สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียนพระปริยัติธรรมในเชียงราย
เมื่อวันที่ 13 ม.ค.53 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติ พระราชกรณียกิจ ในพิธีเปิดอาคารเรียน “สิรินธร” ณ โรงเรียนวัดหมื่นพุทธวิทยา ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย โดยนางจุฬารัตน์ บุณยากร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เฝ้ารับเสด็จฯ และกราบบังคมทูลรายงานถึงความเป็นมาของการสร้างอาคารเรียน
โรงเรียนวัดหมื่นพุทธวิทยา แผนกสามัญศึกษา สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นวัดในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกาย มีพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร เป็นผู้จัดการ มีพระชัยวัฒน์ เสี่ยซุ้ง เป็นครูใหญ่ ได้รับการจัดตั้งเมื่อปีการศึกษา 2552 สำหรับปีการศึกษา 2552 นี้ มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย 134 รูป มีผู้บริหาร 3 รูป ครูบรรพชิต 1 รูป ครูฆราวาส 10 คน ครูพิเศษภาษาจีน 5 คน จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรม พระปริยัติธรรม แผนกบาลี และหลักสูตรภาษาจีน มีครูสอนภาษาจีนจากประเทศไต้หวัน และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมจีนสิรินธร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงให้การสนับสนุน
โรงเรียนวัดหมื่นพุทธวิทยา ได้สร้างอาคารเรียนหลังใหม่ เป็นลักษณะคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น มีห้อง เรียนและห้องปฏิบัติการ 22 ห้อง มีคุณหลี่เนียนหลุน และคุณหลี่ จงหลิง ชาวไต้หวัน ประธานอุปถัมภ์ โรงเรียนบริจาคทรัพย์ จำนวน 30 ล้านหยวนไต้หวัน หรือประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อสมทบทุนโครงการ ก่อสร้าง และให้เป็นทุนการศึกษา
คณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนวัดหมื่นพุทธวิทยา มีมติขอพระราชทานนามอาคารเรียนว่า “อาคาร สิรินธร” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ต่อมาในวันที่ 14 ม.ค.53 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ โรงเรียนวัดแก่นเหนือวิทยา ต.ห้วยซ้อ อ.เมืองเชียงของ จ.เชียงราย เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานของโรงเรียนพระปริยัติธรรม
มส.มีมติให้ทุกวัดเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตภาวนาถวายเป็นพระราชกุศล เฉลิมฉลองปีที่ 60 แห่งพิธีบรมราชาภิเษกฯ
ดร.อำนาจ บัวศิริ ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ว่า ตามที่ที่ประชุม คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา 5 ธันวาคม 2552 มีมติจัดงานฉลองปีที่ 60 แห่งพิธีพระบรมราชาภิเษก 5 พฤษภาคม 2493 ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ของไทยอย่างเป็นทางการ โดยจะเสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพจัดงานตลอดปี 2553 นั้น
ที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้มีมติให้ทุกวัด ร่วมกันเจริญพระพุทธมนต์ และเจริญจิตภาวนา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทุกวัน ตลอดปี 2553 พร้อมทั้งให้กระจายเสียงเจริญพระพุทธมนต์ไปยังชุมชนใกล้เคียงวัด ส่วนกิจกรรมที่จัดเป็น ประจำทุกปี เช่น การปฏิบัติธรรม วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ การบวชภาคฤดูร้อน กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา ให้ถือปฏิบัติเป็นกิจกรรมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งหมด
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณา แต่งตั้ง พระธรรมวราภรณ์ (มนตรี) วัดเครือวัลย์ และพระธรรมบัณฑิต วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม แทนกรรมการมหาเถรสมาคม ที่มรณภาพไป 2 รูป โดยให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สิ้น ‘สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์’ มหาเถระอายุ 102 ปี
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม กรรมการมหาเถรสมาคม ได้มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 26 ม.ค.53 สิริอายุได้ 102 ปี 10 เดือน พรรษา 82 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศไม้สิบสอง และเครื่องประกอบเกียรติยศ ตามฐานันดรพระราชาคณะ และทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์เป็นเวลา 7 วัน
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พุฒ สุวฑฺฒนมหาเถร ป.ธ. ๗) นามเดิมว่าพุฒ สุวัฒนกุล เกิดเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2450 ที่บ้านมะขามเรียง ต.จำปา อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ.2467 ณ วัดตะลุง อ.เมือง จ.ลพบุรี โดยมีหลวงพ่อเพชร (ผู้เป็น บิดา) วัดตะลุง เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นได้เดินทางมา อยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม
