นับเป็นอีกวาระหนึ่งที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 8 เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก โดยมหาเถรสมาคมได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร ภายใต้หัวข้อ “พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” (Buddhist Virtues in Socio-Economic Development) โดยมีสมเด็จพระสังฆราช ประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธ นักวิชาการ นักปราชญ์ด้านพระพุทธศาสนาจากนานาชาติเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
• ประชุมวิสาขบูชาโลกปี 54 จัดยิ่งใหญ่
ชาวพุทธนานาชาติ เทิดกษัตริย์ไทยทรงธรรมราชา
พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.)ประธานสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก(สสวล) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการจัดงานการประชุมวันวิสาขบูชาโลก ปี 2554 ว่า ผู้แทนจาก 15 ประเทศ ที่เข้าร่วมประชุม มีข้อตกลงร่วมกันว่า การจัดประชุมวันวิสาขบูชาโลก ควรจัดให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนชาวไทยจะจัดฉลอง 84 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นโอกาสที่ชาวพุทธทั่วโลกจัดฉลอง 26 ศตวรรษแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หรือ 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า โดยจะใช้เวลาจัดฉลอง 1 ปี เริ่มตั้งแต่งานฉลองวันวิสาขบูชา ปี 2554 จนถึงวันวิสาขบูชา ปี 2555 ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ถือเป็นงานใหญ่ที่จะนำชาวพุทธจากทั่วโลก จำนวน 5,000 คน มาประชุมที่ประเทศไทย โดยที่ประชุมได้ตกลงใช้หัวข้อการประชุม ปีนี้ว่า “พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” (Buddhist Virtues in Social and Economic Development)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นพ้องกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นธรรมราชา ทรงเป็นตัวอย่างของพระมหากษัตริย์ชาวพุทธ ที่ใช้พุทธธรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีตลอดเวลาที่ครองราชย์มากว่า 60 ปี ดังนั้น จึงเห็นชอบให้จัดพิธีเจริญ พระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 2 ของการจัดการประชุม ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
“ที่ผู้นำและชาวพุทธทั่วโลกจะไปเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตภาวนา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เพราะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นทั้งพระมหากษัตริย์ของชาวไทย และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ชาวพุทธที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์เพื่อชาวพุทธทั่วโลก” พระธรรมโกศาจารย์ กล่าว
• ผอ.ยูเนสโก ส่งสารย้ำ “การพูดคุยแลกเปลี่ยน
เป็นหัวใจของยุทธศาสตร์การพัฒนาทุกด้าน”
อิรินา โบโควา ผู้อำนวยการองค์กาศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ส่งสาร แสดงความยินดีกับรัฐบาลไทยและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในการจัดประชุมนานาชาติ ในหัวข้อ “พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” เพื่อเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลกในปีนี้ ว่า หัวข้อดังกล่าวเหมาะสมกับช่วงเวลานี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะการเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการไปมาหาสู่กันทั่วโลกมากขึ้นอย่าง ไม่เคยมีมาก่อน
แม้ว่าจะมีอุปสรรคใหม่ๆเกิดขึ้นก็ตาม สงครามระหว่างประเทศต่างๆกำลังลดจำนวนลง ขณะที่ความขัดแย้งภายในประเทศกลับเพิ่มขึ้น คนทั่วไปติดต่อสื่อสารกันมากขึ้นกว่าเดิม แต่ความไม่เสมอภาคใหม่ๆก็ยังปรากฏให้เห็นในความสมดุลของโลกาภิวัตน์ ผู้คนและวัฒนธรรมถูกให้น้ำหนักมากกว่า เพราะค่านิยม จารีตประเพณี ขนบธรรมเนียม และการแสดงออกทางวัฒนธรรม กำลังก้าวนำการเมืองระดับชาติและกระแสโลก
