xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารบ้านเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระไพศาล  วิสาโล
• "ศูนย์คุณธรรมฯ" จับมือ 17 องค์กร
จัดเครือข่ายห้องสมุดศูนย์คุณธรรม


น.ส.นราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้องค์การมหาชน เปิดเผยว่า ขณะนี้ผลการดำเนินงานโครงการเครือข่ายห้องสมุดศูนย์คุณธรรมประจำปีงบประมาณ 2554 มีหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมจำนวน 17 หน่วยงาน ได้แก่ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท สระบุรี, หอสมุดกลาง สำนักวิทยบริการ มรภ. สุราษฎร์ธานี, คณะวิทยาการจัดการ มรภ. เชียงใหม่, สำนักวิทยบริการฯ มรภ.เพชรบุรี, สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยนครพนม, สำนักวิทยบริการ มรภ.เทพสตรี ลพบุรี, สำนักวิทยบริการ มรภ.อุตรดิตถ์, ห้องสมดุประชาชนอำเภอโพทะเลพิจิตร, ห้องสมุดประชาชน เทศบาลนครอุดรธานี, ห้องสมุดประชาชนจังหวัดระนอง, ห้องสมุดประชาชนอำเภอแม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน, หอสมุดรัชมังคลาภิเษก วังไกลกังวล ประจวบคีรีขันธ์, โรงเรียนดัดดรุณี ฉะเชิงเทรา, โรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม พิจิตร, ห้องสมุดสำนักงบประมาณ สำนักนายกรัฐมนตรี, สมาคมสโมสร กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง และศูนย์ศิลปธรรม ปัญญาประทีป จันทบุรี

โดยศูนย์คุณธรรมได้จัดการประชุมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานโครงการเครือข่ายห้องสมุดศูนย์คุณธรรม ประจำปีงบประมาณ 2554 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

• พระไพศาล วิสาโล คว้ารางวัล
นักเขียนอมตะ ปี 53


นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางมูลนิธิอมตะได้ประกาศรางวัลแห่งเกียรติยศ “นักเขียนอมตะ” ประจำปี 2553 ให้แก่พระไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ทั้งนี้ ด้วยมีจุดมุ่งหมายยกย่องนักเขียนไทยที่มีความสามารถให้ปรากฎ และเป็นกำลังใจแก่นักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าอันควรแก่การนำเสนอ เพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงสู่สังคมไทยและ สากล โดยนักเขียนอมตะจะได้รับเงินสนับสนุน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) พร้อมเหรียญทองคำแกะสลักรูปนางอินทร์ ซึ่งเป็นต้น ตระกูลกรมดิษฐ์ และใบประกาศเกียรติคุณจากนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี

สำหรับรางวัล “นักเขียนอมตะ” ดำเนินการมาเป็นปีที่ 5 โดยนักเขียน อมตะคนแรกปี 2547 คือนายศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์หรือ “เสนีย์ เสาวพงศ์” ต่อมาคือนายโรจ งามแม้น หรือ “เปลว สีเงิน” อาจารย์โกวิท อเนกชัย หรือ “เขมานันทะ” และอาจารย์สมบัติ พลายน้อย หรือ “ส.พลายน้อย”

• สิ้นรองสมเด็จ "พระพรหมกวี"
พระนักการศึกษ


นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวภายหลังการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 54 ว่า พศ.ได้รายงานที่ ประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) เพื่อทราบ กรณีพระพรหมกวี (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ ป.ธ.8) เจ้าคณะภาค 10 หัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 6 มหานิกาย เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ อายุ 78 ปี พรรษา 57 ได้ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ขณะเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี และได้มรณภาพที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมมส.ได้แสดงความเสียใจ กับการสูญเสียพระนักการศึกษา ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์ ขณะเดียวกันที่ประชุมมส.ได้พิจารณาแต่งตั้ง พระราชโมลี (พรหมา สัปปัญโญ) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ในฐานะรองเจ้าคณะภาค 10 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะภาค 10 นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยอาศัยอำนาจตาม ความในข้อ11แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่23 (พ.ศ.2541) ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์

อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับศพพระพรหมกวีไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ 7 วัน และทรงพระราชทานโกฐ 8 เหลี่ยม พร้อม ฉัตรเบญจา โดยศพของพระพรหมกวี จะตั้งสวดพระอภิธรรม 100 วัน

สำหรับประวัติพระพรหมกวี เดิม ชื่อวรวิทย์ ธรรมวรางกูร เกิดเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. พ.ศ. 2476 ที่บ้านหนองบัว ต. นนทรี อ.เมืองกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี อุปสมบทเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2496 ที่วัดอินทรแบก อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี จบชั้นประถม ปีที่ 4 นักธรรมเอก และสอบได้ ป.ธ.8 ส่วนสมณศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานนั้น พ.ศ. 2517 เป็นพระศรีสุธรรมมุนี พ.ศ.2523 เป็นพระราชเมธี พ.ศ.2539 เป็นพระเทพปริยัติสุธี พ.ศ.2545 เป็นพระธรรมปริยัติโสภณ และ พ.ศ.2553 ได้รับการโปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะชั้นพรหมที่พระพรหมกวี ซึ่งถือเป็นราชทินนามใหม่แห่งรัชกาลปัจจุบัน ที่ไม่เคยตั้งและพระราชทานให้พระสงฆ์รูปใดมาก่อน พระพรหมกวีได้ชื่อว่าเป็นเจ้าสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ที่สอบไล่ได้มากที่สุดของประเทศ ทั้งยังมีความเชี่ยวชาญในด้านกฎหมายการปกครองคณะสงฆ์ และการศาสนศึกษา โดยได้เขียนหนังสือและตำราเรียนไว้หลายเล่ม

• เสนอ "กินเนสส์บุ๊ค" บันทึก "หลวงตามหาบัว"
บริจาคทองมากที่สุดในโลก


นายถนอม บุตรเรือง อดีตผู้บริหารสำนักผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) กล่าวว่า ตนเองพร้อมคณะของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำหนังสือยื่นใบสมัครถึงหนังสือบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ หรือกินเนสส์บุ๊ค (Guinness Book of World Records) ซึ่งเป็นหนังสือที่บันทึกที่สุดในโลกด้านต่างๆ โดยออกเป็นรูปแบบหนังสือรายปี เพื่อลงบันทึกเรื่องราวของพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี เป็นเอกชนหรือ ปัจเจกบุคคลเพียงคนเดียว ที่สามารถรวบรวมทองคำภายใต้โครงการผ้าป่าช่วยชาติ ได้ทั้งหมดกว่า 12 ตัน มอบให้แก่รัฐ โดยทองที่มอบให้เป็นทองคำบริสุทธิ์ 99.99 % ตามมาตรฐานสากล แต่ละแท่งมีน้ำหนัก 12.5 กิโลกรัม โดยขณะนี้ทางกินเนสส์บุ๊คได้รับใบสมัครและแจ้งตอบกลับมาว่าทางกินเนสส์บุ๊คขอเวลาพิสูจน์เรื่องราวตามใบสมัคร คาดจะใช้เวลา 3 เดือนจะทราบผล ซึ่งการเสนอหลวงตาบัวบันทึกในกินเนสส์บุ๊คครั้งนี้ เพื่อให้โลกได้รับรู้ถึงความประเสริฐของหลวงตามหาบัวที่ท่านได้มีต่อประเทศไทยและเป็นการบูชาคุณต่อหลวงตามหาบัว เพราะผลงานเช่นนี้ไม่รู้ว่าในรอบ 100 ปีจะมีใครทำได้เหมือนหลวงตามหาบัวบ้าง

• กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิมพ์หนังสือและแผ่นภาพ
9 พระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน


นายนิพิฏฐ์อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดพิมพ์หนังสือและแผ่นภาพ ชุด 9 พระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนที่ต้องการได้เก็บไว้สักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งการพิมพ์หนังสือและแผ่นภาพนี้ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการที่กรมศิลปากรจัดกิจกรรมฤกษ์ดีปีใหม่ “ไหว้พระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน” โดยอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญ 9 องค์ของประเทศ ได้แก่ 1. พระพุทธสิหิงค์ 2. พระหายโศก 3. พระไภษัชยคุรุ 4. พระชัยลงอักขระขอม 5. พระพุทธรูป ทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ 6. พระพุทธรูปหลวงพ่อนาก 7. พระพุทธรัตนมหามุนีพระแก้วน้อย ส่วนองค์ที่ 8 และ 9 เป็นพระพุทธรูปคู่ไม้แก่นจันทน์แดง มาให้ประชาชนสักการะ ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

กรมศิลปากรจึงจัดพิมพ์หนังสือ 10,000 เล่ม ราคา 40 บาท และแผ่นภาพ 10,000 แผ่น ราคาแผ่นละ 30 บาท ใช้กระดาษอาร์ตอย่างดี พิมพ์สี่สี สวยงาน โดยเนื้อหาแสดงความสำคัญ คติความเชื่อ และประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปมงคลโบราณทั้ง 9 องค์ ผู้สนใจสอบถามได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โทร. 0-2224-1370, 0-2222-3569

• เอแบคโพลล์เผย เยาวชนกว่า 60% ไม่รู้มาฆบูชาวันไหน
กรมศาสนาวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสร้างจิตสำนึก


ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องความรู้ความเข้าใจของเด็กเยาวชนไทยเกี่ยวกับวันมาฆบูชา และความตั้งใจที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ในวันมาฆบูชา โดยศึกษาจากเยาวชนอายุ 12-24 ปี ที่พักอาศัย อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริ-มณฑล จำนวน 1,325 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2554

ผลสำรวจเมื่อสอบถามการรับรู้ในหลักธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในวันมาฆบูชานั้น พบว่ามีเพียงร้อยละ 37.3 เท่านั้นที่สามารถระบุได้อย่างถูกต้องว่าคือ “โอวาทปาฏิโมกข์” ในขณะที่ร้อยละ 62.7 ไม่ทราบ ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อได้สอบถามว่าหลักธรรมโอวาทปาฏิโมกข์ หมายถึงอะไร พบว่า มีเพียงร้อยละ 27.7 เท่านั้นที่สามารถสรุปใจความสำคัญของหลักธรรมดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง ส่วนร้อยละ 12.9 ระบุความหมายของโอวาทปาติโมกข์ในแบบอื่นๆ

สำหรับประเด็นที่น่าพิจารณา คือ สิ่งที่เยาวชนไทยต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อส่งเสริมงานด้านพระพุทธศาสนา พบว่า ร้อยละ 65.7 ระบุจัดให้มีงานนิทรรศการ / กิจกรรมทางศาสนาในวันสำคัญเป็นประจำ ร้อยละ 32.9 ระบุรณรงค์ให้กลุ่มเยาวชนหันมาสนใจและเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา ให้มากขึ้น อาทิ ทำบุญตักบาตร สวดมนต์ ถือศีล 5 เป็นต้น ร้อยละ 15.5 ระบุจัดสรรงบประมาณในการบำรุงรักษาศาสนสถานต่างๆ ร้อยละ 1.5 ดูแลพระภิกษุ / สามเณรไม่ให้ทำผิดศีลธรรม และร้อยละ 1.4 ระบุอื่นๆ อาทิ การรักษาความปลอดภัยภายในวัด / ให้จัดกิจกรรมในวัดให้มากขึ้น เป็นต้น

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า จากผลการสำรวจครั้งนี้ พบว่า ความรู้ความเข้าใจและการให้ความสำคัญของเด็กและเยาวชนต่อวันมาฆบูชาอยู่ในเกณฑ์น้อย และเมื่อพิจารณาด้านการประพฤติปฏิบัติตนทางศาสนาแล้วพบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะเด็กมีความตั้งใจน้อยมากในเรื่องการเข้าวัดฟังเทศน์ ฟังธรรม และการนั่งสมาธิเจริญภาวนา

