“ครูบาดวงดี” เกจิชื่อดังล้านนา
อายุ 104 ปี มรณภาพแล้ว
พระมงคลวิสุต หรือครูบาดวงดี สุภัทโท เจ้าอาวาสวัดท่าจำปี อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เกจิอาจารย์ชื่อดังที่มีอายุยืนที่สุดของล้านนา สายครูบาศรีวิชัย รุ่นสุดท้าย ได้มรณภาพแล้ว เมื่อวันที่ 6 ก.พ.53 สิริอายุรวม 104 ปี พรรษา 83 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เมื่อวันที่ 7 ก.พ. โดยมีคลื่นมหาชนนับหมื่นที่เป็นศิษยานุศิษย์ร่วมไว้อาลัยและสรงน้ำศพ
ครูบาดวงดีได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระมงคลวิสุต ท่านเป็นพระนักปฏิบัติและพัฒนา เชี่ยวชาญภาษาล้านนา และการแสดงธรรมเทศนาแบบพื้นเมือง ปาฐกถาธรรม บรรยายธรรม และประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ท่านได้สร้างสาธารณูปโภคและศาสนสถานไว้มากมาย เช่น โรงพยาบาล สถานศึกษา ศาลาการเปรียญ ฯลฯ
ทั้งนี้ ทางวัดท่าจำปีได้จัดบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมศพ ระหว่างวันที่ 7-26 ก.พ. ณ ศาลาวัดท่าจำปี โดยในวันที่ 27 มิ.ย.53 จะมีพิธีปิดหีบ และจะเก็บศพหลวงปู่ครูบาดวงดีไว้ประมาณ 3 ปี
ศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณสล่าสิบหมู่ล้านนาวัดศรีสุพรรณ จัดบวชสืบทอดพระพุทธศาสนา สานงานพุทธศิลป์
ศูนย์ศึกษาศิลปะไทยโบราณสล่าสิบหมู่ล้านนาวัดศรีสุพรรณ ร่วมกับกรมศาสนา กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และองค์กรชาวพุทธจังหวัดเชียงใหม่ จัดโครงการบรรพชาอุปสมบทเพื่อการเรียนรู้พระพุทธศาสนา และงานช่างสิบหมู่ล้านนาเฉลิมพระเกียรติเป็นครั้งแรก เพื่อให้ผู้บรรพชา อุปสมบท ศึกษาเรียนรู้พระพุทธศาสนา และฝึกสมาธิจากการเรียนรู้งานช่างสิบหมู่ล้านนา เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ และเพื่อสร้างศาสนทายาทสืบทอดพระพุทธศาสนา และสานงานพุทธศิลป์ งานช่างสิบหมู่ล้านนา โดยกำหนด บรรพชาสามเณร จำนวน 59 รูป อุปสมบพระภิกษุ จำนวน 9 รูป และบวชศีลจาริณี จำนวน 21 คน ระหว่าง วันที่ 31 มีนาคม ถึง 30 เมษายน 2553 ผู้สนใจสามารถสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2553 ส่วนผู้มีจิตศรัทธาทั่วไปสามารถร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดโครงการดังกล่าว โดยการร่วมบริจาคเครื่องอัฐบริขาร และภัตตาหาร ติดต่อได้ที่ วัดศรีสุพรรณ ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ปัจจุบัน วัดศรีสุพรรณ เป็นวัดในพระอุปถัมภ์ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ เป็นที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้งานช่างสิบหมู่ล้านนา สนองงานตามพระราชดำริ เป็นศูนย์กลางของชุมชนด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่างหล่อ และหัตถกรรมเครื่องเงิน และยังได้รับการจัดตั้งเป็นศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน กระทรวงวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่ง
นักวิชาการด้านปฐมวัยชี้
คุณธรรมประจำใจคนไทยไม่มั่นคง
ดร.สุจินดา ขจรรุ่งศิลป์ สาขาปฐมวัย ภาควิชาหลักสูตรและการสอน มศว. เปิดเผยถึงการสอนเด็กไทยให้มีคุณธรรมประจำใจ เพื่อก้าวไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตในอนาคตว่า ต้องเริ่มตั้งแต่ช่วงปฐมวัย โดยพ่อแม่ต้องสาธิตการเป็นแบบอย่างของคนซื่อสัตย์ให้แก่ลูก แม้กระทั่งการพูดโกหกก็ไม่ควรทำ ซึ่งที่ผ่านมาสังคมไม่เข้มข้นในการสอนให้เด็กไทยมีคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตอย่างจริงจัง แต่ทำแบบไฟไหม้ฟาง ใส่ใจเพียง ชั่วครู่ชั่วยาม
“การปลูกฝังคุณธรรมความซื่อสัตย์ สุจริต สังคมต้องขับเคลื่อนทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน โรงเรียน สังคม และสื่อ ซึ่งถือเป็นหน่วยที่สำคัญอย่างมาก อยากเสนอว่าสื่อซึ่งอาจจะเริ่มจากหนังสือพิมพ์หรือสื่อวิทยุโทรทัศน์ ควรมีกรอบเล็กๆ หรือรายการสั้นๆ เปิดเป็นพื้นที่ให้กับบุคคลที่กระทำความดี ซึ่งเป็นความดีเล็กๆ ที่สามารถสร้างกำลังใจ ความมั่นใจ ภาคภูมิใจให้กับผู้กระทำความดีได้ เช่น เก็บขยะบนถนน ลุกขึ้นยืนให้เด็ก คนชราได้นั่ง คนในปัจจุบันนี้ไขว่คว้าความสุขใหญ่ๆ จนลืมความ สุขเล็กๆ บ่อยครั้งที่เรามองไม่เห็นความสุข เพราะเรามัวแต่ไปยึดติดกับความสุขใหญ่ๆ การเปิดพื้นที่เพื่อส่งเสริมความดี ควรจะเร่งทำและไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กๆ ควรจะมีโอกาสในการได้รับการยกย่อง เชิดชู บอกเล่าว่าได้ทำความดีกันแล้วหรือยัง ถ้าช่วยกันทั้งสังคม ไม่ว่าจะเป็นบ้าน โรงเรียน สังคมโดยสื่อก็เปิดพื้นที่ เราจะมีคนที่ตระหนักในคุณค่าของความดีงาม เห็นคุณค่าของคุณธรรมมากขึ้น”