องค์การยูเนสโกตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยสร้างสันติสุขที่ถาวร ยั่งยืนตลอดไป ผ่านความร่วมมือในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม การติดต่อสื่อสาร และข้อมูลข่าวสาร
ธรรมนูญขององค์การยูเนสโก ประกาศว่า สงครามเกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ ดังนั้นจึงต้องสร้างความหวงแหนสันติภาพ ให้เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ด้วย “การจัดการเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ” ไม่เพียงพอที่จะช่วยให้มนุษย์แสวงหาสันติสุขถาวรได้ มันต้องอาศัย “ความร่วมมือทางสติปัญญาและศีลธรรม”
การพูดคุยแลกเปลี่ยนเป็นการวางรากฐานให้เกิดความ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ก่อให้เกิดหลักการสำคัญที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและสงบสุขของทุกสังคม การพูดคุยนี้เป็นหัวใจของยุทธศาสตร์การพัฒนาทุกด้าน
คุณค่าของพุทธศาสนาเป็นสิ่งดีงามที่ต้องนำมาพูดคุย แลกเปลี่ยน เพื่อตอบคำถามที่ซับซ้อนซึ่งมนุษย์ต้องเผชิญในทุกวันนี้ คุณค่าเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม ซึ่งพร้อมเปิดรับความหลากหลาย เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
วัฒนธรรม รวมถึงศาสนา และระบบคุณความดี เป็นสิ่งมีค่ายิ่งสำหรับมนุษยชาติที่ต้องมีร่วมกัน อันก่อให้เกิดความหมายและเอกลักษณ์ของแต่ละคนและสังคมชุมชน รวมทั้งคือพลังอันยิ่งใหญ่ที่ก่อให้เกิดการรวมตัวกันของคนในสังคม และเป็นช่องทางในการพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
การเติบโตอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นจากการร่วมมือร่วมใจอย่างสร้างสรรค์และสามัคคีของคนในสังคมเท่านั้น โดยเริ่มจากวัฒนธรรมนั่นเอง
• ติช นัท ฮันห์ แนะหนทาง
ที่นำพาไปสู่อนาคตที่สดใส
ติช นัท ฮันห์ ภิกษุชื่อดังชาวเวียดนาม แห่งหมู่บ้านพลัมในฝรั่งเศส เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้ส่งสารแสดงความยินดีต่อทุกคนที่ได้มารวมตัวกันเพื่อร่วมเฉลิมฉลองและสร้างสายสัมพันธ์ฉันพี่น้อง
ติช นัท ฮันห์ กล่าวว่า เรากำลังเผชิญกับวิกฤตหลากหลายตามส่วนต่างๆของโลก เป็นที่แน่ชัดว่า ยุคสมัยของชาติที่เป็นเอกราชด้วยเส้นแบ่งเขตแดนและผลประโยชน์ที่แยกจากกันนั้น ค่อยๆเคลื่อนเข้าหากัน ความทุกข์ทรมานและเจ็บปวดของชาติหนึ่ง ถูกเชื่อมโยงและรับรู้ด้วยหัวใจของคนในทุกๆชาติ ความไม่มีเสถียรภาพและความตกต่ำทางเศรษฐกิจของชาติหนึ่ง จะส่งผลกระทบถึงความมั่งคั่งและมั่นคงของคนทั่วโลก เป็นที่แน่ชัดว่า การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป
แต่เรายังมีความหวัง ปัญหาที่โลกและมนุษย์กำลังเผชิญอยู่คือ ความตึงเครียดด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและครอบครัวที่ไม่ปกติสุข เศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง และการเมืองที่ไม่นิ่ง สิ่งเหล่านี้เปิดโอกาสให้เราได้หยุดคิด สำนึก ไตร่ตรองถึงสาเหตุของความทุกข์ และหาหนทางที่นำพาตัวเราไปสู่อนาคตที่สดใสกว่า หรือแม้แต่ปัจจุบันที่ดีกว่า นี่คือกฎพื้นฐานที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ตลอดพระชนม์ชีพ เพื่อชี้ทางให้สาวกของพระองค์จัดการกับความทุกข์ที่เกิดขึ้น
กฎพื้นฐานนี้จะช่วยนำทางพวกเราให้พ้นทุกข์ หลักธรรมทางพุทธศาสนา อันได้แก่ สติ สมาธิ และวิปัสสนา สามารถนำพาเรารอดพ้นจากทุกข์ และเมื่อนำมาใช้อย่างชาญฉลาด จะช่วยให้เราค้นพบหลักจริยธรรมโดยรวมและดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาท เป็นสิ่งที่พัฒนาสังคมของเราไปในทิศทางที่ดีและมีความสุข
เราต้องหาทางนำพุทธธรรม อาทิ การทำสมาธิ คำสอน เรื่องทุกข์และสุข และการไม่มีอคติ ข้อฝึกอบรมสติ 5 ประการ (หรือศีล 5) และการสอนเรื่องอาหาร 4 (เครื่องค้ำจุนชีวิต) มาใช้ เพื่อว่าสังคมของเราจะหันมาใส่ใจเรื่องการผลิตและการบริโภคมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทและคนเพิ่มความระวังในขบวนการผลิต ในการปล่อยสารพิษซึ่งทำลาย สภาพจิตและสิ่งแวดล้อมของเราให้น้อยลง ช่วยให้เกิดการบริโภคน้อยลงและเพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงร่างกายและจิตใจ เราในฐานะปัจเจกบุคคลและชาติ ควรนำธรรมะเรื่องความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคมาใช้ เพราะเราตระหนักดีว่า เรามีเพียงพอแล้ว