ส่วนนายสด แดงเอียด อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า จากผลสำรวจดังกล่าว อาจเป็นเพราะสังคมมีปัญหาความวุ่นวายมาก มาย ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ใหญ่ ควรรณรงค์สร้างจิตสำนึก และเร่งส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้กับเด็กและเยาวชน โดยเปิดพื้นที่ทำกิจกรรมภายในวัดให้มากขึ้น ทั้งนี้ กรมศาสนาจะจัดโครงการให้เยาวชนทุกศาสนาได้มีการพบปะกัน เพื่อเปิดให้เด็กได้แสดงออกเกี่ยวกับศาสนาของตนเอง

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าควรเพิ่มการเรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในหลักสูตรให้มากขึ้น ขณะเดียวกันสื่อต่างๆ เป็นส่วนสำคัญ ในการส่งเสริมพระพุทธศาสนา เพราะเป็นช่องทางการสื่อสารที่รวดเร็ว และเยาวชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก จึงควรเพิ่มรายการด้านคุณธรรมจริยธรรมให้มากขึ้น

• มส. เห็นชอบโครงการธรรมสามัคคี
ถวายในหลวง


นายอำนาจ บัวศิริ ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมมหาเถรสมาคม(มส.)มีมติให้ความเห็นชอบตามที่คณะผู้ประสานงานโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย เสนอแนวทางการดำเนินงานกิจกรรมโครงการธรรมสามัคคี ทำดีถวายในหลวง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 โดยจะมีการดำเนินงาน 5 กิจกรรม ประกอบด้วย

1. กิจกรรม “เผยแผ่ธรรมทั่วไทย” โดยโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยร่วมกับศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) จัดให้มีพระภิกษุและบุคลากรด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปบรรยายธรรม ปาฐกถาธรรม สนทนาธรรม สอนปฏิบัติธรรม ในกลุ่มนิสิต นักศึกษา ระดับอุดมศึกษา ในมหาวิทยาลัยของรัฐ 24 แห่ง และสถาบันการศึกษาชั้นสูง 4 เหล่าทัพ จำนวน 4 สถาบัน รวม 28 แห่ง จัดกิจกรรมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตลอดปี และประชาชนที่เป็นพนักงาน ลูกจ้าง ในสถานประกอบการ โรงงาน บริษัท ห้างร้าน จำนวน 21 แห่ง จัดกิจกรรมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตลอดปี 2. กิจกรรม “ธรรมรวมใจ คนไทยปฏิบัติธรรม” โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดให้มีการท่องเที่ยวเป็นคณะธรรมจาริกเดินทางไปศึกษาปฏิบัติธรรมในวัด / สำนักปฏิบัติธรรมที่มีความพร้อมสามารถ ที่จะรองรับการเข้าวัดปฏิบัติธรรมของประชาชนได้เป็นจำนวนมาก เป้าหมาย จำนวน 84 วัด / สำนัก

3. กิจกรรม “ฟังเทศน์ฟังธรรมทั่วไทย” โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยจัดพิมพ์คู่มือการบรรยายธรรม และรณรงค์ให้มีการฟังธรรม โดยจัดหัวข้อเนื้อหาบรรยายในงานต่าง ๆ โดยเฉพาะงานศพ เพื่อให้เกิดกระแสเรื่องการฟังธรรมในงานบุญ 4. กิจกรรม “ทอดผ้าป่าโครงการทุนเล่าเรียนหลวงฯ” โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จัดให้มีกิจกรรมการทอดผ้าป่า จำนวน 84,000 กอง กองละ 1,000บาท เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมงานเฉลิมพระเกียรติฯ และสมทบทุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงฯ และ 5. จัดทำฐานข้อมูลและบริการ “พุทธสนเทศ” โดยจะจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับวัด / สำนักปฏิบัติธรรมทั่วประเทศที่มีความพร้อมด้านพระวิปัสสนาจารย์ สถานที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่จะไปปฏิบัติธรรม

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 124 มีนาคม 2554 โดย มรรคา)
พระพรหมกวี (วรวิทย์  คงฺคปญฺโญ)
หนังสือและแผ่นภาพ 9 พระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน
หนังสือและแผ่นภาพ 9 พระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน
กำลังโหลดความคิดเห็น