xs
xsm
sm
md
lg

“จองพารา”กับศรัทธา 2 วิถี ที่แม่ฮ่องสอน/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี
จองพาราแบบเรียบง่ายตามบ้านในชนบท
ออกพรรษาแล้ว

ขาเหล้าที่งดเหล้าเข้าพรรษา งานนี้หลายคนคงได้กลับมายกแก้วดื่มบริหารตับกันอีกครั้ง แต่ยังไงก็ไม่ควรคิดว่าเมื่องดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาแล้ว พอออกพรรษาขอดื่มเบิ้ลเป็น 2 เท่า 3 เท่า ถ้าเป็นอย่างนี้การงดเหล้าเข้าพรรษามันจะมีประโยชน์อันใด

สำหรับผมช่วงออกพรรษาปีนี้เป็นปีพิเศษอีกครั้ง เพราะได้ขึ้นเหนือไปแอ่วเมืองสามหมอก จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไปดูการสืบสานประเพณี“จองพารา” อันเป็นส่วนโดดเด่นของประเพณี**“ปอยเหลินสิบเอ็ด”ประเพณีออกพรรษาของชาวไทยใหญ่ที่สำคัญมากสำหรับชาวแม่ฮ่องสอน

จองพารา ศรัทธาในวิถีชนบท

บ่ายแก่ๆในบ้านเมืองปอน ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม หมู่บ้านท่องเที่ยวโฮมสเตย์ที่เพิ่งเปิดได้ไม่นานในเมืองสามหมอก ที่นี่ประชากรหลักเป็นชาวไทยใหญ่(ไต)ที่ดำรงวิถีเรียบง่ายและเหนียวแน่นในพระพุทธศาสนา

ช่วงที่ผมไปแอ่ว เป็น 3 วันก่อนออกพรรษา แต่ว่าโชคดีที่ตรงกับวันจัดงาน“ทุงจ่ามไต” พอดี

งานนี้เขาจัดแบบเรียบง่าย เน้นให้ชาวชุมชนได้เรียนรู้ อนุรักษ์ ต่อยอดภูมิปัญญา และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของไทยใหญ่ในหมู่บ้านที่นับวันยิ่งมายิ่งเหลือน้อยลงทุกที โดยมีโรงเรียนชุมชนบ้านเมืองปอนเป็นแม่งานหลัก

ภายในงานผมได้พบกับการเผยแพร่วัฒนธรรมชาวไทยใหญ่ผ่านการนำเสนอของกลุ่มน้องๆนักเรียน แบ่งเป็นฐานต่างๆ อาทิ บ้านไต นิทานพื้นบ้าน ขนมไต ดนตรีพื้นบ้านไต ศิลปกรรมชาวไต รวมไปถึงการทำจองพาราที่ผมสนใจเป็นพิเศษเพราะตรงกับช่วงที่ชาวบ้านเขากำลังทำจองพารากันอยู่พอดี
ลุงแหลมคำ
ที่นี่(ฐานจองพารา)น้องนักเรียนได้ให้ข้อมูลคร่าวๆเกี่ยวกับจองพาราว่า เป็นภาษาไทยใหญ่ แปลว่าปราสาทพระ(จอง แปลว่า วัด หรือ ปราสาท พารา แปลว่าพระพุทธรูป หรือ พระพุทธเจ้า) คือ การสร้างปราสาทเพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่จะเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในวันออกพรรษา

โดยจะทำการบูชาจองพาราตั้งแต่เย็นของวันขึ้น 14 ค่ำเดือน 11 ส่วนในเช้ามืดของวันรุ่งขึ้นที่เป็นออกพรรษาจะมีการนำอาหารไปถวายพระพุทธเจ้าในจองพารา จุดธูปเทียนบูชา พร้อมกล่าวอัญเชิญให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่จองพาราเพื่อเป็นสิริมงคลเป็นเวลา 7 วัน ก่อนจะรื้อถอนจองพาราไปทิ้งหรือเผา ส่วนปีต่อไปก็ทำขึ้นมาใหม่

น้องๆอธิบายต่อว่า จองพารา แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ จองยอด-เป็นจองพาราที่มียอดสูงหลายชั้น มีทั้งทำด้วยไม้และสังกะสี ส่วนใหญ่เป็นจองพาราของวัด หน่วยงานต่างๆ หรือคหบดี,จองผาสาน-เป็นจองพาราที่ใช้ไม้ไผ่สานทั้งหลัง ทำอย่างง่ายๆ มีทั้งมียอดและไม่มียอด,จองปิกต่าน-เป็นจองพาราไม่มียอดทำโครงด้วยไม่ไผ่คิดกระดาษสีฉูดฉาด เป็นที่นิยมของชาวบ้านทั่วไป(นอกจากที่น้องๆกล่าวมา ผมยังเคยอ่านหนังสือเจอว่ามีจองพาราที่เรียกว่าจองตีนช้างอีกด้วยมีลักษณะฐานผายกว้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ข้างบนสอบ ไม่มียอด)