ดร.สุจินดากล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความซื่อสัตย์ การคอร์รัปชั่น จึงต้องดูว่าพฤติกรรมเช่นนี้มีสาเหตุมาปัญหาความยากจน หรือไม่ได้รับการสั่งสอนอบรม หรือได้รับการสั่งสอนแต่คุณธรรมในใจไม่มั่นคง สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่คุณธรรมในตัวคนแกว่งได้ง่าย เมื่อมีปัจจัยต่างๆ เข้ามากระตุ้น
วธ.ทำคู่มือใช้สัญลักษณ์
ทางพระพุทธศาสนา
นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้คู่มือ ข้อควรระวังในการใช้สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา เพื่อแก้ปัญหาการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนามาแสวงหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของพุทธศาสนิกชน โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะประสานกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเผยแพร่คู่มือตามสถานที่สำคัญต่างๆ ซึ่งจะจัดพิมพ์เป็นภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เพื่อทำความเข้าใจกับชาวต่างชาติ และจะจัดทำข้อเสนอแนะประกอบคู่มือแจกจ่ายไปยังหน่วยงานรัฐบาล วัดไทยและร้านอาหารไทยในต่างประเทศด้วย
สำหรับคู่มือดังกล่าว จะมีการกำหนดข้อควรระวังทางพระพุทธศาสนาไว้ ประกอบด้วย การนำพระพุทธรูปมาใช้ในสถานที่ไม่เหมาสม เช่น การประดับตามร้านอาหาร หรือภายในบริเวณโรงแรมต่างๆ รวมถึงการใช้โบสถ์ วิหาร เจดีย์ ในทางไม่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อนักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทย โดยในคู่มือจะมีการกำหนดโทษที่จะได้รับหากกระทำความผิด นอกจากนี้ สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยังได้เตรียมการเสนอร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยจะได้นำเนื้อหาภายในคู่มือดังกล่าวบัญญัติเป็นกฎหมาย เพื่อให้มีบทลงโทษชัดเจนอีกด้วย
พศ.เตรียมอัญเชิญ ‘ธรรมเจดีย์’ คัมภีร์พุทธเก่าแก่ที่สุดในโลก จากนอร์เวย์ มาจัดแสดงในไทย ‘วันวิสาขบูชา’
ดร.อำนาจ บัวศิริ ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) เมื่อวันที่ 19 ก.พ.53 ว่า มส.รับทราบในการเตรียมอัญเชิญธรรมเจดีย์ คัมภีร์พุทธศาสนาโบราณเก่าแก่ที่สุด จากสถาบันอนุรักษ์สเคอเยน มหาวิทยาลัยออสโล สู่ประเทศไทย เพื่อมาแสดงในงานวิสาขบูชา เป็นเวลา 65 วัน โดยให้มหาเถรสมาคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติร่วมกันดำเนินการจัดพิธีรับอย่างสมเกียรติ เพราะถือเป็นสิ่งที่เป็นมงคลสำหรับประเทศ และเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมทั้งเพื่อความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างไทยกับนอร์เวย์ด้วย
อนึ่ง คัมภีร์พระพุทธศาสนาโบราณจารึกพระพุทธพจน์นั้น จัดเป็นธรรมเจดีย์ คัมภีร์พระพุทธศาสนา ณ สถาบันอนุรักษ์สเคอเยน ประเทศนอร์เวย์ เป็นที่รู้จักยอมรับในวงการนักโบราณคดี และภาษาศาสตร์นานาชาติว่า เป็นคัมภีร์พุทธศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลก ที่ได้ถูกค้นพบก่อนสงครามจะเกิดขึ้น ในถ้ำบริเวณเทือกเขาบามิยาน บริเวณห่างประมาณ 2 ก.ม. จากพระพุทธรูปหินบามิยันสูง 53 เมตร ที่ถูกทำลายในปี พ.ศ. 2544 ในอดีตดินแดนแถบนี้ชื่อว่าคันธารราฐ ตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหม เคยเจริญรุ่งเรืองด้วยพุทธศาสนา และปัจจุบันดินแดนแถบนี้เรียกว่าประเทศอัฟกานิสถาน นักโบราณคดีและภาษาศาสตร์นานาชาติ ใช้เวลา 12 ปีทำการชำระคัมภีร์โบราณ โดยได้สันนิษฐานสรุปว่า เป็นผลงานของพระอรหันต์ที่ได้จารึกพระธรรมวินัยเป็นตัวอักษร เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 6 หรือประมาณร่วม 2,000 ปีล่วงมาแล้ว
