xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปมานุสสติ ขั้นวิมุตติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในเบื้องต้นนี้ก็ขอเชิญชวนให้ระลึกถึงอนุสสติข้ออุปสมานุสสติ ความระลึกถึงอุปสมะ ความเข้าไปสงบ ระงับหรือธรรมเป็นเครื่องสงบระงับ ได้แสดงอธิบายความ สงบระงับในขั้นศีล ขั้นสมาธิ และขั้นปัญญามาแล้ว

ในวันนี้จะแสดงอธิบายอุปสมะ ความเข้าไปสงบระงับ ในขั้นวิมุตติ ความหลุดพ้น อันเป็นผลของศีล สมาธิ ปัญญานั้น

ความสงบระงับอันเป็นวิมุตติความหลุดพ้นนี้ ที่ท่านแสดงลักษณะไว้เป็นอย่างสูงว่า

ยทิทํ มทนิมฺมทโนถอนความเมา
ปิปาสวินโยกำจัดความกระหาย


และมีลักษณะที่ท่านแสดงไว้ต่อไปอีก แต่ในวันนี้จะแสดงอธิบายลักษณะที่ท่านอธิบายไว้ในสองคำนี้

ถอนความเมา

คำแรก “มทนิมฺมทโน ความถอนความเมาหรือเครื่อง ถอนความเมา หรือธรรมเป็นที่ถอนความเมา”

ความเมานั้นย่อมมีสองอย่าง คือ เมาทางกายอย่างหนึ่ง เมาทางใจอย่างหนึ่ง เมาสุรายาเสพติดให้โทษต่างๆ เป็นความเมาทางกาย

ความเมาทางใจนั้นย่อมมีอยู่เป็นอันมาก เป็นต้นว่า ความเมาในวัย คือ มัวเมาเลินเล่อเผลอเพลินอยู่ว่า เรายังอยู่ในวัยหนุ่มสาวยังอยู่ในวัยที่แข็งแรง เมาในความไม่มีโรค คือ มัวเมาเลินเล่อเผลอเพลินอยู่ว่า เรามีร่างกายที่มีอนามัยดี ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน เมาในชีวิต คือมีความเมาเลินเล่อเผลอเพลินอยู่ในชีวิตโดยไม่นึกถึงความตายว่าจะบังเกิดมี เมาในสมบัติ คือ ความพรั่งพร้อมด้วยลาภยศสรรเสริญสุขทั้งหลาย เหล่านี้เป็นความเมาทางใจแต่ละอย่าง

อันความเมาทางใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เมื่อมัวเมาเลินเล่อเผลอเพลินอยู่แล้ว ย่อมขาดสติ ขาดปัญญา ตกอยู่ในความเป็นผู้ประมาท อาจที่จะประกอบกรรมที่ชั่วที่ผิดต่างๆได้ ทางพระพุทธศาสนาจึงได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติเพื่อสงบความเมาทางใจนี้ เป็นต้นว่า

ตรัสสอนให้พิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เพื่อเป็นเครื่องสงบความเมาในวัย

ตรัสสอนให้พิจารณาเนืองๆ ว่าเราจะต้องมีพยาธิ คือ ความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้เป็นเครื่องสงบความเมาในความไม่มีโรค

ตรัสสอนให้พิจารณาเนืองๆ ว่าเรามีความตายเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ เป็นเครื่องสงบความเมาในชีวิต

ตรัสสอนให้พิจารณาเนืองๆ ว่าเราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น เป็นเครื่องสงบความเมาในลาภยศสรรเสริญสุข อันเป็นสมบัติ คือ ความพรั่งพร้อมทั้งหลาย


การหมั่นพิจารณาเนืองๆ ดังนี้ก็เป็นสติหรือเป็นอนุสสติ คือ ความระลึกถึงแก่เจ็บตาย ระลึกถึงความพลัดพรากแต่ละอย่าง

และนอกจากนี้ยังได้ตรัสสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้งห้าประการนี้ย่นลงก็เป็นนามรูป ว่าเป็นอนิจจะ ไม่เที่ยง ทุกขะ เป็นทุกข์ อนัตตา เป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตาตัวตน ก็เพื่อเป็นเครื่องสงบความเมาในขันธ์ทั้งห้าหรือในนามรูปอันนี้

การปฏิบัติเหล่านี้ก็นับเนื่องอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา ดังแสดงแล้วทั้งนั้น และเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาซึ่งได้ปฏิบัติอบรมย่อมเป็นเครื่องสงบความเมาให้หมดไปได้โดยลำดับ จนเป็นผู้สร่างเมา เมื่อสร่างเมาขึ้นมาแม้ว่าจะมีความเมาอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่เมาจนหมดสติ ยังมีสติอยู่บ้าง สร่างความเมาขึ้นมาก็ย่อมจะมองเห็นสัจจะคือความจริง ความจริงตามคติธรรมดา แก่ เจ็บ ตาย และความพลัดพราก ตลอดจนถึงความจริงที่เป็นสัจจะก็คติธรรมดา นั่นแหละอันสูงขึ้นไป รวมเป็นทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ มองเห็นขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้งห้าประการ หรือนามรูปอันนี้ว่าเป็นตัวทุกข์ เพราะตกอยู่ในลักษณะแห่งความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตา

เมื่อเป็นดังนี้จิตใจก็จะสว่างไสวขึ้น สงบขึ้น เพราะได้เริ่มมองเห็นความจริง แต่ว่าเพียงสร่างเมา ครั้นได้ปฏิบัติอบรมในศีลสมาธิปัญญายิ่งๆขึ้นไปจนหายเมา หมดความเมา เป็นผู้มีปัญญาคือความรู้ทั่วถึงเต็มที่ มีวิมุตติ ความหลุดพ้นเต็มที่ ย่อมจะพ้นจากความทุกข์ทั้งหมด ความยึดเหนี่ยวเกี่ยวเกาะทั้งหมด เพราะเป็นผู้หายเมาด้วยประการทั้งปวง มีสติเต็มที่ มีปัญญาเต็มที่ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งมีวิชชาวิมุตติ

เมื่อเป็นดังนี้แล้วจึงเป็นจิตใจที่เต็มไปด้วยความรู้ความพ้น เป็นจิตใจที่สว่าง แจ่มใส เป็นจิตใจที่สงบเย็นอย่างยิ่ง

ลักษณะดังกล่าวนี้ ผู้ปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญามา แม้ว่าจะยังไม่มากนัก แต่ว่าได้พบกับผลของศีล สมาธิ ปัญญาขึ้นมาบ้างแล้ว ย่อมจะพบกับความสร่างเมาแห่งจิตไม่น้อยก็มาก อันมีลักษณะที่ประกอบไปด้วยสติปัญญา ความพ้น ความสงบดังกล่าว

และเมื่อปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญามากขึ้นเพียงใด ก็จะพบกับความสร่างเมาของจิตใจมากเข้าเท่านั้น

และก็ให้นึกคาดดูว่า เมื่อหายเมาด้วยประการทั้งปวงแล้ว จิตบริสุทธิ์อย่างยิ่ง จะเป็นจิตที่เต็มไปด้วยสติปัญญา เต็มไปด้วยความสงบความเย็นเพียงใด

ลักษณะดังกล่าวนี้รวมอยู่ในคำว่าสันติ และอุปสมะ ความสงบระงับหรือความสงบ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 125 เมษายน 2554 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น