xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อุปมานุสสติ ขั้นวิมุตติ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กำจัดความกระหาย

อีกลักษณะหนึ่ง “ปิปาสวินโย กำจัดความกระหาย” ความกระหายในที่นี้หมายถึงความกระหายทางใจ เพราะว่าความกระหายก็มีสองอย่างเหมือนกัน คือ

ความกระหายทางกาย เช่น ความหิวกระหายในอาหาร ต้องการที่จะบริโภค หรือว่าในน้ำดื่ม ต้องการที่จะดื่มน้ำ

ความกระหายทางใจ หมายถึงความกระหายในกามทั้งหลาย กามนั้นมีสองอย่าง คือ กิเลสกาม กิเลสที่เป็นเหตุให้ใคร่ให้ปรารถนาต้องการ เช่น ราคะ ความติดใจยินดี วัตถุกาม พัสดุที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง กามทั้งสองนี้ย่อมประกอบกันอยู่

กิเลสกามเป็นต้นว่าราคะความติดใจยินดีย่อมปรากฏ ในรูปที่ตาเห็น ในเสียงที่หูได้ยิน ในกลิ่นที่จมูกได้ทราบ ในรสที่ลิ้นได้ทราบ ในสิ่งที่กายถูกต้องซึ่งกายได้ถูกต้อง ฉะนั้น รูปเป็นต้น เหล่านี้จึงได้เป็นกามขึ้นมา เรียกว่าเป็น พัสดุกามหรือวัตถุกาม วัตถุหรือพัสดุที่น่าใคร่น่าปรารถนา น่าพอใจทั้งหลาย

และเมื่อพูดว่ากามโดยปกติ ก็หมายถึงทั้งสองอย่างนี้ประกอบกันอยู่ แต่ว่าบางทีก็หมายถึงวัตถุกาม คือวัตถุที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ ดังในที่นี้ความกระหายอันหมายถึงความกระหายในกามทั้งหลาย ความกระหายนั้นก็กล่าวได้ว่ากิเลสกาม คือเป็นกิเลสที่เกิดขึ้นในใจ อันเป็น เหตุให้ใคร่ให้ปรารถนาให้กระหายในกามทั้งหลาย ก็คือในพัสดุกาม คือในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจทั้งหลาย

จิตที่มีความกระหายอยู่ในกามทั้งหลาย ย่อมเป็นจิตที่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย เป็นจิตที่ร้อน เป็นจิตที่ไม่สงบ เป็นจิตที่เศร้าหมองและทั้งประกอบด้วยความทุกข์ต่างๆ

อันความเดือดร้อนไม่สงบทั้งหลาย ความทุกข์ทั้งหลาย ย่อมเกิดเพราะความกระหายในกามทั้งหลายอยู่เป็นอัน มาก และอาการที่เป็นความกระหายนี้มีลักษณะที่ต้องการจะได้ มีลักษณะที่หวงแหน มีลักษณะที่ไม่อิ่มไม่เต็มไม่พอเพราะว่าต้องการอยู่เสมอ ต้องการรูปที่น่าใคร่ปรารถนา น่าพอใจ ครั้นได้รูปอันนี้มาแล้วก็ต้องการรูปอีกอันหนึ่งใหม่อันเป็นที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ ต้องการเสียงอันนี้ที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ และต้องการเสียงอันอื่นๆ ที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ ได้หนึ่งก็อยากได้สอง ได้สองก็อยากได้สาม ดังนี้เป็นต้น และยิ่งปล่อยตามใจที่กระหายดังนี้ ความกระหายก็ยิ่งมาก

เพราะฉะนั้นจึงปรากฏว่ามีความไม่อิ่มไม่เต็มไม่พออยู่เสมอ จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า “ผู้มีความกระหาย ในกามทั้งหลายนี้ แม้จะได้ภูเขาเป็นทองคำทั้งภูเขาหนึ่งแล้ว ก็ยังหาพอไม่ ต้องการที่จะได้ภูเขาทองคำลูกที่สองต่อไปอีก” ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงเป็นจิตใจที่ยากจน เพราะความไม่อิ่มไม่เต็มไม่พอ จึงเป็นจิตใจที่มีความทุกข์ ความร้อนความกระวนกระวายด้วยประการทั้งปวง