การค้นพบธรรมเจดีย์ คัมภีร์โบราณจารึกพระพุทธพจน์ดั่งกล่าว สร้างคุณประโยชน์ด้านวิชาการโบราณคดีและภาษาศาสตร์โลกเป็นอย่างยิ่ง ให้ทราบถึงต้นฉบับของจริงดั่งเดิม ยุคสมัยบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า จากการจดจำสู่การจารึกเขียนเป็นอักษร เป็นหลักฐานคงเหลือให้ชาวโลกได้ศึกษาเรียนรู้ การวิวัฒนาการในพุทธศาสนา ซึ่งปรากฏเรียกขานสืบต่อมาว่าพระไตรปิฎกในปัจจุบัน
สถาบันอนุรักษ์สเคอเยน ประเทศนอร์เวย์ได้อนุรักษ์ธรรมเจดีย์ คัมภีร์พุทธศาสนาโบราณเก่าแก่ที่สุดในโลกนี้ไว้ ด้วยเหตุผลว่าคำสอนในพุทธศาสนาสร้างสันติภาพให้สังคมโลกอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตลอดมา นับเป็นความโชคดีของชาวพุทธทั่วโลก และผู้รักสันติภาพทั้งหลาย ที่ธรรมเจดีย์ คัมภีร์พุทธศาสนาโบราณ ตลอดระยะเวลาร่วม 2,000 ปี ผ่านพ้นอันตราย ไม่สูญสิ้นไปกับภัยธรรมชาติและสงคราม สถิตเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนาสืบต่อไป
วธ.จัดบวชภาคฤดูร้อน ถวายสมเด็จพระเทพฯ
เยาวชนแห่สมัครกว่า 3 แสนคน
นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม จัดโครงการบรรพชาอุปสมบท พระภิกษุสามเณรและบวชศีลจาริณีภาคฤดูร้อน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 2553 โดยจะมีพิธีบรรพชาอุปสมบท ในวันที่ 1 เมษายน ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ศึกษาปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนทางพุทธศาสนา แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย
ด้านนายสด แดงเอียด อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวว่า กรมการศาสนา ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และวัดต่างๆ โดยทราบว่าขณะนี้มีวัดในเขตกรุงเทพมหานคร ตอบรับเข้าร่วมโครงการจำนวน 2,506 วัด และมีผู้แสดงความจำนงสมัครเข้าร่วมอุปสมบทพระภิกษุ สามเณร ศีลจาริณี แล้วกว่า 360,000 คน ซึ่งถือว่ามากกว่าทุกปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงพลังของประชาชนที่มีต่อพระพุทธศาสนา
ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมโครงการ จะได้ร่วมกันเจริญจิตภาวนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประชาชนที่สนใจร่วมโครงการ สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2422-8793-4 หรือสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ
พศ. จัดประชุมพระปริยัตินิเทศก์ทั่วประเทศ
รับทราบนโยบายคณะสงฆ์ ทำงานเป็นเอกภาพ
เมื่อวันที่ 18-19 ก.พ.53 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้จัดการประชุมสัมมนาพระปริยัตินิเทศก์ทั่วประเทศ ประจำปี 2553 ณ วัดพนัญเชิงวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา มีพระปริยัตินิเทศก์เข้า ร่วม 624 รูป โดยมีพระพรหมเวที กรรมการมหาเถร สมาคม เจ้าคณะภาค 8 เป็นประธาน
นางจุฬารัตน์ บุณยากร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เผยว่า พระปริยัตินิเทศก์เป็นบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนให้การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ เนื่องจากมีภารกิจหลัก ได้แก่ การนิเทศการศึกษาพระปริยัติธรรม ช่วยเหลือแนะนำครูสอน และสนองงานเจ้าคณะจังหวัดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพระปริยัติธรรม
การประชุมสัมมนาพระปริยัตินิเทศก์ ประจำปี 2553ิ นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พระปริยัตินิเทศก์ได้รับทราบนโยบายของคณะสงฆ์ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เกี่ยวกับการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม รวมทั้งทบทวนบทบาทหน้าที่ให้เป็นที่ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งจะได้ร่วมกันระดมแนวคิดและวิธีการในการจัดตั้งศูนย์การเรียนพระปริยัติธรรม ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน พร้อมกับนำเสนอปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะในการพัฒนาการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 112 มีนาคม 2553 โดยมรรคา)