xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกคำร้องถอนประกาศ พ.ร.บ.มั่นคง-พธม.สู้ต่อยื่นศาล รธน.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลแพ่งยกคำร้อง “ประพันธ์ - ปานเทพ” ฟ้องเพิกถอนประกาศตาม พ.ร.บ.มั่นคงฯ ชี้ยังไม่มีเหตุชัดแจ้ง พร้อมยกคำร้อง “ไชยวัฒน์-เครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ” ฟ้องล้มประกาศตาม พ.ร.บ.มั่นคง ทนายพันธมิตรฯยันสู้ต่อส่งศาล รธน.ตีความประกาศและข้อกำหนด 6 ฉบับ ขัด รธน.หรือไม่

วันนี้ ( 4 มี.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 612 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ 630/2554 ที่นายประพันธ์ คูณมี กรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ยกฟ้องไปแล้ว)และพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิดจากการออกประกาศและข้อกำหนดตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศและข้อกำหนดทุกฉบับ และขอให้ไต่สวนฉุกเฉินเพื่อระงับการดำเนินการใดๆ ตามพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งได้มีการประกาศต่ออายุจนถึงวันที่ 25 มี.ค.

โดยศาลพิเคราะห์คำฟ้อง คำร้องขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาคำร้องขอในเหตุฉุกเฉิน และคำชี้แจงข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 1และ3 ตลอด จนพยานหลักฐานทั้งหลายของโจทก์ทั้ง 2 ที่ได้ในทางไต่สวนแล้ว เห็นว่า กรณีตามคำร้องเป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำซ้ำหรือ กระทำต่อไป ซึ่งการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง และเป็นการยื่นคำร้องโดยอ้างเหตุฉุกเฉิน การที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องทั้งสองฉบับได้ จะต้องได้ความว่าคดีมีเหตุฉุกเฉิน และคำขอของโจทก์ทั้ง2 มีเหตุผลสมควรอันแท้จริงเสียก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255,266 และ 267

ในส่วนคดีมีเหตุฉุกเฉินหรือไม่นั้น พยานหลักฐานของโจทก์ทั้ง 2 ไม่ปรากฏโดยชัดแจ้งถึงพฤติการณ์อันเป็นเหตุฉุกเฉินซึ่งจำเป็นต้องให้ศาลมีคำ สั่งคุ้มครองชั่วคราวแก่โจทก์ทั้ง2เป็นการเร่งด่วน หากรอไว้จะเกิดความเสียหายและเดือดร้อนแก่โจทก์ทั้งสองเกินสมควร และไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้แต่อย่างใด ทั้งเมื่อการพิจารณาจากระยะเวลาในการยื่นคำร้อง โดยนับจากวันที่จำเลยที่ 1และ3 ออกประกาศ เมื่อวันที่ 8 และ 9 ก.พ.54 ตามลำดับ จนถึงวันที่โจทก์ทั้ง 2 มายื่นคำร้องในวันที่ 24 ก.พ.54 เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในเหตุฉุกเฉิน เป็นเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 15 วัน แม้ต่อมาประกาศที่ออกเมื่อวันที่ 8ก.พ.54 ของจำเลยที่ 1 จะสิ้นผลลง และจำเลยที่ 1 ออกประกาศฉบับใหม่ในวันที่ 22ก.พ.54 แต่ข้อความในประกาศทั้งสองฉบับเหมือนกันทุกประการ และในประกาศฉบับลงวันที่ 22 ก.พ.54 ได้กำหนดให้ประกาศที่ออกเมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป ดัง นั้นประกาศของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 22 ก.พ.จึงมีผลเพียงการขยายระยะเวลาของประกาศฉบับลงวันที่ 8 ก.พ.54 ให้มีผลบังคับใช้ต่อไปอีกจนถึงวันที่ 25 มี.ค.54เท่านั้น ความเสียหายและเดือดร้อนของโจทก์ทั้งสองอันเกิดจากผลของประกาศจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ทั้ง2อ้าง จึงต้องมีอยู่ตั้งแต่ออกประกาศฉบับแรกเมื่อวันที่ 8 ก.พ.54แล้ว พฤติการณ์แห่งคดีจึงยังไม่พอฟังได้ว่าคดีมีเหตุฉุกเฉิน

ส่วนคำขอมีเหตุผลสมควรอันแท้จริงหรือไม่นั้น เห็นว่า การ ที่จำเลยที่ 1และ3 ได้ออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 แม้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องจำเลยที่ 1และ3 ขอให้ศาลเพิกถอนประกาศและข้อกำหนดต่างๆทุกฉบับที่จำเลยที่ 1และ3 ออกโดยอ้างว่าเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งห้ามให้จำเลยที่ 3 ออกคำสั่งใดๆที่อาศัยอำนาจตามความในวันประกาศดังกล่าว แต่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าการออกประกาศไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคำพิพากษาหรือ คำสั่งตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้ง2 ประกาศทั้งหลายที่ออกโดยจำเลยที่ 1และ3 ยังคงมีผลบังคับใช้กับโจทก์ทั้ง2และบุคคลทั่วไปได้ โจทก์ทั้ง2จึงย่อมมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง การที่โจทก์ทั้ง2ยื่นคำร้องขอให้ใช้วิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้ห้ามจำเลยที่ 1และ3 บังคับใช้ประกาศกับโจทก์ทั้ง2 ก็เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะไม่ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว โดยยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พฤติการณ์แห่งคดียังไม่พอฟังได้ว่ามีเหตุสมควรอันแท้จริง

ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้องขอไต่สวนในเหตุฉุกเฉิน และคำร้องขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์ทั้ง 2 และให้นัดชี้สองสถานในวันที่ 9 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

วันและเวลาเดียวกัน ที่ห้องพิจารณาคดี 701 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำ 663/2554 ที่นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทยและสมาชิกเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรัก ชาติ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย และนายทศพล แก้วทิมา กรรมการเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ผู้ถูกออกหมายเรียกลำดับที่ 10 ข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นจำเลยที่ 1-2 เรื่องละเมิด ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ประกาศทุกฉบับที่ออกตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นโมฆะ

โดย ศาลพิเคราะห์คำฟ้อง คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว คำขอในเหตุฉุกเฉิน และพยานหลักฐานในทางไต่สวนของโจทก์ทั้ง 3 และคำชี้แจงข้อเท็จจริงของจำเลยทั้ง 2 แล้ว ได้ความว่า จำเลยที่1ออกประกาศเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 และวันที่ 22 ก.พ.54 ประกาศเรื่องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการ รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เป็นเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 และวันที่ 22 ก.พ.54 และกำหนดออกตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 และเมื่อวันที่22ก.พ.54 ต่อมาวันที่ 9 ก.พ.54 จำเลยที่ 2 ออกประกาศฉบับที่ 1/2554 เรื่องห้ามบุคคลเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนดฉบับที่2/2554เรื่องห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือใช้ยาน พาหนะ โดยออกในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยรักษาความสงบเรียบร้อยตามประกาศของจำเลย ที่ 1 ข้างต้น ซึ่งประกาศของจำเลยที่1กล่าว ถึงว่ามีสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม บุคคลคลบางกลุ่มได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนโดยการปิดการจราจร และมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวตามเส้นทางรวมทั้งมีการปิดล้อมและบุกยึดสถานที่ ราชการสำคัญใน กรุงเทพฯลฯ ซึ่งได้ความอีกว่าโจทก์ทั้ง3และกลุ่มเครือข่ายประชาชนหัวใจรักชาติ ได้ร่วมชุมนุมบริเวณประตู4 ด้านข้างทำเนียบรัฐบาล ถ.พิษณุโลก ตั้งแต่สะพานชมัยมรุเชษฐ์ถึงแยกมิสกวัน นับตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 53 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการปักปันเขตแดน เห็นว่า จำเลยที่1 ได้ออกประกาศเมื่อวันที่8 ก.พ.54โดยมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 9 ก.พ.54ถึงวันที่ 23 ก.พ.54 ทั้งยังได้ออกประกาศต่อมาในวันที่ 22 ก.พ.54 โดยให้มีผลใช้บังคับระหว่างวันที่ 24 ก.พ. 54 ถึงวันที่ 25 มี.ค.54 ซึ่งมีเนื้อความต่อเนื่องกับเหตุการณ์ตามประกาศฉบับแรกเพื่อให้มีผลใช้ บังคับต่อเนื่องกัน แต่ปรากฏว่าโจทก์ทั้ง 3 และกลุ่มเครือข่ายประชาชนหัวใจรักชาติ ไม่ได้ยื่นคำฟ้อง คำร้องขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา และคำร้องขอในเหตุฉุกเฉินนับตั้งแต่ประกาศฉบับแรกมีผลใช้บังคับไม่ แต่กลับยื่นคำฟ้อง คำร้องขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา และคำร้องในเหตุฉุกเฉินเมื่อวันที่ 25 ก.พ.54 หลังจากที่ประกาศฉบับแรกใช้บังคับแล้ว 16 วัน กรณียังไม่มีเหตุฉุกเฉิน

นอกจากนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้ง 3 ที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งประกาศของจำเลยที่1 เป็นโมฆะและห้ามไม่ให้จำเลยที่2 ออกคำสั่งใดๆ ที่อาศัยอำนาจตามความในประกาศที่ออกและประกาศโดยจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 และ วันที่ 22 ก.พ.54 อีกต่อไป เห็นว่า เมื่อศาลยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยว่าประกาศของจำเลยที่1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่สามารถบังคับใช้ได้อีกต่อไป ประกาศที่ออกนั้นจึงยังมีผลบังคับใช้ตามที่พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ให้อำนาจไว้ ดังนั้น การที่ศาลจำมีคำสั่งห้ามไม่ให้จำเลยที่ 2 ออกคำสั่งใดๆที่อาศัยอำนาจตามความในประกาศที่ออกและประกาศโดยจำเลยที่1ทั้งๆ ที่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าประกาศของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จะมีผลเสมือนว่าศาลได้วินิจฉัยให้โจทก์ทั้งสามชนะคดีตั้งแต่ในชั้นขอให้ใช้ วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา กรณียังฟังไม่ได้ว่ามีเหตุสมควรอันแท้จริงที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความแพ่ง มาตรา 266 และมาตรา 267

ให้ยกฟ้องคำร้องขอไต้สวนฉุกเฉิน และคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์ทั้งสาม และให้นัดชี้สองสถานในวันที่ 9 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

ภายหลังนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ กล่าวว่า แนวทางการต่อสู้ต่อจากนี้ ตนได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประกาศและ ข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ทั้ง 6 ฉบับของรัฐบาล ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ยืนยันจะเดินหน้าชุมนุมต่อไป แม้ศาลแพ่งจะมีคำสั่งยกคำร้องก็ตาม

กำลังโหลดความคิดเห็น