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษา ทำความดี ไปมอบถวายเป็นพุทธบูชาบนยอดภูเขาทอง

ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จะเป็นการสร้างโอกาสและพื้นที่ทำดีแก่คนทั่วไป และอาจเป็นจุดเริ่มต้นในการอธิษฐานทำดีในมิติและรูปแบบต่างๆของแต่ละบุคคล หรือองค์กรหน่วยงานต่างๆ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างมวลรวมความดีแก่ตนและประเทศชาติเป็นสำคัญ

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 128 กรกฎาคม 2554 โดย มรรคา)


กำลังโหลดความคิดเห็น