ในบ้าน พ่อและลูกต้องนำพุทธธรรมมาใช้ เพื่อจะมีเวลาให้กันและกันมากขึ้น (มากกว่านั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์) หันกลับมาพูดคุยกัน ด้วยการหัดเป็นผู้ฟังและพูดแสดงความรักกันมากขึ้น
ในห้องเรียนที่บรรยากาศเย็นชา ครูและนักเรียนสามารถเรียนรู้ที่จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน สร้างบรรยากาศ ที่อบอุ่นเหมือนอยู่ในครอบครัว ผ่อนคลายคลายเครียด ทำสิ่งดีๆที่สำคัญและมีประโยชน์ สำหรับผู้ที่จบการศึกษา ไม่เพียงเป็นคนทำงานในระบบทุนนิยม แต่เป็นคนที่มีเมตตาและอิสระที่จะให้ความร่วมมือมากกว่าทำงานให้เสร็จ
ในบริษัทห้างร้านและสถานที่ราชการที่มีการใช้อำนาจ เพื่อนร่วมงานและคนทำงานสามารถทำงานด้วยความใส่ใจ สร้างบรรยากาศฉันพี่น้อง มีความเห็นอกเห็นใจและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และนำพาสังคมไปในทิศทางที่ทำให้เกิดความสุขและความปรองดอง
ในปัจจุบัน ขณะที่เรามองหารูปแบบการพัฒนาใน 10 รูปแบบ อิสรภาพในการพัฒนาจึงมีค่าและเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง แต่คนหนุ่มสาวของเรา สภาพแวดล้อมอันเปราะบาง ปัจเจกบุคคล และร่างกายจิตใจ ต้องสูญเสียเท่าไหร่ จึงจะได้มันมา
ยังไม่สายเกินไปที่เราจะหยุดคิด ไตร่ตรอง และหาหนทางปฏิบัติที่ทำให้เกิดความรับผิดชอบและการกระทำที่มีจริยธรรม กลับมาสู่สังคม รัฐบาล ครอบครัว และชีวิต ของพวกเรา
• เตรียมพิมพ์บทความวิชาการ แจกงานวิสาขโลก
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า “ปัจจุบันมหาวิทยาลัย เปิดโอกาสให้ผู้บริหาร คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ เสนอบทความในหัวข้อหลักคือ พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรฐกิจ (Buddhist Virtues in Social and Economic Development) โดยมีหัวข้อย่อย คือ เรื่องภาวะผู้นำเชิงพุทธกับการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจ (Buddhist Leadersip and Socio-Economic Development), พุทธธรรมกับการสร้างสังคมปรองดอง (Building a Harmonious Society), พุทธธรรมกับการรักษา และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม (Environmental Presrvation and Restoration) และหัวข้อ พุทธิปัญญาเพื่อสังคมแห่งการตื่นรู้ (Wisdom for Awakening Society) โดยบทความที่ผ่านการพิจารณา ของคณะกรรมการจะได้รับรางวัลโล่เกียรติคุณ เกียรติบัตร และการตีพิมพ์เผยแผ่ในระดับนานาชาติ
• พระไตรปิฎกสากลใกล้แล้วเสร็จ
นอกจากนี้ พระธรรมโกศาจารย์ ยังเปิดเผยว่า ตามที่ประชุมชาวพุทธฯ ได้ตกลงจัดพิมพ์พระไตรปิฎก ฉบับสากล เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อนำไปแจกไว้ตามโรงแรมทั่วโลกนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำต้นฉบับ ประกอบด้วยฉบับภาษาไทย ภาษาสันสกฤต นิกายมหายาน นิกายเถรวาท และนิกายวัชรยาน มารวมเป็นเล่มเดียวให้มีความเป็นสากล โดยมีการตั้งคณะทำงานเป็นกองบรรณาธิการ และกำหนดวิธีการรวบรวมเนื้อหาพระไตรปิฎกฉบับสากล ส่วนขั้นตอนการจัดทำ ในเบื้องต้นกำหนดให้ทีมงานนำพระไตรปิฎกของ แต่ละนิกายที่เป็นภาษาบาลี นำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ และนำเข้าหารือที่ประชุม เพื่อหาข้อสรุปถึงการนำเนื้อ หาของทั้ง 3 นิกาย มารวบ รวมเรียบเรียงในฉบับสากล เมื่อที่ประชุมเห็นชอบให้การยอมรับในเนื้อหาพระไตรปิฎกฉบับสากลแล้ว ก็ให้ผู้นำชาวพุทธแต่ละประเทศนำไปแปลเป็นภาษาของตนเอง ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้เป็นการระดม นักวิชาการทุกฝ่าย รวมทั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
กำหนดการจัดกิจกรรมนานาชาติ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา
ในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2554 และเนื่องในโอกาสครบ 26 ศตวรรษแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
เรื่อง “พุทธธรรมกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ” (Buddhist Virtues in Socio-Economic Development)
วันที่ 12-14 พฤษภาคม พ.ศ.2554
ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ
วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2554 เวลา 08.00 - 19.00 น. (ณ ห้องประชุม มวก. 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
เวลา 08.00 น. ผู้เข้าร่วมประชุมเดินทางถึงห้องประชุม เวลา 09.00 น. สมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เดินทางถึงห้องประชุม พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ กล่าวถวายรายงาน สมเด็จพระพุฒาจารย์กล่าวสัมโมทนียกถา เวลา 09.30 น. พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวต้อนรับ
เวลา 09.45-10.15 น. ปาฐกถา เรื่อง “ภาวะผู้นำเชิงพุทธกับการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจ” (Buddhist Leadership and Socio-Economic Development) โดย Prof. Lewis Lancaster
เวลา 10.30-11.00 น. สุนทรพจน์จากผู้นำชาวพุทธ เวลา 13.00 น.สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดการประชุม เวลา 14.00-17.00น. ผู้นำชาวพุทธร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนพรรษา ๘๔ พรรษา และทรงเป็นผู้มีคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อพระพุทธศาสนา เวลา 19.00 น. การแสดงทางวัฒนธรรมนานาชาติ
วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 เวลา 08.00-15.30 น. (ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
เวลา 08.30 น. การสัมมนาและประชุมกลุ่มย่อย ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 พุทธธรรมกับการ พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ(Buddhist Virtues in Socio-Economic Development) กลุ่มที่ 2 ภาวะผู้นำเชิงพุทธกับการพัฒนาสังคม และเศรษฐกิจ (Buddhist Leadership and Socio-Economic Development) กลุ่มที่ 3 พุทธธรรมกับการสร้างสังคมปรองดอง (Building a Harmonious Society) กลุ่มที่ 4 พุทธธรรมกับการรักษา และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม (Environmental Preservation and Restoration) กลุ่มที่ 5 พุทธิปัญญาเพื่อสังคมแห่งการตื่นรู้ (Wisdom for Awakening Society) กลุ่มที่ 6 สัมมนาเชิงปฏิบัติการ พระไตรปิฎก สากล (Common Buddhist Text-CBT Workshops)
เวลา 13.00 น. การแสดงทางวัฒนธรรมนานาชาติ จากนั้นสัมมนาและประชุมกลุ่มย่อย(ต่อ) เวลา 15.30 น. เดินทางไปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อร่วมเจริญพระพุทธมนต์และเจริญจิตภาวนาถวายพระพรชัยมงคลและถวายพระราชกุศล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา84พรรษา
วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2554 เวลา 08.00-16000 น. (ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ และพุทธมณฑล)
เวลา 08.30 น. ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ เวลา 09.00 น. สุนทรพจน์และสาร จากบุคคลสำคัญ เวลา 10.40-11.30 น.ปาฐกถาพิเศษ โดย ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เวลา 13.00 น. ปาฐกถาพิเศษ โดยProf. Francois Chenet, Paris University และคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เวลา 13.30 น. รายงานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการของกลุ่มต่างๆ เวลา 15.00 น. ประกาศปฏิญญากรุงเทพมหานคร 2011/2554 จากนั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชกล่าวอนุโมทนากถาและกล่าวปิดการประชุม เวลา 16.00 น. ผู้เข้าร่วมประชุมเดินทางไปร่วมประกอบพิธีธรรมยาตรา และเวียนเทียน ณ ลานหน้าองค์พระศรีศากยะทศพลญาณประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 126 พฤศจิกายน 2554 โดย กองบรรณาธิการ)