พ.ศ.2470 ได้อุปสมบทที่วัดบัวงาม อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีพระญาณไตรโลก(ฉาย) วัดพนัญเชิง เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออุปสมบทแล้วกลับมาอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ และสอบได้ ปธ.7 เมื่อพ.ศ.2479 ต่อมา พ.ศ.2493 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระพุทธิญาณมุนี พ.ศ. 2502 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม ได้รับพระราชทานเลื่อน สมณศักดิ์เป็นชั้นราช ที่พระราชพุทธิญาณ
พ.ศ.2509 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่พระเทพญาณสุธีฯ พ.ศ.2515 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักเป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมราชานุวัตร พ.ศ. 2521 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศัก เป็นพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏ ที่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ พ.ศ. 2539 ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
สำหรับผลงาน พระพุทธโฆษาจารย์ได้เป็นผู้ก่อตั้งสหภูมิอยุธยาขึ้นเมื่อปี 2496 ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพุทธญาณมุนี เพื่อสงเคราะห์พระภิกษุสามเณรที่มาศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมบาลี สามัญศึกษา และอุดมศึกษา ที่กรุงเทพฯ โดยพระภิกษุสามเณร ซึ่งเป็นชาวอยุธยาทุกวัดที่มาสมัครเป็นสมาชิกไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น การรวมตัวกันของ “สหภูมิอยุธยา” ถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการ สร้างสรรค์และช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรที่ขาดแคลนทุนการศึกษา และเป็นการให้คำปรึกษาสนับสนุนระดมทุนสร้างเสถียรภาพให้กับวงการพระพุทธศาสนา
นอกจากนี้ยังเป็นกรรมการสมัชชามหาคณิสสรณ์, ที่ปรึกษาสหภูมิอยุธยา, ประธานมูลนิธิสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ, ประธานกรรมการ สภาพระธรรมกถึก วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นผู้ที่มีความรู้แตกฉานในการแสดงธรรมเทศนา การบรรยาย ธรรมและในการสอน จัดได้ว่าเป็นพระธรรมกถึกเอกองค์หนึ่งของประเทศไทย
วัดสุวรรณารามจะประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมศพเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ณ ศาลากาญจนาภิเษก วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เป็นเวลา 100 วัน
‘พระสังฆราช’ สร้างพระพุทธนิรโรคันตรายถวายในหลวง ให้ทรงหายประชวร
พระครูสังฆสิทธิกร หัวหน้าฝ่ายศาสนวิเทศ สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เปิดเผยว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดให้สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชหล่อพระพุทธนิรโรคันตราย และพระพุทธศรีวรราชศาสดา ในวันที่ 18 ม.ค.53 ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศล ในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหายจากพระอาการประชวร เนื่องจากพระพุทธนิรโรคันตราย มีความหมายถึงการห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ
พระครูสังฆสิทธิกร กล่าวต่อไปว่า สำหรับพระพุทธนิรโรคันตราย เป็นพระพุทธรูปปางลีลา ศิลปะสุโขทัย ขนาดสูง 175 ซม. หล่อด้วยโลหะบรอนซ์ ส่วนพระพุทธศรีวรราชศาสดา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยประยุกต์หน้าตักกว้าง 2.89 เมตร สูง 3.69 เมตร หล่อด้วยโลหะบรอนซ์ โดยพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์จะอัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดเวฬุวัน อ.ศรีวิไล จ.หนองคาย นอกจากนี้ สมเด็จพระสังฆราช ยังโปรดให้มีการหล่อจำลองพระพุทธรูปดังกล่าว และพระกริ่งเพื่อให้ประชาชนมีไว้สักการะบูชาเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตด้วย
นครศรีฯจัดงานประเพณี มาฆบูชาอย่างยิ่งใหญ่
นายวันชัย ไชยวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า เนื่องในวันมาฆบูชา ปี 2553 จังหวัดนครศรีธรรมราชได้จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และพุทธสมาคม จัดกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ สืบสานและพัฒนางานประเพณีมาฆบูชาขึ้น ระหว่างวันที่ 28 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2553 ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร สวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช และสนามหน้าเมือง โดยวันที่ 28 ม.ค.เป็นพิธีกวนข้าวมธุปายาส ณ วัดพระมหาธาตุ วันที่ 7-28 ก.พ. เป็นกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชา ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วัดสระเรียง วัดศรีทวี และวัดอื่นๆ / วันที่ 25-26 ก.พ. กิจกรรมพิธีสมโภช สาธิตการทำผ้าพระบฎ ณ สวนสาธารณศรีธรรมาโศกราช วันที่ 27 ก.พ. ขบวนผ้าพระบฎพระราชทานจากอำเภอปากพนัง มาถึงบริเวณพิธีสวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช ประกอบพิธีสมโภช และมีการแสดงมหรสพสมโภชผ้าพระบฎพระราชทาน
สำหรับวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งเป็นวันมาฆบูชา กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 06.30 น. พิธีทำบุญตักบาตร บริเวณหน้าพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เวลา 14.30 น. ขบวนผ้าพระบฎพระราชทาน ขบวนผ้าพระบฎของหน่วยงานต่างๆ พร้อมที่ศาลาประดู่หก ก่อนจะทำพิธีเปิด จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อแสดงออกถึงความศรัทธา เชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา แสดงตนเป็นพุทธมามกะ และร่วมเป็น ส่วนหนึ่งของการผลักดันพระบรมธาตุเจดีย์สู่มรดกโลก
ผุดอาชีววิถีพุทธ ป้องกันโจ๋วิวาท
สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงแห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามดำริของสมเด็จพระพุฒาจารย์ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ร่วมกับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และโรงเรียนเทคโนโลยีสยาม(ช่างกลสยาม) เปิดโครง การอาชีววิถีพุทธ ณ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ศาลาเฉลิมพระเกียรติ วัดสระเกศ เมื่อวันที่ 19 ม.ค.53 เพื่อให้นักศึกษาอาชีวะ ได้เข้าสู่กระบวน การพัฒนาวิถีชีวิต ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา อันจะเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้ง การทะเลาะวิวาทระหว่างสถาบัน ของเยาวชนในสังคม ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการต้นแบบ และจะขยายไปตามโรงเรียนอาชีวะต่างๆ ทั่วประเทศ
โดยโครงการดังกล่าว ได้ทำการอบรมเยาวชน ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 155,897 คน โดยแยกตามศูนย์ต่างๆ คือ 1. สำนักงานส่งเสริม คุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ จำนวน 55,389 คน 2. ศูนย์ฯวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม จังหวัดราชบุรี จำนวน 5,933 คน 3. ศูนย์ฯวัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,710 คน 4. ศูนย์ฯ มจร. ขอนแก่น จำนวน 63,436 คน 5. ศูนย์ฯ วัดปากน้ำ จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 28,046 คน 6. ศูนย์ฯ วัดไตรธรรมาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 1,383 คน
หากสถาบันการศึกษาใดสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ข่าวจริยธรรม โทร.08-5494-7432, 0-2621-2280 หรือ www. jariyatam.com
รวมคำสอน “ในหลวง” สร้างนิทาน“ทำดีตามคำพ่อ”
น.ส. นราทิพย์ พุ่มทรัพย์ ผอ.ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) กล่าวว่า ในปี2553 ทางศูนย์คุณธรรม ได้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัส ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มารวบรวมจัดทำเป็นหนังสือ จำนวน 6,000 เล่ม เพื่อแจกสถาบันการศึกษาและประชาชนได้น้อมนำพระราชดำรัสไปปฏิบัติให้เกิดผล เนื่องจากคำสอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแก่ประชาชน เป็นสิ่งที่นำมา ปฏิบัติและเกิดผลได้จริง โดยเฉพาะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้แล้วในประเทศไทย
น.ส.นราทิพย์ กล่าวต่อไปว่า ศูนย์คุณธรรมยังได้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท มาจัดทำเป็นนิทาน “ทำดีตามคำพ่อ” ซึ่งเป็นนิทานปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน จำนวน 6,000 เล่ม เพื่อนำไปแจกตามสถานศึกษา ในการเรียนรู้พระราชดำรัสไปสู่การปฏิบัติด้วย โดยรูปแบบ หนังสือได้มีการเล่าเรื่องราวต่างๆ เป็นนิทาน 10 เรื่อง อาทิ “สมบัติของคุณปู่” สะท้อนพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับหนังสือเป็นเหมือนธนาคารความรู้ “น้ำใสกับใบข้าว” สะท้อนพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการสอนเด็ก
หากสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานใดต้องการนิทานดังกล่าว สามารถติดต่อไปได้ที่ศูนย์คุณธรรม โทร.0-2644-9900
รมว.ศึกษาฯเตรียมให้ ม.สงฆ์วิจัยองค์ความรู้
เพื่อช่วยส่งเสริมคุณธรรมและศีลธรรม
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยหลังเดินทางเข้ากราบนมัสการสมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่วัดสระเกศ เพื่อขอพรในฐานะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ว่าหลักคิดเบื้องต้นจะทำการปฏิรูป การศึกษารอบที่ 2 โดยการดึงบ้าน วัด และโรงเรียน เข้ามาร่วมกัน
โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้กล่าวว่า อยากให้สนับสนุนโครงการโรงเรียนในพระราชดำริ โรงเรียนชายขอบ โรงเรียนชนกลุ่มน้อยต่างๆ รวมถึงโรงเรียนการกุศลในวัด ซึ่งตนมองว่าต้องสนับสนุนโรงเรียนเหล่านี้ รวมถึงโรงเรียนปริยัติธรรมแผนกสามัญ ส่วนมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ก็จะเดินหน้าต่อไป โดยจัดการศึกษาควบคู่กับคุณธรรม นอกจากนั้นอยากให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ได้วิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับคุณธรรมและศีลธรรม ว่าในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งสองแห่งควรมีส่วนส่งเสริม หรือเรียกศีลธรรมกลับมาได้อย่างไร ขณะเดียวกันจะสนับสนุนให้วิทยาเขตต่างๆ ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ยกระดับคุณภาพให้เท่าเทียมกับมหาวิทยาลัยสงฆ์ในกรุงเทพฯ
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 111 กุมภาพันธ์ 2553 โดยมรรคา)