xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : หัวใจกรรมฐาน(ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๕.๗ สมมุติบัญญัติปิดบังปรมัตถ์ (ต่อ)

เมื่อความรู้สึกทางกายเกิดขึ้น เช่นเมื่อนั่งอยู่แล้วเกิดเมื่อยขึ้นมา คนทั่ว ไปจะขยับตัวเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อหนีความทุกข์ทันทีโดยอัตโนมัติ ส่วนมากไม่ทันรู้ว่าเมื่อยเสียด้วยซ้ำไป หรือถ้าจำเป็นต้องนั่งนานๆ เมื่อเกิดความรู้สึกเมื่อยก็จะรู้สึกว่า “เราเมื่อย” หรือบางท่านที่เคยศึกษาการปฏิบัติมาบ้างก็จะคิดว่า “รูปเมื่อย ไม่ใช่เราเมื่อย” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ความรู้สึกปวดเมื่อยเป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งที่สอดแทรกเข้ามาในรูป ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่า ขาไม่ได้เมื่อย แต่ความรู้สึกปวดเมื่อยมันแทรกอยู่ในก้อนธาตุที่สมมุติเรียกว่า “ขา” และทั้งความเมื่อยกับขาก็เป็นสิ่งที่ถูกธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่าจิตเป็นผู้ไปรู้เข้า ตัววัตถุอันเป็นที่ตั้งของความเมื่อยคือรูป ตัวความรู้สึกปวดเมื่อยคือเวทนา ตัวสิ่งที่ไปรู้รูปและเวทนาคือจิต ทั้งรูป เวทนา และจิตเป็นอารมณ์ปรมัตถ์คือของจริงที่ใช้เจริญวิปัสสนา ส่วนที่คิดว่า “เราเมื่อย” หรือ “ขาเมื่อย” เป็นสมมุติบัญญัติ

เมื่อความรู้สึกทางใจเกิดขึ้น เช่นเกิดความรู้สึกสุขโสมนัสและความรู้สึก ทุกข์โทมนัส คนทั่วไปจะรู้สึกว่า “เราสุข หรือเราทุกข์” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ตัวความรู้สึกโสมนัสและโทมนัสทางใจเป็นอารมณ์ปรมัตถ์อันเป็นนามธรรมบางอย่างที่แปลกปลอมเข้ามาในจิตใจ ทำนองเดียวกับความเมื่อยที่แทรกเข้ามาในร่างกายนั่นแหละ และจิตก็เป็นผู้ไปรู้โสมนัสโทมนัสทางใจที่เกิดขึ้นนั้นเช่นกัน ส่วนที่คิดว่า “เราสุข” หรือ “เราทุกข์” เป็นสมมุติบัญญัติ

เมื่อเกิดความโลภ คนทั่วไปจะเพ่งเล็งถึงสิ่งที่อยากได้ บางท่านก็คิดว่า “เราอยากได้” ทั้งๆที่ความจริงแล้วความ อยากได้เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิตใจเท่านั้น ตัวความโลภหรือความ อยากได้จริงๆ นั้นเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ แต่ความคิดว่าเราอยากได้เป็นบัญญัติ

แม้ความโกรธและความหลง หรือความรู้สึกทางใจอื่นๆ ก็มีนัยเดียวกับความโลภนั่นเอง

เมื่อดู คนทั่วไปจะรู้แต่สิ่งที่ดู หรืออย่างมากก็รู้สึกว่าเราดู เช่น เมื่อเห็นแมวเดินมา คนทั่วไปจะรู้ว่าแมวเดินมา หรือรู้ว่าเรากำลังดูแมวอยู่ ส่วนผู้ปฏิบัติ บางท่านจะมองทะลุสิ่งที่เห็นนั้นเข้าไปถึงอารมณ์ปรมัตถ์ คือทราบว่าสิ่งที่เห็น นั้นเป็นสีบางอย่างเท่านั้น และรูปอย่างนี้ชาวโลกเขาเรียกกันว่าแมว

อย่างไรก็ตามการปฏิบัติไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยากขนาดนี้ แค่รู้ว่า จิตมีอาการไปดู ก็พอแล้ว ไม่ต้องสนใจ ว่าจิตดูแมวหรือดูอะไร และไม่ต้องไปวิเคราะห์แยกแยะแมวให้เป็นรูปปรมัตถ์ก็ได้ เพราะไม่มีใครเห็นว่าแมวเป็นตัวเราอยู่แล้ว การรู้ว่าจิตมีอาการไป ดูนั่นแหละเป็นการรู้จิตซึ่งเป็นอารมณ์ ปรมัตถ์ในฝ่ายนามธรรมอย่างหนึ่ง และถ้าจิตไปดูแล้วจิตเกิดโสมนัสหรือโทมนัส และเกิดกุศลหรืออกุศล ก็ให้รู้โสมนัสหรือโทมนัส กุศลหรืออกุศลนั้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเจตสิกอันเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ในฝ่ายนามธรรมเช่นกัน