แต่ครั้นกำจัดความกระหายทั้งหลายไปโดยลำดับด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ศีลนั้นก็กำจัดความกระหายในกามอย่างหยาบ คือว่า อยากได้ทรัพย์ก็ให้แสวงหาโดยทางที่ชอบ อย่าไปปล้นสะดมลักของเขา อย่าไปฆ่าเขา เมื่อมีคู่ครองก็ยินดีอยู่ในคู่ครองของตน ไม่ไปนอกจิตนอกใจกัน เมื่อพูดอะไรก็พูดความจริงที่เป็นประโยชน์และถูกกาลถูกเวลา และงดเว้นจากการดื่มน้ำเมาอันเป็นฐานแห่งความประมาท ดังนี้เป็นต้น ก็เป็นอันว่าได้กำจัดความกระหายในกามทั้งหลายในทางที่ผิด

เมื่อยังมีความกระหายอยู่ก็แสวงหาในทางที่ถูกที่ชอบ ไม่ละเมิดขอบเขตของศีลออกไป เมื่อปฏิบัติในสมาธิก็เป็นอันระงับในกามทั้งหลายที่ยังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ ปรากฏเป็นกามฉันท์ พยาบาท เป็นต้น จะทำให้จิตใจสงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อปฏิบัติในปัญญาก็เป็นเครื่องกำจัดกามอย่างละเอียดซึ่งเป็นตัณหาอุปทานหรือว่าเป็นราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย หรือกามาสวะ ภวาสวะ อิชชาสวะ ซึ่งนอนจมหมักหมมอยู่ในจิตใจ จึงทำให้จิตใจสงบจากความกระหายในกามทั้งหลายโดยลำดับ

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา แม้ปฏิบัติมาในเบื้องต้นก็ย่อมจะพบความสงบจากความกระหายในกามทั้งหลายตามภูมิตามชั้น และเมื่อเป็นดังนี้ก็เปรียบเทียบดูว่า เมื่อจิตใจตกอยู่ในกามทั้งหลายนั้นมีความทุกข์เพียงไร แต่เมื่อชนะใจของตัวเองได้ ชนะความกระหายได้ มีความสงบแล้ว มีความสุขเพียงไร จะรู้สึกว่า ศีลเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอันสูงเป็นขอบเขตแห่งความสงบ สมาธิก็เป็นคุณค่าอันสูงเป็นแดนแห่งความสงบ ปัญญาก็มีคุณค่าอันสูงเป็นแดนแห่งความสงบ

เมื่อมาอยู่ในศีล ในสมาธิในปัญญา ย่อมหายหิว หายกระหาย หายพลุ่งพล่านใจ มีความสงบมีความสุขเป็นผล

ความสงบความสุขที่เป็นผลพร้อมทั้งมีความอิ่มความเต็มความพอประกอบด้วยปีติปราโมทย์ เป็นต้น อันเป็นผลของการปฏิบัติทั้งปวงนี้ ย่อมรวมอยู่ในคำว่าความสงบอันเป็นสันติหรืออุปสมะ อันบังเกิดขึ้นจากความกำจัดในความกระหายในกามทั้งหลาย และความสงบดังกล่าวนี้ย่อมเป็นตัวกำจัดความกระหายในกามทั้งหลายนั้นเอง เพราะฉะนั้นก็ให้หมั่นระลึกพิจารณาตรวจดูถึงผลของการปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญาแม้ดังที่กล่าวมา อันปรากฏเป็นความสร่างเมาหายเมา อันปรากฏเป็นความกำจัดความกระหายในกามทั้งหลาย จิตใจจึงแจ่มใส บริสุทธิ์ อิ่ม เต็ม พอไม่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระวนกระวาย ไม่เร่าร้อน เหล่านี้เป็นลักษณะของสันติของอุปสมะ ที่เป็น ผลของศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งอย่างสูงก็เป็นวิมุตติความหลุดพ้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 126 พฤษภาคม 2554 โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น