เชียงราย – มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจับมือสถาบันการศึกษาดังทั้งในเอเชีย-ยุโรป ร่วมแลกเปลี่ยนบุคลากร –นักศึกษา ตลอดจนเทคนิคการเรียนการสอน ยกระดับการศึกษาในอนาคต
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าเมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ อิราสมุส มันดุส อีซีดับบลิว (ECW-External Cooperation Window) การแลกเปลี่ยนเพื่อชีวิต “Erasmus Mundus ECW, Mobility for Life” ณ ห้องดอยตุง อาคารสำนักงานอธิการบดี มฟล.โดยได้รับเกียรติจากผู้ช่วยทูตสหภาพยุโรป และตัวแทนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรป เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วม ซึ่ง มฟล.เป็นเพียงแห่งเดียวที่เป็นมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมกรอบความร่วมมือนี้
สำหรับการประชุมครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของกรอบความร่วมมืออิราสมุส มันดุสระหว่างประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งเป็นความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและทวีปอื่นๆ ของโลกเพื่อยกระดับการศึกษาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ผ่านการให้ทุนแก่นักศึกษาในภูมิภาคอื่น แลกเปลี่ยนประสบการณ์การศึกษาในสถาบันการศึกษาในยุโรป
นายแมดส์ คอร์น ผู้ช่วยทูตสหภาพยุโรป ด้านความร่วมมือทางการศึกษ เปิดเผยว่า สำหรับจุดเริ่มต้นของกรอบความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นจากความประสงค์ที่ต้องการยกระดับการศึกษาและเสริมสร้างความสัมพันธ์ผ่านการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาในหลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ รวมทั้งต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การศึกษาโดยเฉพาะจากเอเชียกับสถาบันการศึกษาในยุโรป
สำหรับเนื้อหาของการประชุมได้มีการพิจารณาเพื่อแลกเปลี่ยนนักศึกษาในทุกระดับรวมทั้งอาจารย์ นักวิจัยและผู้บริหารด้านการศึกษาทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยการแลกเปลี่ยนจะเน้นความสำคัญไปยังความก้าวหน้าของการศึกษาที่ยั่งยืน ขจัดความยากจนและลดปัญหาการด้อยโอกาส
ด้าน รศ.ดร.เทิด เทศประทีป อธิการบดี มฟล.กล่าวว่า สำหรับการแลกเปลี่ยนด้านการสอนภายใต้โครงการนี้ไม่ได้หมายถึงการแลกเปลี่ยนด้านเนื้อหาและหลักสูตรเท่านั้น แต่ยังเน้นไปยังการแลกเปลี่ยนด้านวิธีการหรือเทคนิคการสอนด้วย เพื่อให้มีการนำเอาสิ่งดีๆ ของสถาบันที่มีคุณภาพมาใช้อย่างได้ผล ซึ่งในโอกาสนี้ทาง มฟล.ยังได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอัลลอร์ค ประเทศเดนมาร์ค ด้วย
ศาสตราจารย์รามจี ปราซาด ผู้ประสานงานโครงการฯ จากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ก กล่าวว่าภายใน 4 ปีข้างหน้าจะมีการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ เช่น วิศวกรรม ภูมิศาสตร์ ธุรกิจ การศึกษา วิทยาศาสตร์การแพทย์และเภสัชศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ โดยใช้ปัญหาเป็นศูนย์กลางเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของท้องถิ่นและภูมิภาคนี้ต่อไป