กก.สอบ 7 ตุลาทมิฬชุด “สมชาย” แต่งตั้งส่อแววอืดเป็นเรือเกลือ เปิดทางยื้อความรับผิดชอบรัฐบาล ล่าสุด ไขก๊อกแล้วแล้ว 1 ราย อ้างมีปัญหาสุขภาพ ขณะที่ผลสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนคืบหน้าเค้นผู้การกองพลาธิการตำรวจจนยอมรับตำรวจใช้แก๊สน้ำตาหมดอายุ คาดสรุปหาคนผิดภายในเดือนนี้
วันนี้ (4 พ.ย.) หลังจากที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 ที่หน้ารัฐสภาจำนวน 9 คน โดยเริ่มทำการประชุมนัดแรก เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการได้นัดหมายจะรับรายงานจากอนุกรรมการทั้ง 5 ฝ่าย ซึ่งได้มีการแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 16 ต.ค.นั้น แต่ได้มีการยกเลิกการประชุมในวันที่ 3 พ.ย.และเลื่อนไปประชุมในวันที่ 13 พ.ย.ในเวลา 10.00 น.ที่บ้านมนังคสิลา
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า 1 ในคณะกรรมการทั้ง 9 คน ได้แก่ นายเจริญจิต ณ สงขลา ได้ยื่นหนังสือลาออกเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ต่อ นายปรีชา พานิชวงศ์ ประธานกรรมการ โดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาทางด้านสุขภาพ ทั้งนี้ สังเกตได้ว่า ก่อนหน้านั้น นายสมชาย ระบุว่า จะพิจารณาตัวเองเมื่อผลการสอบสวนออกมาแล้ว แต่การเลื่อนการประชุมและมีคณะกรรมการลาออก ซึ่งจะทำให้มีเวลาล่วงเลยไปถึงกว่า 30 วัน
ก่อนหน้านี้ ในการประชุมคณะกรรมการนัดแรก นายปรีชา ก็กล่าวยอมรับว่า ตัวเองมีสุขภาพเหมือนกัน โดยนั่งนานเกิน 3 ชั่วโมงไม่ได้ เพราะมีปัญหาบริเวณกระดูกสันหลัง พร้อมกันนี้ ยังยืนยันว่า หากรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงการทำงานก็พร้อมจะลาออก
ขณะเดียวกัน หลังจากปรากฏรายชื่อ กก.ออกมา ซึ่งประกอบด้วย อดีตผู้พิพากษา นักกฎหมายรุ่นอาวุโส โดยมีอายุส่วนใหญ่ไม่ต่ำกว่า 70 ปีขึ้นไป ยกเว้น คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง จนทำให้มีเสียงวิจารณ์ตามมาว่าเป็นคณะกรรมการ 700 ปี
ทั้งนี้ การทำงานของคณะกรรมการดำเนินไปอย่างช้าๆ โดยไม่มีวี่แววว่าจะสรุปผลได้เมื่อไหร่ ขณะที่ กก.สอบสวนข้อเท็จจริง ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กลับมีความคืบหน้าไปมากโดยได้สอบปากคำบุคคลเกี่ยวข้องหลายราย แม้แต่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีก็มาให้ปากคำแล้ว และคาดว่าจะสรุปผลส่งให้คณะกรรมการชุดใหญ่ชี้ขาดไม่เกินสิ้นเดือนพฤศจิกายน
ด้าน นายสุรสีห์ โกศลนาวิน กก.สิทธิฯในฐานะประธานคณอนุกรรมการละเมิดสิทธิมนุษยชน1 กรณีการสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม เปิดเผยว่า ได้เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงซึ่งเกี่ยวข้องกับการสลายชุมนุมมาสอบปากคำ โดยเมื่อวานนี้ ผุ้บัญชาการกองพลาธิการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มายอมรับว่า แกสน้ำตาที่ใช้สลายการชุมนุม เป็นแกสน้ำตาที่นำเข้ามาตั้งแต่ปี 2536 โดยมีอายุการใช้งาน 5 ปี ซึ่งก็หมดอายุในปี 2541 ซึ่งคณะกรรมการได้ตั้งข้อสังเกต โดยซักถามว่า ขนาดแกสน้ำตาหมดอายุยังมีประสิทธิภาพทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต มากมาย หากไม่หมดอายุจะไม่มีอานุภาพมากกว่านี้หรือ ซึ่งทางผู้บัญชาการกองพลาธิการก็ไม่ได้ตอบในประเด็นนี้
ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (5 พ.ย.) คณะกรรมการจะเดินทางไปตรวจสภาพรถพยาบาลที่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์ ซึ่งมีสภาพถูกยิงจนเสียหาย ที่ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี รวมไปถึงนายทหารเสนารักษ์ สภากาชาด ที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บขณะเข้าไปช่วยเหลือประชาชน