สพฐ.เดินหน้าโครงการ “ปรับบ้านเป็นห้องเรียน เปลี่ยนพ่อแม่เป็นครู” ยกระดับการศึกษาเด็กพิการ ทุ่ม 53 ล้าน พัฒนาคุณภาพ ครอบครัว – ผู้พิการ เตรียมความพร้อมเด็กพิการรุนแรงตามบ้าน จัดสื่อส่งเสริมพัฒนาการ พร้อมติดตาม ดูแล ทำฐานข้อมูล
วานนี้(25 ธ.ค.) ที่อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) สำนักบริหารการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมชี้แจงผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษทั่วประเทศ โดย นายธีระ จันทรรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการศึกษาพิเศษ สพฐ. กล่าวว่า ตามที่ร่าง พ.ร.บ. การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ กำลังจะมีผลบังคับใช้ เป็นกฎหมายในเร็วๆนี้นั้น ตนได้แจ้งต่อที่ประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ทั่วประเทศ ให้เตรียมความพร้อมที่จะรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว โดยกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า คนพิการจะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิ มีคุณภาพชีวิตที่ดีเต็มศักยภาพ มีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่และเสมอภาค ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปราศจากอุปสรรค และจากเป้าประสงค์ เพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิและโอกาสในการพัฒนาตนเองในทุกมิติของสังคม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ คนพิการ ครอบครัวผู้พิการ ชุมชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการคนพิการทุกด้าน ทั้งภาครัฐและเอกชนก็ต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ศาตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ รองประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่ได้รับในการพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการมีทั้งสิ้น 53,400,000 บาท ขณะนี้ยอดจากจัดสรรงบประมาณแก่ผู้ปกครองเด็กพิการ จำนวน 5,340 ครอบครัว และเด็กพิการรุนแรง จำนวน 5,340 คน โดยแต่ละครัวเรือนจะได้ ครอบครัวละ 10,000 บาท นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมในการดำเนินงาน ได้แก่ อบรมให้องค์ความรู้ผู้ปกครองและเด็กพิการ จำนวน 5,340 ครอบครัว เตรียมความพร้อมให้กับเด็กพิการรุนแรงตามบ้าน จำนวน 5,340 คน จัดหาสื่อ ส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็กพิการรุนแรงตามบ้าน 5,340 คน การนิเทศ ติดตาม รวมทั้งจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศและรายงานผลการพัฒนาการในครอบครัวเด็กพิการ โดยศูนย์การศึกษาพิเศษ
“กฎหมายฉบับนี้นอกจากจะมีผลทำให้คนพิการจะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงความเสมอภาคทางการศึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้รับสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกจากรัฐ ได้ตามความต้องการ ซึ่งรัฐก็ต้องจัดการศึกษาที่เหมาะสมให้ตามความจำเป็นของคนพิการ ส่วนครูพิเศษจะได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของครูการศึกษา หรือเงิน พ.ค.ศ. เดือนละ 2,000 บาท และยังกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนา การศึกษาสำหรับคนพิการขึ้นใน สพฐ. เพื่อใช้จ่ายในการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง” ศ.วิริยะ กล่าว