จบจากช่วงฐานการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยใหญ่ ช่วงค่ำของงานมีการกินข้าวแบบขันโตกอาหารไทยใหญ่ พร้อมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมของเด็กๆ ข้างๆวงขันโตกมีคุณลุง“แหลมคำ คงมณี”ชาวไทยใหญ่มานั่งเชียร์เด็กๆ ผมจึงถือโอกาสชวนคุณลุงกินขันโตกด้วยกันพร้อมซักถามเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับไทยใหญ่

คุยมาคุยไปผมถึงรู้ว่าลุงแหลมคำเป็นมือทำจองพาราชั้นเลิศของหมู่บ้านเมืองปอน ทำจองพารามาตั้งแต่วัยรุ่น มาจนถึงวันนี้ลุงอายุ 76 ปี แล้ว ยังคงสืบสานการทำจองพาราอยู่เหมือนเดิม
จองพาราฝีมือลุงแหลมคำ
“พรุ่งนี้ไปเที่ยวบ้านลุงสิ จะทำจองพาราให้ดู”

ลุงแหลมคำกล่าวเชื้อเชิญ ซึ่งก็เข้าทางผมพอดี เพราะเช้าวันรุ่งขึ้น หลังหม่ำมื้อเช้าเรียบร้อย นั่งพักพอให้ข้าวเรียงเม็ด ผมออกเดินไปยังบ้านลุงแหลมคำที่อยู่ห่างกันเพียงแค่นับก้าวได้ 2 ก้าว คือก้าวซ้ายและก้าวขวา

ครั้นไปถึงที่บ้าน ก็เห็นลุงแหลมคำนั่งคอยท่าทำจองพาราง่วนอยู่แล้ว ข้างๆตัวลุงมีจองพาราขนาดเล็กสูงประมาณ 1 เมตร ตกแต่งด้วยกระดาษสีที่ลุงทำเสร็จแล้วมีทั้งมียอด ไม่มียอด ตั้งเรียงรายอยู่ 10 กว่าหลัง ทุกหลังมีคนจองแล้วทั้งนั้น เพราะทั้งหมู่บ้านมีลุงทำจองพาราเป็นคนเดียว ช่วงนี้เลยงานเข้าเยอะเป็นพิเศษ อ้อ!!! เงินก็เข้าเยอะเป็นพิเศษด้วยเช่นกัน

ลุงแหลมคำ อธิบายให้ผมฟังถึงลวดลายตัด(ฉลุ)กระดาษตกแต่งที่ลุงทำว่ามี 2 ลายคือลายไต(ไทยใหญ่)และลายม่าน(พม่า)พร้อมลงมือสาธิตการทำลายให้ดูอย่างชำนาญแบบไม่ต้องมีการร่างแบบแต่อย่างใด

ผมเห็นฝีมือและการทำจองพาราอย่างคล่องแคล่วขอยกให้คุณลุงปราชญ์คนสำคัญด้านการทำจองพาราของบ้านเมืองปอน ซึ่ง ณ วันนี้เป็นที่น่ายินดีว่าทางโรงเรียนชุมชนบ้านเมืองปอนได้ให้ลุงแหลมคำไปเป็นครูพิเศษสอนการทำจองพาราให้กับเด็กๆชั้น ม.1 ถึง ม.3 นับเป็นการสืบสานวัฒนธรรมการทำจองพาราไม่ให้สูญหาย

ส่วนเด็กๆจะสนใจ ตั้งใจ ใส่ใจ อยากเป็นสล่าจองพาราแค่ไหน งานนี้คงต้องตามดูกันว่าจะมีใครฝ่ากระแสแว้นท์ ทีวี เกาหลี เกม มายืนเป็นแถวหน้าการทำจองพาราในบ้านเมืองปอนได้บ้าง?
หนึ่งในจองพาราตกแต่งอย่างวิจิตร ที่นำมาร่วมในขบวนแห่
จองพารา ศรัทธาในวิถีคนเมือง