เมื่อได้ยินเสียง คนทั่วไปก็คิดว่าเรา ได้ยิน เมื่อได้กลิ่น คนทั่วไปก็คิดว่าเราได้กลิ่น เมื่อได้รส คนทั่วไปก็คิดว่าเราได้รส เมื่อได้สัมผัสทางกาย คนทั่วไปก็คิดว่าเราสัมผัส และเมื่อเกิดความคิดนึกขึ้น คนทั่วไปก็รู้สึกว่าเราคิด แต่ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่า จิตมีอาการไปฟัง จมูกเป็นผู้ดมกลิ่น ลิ้นเป็นผู้รู้รส กายเป็นผู้กระทบสัมผัส และใจเป็นผู้ไปคิด ไม่มีเราที่ไหนเลย เพราะทั้งรูปคือกายและนามคือใจ ต่างก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่งๆ ไม่ใช่ตัวเราที่ไหนเลย

ผู้ปฏิบัติจะต้องเรียนรู้การจำแนกรูปนามหรืออารมณ์ปรมัตถ์ของจริง ออกจากสิ่งที่คิดขึ้นมาหรือสมมุติบัญญัติขึ้นมาให้เป็น เพราะการเจริญวิปัสสนาจะต้องรู้รูปนาม จะไปตามรู้อารมณ์บัญญัติแล้วคิดว่ากำลังเจริญวิปัสสนาอยู่ไม่ได้ ตัวอย่างเช่นบางท่าน ปฏิบัติโดยดูความคิด ว่ามันคิดเรื่องอะไรบ้าง เรื่องราวที่คิดเป็นบัญญัติตามดูแล้วจะเกิดสมถะคือจิตจะสงบ แต่ไม่ทำให้เกิดวิปัสสนาปัญญา ผู้ปฏิบัติควรจะต้องรู้ทัน “อาการของจิตที่คิด” อันเป็นการรู้ทันจิต จึงจะเป็นการรู้อารมณ์ปรมัตถ์ และเกิดปัญญาเห็นความจริงว่าเราไม่มี มีแต่ธรรมชาติ บางอย่างที่เกิดความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เท่านั้น

สิ่งที่ปิดบังอารมณ์ปรมัตถ์ได้แก่บัญญัติหรือความคิดนั่นเอง เมื่อใดที่เราหลงไปในโลกของความคิด เรารู้เรื่องที่คิด แต่จะรู้รูปหรือนามไม่ได้เลย เพราะธรรมชาติของจิตย่อมรู้อารมณ์ ได้คราวละอย่างเดียว เมื่อจิตไปรู้อารมณ์บัญญัติ คือเรื่องราวที่คิดเสียแล้ว จิตย่อมไม่สามารถจะรู้อารมณ์ปรมัตถ์คือรูปนามได้ ครูบาอาจารย์หลายท่าน จึงสอนให้ผู้ปฏิบัติสลัดตนเองให้หลุดจากการครอบงำของความคิด ซึ่งเป็นของปลอมๆ แล้วตื่นขึ้นมารู้รูปนามกาย ใจของตน ซึ่งเป็นของจริงๆ เพียงแต่ ถ้อยคำสำนวนของครูบาอาจารย์แต่ละท่านอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง เช่น หลวงปู่ดูลย์ อตุโล สอนว่า “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดถึงจะรู้” หลวงปู่เทสก์ เทสรังสีี สอนว่า “จิตเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง เมื่อรู้เท่าทัน จิตก็กลายเป็นใจ คือเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน” ครูบาอาจารย์วัดป่า ก็มักสอนว่า “ให้มีจิตผู้รู้” หลวงพ่อเทียน วัดสนามใน สอนว่า “คิดเป็นหนู รู้เป็นแมว” ครูบาอาจารย์ฝ่ายเซนก็มักสอนว่า “ให้รู้สึกตัว” “ให้อยู่กับปัจจุบัน” หรือ “ให้ลืมตาแล้วตื่นขึ้นมาเลย” เป็นต้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 112 มีนาคม 2553 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น