จากเมืองปอนผมไม่ไปเมืองปาย หากแต่เดินทางไปยังตัวเมืองแม่ฮ่องสอนเพื่อรับชมประเพณีการแห่จองพารา ที่ปัจจุบันทางจังหวัดจัดงานแห่แหนกันอย่างกันยิ่งใหญ่(ปีนี้จัดกันวันที่ 2 ต.ค.) จนได้รับการคัดเลือกจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ให้เป็นหนึ่งประเพณีชวนเที่ยวในโครงการ “12 เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน”

สำหรับขบวนแห่จองพารานั้น จะเริ่มในช่วงเย็นใกล้ๆค่ำ มีการตั้งหัวขบวนกันตรงสะพานข้ามแม่น้ำปาย (หน้ารร.รุ๊คฮอลิเดย์) เรื่อยยาวขึ้นไปบน ถ.ขุนลุมประพาส ก่อนเดินแห่แหนอย่างสนุกสนานไปตามถนนหลักและไปสิ้นสุดที่สนง.เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน

ปีนี้มีวัด ชุมชน และหน่วยงานนำจองพารามาร่วมขบวน 10 กว่าหลัง แต่ละหลังจัดสร้างอย่างสวยงามใหญ่โต บางหลังอยู่ในขั้นอลังการ วิลิศมาหรา ประดับตกแต่งด้วยไฟและกระดาษสีอย่างสวยงามตั้งแต่ส่วนฐานไปจนถึงยอด เพราะเขามีการจัดประกวดจองพารากัน
ขบวนแห่จองพาราในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน 2
"เราพิจารณาจาก ลวดลาย ทรง และวัสดุที่ทำเป็นสำคัญ" หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินบอกกับผมว่า นั่นจึงทำให้จองพาราของหน่วยงานหนึ่งถูกตัดออกจากรายการประกวดเพราะมีขนาดใหญ่กว่ามาตรฐานเกินไป(มาก)

ครั้นเมื่อขบวนแห่เคลื่อนไปในยามโพล้เพล้แสงไฟจะดูวิบวับขับเน้นให้กระดาษสีดูสุกปลั่ง ตัดกับสีน้ำเข้มอมดำของท้องฟ้าดูแล้วน่าตื่นตาตื่นใจนัก ขณะที่ในขบวนแห่ก็มีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม อย่างการฟ้อนไทยใหญ่ รำนก ฟ้อนกินรี รวมถึงวงดนตรีพื้นเมืองที่มาร่วมบรรเลงอย่างสนุกครื้นเครง
ขบวนแห่จองพาราในตัวเมืองแม่ฮ่องสอน
นับเป็นมนต์ขลังแห่งพลังศรัทธายุคใหม่ที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบของประเพณีจองพาราให้เข้ากับยุคสมัยตามความเหมาะสม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นจองพาราใหญ่หรือจองพาราเล็ก จองพาราสวยงามวิจิตรหรือจองพาราไม้ไผ่สานอันเรียบง่าย ลุงสมัคร สุขศรีหรือลุงซอน หนึ่งในสล่าทำจองพาราฝีมือเป็นเลิศในตัวเมืองแม่ฮ่องสอนบอกกับผมว่า

“ต่างได้บุญคือกัน สิ่งสำคัญมันขึ้นอยู่กับจิตใจที่ศรัทธาต่างหาก”

********************************************
 
**ประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด หรือประเพณีออกพรรษาของชาวไทยใหญ่ เป็นประเพณีที่มีความสำคัญมากสำหรับชาวแม่ฮ่องสอน โดยเดือน 11 ระหว่างขึ้น 13-14 ค่ำ จะมีงานตลาดนัดขายของกันทั้งวันทั้งคืน ประชาชนจะซื้ออาหารและสิ่งของต่างๆสำหรับไปทำบุญที่วัดในวันขึ้น 15 ค่ำ พอรุ่งเช้าของวันขึ้น 15 ค่ำ จะตักบาตรเทโวโรหนะที่วัดพระธาตุดอยกองมู และเดินลงมาสู่วัดม่วยต่อ ซึ่งอยู่บริเวณเชิงเขา พระภิกษุและสามเณรและประชาชนนับร้อยนับพันเรียงรายสองข้างทาง เพื่อทำบุญตักบาตร เป็นภาพที่งดงามยิ่ง ตอนกลางคืนตามบ้านเรือนและวัดต่างๆจะมีการจุดประทีปโคมไฟสว่างไสว มีการแห่ “จองพารา” หรือ “ปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้า” ซึ่งตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงาม มีการแสดงการละเล่นพื้นเมืองและมหรสพต่างๆ และ “หลู่เตนเห็ง”หรือการแห่เทียนพันเล่ม(ข้อมูลจาก”คู่มือท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน”ของททท.)     
กำลังโหลดความคิดเห็น